ปลาคิลลี่ฟิช (อังกฤษ: Killifish) เป็นชื่อสามัญของปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยขนาดเล็กหลายชนิด ในอันดับ Cyprinodontiformes ซึ่งเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว นับ 1,000 กว่าชนิด ในแทบทุกทวีปทั่วโลก แต่ปลาคิลลี่ฟิชจะเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่

ปลาคิลลี่ฟิชราโชวี่อาย (Nothobranchius rachovii) ตัวผู้ ซึ่งอยู่ในวงศ์ Aplocheilidae มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก

โดยปลาคิลลี่ฟิช มีลักษณะโดยทั่วไป จะเป็นปลาขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะในตัวผู้ ในหลากหลายพฤติกรรม ในบางชนิดจะหากินและดำรงชีวิตอยู่บนผิวน้ำ, บางชนิดหากินและดำรงชีวิตอยู่ระดับพื้นน้ำ และบางชนิดจะรวมตัวกันเป็นฝูง และบางชนิดจะว่ายน้ำอย่างกระจัดกระจาย

ปลาคิลลี่ฟิช เป็นปลาที่มักพบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ตั้งแต่ ต้นน้ำตลอดจนไปถึง คลอง, บึง และแม่น้ำต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำถาวรและแหล่งน้ำชั่วคราวที่เหือดแห้งหายไปได้ตามฤดูกาล แม้กระทั่งแอ่งน้ำในรอยเท้าสัตว์[1] ซึ่งคำว่า "คิลลี่" (Killi) มาจากภาษาดัตช์คำว่า "kilde" หมายถึง "แหล่งน้ำขนาดเล็ก" [2]

โดยมีลักษณะการวางไข่หลากหลายแตกต่างออกไป เช่น วางไข่ทิ้งไว้ในพื้นดินและมีวงจรชีวิตที่สั้น หรือวางไข่ไว้กับใบของไม้น้ำ

สำหรับในประเทศไทย มีปลาเพียงชนิดเดียวที่เข้าข่ายปลาคิลลี่ฟิช คือ ปลาหัวตะกั่ว (Aplocheilus panchax) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Aplocheilidae ที่พบได้ทุกแหล่งน้ำทั่วทุกภาค

ปลาคิลลี่ฟิช เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยมักจะนิยมเลี้ยงรวมเป็นฝูงหรือปะปนกับปลาชนิดอื่น ในตู้ไม้น้ำ และเลี้ยงเพื่อฟักลูกปลาให้ออกจากไข่ที่วางไว้ในดิน ซึ่งสามารถห่อส่งขายทางไปรษณีย์ได้ นับว่าเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของผู้เลี้ยง[3] โดยสกุลที่นิยมเลี้ยงได้แก่ Nothobranchius ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา และปลาหัวตะกั่วทองคำ (Aplocheilus lineatus) ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นต้น[4]

อ้างอิง แก้

  1. "สารคดี BBC : เปิดโลกกว้างแอฟริกา ตอนที่ 10 คลิป 1/2". ช่อง 7. 28 November 2014. สืบค้นเมื่อ 30 November 2014.
  2. "riceditch killifish" เก็บถาวร 2012-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, reference.com, Wed Dec 10, 2014 9:05pm GMT
  3. "เที่ยงเกษตร : ปลาคิลลี่ ฟิช สร้างรายได้-เลี้ยงเก็บไข่ขายทำเงิน". ช่อง 7. 2 October 2015. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.[ลิงก์เสีย]
  4. ปลาคิลลี่, หน้า 103 ปลาสำหรับตู้พรรณไม้น้ำ คอลัมน์ Mini Fishes โดย อ๊อด Melanochromis / Apistoensis. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 25 ปีที่ 2 กรกฎาคม 2012

แหล่งข้อมูลอื่น แก้