ประเทศอินโดนีเซีย

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(เปลี่ยนทางจาก อินโดนีเชีย)

5°S 120°E / 5°S 120°E / -5; 120

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

Republik Indonesia  (อินโดนีเซีย)
เพลงชาติ"อินโดเนซียารายา"
("อินโดนีเซียอันยิ่งใหญ่")
เมืองหลวงจาการ์ตา (ปัจจุบัน)
นูซันตารา (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
6°10′S 106°49′E / 6.167°S 106.817°E / -6.167; 106.817
เมืองใหญ่สุดจาการ์ตา
ภาษาทางการ
และภาษาประจำชาติ
อินโดนีเซีย
ภาษาระดับภูมิภาคมากกว่า 700 ภาษา[3]
กลุ่มชาติพันธุ์
มากกว่า 1,300 กลุ่มชาติพันธุ์[4]
ศาสนา
(ค.ศ. 2018)[5]
เดมะนิมชาวอินโดนีเซีย
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบประธานาธิบดี สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ
โจโก วีโดโด
มะอ์รุฟ อามิน
ปูวัน มาฮารานี
มูฮัมมัด ชารีฟุดดิน
สภานิติบัญญัติรัฐสภา (MPR)
สภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD)
สภาผู้แทนประชาชน (DPR)
เป็นเอกราช 
17 สิงหาคม ค.ศ. 1945
27 ธันวาคม ค.ศ. 1949
พื้นที่
1,904,569[6] ตารางกิโลเมตร (735,358 ตารางไมล์) (14th)
4.85
ประชากร
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020
270,203,917[7] (อันดับที่ 4)
141 ต่อตารางกิโลเมตร (365.2 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 88)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 3.995 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 7)
เพิ่มขึ้น 14,535 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 96)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2022 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.289 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 17)
เพิ่มขึ้น 4,691 ดอลลาร์สหรัฐ[8] (อันดับที่ 104)
จีนี (ค.ศ. 2019)Negative increase 38.2[9]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)ลดลง 0.705[10]
สูง · อันดับที่ 114
สกุลเงินรูปียะฮ์อินโดนีเซีย (Rp) (IDR)
เขตเวลาUTC+7 ถึง +9 (จำนวนมาก)
รูปแบบวันที่วว/ดด/ปปปป
ไฟบ้าน220 โวลต์–50 เฮิร์ซ
ขับรถด้านซ้าย
รหัสโทรศัพท์+62
รหัส ISO 3166ID
โดเมนบนสุด.id

อินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Indonesia) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย: Republik Indonesia) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนและทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวหรือกาลีมันตัน (Kalimantan), ประเทศปาปัวนิวกินีบนเกาะนิวกินีหรืออีรียัน (Papua) และประเทศติมอร์-เลสเตบนเกาะติมอร์ ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, ปาเลา, และอินเดีย (หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์) อินโดนีเซียยังเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลกด้วยพื้นที่ 1,904,569 ตารางกิโลเมตร (735,358 ตารางไมล์) และมีประชากรราว 278 ล้านคน[11] ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เกาะชวา[12] และยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก[13][14][15]

อินโดนีเซียเป็นสาธารณรัฐที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งมีสภานิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง และมีทั้งสิ้น 38 จังหวัด โดย 9 จังหวัดมีสถานะพิเศษ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากที่สุดอันดับสองของโลก[16][17] อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้ที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[18] และยังเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก[19] (ประมาณ 17,000 เกาะ)

หมู่เกาะทั้งหมดของอินโดนีเซียเป็นดินแดนการค้าหลักในภูมิภาคมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เริ่มต้นตั้งแต่อาณาจักรศรีวิชัยและต่อมาจนถึงอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งทำการค้ากับชาวจีนแผ่นดินใหญ่และพ่อค้าจากอนุทวีปอินเดีย ส่งผลให้ประชากรท้องถิ่นค่อย ๆ ซึมซับอิทธิพลจากต่างประเทศตั้งแต่ศตวรรษแรก ๆ และได้มีการแผ่ขยายของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจนเกิดความเจริญรุ่งเรือง ต่อมา พ่อค้านิกายซุนนีและลัทธิศูฟีได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่และได้มีอิทธิพลต่อคนในสังคมจนกลายเป็นศาสนาหลักมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมโดยนักสำรวจชาวยุโรป ชาวดัตช์ถือเป็นมหาอำนาจหลักที่ยึดครองดินแดนแห่งนี้ตลอด 350 ปี[20][21] แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับการรุกรานจาก โปรตุเกส อังกฤษ และ ฝรั่งเศสบ้าง แนวความคิดการสร้างชาติและการปลดแอกตนเองของชาวอินโดนีเซียในฐานะรัฐชาติได้ปรากฏขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และจบลงด้วยการประกาศอิสรภาพใน ค.ศ. 1945 ตามด้วยการประกาศรับรองอธิปไตยอย่างเป็นทางการจากเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1949 ภายหลังจากความขัดแย้งทางการทหารและการทูตระหว่างสองประเทศ[22] ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่าน อินโดนีเซียต้องเผชิญเหตุการณ์มากมาย อาทิ การทุจริตในประเทศ ความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งแยกดินแดน ภัยธรรมชาติ และความผันผวนของเศรษฐกิจ

อินโดนีเซียประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาพื้นเมืองหลายร้อยกลุ่ม โดยชาวชวาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด และยังมีพหุนิยมทางศาสนา[23][24] ตามคำขวัญที่ว่า "Bhinneka Tunggal Ika"[25] ("Unity in Diversity" ซึ่งหมายถึง "เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย")[26] ซึ่งกำหนดโดยภาษาประจำชาติ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลกโดยวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอันดับ 7 ของโลกโดยวัดจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ อินโดนีเซียยังถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[27] และเป็นประเทศอำนาจปานกลางของโลก และยังเป็นสมาชิกขององค์กรพหุภาคีหลายแห่ง รวมถึงองค์การสหประชาชาติ, องค์การการค้าโลก, กลุ่ม 20, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และองค์การความร่วมมืออิสลาม

นิรุกติศาสตร์

แก้

ชื่อประเทศ Indonesia มีที่มาจากภาษากรีกยุคโบราณคำว่า อินดอส (Ἰνδός) และเนซอส (νῆσος) ซึ่งหมายถึง "หมู่เกาะอินเดีย"[28] ซึ่งชื่อ Indonesia เริ่มมีการใช้ในกลุ่มชาติตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนการก่อตั้งรัฐอินโดนีเซีย และใน ค.ศ. 1850 จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล นักชาติพันธุ์วิทยาชาวอังกฤษ ได้บัญญัติคำศัพท์ใหม่ Indunesians หมายถึง "หมู่เกาะอินเดียหรือหมู่เกาะมลายู"[29]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1900 ชื่อ Indonesia เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยมีการใช้ทั้งในแวดวงวิชาการและสื่อมวลชน โดย อาด็อล์ฟ บาสเตียน นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันถือเป็นผู้เผยแพร่ชื่อ Indonesia ให้เป็นที่รู้จักผ่านหนังสือ Indonesien oder die Inseln des Malayischen Archipels

ประวัติ

แก้
 
เปอลิงกีฮ์เมรูของปูราตามันอายุน จังหวัดบาหลี เดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรบาดุง

อินโดนีเซียประกอบด้วยหมู่เกาะที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่ต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์อยู่ประมาณ 301 ปี ในเดือนมกราคม 1942 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิ​ญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญในสมัยนั้นให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นแต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลงคือ เมื่อผู้รักชาติอินโดนีเซียจัดตั้งขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราชในปี 1945 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าของอาณานิคมเดิมไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่าเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซียได้ ระหว่างการเรียกร้องเอกราชทำให้เกิดผู้นำในการเรียกร้องหลายท่านที่ควรค่าแก่การยกย่องดังที่พบในรายนามวีรบุรุษแห่งชาติ (อินโดนีเซีย) เช่น กี ฮาจาร์ เดเวนตารา (Ki Hajar Dewantara) จากนั้นอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์จึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกาจาตี (Linggadjati Agreement) เมื่อปี 1946 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจรัฐของรัฐบาลอินโดนีเซียในเกาะชวาและสุมาตรา ต่อมาภายหลังเนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลงโดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียทำให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาทโดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมและได้เรียกร้องให้หยุดยิง แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โนและฮัตตาไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือนำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่งและคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย

ในวันที่ 27 ธันวาคม 1949 อินโดนีเซียได้รับเอกราชแต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอีรียันตะวันตกเข้ากับอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคุมดูแลอีรียันตะวันตกและให้ชาวอีรียันตะวันตกแสดงประชามติว่าจะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าชาวอีรียันตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอีรียันตะวันตกให้อยู่ในความปกครองของอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 1963

ภูมิศาสตร์

แก้

อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 1,826,440 ตารางกิโลเมตร มีประมาณ 17,000 เกาะ พื้นที่กว่า 70% ไม่มีผู้คนอาศัย มีภูเขาสูงตามเทือกเขาที่มีความสูงมากอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ตามบริเวณเขามักมีภูเขาไฟและมีที่ราบรอบเทือกเขา ชายเกาะมีความสูงใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล ทำให้มีที่ราบบางแห่งเต็มไปด้วยหนองบึงใช้ประโยชน์ไม่ได้

ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะหลัก 5 เกาะคือ นิวกินี, ชวา, กาลีมันตัน, ซูลาเวซี และสุมาตรา เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะสุมาตรา ส่วนเกาะชวาเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในบรรดาเกาะหลักทั้ง 5 เกาะ แต่ประมาณร้อยละ 60 ของประชากรกว่า 200 ล้านคนอาศัยอยู่บนเกาะนี้และเป็นที่ตั้งกรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองหลวง หมู่เกาะเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซียยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร และมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ปาปัวนิวกีนี และติมอร์-เลสเต

ภูมิอากาศ

แก้

ลักษณะอากาศแบบศูนย์สูตร ประกอบด้วย 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม - ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน - เมษายน) อินโดนีเซียมีฝนตกชุกตลอดปี แต่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก เพราะพื้นที่เป็นเกาะจึงได้รับอิทธิพลจากทะเลอย่างเต็มที่

บางภูมิภาค เช่น บอร์เนียวและสุมาตรา พบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิระหว่างฤดูกาล ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นูซาเต็งการา พบความแตกต่างที่เด่นชัดกว่ามากระหว่างความแห้งแล้งในฤดูแล้งและน้ำในฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยส่วนใหญ่อยู่ในสุมาตราตะวันตก ชวา และภายในของภาคกาลิมันตันและปาปัว และน้อยกว่าในพื้นที่ใกล้ออสเตรเลีย เช่น เกาะนูซาเต็งการา ซึ่งมีแนวโน้มจะแห้งแล้งกว่า ความชื้นของเกาะโดยรอบค่อนข้างสูงโดยอยู่ระหว่าง 70 ถึง 90% มีลมกำลังปานกลางและคาดการณ์ได้โดยทั่วไป โดยมรสุมมักจะพัดมาจากทิศใต้และทิศตะวันออกในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และจากตะวันตกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม พายุไต้ฝุ่นและพายุขนาดใหญ่ก่อให้เกิดอันตรายเพียงเล็กน้อยต่อนักเรือ ในขณะที่อันตรายที่สำคัญมาจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก เช่น ช่องแคบลอมบอกและช่องแคบซาเป[30]

ปัญหาในปัจจุบัน

แก้

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สภาพที่ตั้งของเกาะทั้งหมดในประเทศก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน[31] และในปัจจุบันการปล่อยมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในประเทศทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 °C (2 °F) ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา[32][33] ก่อให้เกิดภาวะแล้ง การขาดอาหาร ปัญหาต่อภาคการเกษตร และไฟป่าในหลายภูมิภาค นอกจากนี้จากการที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะ ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปีซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง[34] และประชาชนที่อาศัยในภูมิภาคที่ยากจนและห่างไกลตัวเมืองมีโอกาสจะประสบปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นมากที่สุด[35]

การเมืองการปกครอง

แก้
โจโก วีโดโด ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

ประเทศอินโดนีเซียมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ปกครองประเทศ ภายหลังการหมดอำนาจของประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ในปี 1998 โครงสร้างทางการเมืองและการปกครองได้รับการปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ปรับปรุงอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยมีการกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานระดับภูมิภาคต่าง ๆ ในขณะที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นรัฐรวม[36] ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในเวลาเดียวกัน[37] และมีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธแห่งชาติอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia, TNI) และผู้อำนวยการฝ่ายธรรมาภิบาลภายในประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย และบริหารด้านการต่างประเทศ ประธานาธิบดีอาจดำรงตำแหน่งสูงสุดสองวาระ ไม่เกิน 5 ปีติดต่อกัน[38]

ผู้แทนสูงสุดในระดับชาติคือสภาที่ปรึกษาประชาชน (Majelis Permusyawaratan Rakyat, MPR) หน้าที่หลักของคือการสนับสนุนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกำหนดโครงร่างของนโยบายของรัฐ MPR สภาผู้แทนราษฎรของประเทศ (Dewan Perwakilan Rakyat, DPR) ประกอบด้วยสมาชิก 575 คน และสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (Dewan Perwakilan Daerah, DPD) มีจำนวน 136 คน[39]

การเลือกตั้งและพรรคการเมือง

แก้

ตั้งแต่ปี 1999 อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองหลายพรรคในการลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองใดที่สามารถชนะที่นั่งเสียงข้างมากในสภาแต่เพียงผู้เดียวได้ พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2019 เป็นพรรคของ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน[40] พรรคที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ กลการ์ หรือ พรรคกลุ่มการทำงาน (Golkar), พรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Gerindra), พรรคประชาธิปไตย และพรรคยุติธรรมรุ่งเรือง (PKS)

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 38 จังหวัด (provinsi) โดยมีเมืองหลวงหรือเมืองหลักของแต่ละจังหวัด ได้แก่

นโยบายต่างประเทศ

แก้

อินโดนีเซียมีคณะทูตใน 132 ประเทศ และสถานทูตกว่า 95 แห่งทั่วโลก[41] ประเทศยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่ "เสรีอย่างแข็งขัน" โดยแสวงหาบทบาทในระดับภูมิภาคและเวทีโลกตามสมควร แต่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างประเทศ อินโดนีเซียเป็นสมรภูมิสำคัญในช่วงสงครามเย็น ปัจจุบันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านและเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับโลกมุสลิมส่วนใหญ่ อินโดนีเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลและสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขัน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนได้ชี้ให้เห็นว่าอินโดนีเซียมีความผูกพันกับอิสราเอลแม้จะไม่แสดงออกชัดเจน[42][43] โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าอาวุธปืนที่ผลิตจากอิสราเอล[44]

อินโดนีเซียเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 1950 และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) อินโดนีเซียเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน กลุ่มแคนส์ องค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นสมาชิกโอเปกเป็นครั้งคราว สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการทหารระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย ส่งผลให้อินโดนีเซียถอนตัวจากสหประชาชาติหลังการเลือกตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก่อนจะกลับมาเข้าร่วมอีกครั้งใน 18 เดือนต่อมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกมีการถอนตัว อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนามาตั้งแต่ปี 1966[45][46][47] อินโดนีเซียได้จัดตั้งโครงการความช่วยเหลือในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปลายปี 2019[48]

กองทัพ

แก้
 
ทหารกองทัพบกของอินโดนีเซีย

กองทัพอินโดนีเซีย (TNI) รวมถึงกองทัพบก (TNI–AD) กองทัพเรือ (TNI–AL ซึ่งรวมถึงนาวิกโยธิน) และกองทัพอากาศ (TNI–AU) กองทัพมีบุคลากรประจำการอยู่ประมาณ 400,000 นาย การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศในงบประมาณของประเทศอยู่ที่ 0.7% ของ GDP ในปี 2018 กองทัพของประเทศก่อตั้งขึ้นในช่วงการปฏิวัติแห่งชาติของชาวอินโดนีเซียเมื่อทำสงครามกองโจรพร้อมกับกองทหารอาสาสมัครที่ไม่เป็นทางการตั้งแต่นั้นมา โดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาเสถียรภาพภายในประเทศและขัดขวางการคุกคามจากต่างประเทศ กองทัพมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การปฏิรูปการเมืองในปี 1998 ได้ลดบทบาทของ TNI ลง อย่างไรก็ตาม พวกเขายังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่

นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ประเทศได้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อต่อต้านการก่อความไม่สงบในท้องถิ่นและขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเจะห์และปาปัว ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการรายงานระดับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ลดลงตั้งแต่ปี 2004[49]

เศรษฐกิจ

แก้

โครงสร้าง

แก้
 
จาการ์ตาใน พ.ศ. 2551 ในภาพเห็นอาคารวิซมา 46 ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจของเมือง

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นแหล่งสำคัญที่สุดในการทำรายได้ให้อินโดนีเซีย นับแต่ยุคหลังได้รับเอกราชตลอดมา ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้นำรายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและการคมนาคมสร้างฐานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง มุ่งหวังสร้างความแข็งแกร่งให้กับการอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในตลาดโลกในช่วงระหว่างปี 1980–84 ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอินโดนีเซีย รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตเพื่อลดการพึ่งพา รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ แร่โลหะที่มีค่า สินค้าอุตสาหกรรม ต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้อินโดนีเซียมีข้าวเพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป ยกเว้นบางปีที่ผลผลิตข้าวไม่ดี ขณะเดียวกันรายได้จากการ ส่งออกสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้า อุตสาหกรรมได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญในปัจจุบัน โดยคิดเป็นร้อยละ 75 ของสินค้าออก ทั้งหมด

ในด้านอุตสาหกรรม อินโดนีเซียได้พัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมต่อเรือที่จาการ์ตา สุราบายา เซอมารัง และอัมบอยนา อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ชนิดต่าง ๆ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมกระจก

เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเรื่องเศรษฐกิจการค้า การเงิน การธนาคาร และการลงทุน เพื่อให้มีความเสรีและสะดวก ยิ่งขึ้น การผ่อนคลายรูปแบบของเศรษฐกิจที่มีรัฐควบคุมอยู่มาก เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการหลาย ๆ ภาคที่เคยจำกัดไว้ รวมทั้งด้านสาธารณูปโภค อาทิ การพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม เป็นต้น

ดังนั้น เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจึงมีการขยายตัวและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงทางการเมือง ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และค่าจ้างแรงงานไม่สูงมาก ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการลงทุนของต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การประกอบการที่ดำเนินแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ การกู้ยืมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากภายนอกเพื่อลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การผลิตและประกอบการที่ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตประเทศอื่นได้

การไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการโยกย้ายเงินทุน การโจมตีค่าเงินในภูมิภาค หนี้สินต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย รวมทั้งในอินโดนีเซียในช่วงปี 1997–98 ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งอินโดนีเซียต้องพึ่งพากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก

สินค้าออกที่สำคัญของอินโดนีเซีย นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว[50] ได้แก่ ไม้อัดพลายวูด เสื้อผ้า ผ้าผืน ยางแปรรูป รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ[51] สินแร่โลหะและผลิตผลทางการเกษตร[52] ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่[53] ญี่ปุ่น สหรัฐ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วน สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเกาหลีใต้

การคมนาคม

แก้
 
รถโดยสารสาธารณะทรานส์จาการ์ตา เข้าเทียบท่าที่ป้ายรถประจำทางบนช่องทางเดินรถพิเศษ

การคมนาคมในอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากทรัพยากรและประชากรของชาติหมู่เกาะนี้ โดยเฉพาะการขนส่งประชากรกว่า 250 ล้านคน แค่เฉพาะบนเกาะชวาอย่างเดียว[54] การขนส่งในประเทศมีแนวโน้มจะเป็นแบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันมากกว่าเป็นการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ ในปี 2016 เม็ดเงินจากการคมนาคมขนส่งอย่างเดียวคิดเป็น 5.2% ของจีดีพี[55]

ระบบถนนทั้งประเทศมีความยาวรวม 537,838 กิโลเมตร (334,197 ไมล์) (2016)[56] โดยจาการ์ตามีระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษที่ขึ้นชื่อว่ามีเส้นทางเดินรถยาวที่สุดในโลก "ทรานส์จาการ์ตา" (TransJakarta) ด้วยระยะทาง 230.9 กิโลเมตร (143.5 ไมล์) ใน 13 สายที่วิ่งจนถึงชานเมืองจาการ์ตา[57] รถสามล้อ เช่น bajaj, becak และแท็กซี่แบบแบ่งกัน (share taxi) เช่น Angkot และ Metromini เป็นรูปแบบการขนส่งท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปในประเทศ ระบบการขนส่งทางรางส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในชวา ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สำหรับรถไฟฟ้าและโมโนเรลกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในจาการ์ตาและปาเล็มบัง ภายใต้ชื่อ MRT และ LRT[58][59] นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงซึ่งประกาศในปี 2015 ถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้[60]

 
เครื่องบินของการูดาอินโดนีเซียที่ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา

ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือ ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกมากที่สุดในซีกโลกใต้ ราว 63 ล้านคน ในปี 2017[61] โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติงูระฮ์ ไร และ ท่าอากาศยานนานาชาติจ็วนดา มีผู้โดยสารเข้าออกมากที่สุดรองลงมาตามลำดับ สายการบินประจำชาติ "การูดาอินโดนีเซีย" เปิดตัวในปี 1949 ในปัจจุบันสายการบินชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก และเป็นสมาชิกของสกายทีม ส่วนการคมนาคมทางน้ำมีท่าเรือตันจัง ปริอ็อก เป็นท่าสำคัญที่มีการใช้งานเยอะที่สุดและขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในประเทศ[62] รองรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 50% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมดของประเทศ

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แก้
 
ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกการปล่อยดาวเทียมปาลาปา

งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติถือว่าต่ำ น้อยกว่า 0.1% ของจีดีพีในปี 2017[63] อินโดนีเซียจึงถือว่าไม่ใช่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีภูมิปัญญาพื้นบ้านอันช่วยให้การดำรงชีวิตของชาวพื้นเมืองสะดวกสบายขึ้นและเป็นที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะภูมิปัญญาพื้นบ้านในการสร้างนาขั้นบันไดที่เรียกว่า เตอราเซอร์ และเรือไม้ของชาวบูกิสและชาวมากัสซาร์ ที่เรียกว่าเรือ "ปีนีซี"[64]

อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการพัฒนาและคิดค้นอากาศยานในการทหารเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียยังเป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ส่งออกให้กับโบอิ้ง และ แอร์บัส[65][66] อินโดนีเซียยังเคยเข้าร่วมโครงการของเกาหลีใต้ในการคิดค้นและสร้างเครื่องบินเจ็ตไล่ล่า รุ่นที่ 5 KAI KF-X.[67]

อินโดนีเซียยังมีโครงการและหน่วยงานด้านอวกาศของตนเอง สถาบันด้านการบินและอวกาศแห่งชาติ (Lembaga Penerbangan dan Antariksa Nasional, LAPAN) ซึ่งในราวทศวรรศปี 1970 อินโดนีเซียเป็นชาติกำลังพัฒนาชาติแรกที่ได้ส่งระบบดาวเทียมขึ้นไปโคจร ชื่อว่าปาลาปา[68] อันเป็นกลุ่มดาวเทียมสื่อสารที่อินโดแซต อูเรอดู เป็นเจ้าของ ดาวเทียมดวงแรกของโครงการ ปาลาปา เอ 1 ได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1976 จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา[69] จนถึงปัจจุบันมีดาวเทียมกลุ่มปาลาปา รวม 16 ดวงที่ถูกส่งไปโคจร[70] และ LAPAN ยังยืนยันไม่หยุดพัฒนาเท่านี้ และแสดงเจตจำนงที่จะส่งดาวเทียมจากฐานในประเทศภายในปี 2040[71]

พลังงาน

แก้
 
เขื่อน Jatiluhur ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนด้านพลังงานให้แก่ประชากรทั้งประเทศ

ในปี 2017 อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่อันดับที่ 9 ของโลกด้วยปริมาณ 4,200 เทราวัตต์-ชั่วโมง (14.2 พันล้านหน่วยความร้อนของอังกฤษ) และผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 15 ด้วยจำนวน 2,100 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (7.1 พันล้านหน่วยความร้อนของอังกฤษ)[72] ประเทศมีแหล่งพลังงานมากมาย รวมถึงน้ำมันสำรองทั่วไปและก๊าซธรรมชาติ 22 พันล้านบาร์เรล (3.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร) (ซึ่งสามารถกู้คืนได้ประมาณ 4 พันล้านบาร์เรล) 8 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันจากแก๊สมีเทนจากถ่านหิน (CBM) และถ่านหินที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 28 พันล้านตัน ในขณะที่การพึ่งพาถ่านหินในประเทศและน้ำมันนำเข้าเพิ่มขึ้น[73]

รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงประโยชน์ในด้านพลังงานทดแทน[74] โดยที่กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด[75] นอกจากนี้ ประเทศยังมีศักยภาพในการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และการจัดการน้ำในมหาสมุทรอีกด้วย อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 23% ภายในปี 2025 และ 31% ภายในปี 2050 ณ ปี 2015 กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งในประเทศทั้งหมดของอินโดนีเซียอยู่ที่ 55,528.51 เมกะวัตต์

เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้แก่ Jatiluhur มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนด้านพลังงานในประเทศ[76] รวมถึงการจัดหาไฟฟ้าพลังน้ำ การจัดหาน้ำ การควบคุมน้ำท่วม การชลประทาน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เขื่อนถมดินสูง 105 ม. (344 ฟุต) และรองรับอ่างเก็บน้ำ 3.0 พันล้านลูกบาศก์เมตร (2.4 ล้านเอเคอร์) ช่วยในการส่งน้ำไปยังกรุงจาการ์ตา และมีกำลังการผลิตติดตั้ง 186.5 เมกะวัตต์

การท่องเที่ยว

แก้
 
บุโรพุทโธ แหล่งมรดกโลกและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในยกยาการ์ตา

รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 28.2 พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ[77] ในปี 2017 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวจำนวน 14.04 ล้านคน เพิมขึ้นราว 21.8% จากปี 2016[78] โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินราว 2,009 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักได้แก่ชาวจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2011 กระทรวงการท่องเที่ยว (อินโดนีเซีย) ได้ประกาศสโลแกนการท่องเที่ยวคือ อินโดนีเซียมหัศจรรย์ (Wonderful Indonesia) ซึ่งยังคงใช้มาจนปัจจุบัน[79] สถานที่ท่องเที่ยวในอินโดนีเซียมีทั้งเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น ชายหาดและทะเลที่ขึ้นชื่อและป่าดงดิบจำนวนมากทั่วประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นแหล่งมรดกโลกสำคัญ อย่าง บุโรพุทโธ และ ปรัมบานัน

แหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินโดนีเซีย หมู่เกาะทั้งหมดมีการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิอากาศเขตร้อน หมู่เกาะที่กว้างใหญ่ และชายหาดที่ทอดยาว และมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนานที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของอินโดนีเซีล้วยดึงดูดนักท่องเที่ยวปริมาณมาก อินโดนีเซียยังมีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยมีป่าฝนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 57% ของพื้นที่อินโดนีเซีย (225 ล้านเอเคอร์) ป่าไม้บนเกาะสุมาตราและกาลิมันตันเป็นตัวอย่างของจุดหมายปลายทางยอดนิยม เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุรังอุตัง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีแนวชายฝั่งที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีความยาวกว่า 54,716 กิโลเมตร (33,999 ไมล์)

อินโดนีเซียมีแหล่งมรดกโลกรับรองโดยองค์การยูเนสโก 9 แห่ง[80][81] รวมทั้งอุทยานแห่งชาติโกโมโดและเหมืองถ่านหินซาวาลุนโต และอีก 19 รายการในรายชื่อที่รอการขึ้นทะเบียนในอนาคต[82] ซึ่งรวมถึงอุทยานแห่งชาติบูนาเกนและหมู่เกาะราชาอัมปัต สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ มรดกอาณานิคมของ หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ในเมืองเก่าของจาการ์ตาและเซอมารัง และพระราชวังของ Pagaruyung และยกยาการ์ตา

ความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม

แก้
สิ่งมีชีวิตหายากในหมู่เกาะอินโดนีเซีย, เรียงตามเข็มนาฬิกา: กาฝากยักษ์ (Giant padma), อุรังอุตัง, นกปักษาสวรรค์ใหญ่, และ มังกรโคโมโด

ด้วยขนาด ภูมิอากาศ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะของอินโดนีเซียส่งผลให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากสุดองโลก[83] และเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่มีความหลากหลายขนาดใหญ่ที่ระบุโดย Conservation International พืชและสัตว์คือส่วนผสมของสายพันธุ์เอเชียและออสตราเลเซียน[84] หมู่เกาะซุนดาเชลฟ์ (สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และบาหลี) ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมโยงกับเอเชียแผ่นดินใหญ่และมีสัตว์เอเชียมากมาย สปีชีส์ขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่งสุมาตรา, แรด, อุรังอุตัง, ช้างเอเชีย และเสือดาว ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่มากมายทางตะวันออกของเกาะบาหลี แต่ได้ลดลงอย่างมากด้วยฝีมือมนุษย์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์แล้ว เช่น เสือโคร่งบาหลี หลังจากการแยกตัวจากผืนแผ่นดินทวีปมาเป็นเวลานานบริเวณ สุลาเวสี นูซาเต็งการา และมาลูกูได้พัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ ปาปัวเป็นส่วนหนึ่งของผืนดินของออสเตรเลียและเป็นที่อยู่ของสัตว์และพืชพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งนกกว่า 600 สายพันธุ์

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สองรองจากออสเตรเลียในแง่ของจำนวนสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น โดย 36% ของนก 1,531 สายพันธุ์ และ 39% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 515 สายพันธุ์ถือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น อินโดนีเซียทะเลเขตร้อนล้อมรอบชายฝั่งทะเล 80,000 กิโลเมตร (50,000 ไมล์) และมีระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่หลากหลาย รวมทั้งชายหาด เนินทราย ปากน้ำ ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล โคลนชายฝั่ง ที่ราบน้ำขึ้นน้ำลง สาหร่าย และระบบนิเวศของเกาะเล็ก ๆ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของปะการัง โดยกว่า 1,650 สายพันธุ์สามารถพบได้ในภาคตะวันออกของอินโดนีเซียเท่านั้น[85][86]

นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ บรรยายถึงเส้นแบ่ง (เส้นวอลเลซ) ระหว่างการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เอเชียและออสตราเลเซียนของอินโดนีเซีย ตามแนวขอบของ Sunda Shelf ระหว่างกาลิมันตันและสุลาเวสี และตามช่องแคบลอมบอกที่ลึกระหว่างลอมบอกและบาหลี พืชและสัตว์ต่าง ๆ ทางตะวันตกของแนวเส้นนี้มักเป็นสายพันธุ์เอเชีย ขณะที่ทางตะวันออกจากลอมบอก มีความเป็นออสเตรเลียมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดแนวเวเบอร์ ในหนังสือของเขาในปี 1869 วอลเลซได้บรรยายถึงสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมายที่มีลักษณะเฉพาะในพื้นที่นี้ บริเวณหมู่เกาะระหว่างแนวของเทือกเขากับนิวกินีปัจจุบันเรียกว่าวอลเลเซีย

 
ปัญหาฝุ่นละอองบดบังทัศนวิสัยในบูกิตติงกิ ทางตะวันตกของสุมาตรา เกิดจากการทำลายป่าไม้

ด้วยขนาดประชากรที่เพิ่มสูง และการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง ปัญหาเกิดจากการบริหารที่อ่อนแอและการมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ การทำลายพื้นที่พรุ การตัดไม้ทำลายป่า (ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลมากเกินไป มลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและน้ำเสียที่ด้อยคุณภาพ มีส่วนทำให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับต่ำ (อันดับที่ 116 จาก 180 ประเทศ) ในดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมปี 2020 ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก[87]

ในปี 2018 ป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49.7% ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจาก 87% ในปี 1950 เริ่มต้นในปี 1970 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การผลิตไม้ซุง พื้นที่เพาะปลูกและเกษตรกรรมต่าง ๆ มีผลต่อการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียเป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังคุกคามการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 140 สายพันธุ์ถูกคุกคาม และอีก 15 สายพันธุ์กำลังเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงนกบาหลี อุรังอุตังสุมาตรา และแรดชวา

ประชากรศาสตร์

แก้

การสำรวจสำมะโนประชากรปี 2020 บันทึกประชากรของอินโดนีเซียไว้ที่ 270.2 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก โดยมีอัตราการเติบโตของประชากรระดับปานกลางที่ 1.3%[88] ชวาเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดในโลก[89] และกว่า 56% ของประชากรในประเทศอาศัยอยู่ในเกาะชวา ความหนาแน่นของประชากรคือ 141 คนต่อตารางกิโลเมตร (365 ต่อตารางไมล์) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 88 ของโลก รัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าจำนวนประชากรจะเติบโตเป็น 295 ล้านคนภายในปี 2573 และ 321 ล้านคนภายในปี 2593[90]

ประชากรประมาณ 54.7% อาศัยอยู่ในเขตเมือง[91] จาการ์ตาเป็นเมืองหลวงของประเทศและเป็นเขตเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 34 ล้านคน ชาวอินโดนีเซียประมาณ 8 ล้านคนอาศัยอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในมาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย[92]

เชื้อชาติ

แก้
 
แผนภาพแสดงความหลากหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในอินโดนีเซีย

ชาวอินโดนีเซียส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าที่พูดตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน ภาษาของกลุ่มชนดังกล่าวสามารถที่จะสืบค้นย้อนไปถึงภาษาออสโตรเนเชียนดั้งเดิม ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีต้นกำเนิดในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชนเผ่าที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ เผ่าเมลาเนเซียน ผู้ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะปาปัว ภาคตะวันออก ของประเทศอินโดนีเซีย ชาวชวา คือ กลุ่มชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุด ซึ่งมีอยู่ราว 42% ของจำนวนประชากร เป็นกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง และวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนชาติหลัก ๆ ที่มีจำนวนพอ ๆ กับชาวชวา เช่น ชาวซุนดา ชาวมลายู และชาวมาดูรา จิตสำนึกของความเป็น ชาวอินโดนีเซีย จะขนานควบคู่ไปกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเองอย่างเหนียวแน่น ความตึงเครียดทางสังคม ศาสนา และเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่เคยกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อันน่าสะพรึงกลัวมาแล้ว ชาวอินโดนิเซียเชื้อสายจีน เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง มีจำนวนราว ๆ ร้อยละ 3-4 ของจำนวนประชากรอินโดนีเซีย

ศาสนา

แก้
ศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย (2010)
ศาสนา ร้อยละ
อิสลาม
  
87.2%
คริสต์
  
7.0%
คาทอลิก
  
2.9%
พุทธ
  
0.7%
ฮินดู
  
1.7%
ขงจื๊อและอื่น ๆ
  
0.2%
 
ปัทมาสน์ (อาสนะที่ว่างเปล่า) สัญลักษณ์ของเทพอจินไตย เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดูแบบบาหลี ศาสนาฮินดูมีผู้นับถือเป็นหลักบนเกาะบาหลี

ในปี 2018[93] ประเทศอินโดนีเซียมีผู้นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาอิสลาม 87.2% ศาสนาคริสต์ 7% ศาสนาฮินดู 2.9% ศาสนาพุทธ 0.7% ลัทธิขงจื๊อและศาสนาอื่น ๆ 0.2%

โดยศาสนาฮินดูมีผู้นับถือเป็นหลักบนเกาะบาหลี คิดเป็นราว 84% ของประชากรทั้งหมด นับถือศาสนาฮินดูแบบบาหลี อันต่างจากศาสนาฮินดูในอนุทวีปอินเดียในบางส่วน เช่น มีศาสนสถานที่เรียกว่าปูรา นับถือเทพเจ้าสูงสุดคือ อจินไตย (เทพเจ้า) เป็นต้น

ชาวพื้นเมืองของหมู่เกาะชาวอินโดนีเซียแต่เดิมมีความเชื่อเรื่องผี[94] ซึ่งเป็นความเชื่อที่พบได้ทั่วไปในชาวออสโตรนีเซียน พวกเขาบูชาและเคารพวิญญาณบรรพบุรุษและเชื่อว่าวิญญาณเหนือธรรมชาติ (ฮยัง) อาจอาศัยอยู่ในสถานที่บางแห่ง เช่น ต้นไม้ใหญ่ หิน ป่า ภูเขา หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตัวอย่างระบบความเชื่อของชาวอินโดนีเซีย ได้แก่ Sunda Wiwitan, Dayak's Kaharingan และ Javanese Kejawèn ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่ออื่น ๆซึ่งเห็นได้จากผู้คนจำนวนมาก เช่น ชาวอาบังกันชาวชวา, ชาวฮินดูในบาหลี และชาวดายัคที่นับถือศาสนาของพวกเขา

อิทธิพลของศาสนาฮินดูมาถึงหมู่เกาะตั้งแต่ศตวรรษที่ 1[95] ในขณะที่พุทธศาสนามาถึงราวศตวรรษที่ 6 และประวัติศาสตร์ในอินโดนีเซียมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับศาสนาฮินดู เนื่องจากบางอาณาจักรที่ยึดตามพุทธศาสนามีรากฐานมาจากช่วงเวลาเดียวกัน และแม้จะไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนายังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมชาวอินโดนีเซีย[96][97]

ภาษา

แก้

ภาษาราชการของประเทศคือภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นภาษามลายู และมีสถานะเป็นภาษากลางของหมู่เกาะมาหลายศตวรรษ ได้รับการส่งเสริมโดยกลุ่มชาตินิยมในปี 1920 และได้รับสถานะอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ บาฮาซาอินโดนีเซีย ในปี 1945[98] และจากการติดต่อกับชาติอื่น ๆ มานานหลายศตวรรษ ภาษาในประเทศอินโดนีเซียจึงได้รับอิทธิพลจากภาษาท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศมากมาย เช่น ชวา ซุนดา มินังกาเบา มากัสซารีส ฮินดูสถาน สันสกฤต ทมิฬ จีน อาหรับ ดัตช์ โปรตุเกส และอังกฤษ[99][100]

ชาวอินโดนีเซียส่วนมากสามารถสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษานอกเหนือจากบาฮาซา เนื่องจากความก้าวหน้าในด้านการศึกษา วิชาการ การสื่อสาร ธุรกิจ การเมือง และสื่อมวลชนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่พูดภาษาท้องถิ่นได้อย่างน้อยหนึ่งภาษาจากจำนวนกว่า 700 ภาษา ซึ่งมักเป็นภาษาแม่ของพวกเขามาแต่กำเนิด และส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ในขณะที่ภาษาท้อถิ่นของปาปัวกว่า 270 ภาษาเป็นภาษาพูดในอินโดนีเซียตะวันออก ในจำนวนนี้ ภาษาชวาเป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายที่สุด และมีสถานะร่วมอย่างเป็นทางการในภูมิภาคพิเศษของยกยาการ์ตา

ในปี 1930 ชาวดัตช์และชาวยุโรปอื่น ๆ และกลุ่มชาวอินโด (Indos) มีจำนวน 240,000 หรือ 0.4% ของประชากรทั้งหมด[101] และยังคงมีลูกหลานสืบเชื้อสายในประเทศอยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ภาษาดัตช์ไม่เคยได้รับการยอมรับในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงไม่ได้รับสถานะทางการในบริบทต่าง ๆ แม้ว่าประเทศจะมีความสัมพันธ์กับเนเธอร์แลนด์เกือบ 350 ปี[102] แต่ชนกลุ่มน้อยตามเกาะต่าง ๆ สามารถใช้ภาษาดัตช์ได้อย่างคล่องแคล่วซึ่งส่วนมากเป็นลูกหลานของอาณานิคมชาวดัตช์ที่กล่าวถึงข้างต้น

การศึกษา

แก้
 
สถาบันตามานซิสวา โรงเรียนแรกที่เปิดสอนแก่ชนพื้นเมืองในอินโดนีเซีย ซึ่งก่อตั้งโดยกี ฮาจาร์ เดเวนตารา

ระบบการศึกษาในโรงเรียนของอินโดนีเซีย ประกอบด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาชั้นมัธยมและการศึกษาระดับสูง และยังมีการศึกษาก่อนวัยเรียนเพื่อเตรียมควมพร้อมของเด็ก การศึกษาขั้นพื้นฐานของอินโดนีเซียกินเวลา 9 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานให้แก่ ผู้เรียนเตรียมความพร้อมในฐานะปัจเจกชน ประชาชน และมนุษยชาติ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้จัดแบ่งโรงเรียนเป็น 2 ลักษณะ คือ โรงเรียนประถมศึกษาทั่วไป (General primary school) และโรงเรียนประถมศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิการ (Special primary school for handicapped children)

ระบบการศึกษาของอินโดนีเซียตั้งวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาไว้ว่า

  1. พัฒนาความรู้ของนักเรียนสำหรับการศึกษาต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้นและเพื่อพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์แขนงต่าง ๆ
  2. พัฒนาความสามารถของนักเรียนในฐานะเป็นสมาชิกของสังคมให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

โรงเรียนมัธยมศึกษาของอินโดนีเซีย แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 6 แบบ เพื่อผลิตนักเรียนตามความต้องการของผู้เรียนในอนาคต ดังนี้

  1. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วไป เป็นการเตรียมความรู้ และพัฒนาทักษะสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
  2. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาทางวิชาชีพ สามารถแยกการศึกษานี้ออกเป็น 6 กลุ่ม ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้แก่ เกษตรกรรมและการป่าไม้ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ธุรกิจและการจัดการ ความเป็นอยู่ของชุมชน การท่องเที่ยว และศิลปะหัตถกรรม
  3. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้านศาสนา
  4. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้านการบริการ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความรู้ความสามารถสำหรับผู้ที่จะเข้าเป็นพนักงานหรือข้าราชการ
  5. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่พิการทางร่างกายหรือจิตใจ
  6. การศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีใช้เวลา 3-4 ปี ปริญญาโท 2 ปี ปริญญาเอก 3 ปี สถาบันที่ให้การศึกษาระดับสูงนี้มีลักษณะเป็นสถาบันวิชาการ โพลีเทคนิค สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่สะท้อนปัญหาความไม่สมดุลในการจัดการศึกษาของอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากที่สุดในอาเซียนคือ 243 ล้านคน แต่มีผู้เข้าสูงการศึกษาขั้นสูงหรือระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณ 4.8 ล้านคนเท่านั้น ทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ก็สนใจที่จะศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน เคยมีผลสำรวจระบุว่า นายจ้างในอินโดนีเซียยินดีรับผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศมากกว่าผู้ที่จบในประเทศค่านิยมแบบนี้จึงผลักดันให้เยาวชนอินโดนีเซียต้องออกไปศึกษาต่อขั้นสูงในต่างประเทศแทน

สุขภาพ

แก้

ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 3.3% ของ GDP ในปี 2016[103] รัฐบาลได้เปิดตัวการประกันสุขภาพแห่งชาติ (Jaminan Kesehatan Nasional, JKN) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2014 โดยครอบคลุมบริการต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ชาวอินโดนีเซียมีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น (จาก 62.3 ปีในปี 1990 เป็น 71.7 ปีในปี 2019) และอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ลดลง (จาก 84 คนเสียชีวิตต่อการเกิด 1,000 คนในปี 1990 เป็น 25.4 คนในปี 2017)[104] ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันรวมถึงสุขภาพของแม่และเด็ก โรคจากมลภาวะทางอากาศ ภาวะทุพโภชนาการ อัตราการสูบบุหรี่สูง และโรคติดเชื้อ

วัฒนธรรม

แก้
 
พระราชวังมีนังกาเบา ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมบ้านพื้นเมือง (รูมะฮ์อาดัต) แบบรูมะฮ์กาดัง

วัฒนธรรมดั้งเดิมของอินโดนีเซียนั้นมีมาราว 2 สหัสวรรษ โดยได้รับอิทธิพลจากอนุทวีปอินเดีย จีนแผ่นดินใหญ่ ตะวันออกกลาง ยุโรป (ในช่วงล่าอาณานิคม)[105][106] และชาวเกาะพื้นเมืองออสโตรนีเซียน ล้วนส่งผลให้อินโดนีเซียในปัจจุบันมีวัฒนธรรมแบบพหุวัฒนธรรม พหุเชื้อชาติ และพหุภาษา[3][107] ซึ่งทำให้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากชนพื้นเมืองชาวเกาะดั้งเดิม มีความซับซ้อนในวัฒนธรรมสูง ในปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 9 รายการ เช่น มหรสพวายัง (คล้ายหนังตะลุงของไทย), ผ้าบาติก, การเต้นพื้นเมืองบาหลี เป็นต้น[108]

สถาปัตยกรรม

แก้
 
ซุ้มประตูจันดีเบินตาร์ ลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมบาหลีและบันไดทางเข้าปูราเบอซากิฮ์บนเกาะบาหลี

สถาปัตยกรรมอินโดนีเซียนั้นได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรม โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของอินเดียเป็นหลัก ผสมผสานกับอิทธิพลจีน อาหรับ มุสลิม และยุโรป บ้านแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซียเรียกรวม ๆ ว่า รูมะฮ์อาดัต (rumah adat) ซึ่งรูมะฮ์อาดัตแต่ละแบบก็ใช้การก่อสร้างและวัสดุในท้องถิ่น ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองแต่ละเผ่า[109] เช่น รูมะฮ์กาดังที่พบในซูลาเวซีใต้, ตงโกนันหรือบ้านหลังคาทรงเรือ, ศาลาแบบเป็นโดโป, หลังคาแบบจ็อกโล ของวัฒนธรรมชวา, บ้านยาว และ รูมะฮ์เมลายูหรือบ้านมลายู ของชาวดายัก, สถาปัตยกรรมบาหลีที่พบใน โบสถ์พราหมณ์แบบบาหลี (ปูรา) และ โรงนา (ลัมบัง)

วรรณกรรม

แก้

ในสมัยที่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาได้เข้าไปเผยแพร่ในอินโดนีเซีย วรรณกรรมของอินโดนีเซียจึงมีความเจริญอย่างรวดเร็ว หนังสือที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นได้แก่เรื่องเนการาเกอร์ตากามา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ และอำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับความนิยมกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปาราราตัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อินโดนีเซียในสมัยนั้น เขียนเป็นภาษาชวาโบราณ ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย ก็ได้มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาอิสลาม และตำราหมอดูไว้หลายเล่ม โดยเขียนเป็นภาษาชวา

เครื่องแต่งกาย

แก้
 
ผ้าบาติก เอกลักษณ์พื้นเมืองของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีเสื้อผ้าหลากหลายรูปแบบอันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันยาวนานและยาวนาน ชุดประจำชาติมีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมพื้นเมืองของประเทศและประเพณีสิ่งทอแบบดั้งเดิม ผ้าบาติกชวาและเกบายา เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของอินโดนีเซีย[110] แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดจากซุนดาและบาหลีด้วยเช่นกัน แต่ละจังหวัดมีการแสดงเครื่องแต่งกายและการแต่งกายแบบดั้งเดิม เช่น Ulos of Batak จากสุมาตราเหนือ; Songket ของมลายูและ Minangkabau จากสุมาตรา; และอิกัตแห่งซาสักจากลอมบอก ผู้คนสวมชุดประจำชาติและระดับภูมิภาคในงานแต่งงานตามประเพณี พิธีการ การแสดงดนตรี การเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐบาลและโอกาสทางการ และมีความแตกต่างกันไปตามเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมจนถึงสมัยใหม่

ดนตรี

แก้
การเต้นรำและการแสดงดนตรีพื้นเมืองของอินโดนีเซีย

มหรสพที่มีชื่อเสียงหนึ่งคือ ระบำบารง (Barong Dance) เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะบาหลี อินโดนีเซีย บารองเป็นสัตว์ในตำนาน ซึ่งมีหลังอานยาวและหางงอนโง้ง และเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณดีงาม ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษามนุษย์ต่อสู้กับรังดา ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณชั่วร้าย ระบำบารงเป็นนาฏกรรมศักดิ์สิทธิ์ การร่ายรำมีท่าทีอ่อนช้อยงดงาม เสียงเพลงไพเราะ[111]

การเต้นรำแบบอินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีการเต้นรำดั้งเดิมมากกว่า 3,000 แบบ[112] นักวิชาการเชื่อว่าพวกเขามีจุดเริ่มต้นในพิธีกรรมและการบูชาทางศาสนา ตัวอย่าง ได้แก่ ระบำสงคราม การเต้นรำของหมอผี และการเต้นรำเรียกฝนหรือพิธีกรรมทางการเกษตร เช่น ฮูด็อก การเต้นรำของชาวอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากยุคก่อนประวัติศาสตร์และชนเผ่า ฮินดู-พุทธ และอิสลามของหมู่เกาะ เมื่อเร็ว ๆ นี้การเต้นรำสมัยใหม่และการเต้นของวัยรุ่นในเมืองได้รับความนิยมเนื่องจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นาฏศิลป์พื้นเมืองต่าง ๆ รวมทั้งของชวา บาหลี และดายัค ยังคงเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อสังคมถึงปัจจุบัน[113]

ศิลปะการแสดง และวงการบันเทิง

แก้
 
การแสดงวายัง

วายัง (แสดงโดยคน) และ การแสดงละครหุ่นกระบอกเงาของชาวชวา ซุนดา และบาหลี เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีมายาวนาน โดยมักแสดงเป็นเรื่องในตำนานหลายเรื่อง เช่น รามายณะและมหาภารตะ[114] ละครท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ ละครภาษาชวา Ludruk และ Ketoprak, เรื่องซันดิวาราซุนดา, เบตาวี เลนอง และละครนาฏศิลป์บาหลีหลายเรื่อง พวกเขารวมอารมณ์ขันและความตลกขบขันไว้ในการแสดง และมักให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการแสดง ประเพณีการแสดงละครบางเรื่องยังรวมถึงดนตรี การเต้นรำ และศิลปะการต่อสู้ เช่น รันไดจากชาวมินังกาเบาในสุมาตราตะวันตก มักใช้ประกอบพิธีและเทศกาลตามประเพณี และอิงตามตำนานกึ่งประวัติศาสตร์และเรื่องราวความรักของมินังกาเบา ศิลปะการแสดงสมัยใหม่ยังพัฒนาขึ้นในอินโดนีเซียด้วยรูปแบบการละครที่โดดเด่น คณะละคร นาฏศิลป์ และคณะละครที่มีชื่อเสียง เช่น Teater Koma มีชื่อเสียงเนื่องจากมักแสดงถึงการเสียดสีทางสังคมและการเมืองของสังคมชาวอินโดนีเซีย

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตในหมู่เกาะคือ เลิ้ง กะสะเริง (Loetoeng Kasaroeng) เป็นภาพยนตร์เงียบโดยผู้กำกับ แอล ฮิวเวลดอร์ป ชาวดัตช์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขยายตัวหลังจากได้รับเอกราช โดยมีภาพยนตร์ 6 เรื่องที่ผลิตในปี 1949 เพิ่มขึ้นเป็น 58 เรื่องในปี 1955 อุสมาร์ อิสมาอิล ผู้ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการบันเทิงในทศวรรษ 1950 และ 1960[115] โดยทั่วไปถือว่าเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาวอินโดนีเซีย และภาพยนตร์ต่างประเทศก็ถูกห้ามฉายในเวลาต่อมา[116] การผลิตภาพยนตร์ได้รับความนิยมถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980[117] แม้ว่าจะลดลงอย่างมากในทศวรรษต่อมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภาพยนตร์ที่โดดเด่นในช่วงเวลาหลายทศวรรษมานี้ ได้แก่ Pengabdi Setan (1980), Nagabonar (1987), Tjoet Nja' Dhien (1988), Catatan Si Boy (1989) และภาพยนตร์ตลกของ Warkop[118]

บริษัทสร้างภาพยนตร์อิสระเป็นจุดกำเนิดใหม่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1998 โดยที่ภาพยนตร์เริ่มมีเนื้อหาที่ได้รับการห้ามฉายก่อนหน้านี้ เช่น ศาสนา เชื้อชาติ และความรัก ระหว่างปี 2000 ถึง 2005 จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[119] ในปี 2016 ภาพยนตร์เรื่อง DKI Reborn: Jangkrik Boss Part 1 ทุบสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศ กลายเป็นภาพยนตร์ชาวอินโดนีเซียที่มีผู้ชมมากที่สุดด้วยยอดขายบัตร 6.8 ล้านใบ[120] อินโดนีเซียได้จัดเทศกาลภาพยนตร์และรางวัลประจำปี ซึ่งรวมถึงเทศกาลภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Festival Film Indonesia) ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ปี 1955 โดยมอบรางวัล Citra Award ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1992 เทศกาลนี้จัดขึ้นทุกปีจนถึงปี 2004 และกำลังนำกลับมาจัดอีกครั้งในอนาคต

อาหาร

แก้
 
นาซีปาดัง, เร็นดัง, กูไล และผักนานาชนิด

อาหารอินโดนีเซียมีความหลากหลายสูงมาก[121][122] อาหารพื้นเมืองได้รับอิทธิพลจากจีน อาหรับ และยุโรป รวมทั้งเครื่องเทศทั้งที่พบในท้องถิ่นและนำเข้ามาปลูกจากอินเดีย[123] ข้าวเป็นอาหารหลักในอินโดนีเซีย ทานคู่กับอาหารคาว ส่วนมากปรุงรสด้วยเครื่องเทศ พริก กะทิ ปลา เนื้อไก่ เป็นวัตถุดิบหลัก[124]

อาหารขึ้นชื่อเช่น นาซีโกเร็ง, กาโด-กาโด, สะเต๊ะ, โซโต อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งชาติได้เลือกให้ ตัมเป็ง เป็นอาหารประจำชาติในปี ค.ศ. 2014[122] นอกจากนี้ยังมีอาหารปาดัง เช่น เร็นดัง เด็นดัง กูไล ซึ่งเมื่อปี 2017 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ภาคการท่องเที่ยว ได้เลือกให้เร็นดัง เป็นอาหารที่อร่อยที่สุด "ในโลก"[125] อาหารหมักดองที่เป็นที่รู้จัก เช่น อนจม, เต็มเป ซึ่งนิยมมากในชวาตะวันตก

หนึ่งในอาหารที่คนไทยรู้จักกันดีคือ กาโด-กาโด เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของอินโดนีเซียคล้ายกับสลัดแขก ซึ่งจะประกอบด้วยถั่วเขียว มันฝรั่ง ถั่วงอก เต้าหู้ ไข่ต้มสุก กะหล่ำปลี ข้าวเกรียบกุ้ง รับประทานกับซอสถั่วที่มีลักษณะเหมือนซอสสะเต๊ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องสมุนไพรในซอส เช่น รากผักชี หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ทำให้เมื่อรับประทานแล้วจะไม่รู้สึกเลี่ยนกะทิมากจนเกินไป และยังเป็นเหมือนอาหารสำหรับคนรักสุขภาพได้อีกด้วย

กีฬา

แก้

กีฬาในประเทศมักมีผู้เล่นเป็นเพศชาย และมักเกี่ยวข้องกับการพนันที่ผิดกฎหมาย[126] แบดมินตันและฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยม อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในห้าประเทศเท่านั้นที่คว้าแชมป์ Thomas and Uber Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีมแบดมินตันชายและหญิง ซึ่งนอกจากการยกน้ำหนักแล้ว แบดมินตันยังเป็นกีฬาที่มีส่วนเพิ่มเหรียญโอลิมปิกให้แก่อินโดนีเซียมากที่สุด

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ลีกาซาตู เป็นลีกสโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศ ในระดับภูมิภาค อินโดนีเซียได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 1958 และอีก 2 เหรียญทองในซีเกมส์ 1987 และ 1991 และทีมชาติอินโดนีเซียร่วมแข่งชัน เอเชียนคัพ สมัยแรกในปี 1996 และร่วมแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มได้อีกสามครั้งถัดไป แม้ว่าจะยังไม่เคยผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์

อ้างอิง

แก้
  1. "Pancasila". U.S. Library of Congress. 3 February 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 February 2017. สืบค้นเมื่อ 5 February 2017.
  2. Vickers 2005, p. 117.
  3. 3.0 3.1 Simons, Gary F.; Fennig, Charles D. "Ethnologue: Languages of the World, Twenty-first edition". SIL International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 June 2019. สืบค้นเมื่อ 20 September 2018.
  4. Na'im, Akhsan; Syaputra, Hendry (2010). "Nationality, Ethnicity, Religion, and Languages of Indonesians" (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). Statistics Indonesia. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 23 September 2015.
  5. "Statistik Umat Menurut Agama di Indonesia" (ภาษาอินโดนีเซีย). Ministry of Religious Affairs. 15 May 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2020. สืบค้นเมื่อ 24 September 2020.
  6. "UN Statistics" (PDF). United Nations. 2005. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 31 October 2007. สืบค้นเมื่อ 31 October 2007.
  7. "Hasil Sensus Penduduk 2020" (PDF) (ภาษาอินโดนีเซีย). Statistics Indonesia. 21 January 2021. p. 9. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "Report for Selected Countries and Subjects". International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 2022-04-19.
  9. "GINI index (World Bank estimate) – Indonesia". World Bank. สืบค้นเมื่อ 15 April 2021.
  10. "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  11. "Indonesia Population (2021) - Worldometer". www.worldometers.info (ภาษาอังกฤษ).
  12. "About Indonesia". www.kbriwina.at. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  13. "How Islam came to dominate Indonesia". How Islam came to dominate Indonesia (ภาษาอังกฤษ).
  14. "Muslim Population By Country 2021". worldpopulationreview.com.
  15. Brackey, Rosemary (2018-11-30). "The Largest Muslim Country Is Not in the Middle East". IMB.
  16. "Bloomberg - Are you a robot?". www.bloomberg.com. {{cite web}}: Cite ใช้ชื่อทั่วไป (help)
  17. "Indonesia Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
  18. "Series: Indonesian Forests". news.mongabay.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  19. "Facts & Figures – Embassy of the Republic of Indonesia | Washington D.C." (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  20. "Indonesia - Dutch territorial expansion". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  21. "Indonesia Colonial History - Dutch Occupation - Dutch East Indies | Indonesia Investments". www.indonesia-investments.com.
  22. "The Indonesian Independence War - Counter Narratives". Histori Bersama (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  23. "Cultures of Indonesia - Unity in Diversity | Indonesia Investments". www.indonesia-investments.com.
  24. "Javanese | people". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  25. "Bhinneka Tunggal Ika – Indonesia's Source of Excellence". Jakarta Globe.
  26. "Multiculturalism: Some Lessons from Indonesia". www.culturalsurvival.org (ภาษาอังกฤษ).
  27. "Indonesia | Facts, People, and Points of Interest". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  28. Tomascik, Tomas; Mah, Anmarie Janice; Nontji, Anugerah; Moosa, Mohammad Kasim (1996). The Ecology of the Indonesian Seas – Part One. Hong Kong: Periplus Editions.
  29. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-09.
  30. "Indonesia - Climate". countrystudies.us.
  31. Overland, Indra (2017-11-06). Impact of Climate Change on ASEAN International Affairs: Risk and Opportunity Multiplier.
  32. http://awsassets.panda.org/downloads/inodesian_climate_change_impacts_report_14nov07.pdf
  33. "Impact Map". Climate Impact Lab (ภาษาอังกฤษ).
  34. "Report: Flooded Future: Global vulnerability to sea level rise worse than previously understood". www.climatecentral.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  35. https://impactlab.org/map/#usmeas=absolute&usyear=1981-2010&gmeas=change-from-hist&gyear=2080-2099&tab=global&gvar=tasmax-over-95F&gprob=0.5&grcp=rcp85
  36. Harijanti, Susi Dwi; Lindsey, Tim (2006-01-01). "Indonesia: General elections test the amended Constitution and the new Constitutional Court". International Journal of Constitutional Law. 4 (1): 138–150. doi:10.1093/icon/moi055. ISSN 1474-2640.
  37. Chapter II, Article 3, 3rd Clause of the 1945 Constitution.
  38. (2002), The fourth Amendment of 1945 Indonesia Constitution, Chapter III – The Executive Power, Article 7.
  39. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2019-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  40. Cochrane, Joe (2014-03-14). "Governor of Jakarta Receives His Party's Nod for President". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-09-24.
  41. https://kemlu.go.id/portal/id/page/29/kedutaan_konsulat
  42. Barton, Greg; Rubenstein, Colin (2005). "INDONESIA AND ISRAEL: A RELATIONSHIP IN WAITING". Jewish Political Studies Review. 17 (1/2): 157–170. ISSN 0792-335X.
  43. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  44. https://en.tempo.co/read/1463758/indonesia-imported-us1-3-mln-israel-made-weapons-in-2020
  45. http://devinit.org/wp-content/uploads/2013/09/Investments-to-End-Poverty-Chapter-10-Indonesia.pdf
  46. "Why does Indonesia seem to prefer foreign aid from China?". East Asia Forum (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-01.
  47. Cristea, Alexandru (2019-06-25). "Where we work". International Partnerships - European Commission (ภาษาอังกฤษ).
  48. Post, The Jakarta. "Indonesia launches international assistance agency". The Jakarta Post (ภาษาอังกฤษ).
  49. "Indonesia flashpoints: Aceh" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2005-12-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  50. AsialinkBusiness. "Indonesia's Exports". Asialink Business (ภาษาอังกฤษ).
  51. "Restricted Access". santandertrade.com.
  52. "Indonesia's Top 10 Exports 2020". www.worldstopexports.com.
  53. "Exports of goods and services (% of GDP) - Indonesia | Data". data.worldbank.org.
  54. Legge, John D. (April 1990). "Review: Indonesia's Diversity Revisited". Indonesia. 49 (49): 127–131. doi:10.2307/3351057. hdl:1813/53928. JSTOR 3351057.
  55. del Olmo, Esmeralda (6 November 2017). "Indonesian Transportation Sector Report 2017/2018". EMIS. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2018. สืบค้นเมื่อ 24 October 2018.
  56. "Length of Road by Surface, 1957–2015 (Km)" (ภาษาอินโดนีเซีย). BPS. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
  57. "Koridor" (ภาษาอินโดนีเซีย). TransJakarta. สืบค้นเมื่อ 15 August 2017.
  58. "MRT and LRT, Jakarta's New Rapid Transportation: Coming Soon". Indo Indians. 25 September 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 January 2018. สืบค้นเมื่อ 17 January 2018.
  59. Alexander, Hilda B. (22 October 2016). "Palembang LRT to begin operation in June 2018" (ภาษาอินโดนีเซีย). Kompas. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2016. สืบค้นเมื่อ 29 October 2016.
  60. "South-east Asia's first high-speed rail in Indonesia ready for construction: China Railway Corp". The Straits Times. 2 July 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2018. สืบค้นเมื่อ 26 September 2018.
  61. "Soekarno-Hatta world's 17th busiest airport". The Jakarta Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 April 2018. สืบค้นเมื่อ 11 April 2018.
  62. "The 13,466-island problem". The Economist. 27 February 2016. สืบค้นเมื่อ 16 June 2017.
  63. "Indonesia seeking greater funding for R&D". Oxford Business Group. 29 August 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2017. สืบค้นเมื่อ 25 August 2018.
  64. Kasten, Michael. "History of the Indonesian Pinisi". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2016. สืบค้นเมื่อ 9 December 2016.
  65. Dwi Sutianto, Feby (5 February 2016). "PTDI Ekspor 40 Unit Pesawat, Terlaris CN235" (ภาษาอินโดนีเซีย). detikFinance. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 August 2017. สืบค้นเมื่อ 15 August 2017.
  66. "Habibie receives honorary doctorate". The Jakarta Post. 30 January 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 5 March 2016.
  67. "KF-X Fighter: Korea's Future Homegrown Jet". Defense Industry Daily. 21 November 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 November 2017. สืบค้นเมื่อ 23 November 2017.
  68. Mcelheny, Victor K. (8 July 1976). "Indonesian Satellite to Be Launched". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2018. สืบค้นเมื่อ 2 August 2018.
  69. "Planning and Development of Indonesia's Domestic Communications Satellite System PALAPA". Online Journal of Space Communication. 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 May 2015. สืบค้นเมื่อ 18 May 2015.
  70. "Satellites by countries and organizations: Indonesia". N2YO. สืบค้นเมื่อ 28 July 2018.
  71. Faris Sabilar Rusydi (17 June 2016). "Lapan Target Luncurkan Roket Pengorbit Satelit Pada 2040" (ภาษาอินโดนีเซีย). National Institute of Aeronautics and Space (LAPAN). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2017. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
  72. "International - U.S. Energy Information Administration (EIA)". www.eia.gov.
  73. https://web.archive.org/web/20150330035251/http://www.mckinsey.com/~/media/McKinsey%20Offices/Indonesia/PDFs/Ten_ideas_to_reshape_Indonesias_energy_sector.ashx
  74. "Renewable Energy Prospects: Indonesia". /publications/2017/Mar/Renewable-Energy-Prospects-Indonesia (ภาษาอังกฤษ).
  75. https://www.pwc.com/id/en/energy-utilities-mining/assets/power/power-guide-2017.pdf
  76. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  77. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ TTCR
  78. "BPS records 14.04 million tourist arrivals in 2017". The Jakarta Post. 1 February 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 February 2018. สืบค้นเมื่อ 5 October 2018.
  79. Erwida, Maulia (6 January 2011). "Tourism Ministry set to launch 'Wonderful Indonesia' campaign". The Jakarta Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2014. สืบค้นเมื่อ 12 March 2014.
  80. Susanti (2020-02-25). "9 Incredible World Heritage Sites in Indonesia". FactsofIndonesia.com (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  81. Centre, UNESCO World Heritage. "Indonesia". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  82. Centre, UNESCO World Heritage. "Indonesia". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  83. https://islamonline.net/en/indonesias-natural-wealth-nation-and-people/
  84. Whitten, T.; Henderson, G.; Mustafa, M. (1996). The Ecology of Sulawesi. Hong Kong: Periplus Editions Ltd. ISBN 978-962-593-075-6.
  85. https://en.antaranews.com/news/71545/coral-reef-destruction-spells-humanitarian-disaster
  86. Severin, Tim (1997). The Spice Island Voyage: In Search of Wallace. Great Britain: Abacus Travel. ISBN 978-0-349-11040-0.
  87. https://epi.yale.edu/sites/default/files/files/IDN_EPI2020_CP.pdf
  88. "Waspada Online | Pusat Berita dan Informasi Medan Sumut Aceh" (ภาษาอินโดนีเซีย). 2020-10-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  89. "Highest population, island". Guinness World Records (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  90. https://www.bps.go.id/website/pdf_publikasi/watermark_Proyeksi%20Penduduk%20Indonesia%202010-2035.pdf
  91. "Share of people living in urban areas". Our World in Data.
  92. "Tapping the Indonesian Diaspora Potential – Forum for International Studies". web.archive.org. 2017-12-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  93. [1] Religion in Indonesia
  94. Ooi, Keat Gin, ed. (2004). Southeast Asia: A historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor (3 volume set). ABC-CLIO. p. 177.
  95. Gonda, Jan (1975-01-01). Handbook of Oriental Studies. Section 3 Southeast Asia, Religions, Religionen (ภาษาอังกฤษ). BRILL. ISBN 978-90-04-04330-5.
  96. "Influence of Hinduism and Buddhism on Indonesian culture". Sanskriti - Hinduism and Indian Culture Website (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-12-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  97. Rachman, T. (2013). "'Indianization' of Indonesia in an Historical Sketch". International Journal of Nusantara Islam. 1 (2).
  98. "History of Indonesian Language | Language Translation, Inc". web.archive.org. 2016-03-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  99. "The Indonesian Language (James N Sneddon) - book review". dannyreviews.com.
  100. Anwar, Khaidir (1976). "Minangkabau, Background of the main pioneers of modern standard Malay in Indonesia". Archipel. 12 (1): 77–93. doi:10.3406/arch.1976.1296.
  101. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2011-07-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2021-11-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  102. Ward, Kerry (2009). Networks of Empire: Forced Migration in the Dutch East India Company. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 322–342. ISBN 978-0-521-88586-7.
  103. "WHO South-East Asia | World Health Organization". www.who.int (ภาษาอังกฤษ).
  104. "Child mortality rate". Our World in Data.
  105. Forshee, Jill (2006). "Culture and Customs of Indonesia" (PDF). Greenwood Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 October 2017. สืบค้นเมื่อ 10 October 2017.
  106. Henley, David (2015). "Indonesia". The Wiley Blackwell Encyclopedia of Race, Ethnicity, and Nationalism. The Wiley Blackwell Encyclopedia of Race, Ethnicity, and Nationalism. John Wiley & Sons, Inc. pp. 1–7. doi:10.1002/9781118663202.wberen460. ISBN 978-1-118-66320-2.
  107. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Expat
  108. "Indonesia – Intangible heritage, cultural sector". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 21 December 2017.
  109. Reimar Schefold; P. Nas; Gaudenz Domenig, บ.ก. (2004). Indonesian Houses: Tradition and Transformation in Vernacular Architecture. NUS Press. p. 5. ISBN 978-9971-69-292-6.
  110. "Cultural feast at ASEAN Fair". web.archive.org. 2011-12-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  111. http://department.utcc.ac.th/thaiculture/index.php/360/51-barong-dance
  112. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  113. "Indonesia - Theatre and dance". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  114. "Southeast Asian arts - Shadow-puppet theatre". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  115. Sitorus, Rina (2017-11-30). "The Reformation of Indonesian Film". Culture Trip.
  116. Contemporary Asian cinema : popular culture in a global frame. Internet Archive. Oxford ; New York : Berg. 2006. ISBN 978-1-84520-236-1.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  117. Lee, Maggie; Lee, Maggie (2017-05-22). "World Notices Indonesian Film Resurgence". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  118. "Sepuluh Tahun Terakhir Perfilman Indonesia - Sabtu, 02 Juli 2005". web.archive.org. 2008-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  119. "Sepuluh Tahun Terakhir Perfilman Indonesia - Sabtu, 02 Juli 2005". web.archive.org. 2008-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  120. Lee, Maggie; Lee, Maggie (2017-05-22). "World Notices Indonesian Film Resurgence". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  121. "About Indonesian food". Special Broadcasting Service. 13 May 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2015. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
  122. 122.0 122.1 Natahadibrata, Nadya (10 February 2014). "Celebratory rice cone dish to represent the archipelago". The Jakarta Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 14 July 2014.
  123. Witton, Patrick (2002). World Food: Indonesia. Melbourne: Lonely Planet. ISBN 978-1-74059-009-9.
  124. Brissendon, Rosemary (2003). South East Asian Food. Melbourne: Hardie Grant Books. ISBN 978-1-74066-013-6.
  125. Cheung, Tim (12 July 2017). "Your pick: World's 50 best foods". CNN Travel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2017. สืบค้นเมื่อ 11 October 2017.
  126. Witton, Patrick (2003). Indonesia. Melbourne: Lonely Planet. ISBN 978-1-74059-154-6.

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

รัฐบาล

แก้

ทั่วไป

แก้