ปราสาทโอซากะ

(เปลี่ยนทางจาก ปราสาทโอซากา)

ปราสาทโอซากะ (ญี่ปุ่น: 大坂城 หรือ 大阪城) เป็นปราสาทญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตชูโอ นครโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นปราสาทที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีบทบาทในช่วงสงครามการรวมประเทศญี่ปุ่นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในยุคอาซูจิ–โมโมยามะ[1]

ปราสาทโอซากะ
大坂城
โอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
ปราสาทหลักและคูน้ำชั้นในของปราสาทโอซาก้า ค.ศ. 2009


ภาพถ่ายทางอากาศของปราสาทโอซากะใน ค.ศ. 2017

แผนที่
ประเภทปราสาทอาซูจิ-โมโมยามะ
ข้อมูล
สภาพได้รับการบูรณะ
ประวัติศาสตร์
สร้างค.ศ. 1583
สร้างโดยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ
การใช้งานค.ศ. 1583–1945

ลักษณะเด่น

แก้

ปราสาทโอซากะมีสิ่งก่อสร้าง 13 อย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุให้เป็นทรัพย์สมบัติสำคัญในทางวัฒนธรรม สิ่งที่มีชื่อเสียงมากเป็นพิเศษคือ ประตูขนาดใหญ่และและป้อมปราการที่อยู่ตามคูกำแพงเมืองรอบนอก กำแพงสูงชันที่สูงเกือบถึง 30 เมตร นั้นทำมาจากก้อนหินขนาดใหญ่ซึ่งส่งเข้ามาในโอซากะจากเหมืองที่อยู่ห่างออกไปมากกว่า 100 กิโลเมตร ความสูงของกำแพงและความกว้างของคูกำแพงเมืองที่เห็นนั้นไม่สามารถเทียบได้กับปราสาทอื่นๆในญี่ปุ่นได้เลย

สิ่งที่น่าสนใจยังรวมถึง หลังคารูปปลาโลมาแปดตัวของหอ และหลังคาอยู่ประดับไปด้วยกระเบื้องและแกะสลักเป็นรูปเสือ ซึ่งทั้งหมดถูกชุบด้วยทองคำ

หอสูงของปราสาทได้รับการซ่อมแซมใหม่ในปี พ.ศ. 2540 การซ่อมแซมในครั้งนี้ได้นำโครงสร้างอันงดงามของกำแพงความบริสุทธิ์และความสุกใสของทองคำกลับมาให้เราเห็นอีกครั้ง ความงดงามของปราสาทจึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโอซากะ

ประวัติ

แก้

ในปี ค.ศ. 1583 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ สั่งให้มีการก่อสร้างปราสาทโอซากะที่บริเวณวัดอิชิยามะฮงกัน โดยนำแบบผังมาจากปราสาทอาซูจิ อันเป็นศูนย์บัญชาการหลักของโอดะ โนบูนางะ โทโยโตมิต้องการจะสร้างให้เหมือนกับปราสาทอาซูจิ แต่สุดท้ายแล้วกลับโดดเด่นกว่า โดยหอคอยหลักมี 5 ชั้น และมีชั้นใต้ดินอีก 3 ชั้น มีใบไม้ทองที่ด้านข้างของปราสาท ทำให้ตัวปราสาทสวยงามโดดเด่นประทับใจผู้พบเห็น ในปี ค.ศ. 1585 เมื่อตัวปราสาทแล้วเสร็จ โทโยโตมิจึงเริ่มแผนขยายตัวปราสาทเพิ่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก จนประทั่งในปี ค.ศ. 1597 การก่อสร้างได้แล้วเสร็จและฮิเดโยชิได้เสียชีวิตลง ตัวปราสาทจึงตกเป็นของบุตรของฮิเดโยชิ คือ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ

ในปี ค.ศ. 1600 โทกูงาวะ อิเอยาซุ ปราบศัตรูลงได้ในยุทธการที่เซกิงาฮาระและเริ่มจัดตั้งรัฐบาลเอโดะ ในปี ค.ศ. 1614 โทกูงาวะเริ่มโจมตีกองกำลังของฮิเดโยริในช่วงหน้าหนาวจนเข้าสู่ยุทธการการล้อมโอซากะ[2] แม้กองกำลังของโทโยโตมิมีจะน้อยกว่ากองกำลังของโทกูงาวะเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ก็สามารถต้านทานทัพ 200,000 นายของโทกูงาวะและรักษากำแพงเมืองเอาไว้ได้

ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1615 ฮิเดโยริเริ่มขุดคูเมืองรอบนอกเพิ่มขึ้นอีกชั้น โทกูงาวะจึงได้ส่งกองกำลังของตนไปโจมตีปราสาทโอซากะอีกครั้งหนึ่งและสามารถเจาะกำลังทหารของโทโยโตมิเข้าไปในกำแพงเมืองได้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปราสาทโอซากะจึงตกเป็นของโทกูงาวะ และตระกูลโทโยโตมิก็ถึงคราอวสาน

ในปี ค.ศ. 1620 โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ โชกุนคนที่ 2 แห่งตระกูลโทกูงาวะ เริ่มบูรณะและสร้างปราสาทโอซากะขึ้นมาใหม่ ยกระดับหอคอยให้สูงขึ้น ภายนอกมี 5 ชั้น ภายในมี 8 ชั้น ก่อสร้างกำแพงใหม่ให้เป็นเกียรติแต่ตระกูลซะมุไรแต่ละคน กำแพงในสมัยนั้นยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้โดยนำหินมาจากทะเลในเซโตะ และสลักยอดด้วยชื่อของตระกูลที่อุทิศให้กับการสร้างกำแพงเหล่านี้

ในปี ค.ศ. 1660 เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่คลังแสงเป็นผลให้เกิดระเบิดและไฟไหม้ตัวปราสาท จากนั้นในปี 1665 เกิดฟ้าผ่าทำให้ตัวปราสาทหลักได้รับความเสียหายและพังลงมา

หลังถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน รัฐบาลเอโดะต้องการจะซ่อมตัวปราสาทซึ่งมีส่วนให้ต้องซ่อมอีกมาก ในปี 1843 รัฐบาลจึงได้เรี่ยไรเงินจากประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างคอคอยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1868 ปราสาทโอซากะถูกล้อมด้วยกองกำลังจักรพรรดิต่อต้านรัฐบาลเอโดะ และตัวปราสาทก็ถูกเผาในสงครามกลางเมืองสมัยการปฏิรูปเมจิ

ต่อมา รัฐบาลเมจิได้ให้ปราสาทโอซากะเป็นคลังแสงผลิตปืน อาวุธยุทธภัณฑ์ และระเบิด เพื่อขยายขีดความสามารถทางการทหารของญี่ปุ่นในตามแบบตะวันตก[3]

ในปี ค.ศ. 1928 ได้มีการสร้างหอคอยหลักขึ้นมาใหม่หลังจากที่เทศบาลเมืองโอซากะสามารถระดมทุนจากประชาชนมาจำนวนมาก

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คลังแสงกลายเป็นแหล่งผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของญี่ปุ่น มีคนงานกว่า 60,000 คน และเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศของฝ่ายพันธมิตรด้วย ทำให้ปราสาทโอซากะเสียหายอย่างหนักในช่วงท้ายสงครามเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 จากการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ คลังแสงเสียหายไปร้อยละ 90 และคนงานเสียชีวิต 382 คน

ในปี ค.ศ. 1995 เทศบาลนครโอซากะเริ่มต้นโครงการบูรณะปราสาทโอซากะอีกครั้ง โดยให้ภายนอกยังคงความเป็นยุคเอโดะ แผนการบูรณะแล้วเสร็จในปี 1997 ตัวปราสาทมีความทันสมัยขึ้นมาก และมีสวนบ๊วย มีต้นดอกซากุระ มีลิฟต์ติดตั้งภายในและมีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบสมัยใหม่มากมาย

คลังภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Uemachidaichi : OSAKA-INFO - Osaka Visitor's Guide". Osaka-info.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-28. สืบค้นเมื่อ 2013-02-15.
  2. Meek, Miki. "The Siege of Osaka Castle". National Geographic Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-27. สืบค้นเมื่อ 2008-01-22. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. "Osaka Army Arsenal". Ndl.go.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-09. สืบค้นเมื่อ 2013-02-15. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

34°41′14″N 135°31′33″E / 34.68722°N 135.52583°E / 34.68722; 135.52583