มหาวิทยาลัยพายัพ

มหาวิทยาลัยพายัพ (อังกฤษ: Payap University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2517[2] โดยนับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ถูกเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2527

มหาวิทยาลัยพายัพ
ชื่อย่อมพย. / PYU
คติพจน์สัจจะ-บริการ
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
สถาปนา21 มีนาคม พ.ศ. 2517 (50 ปี)
นายกสภาฯนายสเปญ จริงเข้าใจ
อธิการบดีอภิชา อินสุวรรณ
อธิการบดีอภิชา อินสุวรรณ
ผู้ศึกษา2,364 คน (2566)[1]
ที่ตั้ง
ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สี   ฟ้า-ขาว
เว็บไซต์www.payap.ac.th

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

แก้

สัญลักษณ์

แก้

เครื่องหมายมหาวิทยาลัย เป็นรูปวงกลม ตรงกลางประกอบด้วยวงกลมเล็กสามวงซ้อนกัน มีสัญลักษณ์ของ ศาสนา วิทยาศาสตร์ และศิลป์ โดยมีวงกลมตรงกลางมีสัญลักษณ์ของมนุษย์ที่มีความสมดุลในชีวิต ด้านบนวงกลมมีข้อความว่า "มหาวิทยาลัยพายัพ" ด้านล่างมีข้อความว่า "สัจจะ-บริการ" ภาษาอังกฤษ "PAYAP UNIVERSITY" และ "TRUTH-SERVICE" อันเป็น คติพจน์ และเป็นส่วนหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัย

ดอกไม้และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

แก้

ดอกไม้และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ บุนนาค ( Mesua ferrea Linn ) ซึ่งมีความหมายดังนี้

  • ดอกบุนนาค
  1. มีสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ความสะอาด หมดจด คุณงามความดี
  2. มีกลิ่นหอม ทำให้เกิดความพึงพอใจ เป็นสัญลักษณ์ของการขจายขจรชื่อเสียง
  3. มีลักษณะเป็นรูปฉัตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติศักดิ์อันสูงส่ง คือคุณค่าแห่งชีวิต
  • ต้นบุนนาค
  1. มีสรรพคุณทางรักษาโรค เป็นสัญลักษณ์การรักษาความเจ็บปวดทั้งกายและใจซึ่งหมายถึง ความรู้และสัจจะที่บัณฑิต ของ มหาวิทยาลัยพายัพได้รับควรจะเป็นยาที่สามารถรักษาความเจ็บป่วยของสังคม หรือผู้อื่น สามารถที่จะสมานน้ำใจของผู้มี ความทุกข์ยาก
  2. เป็นต้นไม้ที่เลี้ยงยากที่สุด ต้องทะนุถนอมเป็นอย่างดีจึงจะเจริญเติบโตได้เป็นสัญลักษณ์ของการท้าชวนและท้าทาย

ประวัติ

แก้

คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เข้ามาประกาศเผยแพร่ครั้งแรกในประเทศไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในปี พ.ศ. 2371 โดยคณะมิชชันนารีจากอังกฤษ คือ คณะลอนดอนมิชชันนารีโซไซเอ็ตตี้ (London Missionary Society) ต่อมาได้ติดต่อประสานงานให้คณะมิชชั่นอื่น ส่งมิชชันนารีเข้ามาประกาศเผยแพร่ด้วย เช่น มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น เข้ามาประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2383 ในช่วงแรกประกาศเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2404 ทางราชการประกาศอนุญาตให้ออกไปเผยแพร่ทำการประกาศนอกกรุงเทพฯได้ จึงส่งมิชชันนารีไปทำงานที่เพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2410 ได้เข้ามาประกาศเผยแพร่ที่เชียงใหม่ ลักษณะการเผยแพร่ประกาศคริสต์ศาสนาสิ่งหนึ่งคือ การตั้งโรงเรียนเป็นสถานศึกษาแบบตะวันตก จัดสอน การเรียนการศึกษาแบบตะวันตกแก่เด็กชายและเด็กหญิง เป็นการเตรียมผู้นำสำหรับคริสตจักร และการบริหารโรงเรียน การดำเนินการพันธกิจด้านการศึกษาของมิชชั่น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีการตั้งโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ ที่มิชชั่นเข้าไปดำเนินการ รวมทั้งมีการตั้งโรงเรียนในคริสตจักรต่าง ๆ ที่มีความพร้อมด้วย ดังนั้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มิชชั่นจึงมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยคริสเตียนขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่

แนวความคิดจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทางคณะกรรมาธิการต่างประเทศในนามของมิชชั่นที่สหรัฐอเมริกา ได้ตอบมาว่ายังไม่พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ ต่อมาเมื่อมิชชั่นมีความพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ประสบกับอุปสรรคกับทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติการศึกษาที่สนับสนุนให้ต่างประเทศมาตั้งมหาวิทยาลัย ในช่วงระยะเวลานี้ทางมิชชั่นก็เปิดดำเนินการโรงเรียนของมิชชั่น และมีการเปิดโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคริสตจักรท้องถิ่นด้วย โรงเรียนเหล่านี้ได้นำเอาระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาปรับปรุงใช้ในการดำเนินงานและอยู่ภายใต้การดูแลของมิชชั่นมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2477 มีการตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทยขึ้น มิชชั่นได้มอบกิจการต่าง ๆ ให้กับสภาคริสตจักรฯ ดูแลและได้ปรับปรุงงานด้านการศึกษา สภาคริสตจักรฯ มีความตั้งใจที่จะตั้งมหาวิทยาลัยคริสเตียนเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของมิชชั่นลาวเหนือที่ได้ริเริ่มโครงการไว้ เมื่อความต้องการของผู้ที่จะศึกษาในระดับอุดมศึกษามีมากขึ้นและรัฐบาลไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้อย่างทั่วถึง รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยเอกชนขึ้นในปี พ.ศ. 2512 จึงได้รื้อฟื้นความคิดที่จะตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยยกฐานะ 2 สถาบันคือ โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยแมคคอร์มิค และวิทยาลัยพระคริสตธรรม ซึ่งเป็นสถาบันที่เก่าแก่และตั้งมานานแล้วขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่รัฐบาลจะรับรองมาตรฐานได้ดังนั้นผู้อำนวยการของทั้ง 2 สถาบันดังกล่าวได้ตกลงร่วมกันเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาของสภาคริสตจักรฯ อีกหลายคน อาทิ ศจ.ดร.จอห์น แฮมลิน อาจารย์บุญชวน เจิมประไพ ศจ.ประเสริฐ อินทะพันธุ์ ร.ต.ท.แก้ว เนตตโยธิน นายแพทย์พิพัฒน์ ตรังรัฐพิทย์ ดร.คอนรัด คิงศ์ฮิลล์ ศจ.วิคเตอร์ แมคแอนนาแลน ศจ.ประพันธ์ จันทรบูรณ์ อาจารย์ประกาย นนทวาสี อาจารย์ธวัช เบญจวรรณ และอาจารย์โดแนลด์ แมคอิลวไรด์ ประชุมเกี่ยวกับการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ที่ประชุมมีมติเห็นสมควรให้จัดตั้งวิทยาลัยเอกชน และได้นำเสนอต่อสภาคริสตจักรฯ และสภาคริสตจักรฯ ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย และได้แต่งตั้งคณะบุคคลดังกล่าวเป็น “คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนของสภาคริสตจักรในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2513 คณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนฯ ได้ตระเตรียมรายละเอียดของหลักสูตร และระเบียบเกี่ยวกับวิทยาลัยทุกอย่าง ในตอนแรกได้พิจารณาเปิด 2 แผนก คือ แผนกวิทยาศาสตร์ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาพยาบาล (แมคคอร์มิคเดิม) และแผนกศิลปศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา สาขาวิชาดุริยศิลป์ และสาขาวิชาบริหาร

การตั้งชื่อวิทยาลัยนั้นคณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งวิทยาลัยเอกชน ได้มีมติที่ 71/2 ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ให้เรียกชื่อวิทยาลัยว่า “วิทยาลัยคริสเตียนพายัพ” ดังนั้นจึงถือเอาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสถาปนาวิทยาลัย ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 คณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันและพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยจาก "วิทยาลัยคริสเตียนพายัพ" เป็น “วิทยาลัยพายัพ”

วิทยาลัยพายัพเปิดสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เปิดสอน 8 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดุริยศิลป์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญาศาสนา สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา การบริหารงานบุคคล และอนุปริญญาพยาบาลและอนามัย

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 วิทยาลัยพายัพได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัย เป็น “มหาวิทยาลัย” และมหาวิทยาลัยพายัพได้ดำเนินการพัฒนาในด้านการเรียนการสอนมาโดยลำดับจนปัจจุบันนี้ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 9 คณะ 3 วิทยาลัย จำนวน 24 สาขาวิชา ระดับปริญญาโทอีก 6 สาขาวิชา และระดับปริญญาเอก 1 สาขาวิชา นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยพายัพได้พยายามปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตตามแนวทางที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอยู่ตลอดเวลา มหาวิทยาลัยพายัพได้ปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆของสถาบันอุดมศึกษาได้ช่วยสนับสนุนให้การจัดการศึกษาและการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับได้ว่ามหาวิทยาลัยพายัพได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติตลอดมา[3]

การศึกษา

แก้

มหาวิทยาลัยพายัพจำแนกตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2563 มหาวิทยาลียพายัพได้มีการจัดการศึกษาโดยมีคณะที่เปิดสอนจำนวนทั้งสิ้น 6 คณะ 3 วิทยาลัย ได้แก่

หลักสูตรระดับปริญญาตรี

แก้

คณะกลุ่มวิทยาลัย

แก้
  1. วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี
  2. วิทยาลัยดุริยศิลป์
  3. วิทยาลัยนานาชาติ
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาการสื่อสารภาษาอังกฤษ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรบัณฑิตศึกษา

แก้

หลักสูตรภาษาไทย

  1. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
  2. หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
  3. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคริสต์ศาสนศาสตร์
  4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์

หลักสูตรนานาชาติ

  1. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษแก่ผู้พูดภาษาอื่น
  2. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาศาสตร์
  3. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสร้างสันติภาพ

หลักสูตรประกาศนียบัตร

  • ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ

แก้
ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง (นับจากปีการศึกษา) รวม(ปี) หมายเหตุ
1 นายแพทย์พิพัฒน์ ตรังรัฐพิทย์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2520 4
2 อาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก อธิการบดี พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2539 18 ดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1
3 อาจารย์ ดร.บุญทอง ภู่เจริญ อธิการบดี พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2549 10
4 ศาสนาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ อธิการบดี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2555 6
5 รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ รักษาการอธิการบดี พ.ศ. 2556 1
6 ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.สมพันธ์ วงษ์ดี อธิการบดี พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2560 4
7 อาจารย์ ดร.รักษ์ พรหมปาลิต อธิการบดี พ.ศ. 2560- พ.ศ.2562 1
- อาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก รักษาการอธิการบดี พ.ศ. 2562 1 ดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2
8 อาจารย์อภิชา อินสุวรรณ รักษาการอธิการบดี พ.ศ. 2563 - พ.ศ.2564 2
อธิการบดี พ.ศ.2565 ยังอยู่ในวาระ

วิทยาเขต

แก้
  1. วิทยาเขตแม่คาว : ถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  2. วิทยาเขตแก้วนวรัฐ : ถนนแก้วนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  3. วิทยาเขตธารแก้ว : ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย

แก้

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยพายัพ อยู่ในอันดับที่ 2,481 ของโลก อันดับที่ 88 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 30 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[4]

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยพายัพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. สถาบันอุดมศึกษา เก็บถาวร 2011-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเว็บไซต์ สกอ.
  3. จาก หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ
  4. Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia
  5. http://www.chiangmai.go.th/newweb/governor/ratapol.php

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้