ปลาชะโด
ปลาขนาดใหญ่ในตู้เลี้ยง
ลูกปลาวัยอ่อน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  micropeltes
ชื่อทวินาม
Channa micropeltes
(Cuvier, 1831)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
(สีแดงที่ตอนใต้ของอินเดียนั้น คือ ปลาชะโดอินเดีย ซึ่งเป็นปลาคนละชนิดกัน)
ชื่อพ้อง
  • Ophiocephalus micropeltes Cuvier, 1831

ปลาชะโด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa micropeltes อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ โดยมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว มีลายประสีดำกระจายทั่วตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กจะมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลและมีแถบสีดำ, ส้ม และเหลืองพาดตามความยาวลำตัว 2 แถบ บริเวณหางสีแดงสด เมื่อเริ่มโตขึ้นมาสีและลายจะเริ่มจางหายไปกลายเป็นสีเขียวอมน้ำตาลคล้ายสีของเปลือกหอยแมลงภู่แทน

โดยการที่สีของปลาเปลี่ยนไปตามวัยนี้ ปลาชะโดจึงมีชื่อเรียกต่างออกไปตามวัย เมื่อยังเป็นลูกปลาจะถูกเรียกว่า "ลูกครอก" หรือ "ชะโดป๊อก" เมื่อโตเต็มที่แล้วจะถูกเรียกว่า "ชะโดแมลงภู่" ตามสีของลำตัว หากสีดำจะเรียกว่า "ชะโดถ่าน"

นอกจากจะเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว ยังมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อน และยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกปลาชะโดกัดทำร้ายบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ฤดูผสมพันธุ์ของปลาชะโดจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม-กันยายน รังมีการตีแปลงใกล้ชายฝั่ง เรียกว่า "ชะโดตีแปลง"

เป็นปลาที่พบได้ทุกภาคของประเทศ และพบในประเทศใกล้เคียงเช่น มาเลเซีย, อินโดนีเชีย ตอนใต้ของจีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย

ปลาชะโดมีการเลี้ยงในกระชังตามแม่น้ำสายใหญ่เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, สะแกกรัง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์, เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี มักจะไม่นิยมบริโภคสด เพราะเนื้อจืด แข็ง คาว และมีก้างเยอะ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าปลาช่อน ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า หากจะบริโภคมักจะแปลงทำเป็นปลาเค็มและตากแห้งมากกว่า[2]

นอกจากเป็นปลาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะลูกปลา พบมีขายในตลาดปลาสวยงามบ่อย ๆ และมีราคาถูก [3]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Allen, D. (2012). "Channa micropeltes". IUCN Red List of Threatened Species. 2012: e.T172432A1342060. doi:10.2305/IUCN.UK.2012-1.RLTS.T172432A1342060.en. สืบค้นเมื่อ 23 December 2019.
  2. หน้า 7 วิทยาการ-เกษตร, ชะโด...ป่ำปั๊มสิงคโปร์ เลี้ยงบ้านเราคนไทยไม่ได้ชิม โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์. ไทยรัฐปีที่ 69 ฉบับที่ 21927: วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 แรม 2 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา
  3. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 116 หน้า. หน้า 99. ISBN 974-475-655-5 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Channa micropeltes ที่วิกิสปีชีส์