บุญศรี รัตนัง (5 มีนาคม พ.ศ. 2496 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564) เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย นักร้องเพลงพื้นเมืองล้านนา นักร้องเพลงซอที่มีผลงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จนได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2533

บุญศรี รัตนัง
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด5 มีนาคม พ.ศ. 2496
อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ไทย
เสียชีวิต19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 (68 ปี)
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ไทย
คู่สมรสจินตนา รัตนัง
อาชีพนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2525 - 2564
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา)

ประวัติ

แก้

บุญศรี รัตนัง เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2496 ที่บ้านป่าเหมือด ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรนายดวงคำ และนางจันทร์เที่ยง รัตนัง มีพี่น้อง 4 คน ได้สมรสกับนางจินตนา รัตนัง เมื่อปี 2520 มีบุตร 2 คน คือ 1.นพดล รัตนัง 2.มณีรัตน์ รัตนัง (อ้อม) ศิลปินและนักร้อง

บุญศรีมีนิสัยการดีด สี ตีเป่า มาตั้งแต่เล็ก ได้ฝึกการเล่นดนตรีพื้นเมืองประเภทซึง-สะล้อ ขลุ่ย จากลุงของตน คือ นายสิงห์คำ รัตนัง ตั้งแต่เยาว์วัย สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านป่าเหมือด เมื่อปี 2506 เริ่มเรียนเป่าปี่กับพ่อสม บุญเรือง ช่างเป่าปี่ มีชื่อในขณะนั้น พ.ศ. 2515 หันมาเรียนขับซอกับพ่อหนานตา ตันเงิน ที่บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม

บุญศรีได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์

การทำงาน

แก้

บุญศรี รัตนัง มีอาชีพทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับบิดามารดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เริ่มรับจ้างเป่าปี่ในงานซอ เล่นตลกประจำคณะละครซอลูกเอื้องเมืองเหนือ ในปี พ.ศ. 2516 ทำงานทั่วไปประจำวงดนตรี คณะอำนวยโชว์ ของนายอำนวย กลำพัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ตั้งวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ชื่อวง “ ลูกทุ่ง ลานทอง ” และย้ายมาเล่นตลกในคณะนายประสิทธิ ศรีสมเพชร ในตลกคณะ “ จอกจมูกแดง ” ในปี พ.ศ. 2522 ปีต่อมาเข้าสู่วงการซอโดยได้รับการสนับสนุนจากนาย ประสิทธิ ศรีสมเพชร และเริ่มฝึกแต่งเพลง ใส่ทำนองเพลงแนวพื้นบ้านภาคเหนือ

ในปี พ.ศ. 2525 เริ่มร้องเพลงลูกทุ่งคำเมืองชุด "ลุงอดผ่อบ่ได้" และ "บ่าวเคิ้น" ได้รับการสนับสนุนจากแฟนเพลงในภาคเหนือ และเป็นนักร้องประจำอยู่วงดนตรีคณะศรีสมเพชรวงใหญ่ ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เริ่มต้นสร้างแนวเพลงนี้ขึ้น[1] จากนั้น พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2528 ได้ตั้งกิจการวงดนตรีตนเอง แต่ประสบปัญหาขาดทุนจึงต้องหยุดการแสดง จึงหันเข้าสู่วงการซออีกครั้งหนึ่งทำผลงานซอออกมาอีก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

 
อัลบั้ม ลุงอดผ่อบ่อได้ พ.ศ. 2525

ผลงาน

แก้

อัลบั้ม

แก้
  • พ.ศ. 2526 - เมาตึงวัน, สามตอง และเบื่อผัวสามตอง
  • พ.ศ. 2527 - หนุ่มรถอีแต๋นครวญ และ คุณนายป่ามป้าม
  • พ.ศ. 2528 - เฒ่าจอมโว และ เฒ่าชีกอ
  • พ.ศ. 2529 - ซอลูกทุ่งเบิกฟ้า, ผัวเปรต และเมียยักษ์
  • พ.ศ. 2530 - ผัวอี่แก้ว และ ซอสามจังหวะ
  • พ.ศ. 2531 - มันง่ายดี และ อย่าปิ๊งเดี๋ยวป่อง
  • พ.ศ. 2532 - ปอแล้วหวย และ รักเมียหลวงห่วงเมียน้อย
  • พ.ศ. 2533 - ไม่บอกก็รู้ และ ปี๋ใหม่เมือง
  • พ.ศ. 2534 - คนอู้เอ็น และ คนมักไมค์
  • พ.ศ. 2535 - นักเลงไก่ชน และ ไม่มีสิทธิ์อย่ามาขวาง
  • พ.ศ. 2536 - ว.2 ว.8 และ เมียบ่ฮู้ใจ๋
  • พ.ศ. 2537 - แตงดังควาย และ นักมวยขี้ไห้
  • พ.ศ. 2538 - บ่ฮู้คิง และ เงินบาทลอยตัว
  • พ.ศ. 2539 - อเมดซิ่งไทยแลนด์ และ กลองยาวสามช่า ปี๋ใหม่เมือง แห่ครัวตาน (ซึ่งอัลบั้ม กลองยาวสามช่านี้ มีเพลงที่ทำให้ได้รับรางวัล ศิลปินเพลงยอดเยี่ยมพื้นบ้านภาคเหนือ รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ ๑ จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย คือ เพลง แห่ครัวตาน ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
  • พ.ศ. 2543 - ขี้เมาอ้อนเมีย
  • พ.ศ. 2544 - จัดระเบียบสังคม
  • พ.ศ. 2548 - ขี้เมาสามช่า และได้ทำอัลบั้มเพลงลูกทุ่งคำเมืองให้กับ น.ส.มณีรัตน์ รัตนัง โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า “ สาวเคิ้น ”
  • พ.ศ. 2549 - แหล่หอยไห้ เป็นการนำเอาเพลงเก่า มาบันทึกเสียงใหม่
  • พ.ศ. 2550 - กะเทยเฒ่า

เพลงประจำโรงเรียน

  • พ.ศ. 2554 - เพลงไหว้สาเจ้าพิริยะเทพวงศ์ (ได้รับเชิญให้ขับร้องเป็นเพลงเทิดพระเกียรติเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์[2] เจ้าผู้ครองเมืองแพร่ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเทพวงษ์ ปัจจุบันนามว่า โรงเรียนพิริยาลัยและในโอกาสโรงเรียนอายุครบ 111 ปี[3] ประพันธ์โดย ครูสุกัญญา วุฒิเจริญ ทำนองโดย ครูวันชัย คุณาคำ บรรเลงโดย วงโยธวาทิตโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ในการควบคุมโดย ครูวันชัย ขณะนั้น) โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงคุณงามความดีและพระเมตตาของเจ้าหลวงที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาทรงอยากให้เยาวชนในจังหวัดแพร่มีความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาจังหวัดและประเทศชาติ ทรงสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อยากให้คนไทยมีการศึกษาและทรงสร้างโรงเรียนขึ้นเป็นโรงเรียนแห่งแรกในจังหวัดแพร่ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ทรงดีพระทัยและทรงยินดีจึงโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนเทพวงษ์"

รางวัลเกียรติประวัติ

แก้
  • ชนะการแข่งขันการประกวดวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ ในนามวง “ ลูกทุ่งลานทอง ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ที่รายการลูกทุ่งลานนา สถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2526
  • ได้รับโล่ประเภทสื่อชาวบ้าน จากพลเอกประจวบ สุนทรางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2525 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2526
  • ได้รับการประกาศให้เป็นบุคลากรดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2533
  • ได้รับโล่เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 [4]
  • ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2560 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ ๔ ชื่อ จตุตถดิเรกคุณาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

การเสียชีวิต

แก้

บุญศรี รัตนัง เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21.45 น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ สิริอายุ 68 ปี[6] เมื่อแฟนเพลงและศิลปินคนอื่น ๆ ที่รู้จักบุญศรี ต่างรู้สึกตกใจและเสียใจ

มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. ณ วัดหนองเต่าคำ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเครื่องประกอบเกียรติยศ คือ หีบลายก้านแย่ง ซึ่งมีท่านวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในพิธี รวมถึงการสวดอภิธรรมในคืนแรก

และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14:00 น. ณ สุสานบ้านหนองเต่าคำ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระครูอดุลสีลกิตติ์ เป็นประธานในพิธี

อ้างอิง

แก้
  1. "[[มหาวิทยาลัยพายัพ]]มอบโล่เกียรติคุณ แด่ พ่อครูบุญศรี รัตนัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-27. สืบค้นเมื่อ 2010-08-06.
  2. เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์
  3. โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่
  4. "มหาวิทยาลัยพายัพมอบโล่เกียรติคุณ แด่ พ่อครูบุญศรี รัตนัง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-08-06.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๒๔๐, ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔
  6. อาลัย ‘พ่อครูบุญศรี รัตนัง’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เสียชีวิตในวัย 68 ปี