บันทึกประจำวันของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

อนุทินและสมุดปูมของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

บันทึกประจำวันของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (สเปน: Diario de a bordo del primer viaje de Cristóbal Colón) เป็นอนุทินและสมุดปูมที่เขียนโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเกี่ยวกับการเดินทางครั้งแรกของเขา บันทึกนี้ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 เมื่อโคลัมบัสออกเดินทางจากปาลอส เด ลา ฟรอนเตรา จนถึงวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1493 และมีบทนำกล่าวถึงการได้รับอำนาจจากกษัตริย์[1] หลักฐานอ้างอิงร่วมสมัยหลายฉบับยืนยันว่าโคลัมบัสบันทึกการเดินทางของเขาไว้โดยการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ รายวัน ซึ่งใช้เป็นหลักฐานสำหรับพระมหากษัตริย์คาทอลิกผู้อุปถัมภ์[2] เมื่อเขากลับมาสเปนในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1493 โคลัมบัสได้มอบบันทึกนี้แก่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา[3] พระองค์โปรดให้คัดลอกบันทึก เก็บรักษาต้นฉบับ และมอบสำเนาให้กับโคลัมบัสก่อนการเดินทางครั้งที่สองของเขา[4] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1504 ไม่มีผู้ใดทราบว่าข้อความต้นฉบับภาษาสเปนอยู่ที่ไหน[4]

บันทึกประจำวันของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
โดย บาร์โตโลเม เด ลาส กาซาส (อาลักษณ์)
ตัวหนังสือภาษาสเปน
สร้าง3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 — 15 มีนาคม ค.ศ. 1493
ที่อยู่ปัจจุบันไม่ทราบแน่ชัด ถือว่าสูญหาย

มีการจัดทำสำเนาของบทคัดย่อจากบันทึกประจำวัน โดยฉบับที่มีชื่อเสียงเป็นของบาร์โตโลเม เด ลาส กาซาส (Bartolomé de las Casas)[2] นับตั้งแต่การค้นพบสำเนาของลาส กาซาส ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักวิชาการได้ตั้งคำถามถึงความถูกต้องและความเที่ยงตรงของสำเนาดังกล่าวเทียบกับต้นฉบับ[5] การแปลบันทึกประจำวันสำนวนอื่นจำนวนหนึ่งและบรรณานุกรมของโคลัมบัสได้มาจากสำเนาของลาส กาซาส งานต้นฉบับที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ The Diario of Christopher Columbus' First Voyage to America 1492–1493 ของมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา, The Voyage of Christopher Columbus: Columbus' Own Journal of Discovery ของจอห์น คัมมินส์ (John Cummins) และ The Log of Christopher Columbus ของโรเบิร์ต ฟูซัน (Robert Fuson)

ภูมิหลัง

แก้

เรื่องราวต้นกำเนิดของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสและชีวิตวัยเยาว์ก่อนอาชีพการเดินเรือทะเลของเขายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[3] โคลัมบัสรอดชีวิตจากเหตุการจมของเรือโปรตุเกส เขาทำงานให้กับพ่อค้า และเริ่มทำแผนที่กับบาร์โธโลมิวน้องชายของเขา ก่อนที่จะแต่งงานกับ ฟีลีปา มูนีซ ปีรีสเตรลู (Filipa Moniz Perestrelo) ในปี ค.ศ. 1478[3][6][7] โคลัมบัสมีความสนใจในการศึกษาภูมิศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยา และประวัติศาสตร์[3] โคลัมบัสใช้ชีวิตแบบนักเดินทางพเนจรผ่านอาชีพการเดินสมุทรจนถึงปี 1480[3] ด้วยการคำนวณและการประมาณการที่ไม่ถูกต้อง โคลัมบัสเชื่อว่าเขาสามารถเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออกได้สำเร็จ เพื่อเปิดเส้นทางการค้าใหม่ไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออก[3] ในขั้นต้นโคลัมบัสได้เสนอเส้นทางการค้าที่เป็นไปได้แก่พระเจ้าฌูเวาที่ 2 แห่งโปรตุเกส[3] ซึ่งปฏิเสธคำขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการสำรวจเส้นทางไปทางตะวันออกของเขา[3][7] หลังจากนั้น โคลัมบัสถูกปฏิเสธหลายครั้งจากการเสนอข้อเสนอของเขาต่อเวนิส เจนัว ฝรั่งเศส และพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ ก่อนที่จะนำขึ้นเสนอต่อสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งสเปนในเดือนมกราคม ค.ศ. 1492[6][7] การนำเสนอการเดินทางแก่ราชวงศ์สเปนครั้งแรกของโคลัมบัสถูกปฏิเสธ[6] แต่หลังจากการตรวจสอบซ้ำโดยได้รับแรงผลักดันจากทัศนคติที่แน่วแน่และลักษณะเฉพาะตัวของโคลัมบัส พระราชินีนาถอิซาเบลและกษัตริย์เฟร์นันโดก็โปรดที่จะให้ทุนแก่การเดินทางครั้งแรกของเขา[6][7] โคลัมบัสและคณะอีก 90 คนเริ่มเดินทางจากปาลอสเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 ด้วยเรือสามลำ ได้แก่ ซานตามาเรีย, นีญา, และปินตา[6]

เนื้อหา

แก้

ในบทนำ โคลัมบัสกล่าวถึงคำสั่งที่ให้เขาแล่นเรือไปอินเดียได้รับในเดือนมกราคม ค.ศ. 1492 หลังจากเหตุการณ์การขับไล่ชาวยิวออกจากสเปน[1] มีรายงานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุการณ์การขับไล่ โดยโคลัมบัสอ้างถึงเดือนมกราคม ในขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นๆ รวมถึงพระราชกฤษฎีกาอาลัมบราอ้างถึงเดือนมีนาคม[1] หลังจากบทนำ บันทึกเริ่มต้นด้วยการที่โคลัมบัสออกจากสเปนไปยังหมู่เกาะคานารี "ครึ่งชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น" ในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1492 เมื่อวันที่ 16 กันยายน โคลัมบัสรายงานว่าเขาได้เข้าสู่ทะเลซาร์กัสโซแล้ว บันทึกดังกล่าวกล่าวถึงสัตว์หลายชนิดที่พบในระหว่างการเดินทางไปทางทิศตะวันตก เช่น โลมา และนกโจรสลัด[1] โคลัมบัสยังอธิบายถึงความเบี่ยงเบนของสนามแม่เหล็กด้วย เนื่องจากกะลาสีเรือชาวยุโรปเคยเดินทางด้วยการแปรผันของสนามแม่เหล็กทางทิศตะวันออกเท่านั้น โคลัมบัสจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบความเบี่ยงเบนของสนามแม่เหล็กทางทิศตะวันตกสำหรับชาวยุโรป[8] บันทึกยังกล่าวถึงอารมณ์ของลูกเรือระหว่างการเดินทางโดยย่ออีกด้วย โคลัมบัสเขียนว่าระยะทางที่ครอบคลุมที่ประกาศต่อลูกเรือเป็นประจำนั้นมักจะน้อยกว่าระยะทางจริง ก่อนเดินทางมาถึงโลกใหม่ บันทึกดังกล่าวรายงานว่าพบเห็นแสงที่ไม่ทราบที่มา[9] โคลัมบัสได้ชื่อว่าเป็นผู้มองเห็นแผ่นดินครั้งแรกของการเดินทางของเขาที่เกาะซานซัลวาดอร์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และบรรยายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ว่าไร้เดียงสาและเปลือยเปล่า แต่ยินดีต้อนรับนักสำรวจชาวยุโรป[10] แม้ว่าบันทึกนี้จะแสดงให้เห็นความรู้ภาษาสเปนที่ไม่สมบูรณ์ของโคลัมบัส แต่เขายังได้เปรียบเทียบภูมิทัศน์ของโลกใหม่กับภูมิทัศน์ของสเปน เช่น แม่น้ำที่มีลักษณะคล้ายฤดูใบไม้ผลิในแคว้นอันดาลูเซีย แม่น้ำเช่นเดียวกับแม่น้ำในเซบียา และเนินเขาเหมือนกับที่ด้านหลังเมืองกอร์โดบา[4]

ประวัติการตีพิมพ์

แก้
 
บาร์โตโลเม เด ลาส กาซาส: คัดลอกสำเนาบันทึกประจำวันของโคลัมบัสซึ่งกลายเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิเพียงฉบับเดียว

สำเนาที่มีอยู่ทั้งหมดของบันทึกประจำวันนี้อิงตามบทคัดย่อของบันทึก ซึ่งเป็นต้นฉบับ 76 แฟ้มที่ค้นพบภายหลังในห้องสมุดของดยุกแห่งอินฟันตาโด (Duque del Infantado) โดย มาร์ติน เฟร์นันเดซ เด นาบาร์เรเต (Martín Fernández de Navarrete)[2] ต้นฉบับถูกเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติสเปน (Biblioteca Nacional de España) จนถึงปี ค.ศ. 1925 เมื่อมีรายงานว่าสูญหาย[2] นาบาร์เรเตเล่าเรื่องการค้นพบบทคัดย่อของบันทึกประจำวันให้เพื่อนของเขา ฆวน บาติสตา มูโญซ (Juan Batista Muñoz) ซึ่งได้นำไปใช้ในหนังสือ Historia del Nuevo Mundo ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1793[2] ต่อมาในปี ค.ศ. 1825 นาบาร์เรเตตีพิมพ์บทคัดย่อโดยขยายคำย่อ สะกดตัวเลข แก้ไขเครื่องหมายวรรคตอน และการสะกดให้ทันสมัย[2] สำเนาของนาบาร์เรเตทุกฉบับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1825 แตกต่างจากสำเนาของลาส กาซาส อยู่บ้าง ในปี ค.ศ. 1892 สำเนาของนาบาร์เรเตได้รับการตีพิมพ์โดยนักวิชาการชาวอิตาลี เชซาเร เด เลลลิส (Cesare De Lollis) ซึ่งมีหลักฐานการตรวจชำระ ในปี 1962 การ์โลส ซันซ์ (Carlos Sanz) ได้ตีพิมพ์สำเนาโทรสารของฉบับลาส กาซาส โดยใช้สำเนาของนาบาร์เรเต

บาร์โตโลเม เด ลาส กาซาส ไม่มีบันทึกประจำวันต้นฉบับและสั่งให้ผู้คัดลอกทำสำเนาบทคัดย่อของบันทึกดังกล่าว[2] อาลักษณ์ทำข้อผิดพลาดหลายประการขณะคัดลอกบทคัดย่อ เช่น ความสับสนบ่อยครั้งในหน่วยระยะทางลีกโคลัมเบียกับไมล์โรมัน[2] ความถูกต้องของสำเนาของลาส กาซาส ถูกคัดค้านโดย อองรี วีโญ (Henri Vignaud) และโรมูโล เด. การ์บิอา (Rómulo D. Carbia) ซึ่งทั้งสองคนเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นการประดิษฐ์ขึ้น[11] ในปี ค.ศ. 1939 สำเนาของลาส กาซาส ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นของแท้โดยซามูเอล เอเลียต มอริสัน (Samuel Eliot Morison) และมุมมองนี้ได้รับการรับรองในการศึกษาต่อมา[11]

บันทึกของโคลัมบัสได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย และภาษาอื่น[2] ฉบับแปลภาษาอังกฤษฉบับแรกจัดทำโดยซามูเอล เคตเทลล์ (Samuel Kettell) และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1827[12] ในปี ค.ศ. 1991 ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยอิงจากสำเนาโทรสารฉบับลาส กาซาส ของซันซ์ ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา[13] ต่อมาจอห์น คัมมินส์ ได้เขียนหนังสือ The Voyage of Christopher Columbus: Columbus' Own Journal of Discovery ในปี ค.ศ. 1992 โดยผสมผสานส่วนที่แปลแล้วของสำเนาบันทึกของลาส กาซาส เข้ากับข้อความที่ตัดตอนมาจากชีวประวัติของดิเอโก โคลัมบัส (Diego Columbus) เพื่อให้เป็นเรื่องราวซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับการเดินทางครั้งแรกของโคลัมบัสจากบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์[14]

การตอบรับและวิเคราะห์

แก้

การตีความและคำอธิบายเชิงวิชาการหลายประการของโคลัมบัสและการกระทำของเขามีพื้นฐานมาจากการถอดความของลาส กาซาส แทนที่จะเป็นสำเนาต้นฉบับของบันทึกประจำวันของโคลัมบัสที่หายไป จอห์น อี. คิซกา (John E. Kizca) ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ให้เหตุผลว่าเนื่องจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ของบันทึกประจำวันของโคลัมบัสถูกคัดลอกโดยบาร์โตโลเม เด ลาส กาซาส การถอดความของลาส กาซาส จึงไม่สามารถพึ่งพาได้ คิซกา ยืนยันว่าการแปลของลาส กาซาส มีอคติเนื่องจากความคิดเห็นส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับโคลัมบัสและขนาดของการกระทำของเขาในอเมริกา คิซกา อธิบายว่าลาส กาซาส ซ่อนแรงจูงใจที่แท้จริงของโคลัมบัสผ่านการถอดความ เพราะเขามองว่าโคลัมบัสเป็นตัวแทนในการชักจูงชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา และ "เป็นศูนย์รวมของนโยบายของสเปนที่มีต่อการขยายตัวในต่างประเทศ"[15] ในหนังสือ The Conquest of Paradise: Christopher Columbus and the Columbian Legacy เคิร์กแพทริก เซล (Kirkpatrick Sale) นำเสนอโคลัมบัสผ่านข้อความในบันทึกของเขาอันเป็นผลจากความวุ่นวายในสังคมยุโรปที่เสื่อมทราม[16] เซลสรุปว่าโคลัมบัสรู้สึกกดดันอย่างหนักจากสเปนในการต้องค้นหาบางสิ่งที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่มุมมองที่แบ่งขั้วและยึดถือวัตถุนิยมของเขาต่อชนพื้นเมืองอเมริกันและดินแดนของพวกเขา[16] ชาลส์ แอลเปริน (Charles Alperin) แห่งสหพันธ์ชาวยิวแห่งโอมาฮาและนักวิชาการชาวยิวอีกหลายคนชี้ไปที่บทนำของบันทึกของโคลัมบัสเพื่อเป็นหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งที่สืบช่วงจากชาวยิวของเขา[17] นักทฤษฎีสมคบคิดอ้างความล่าช้าอย่างไม่คาดคิดในการออกเดินทางของโคลัมบัสในบทนำ และการกล่าวถึงชาวยิวอย่างคลุมเครือว่าเป็นหลักฐานปฐมภูมิในบันทึกต้นฉบับของโคลัมบัส[17]

โฆเซ ราบาซา (José Rabasa) ศาสตราจารย์ด้านกลุ่มภาษาโรมานซ์และวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บรรยายบันทึกของโคลัมบัสว่าเป็นเรื่องราวการเดินทางของเขาที่ถูกต้อง แม้ว่าโคลัมบัสจะไม่ได้ไปถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออกก็ตาม[18] ราบาซาพรรณนาลักษณะการบรรยายของโคลัมบัสเกี่ยวกับการค้นพบของเขาว่างดงามและน่ายกย่อง โดยอ้างอิงตัวอย่างจากการถอดความของลาส กาซาส เช่น "น้ำงดงาม" "หินที่มีจุดทองปกคลุม" และ "แม่น้ำที่ดี"[18] ราบาซาบ่งบอกว่าโคลัมบัสแต่งบันทึกประจำวันของเขาด้วยวิธีการสำรวจแบบผู้พิชิตเพื่อโน้มน้าวให้ราชินีอิซาเบลทราบถึงศักยภาพทางอุตสาหกรรมของดินแดนใหม่[18] เอลวิรา วิลเชส (Elvira Vilches) นักเขียนและศาสตราจารย์ด้านกลุ่มภาษาโรมานซ์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวถึงความตั้งใจของโคลัมบัสในการเขียนบันทึกของเขาในแง่ศาสนาล้วน[19] วิลเชสถือว่าบันทึกประจำวันเป็นข้อพิสูจน์ของโคลัมบัสว่าเขาประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังทวีปอเมริกา และเป็นหลักฐานของโคลัมบัสที่ว่าเขาควรได้รับทรัพยากรมากขึ้นเพื่อเดินทางสู่โลกใหม่ให้มากขึ้น[19] วิลเชสยืนยันว่าการนำเสนอเนื้อหาในบันทึกที่แสดงความสำเร็จของโคลัมบัสและการได้ทาสติดกลับมาจากการเดินทางครั้งแรกของเขาทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน[19] วิลเชสติดตามการสังหารหมู่และการกำจัดชนพื้นเมืองอเมริกันของโคลัมบัส และคำมั่นสัญญาของเขาที่มีต่อราชวงศ์สเปนในการหาทองคำมากพอที่จะสนับสนุนสงครามครูเสดของชาวคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็ม[19] วิลเชสให้เหตุผลว่าศักยภาพของโลกใหม่ที่บันทึกไว้ในบันทึกนำไปสู่คำมั่นสัญญาเรื่องทองคำซึ่งส่งผลให้เกิดการสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ชาวไทโน (Taíno)[19] โดนา เด แซงติส (Dona de Sanctis) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร''อิตาเลียนอเมริกัน'' ปกป้องปฏิสัมพันธ์ระหว่างโคลัมบัสกับชาวไทโนผ่านบันทึกของเขา[20] เธอระบุว่าโคลัมบัสชมเชยรูปร่างหน้าตาและความเฉียบแหลมของชนพื้นเมืองอเมริกันเมื่อพบพวกเขาครั้งแรก เธออธิบายว่าลูกเรือของโคลัมบัสตอบโต้ด้วยความรุนแรงหลังจากที่คนของโคลัมบัสที่เขาทิ้งเอาไว้ถูกสังหารโดยชาวไทโน ซึ่งบันทึกของโคลัมบัสควรทำหน้าที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสำเร็จของโคลัมบัส[20] อย่างไรก็ตามในบันทึกโคลัมบัสไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชาวไทโนเป็นผู้ก่อเหตุสังหารหมู่จริงๆ จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อชาวไทโน

งานแปลของมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาเรื่อง The Diario of Christopher Columbus 'First Voyage to America 1492–1493 ได้รับรางวัล "Spain and America in the Quincentennial of the Discovery" ซึ่งมอบให้โดยรัฐบาลสเปนในปี ค.ศ. 1991 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีของเหตุการณ์ที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา[13] โรเบิร์ต ฟูซัน (Robert Fuson) ศาสตราจารย์วิชาภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ได้รับรางวัล "หนังสือแห่งปี" ("Book of the Year") จากจดหมายข่าว ไลบรารีเจอร์นัล (Library Journal) และ "Elliott Montroll Special Award" จากสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งนิวยอร์ก (New York Academy of Sciences) จากผลงาน The Log of Christopher Columbus ของเขา[21]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Various; Olson, Julius E.; Bourne, Edward Gaylord. The Northmen, Columbus and Cabot, 985-1503. Project Gutenberg.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 Morison, Samuel Eliot (1 สิงหาคม 1939). "Texts and Translations of the Journal of Columbus's First Voyage". Hispanic American Historical Review. 19 (3): 235–261. doi:10.1215/00182168-19.3.235. JSTOR 2507257.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Susan Clair Imbarrato; Carol Berkin; Brett Barney; และคณะ (2013). Columbus, Christopher. Encyclopedia of American Literature (3rd ed.). New York NY, USA: Facts On File. ISBN 978-1-4381-4077-3.
  4. 4.0 4.1 4.2 B.W. Ife. "Introduction to Christopher Columbus, Journal of the first voyage" (ภาษาอังกฤษ). King's College London. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2015.
  5. Margarita Zamora (1993). Reading Columbus. University of California Press. p. 42. ISBN 0-520-91394-9.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). "Christopher Columbus" . สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Coulter, Michael (2012). "Columbus, Christopher (1451–1506)". The Encyclopedia of Christian Civilization. Blackwell. doi:10.1002/9780470670606.wbecc0328. ISBN 978-1-4051-5762-9. S2CID 161396586.
  8. "Комментарии" (ภาษารัสเซีย). Vostlit.info. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2015.
  9. "Christopher Columbus, Journal (1492)". www.swarthmore.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2019.
  10. "COLUMBUS, CHRISTOPHER (1451-1506) | Research and Discovery: Landmarks and Pioneers in American Science - Credo Reference". search.credoreference.com. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2019.
  11. 11.0 11.1 Margarita Zamora (1993). Reading Columbus. University of California Press. p. 42. ISBN 0-520-91394-9.
  12. Columbus, Christopher; Casas, Bartolomé de las; Kettell, Samuel; John Boyd Thacher Collection (Library of Congress) DLC; Jay I. Kislak Collection (Library of Congress) DLC (1827). Personal narrative of the first voyage of Columbus to America : from a manuscript recently discovered in Spain. The Library of Congress. Boston : Published by T.B. Wait and Son, and sold by Wait, Greene and Co., Boston, and C. Arvill, New-York, and Carey and Lea, Philadelphia.
  13. 13.0 13.1 Staff and Wire Reports, Tribune Staff (27 กุมภาพันธ์ 1991). "Spain honors OU book". BOOKS. Tulsa World (FINAL HOME ed.). NewsBank: Access World News. p. 5B.
  14. "Water Sources -- in Search of Columbus: The Sources for the First Voyage by David Henige / the Voyage of Christopher Columbus: Columbus' Own Journal of Discovery Translated by John Cummins / the Voyages of Columbus by Richard Humble / and Others". History Today. London. 42: 58. พฤษภาคม 1992. ProQuest 202807075.
  15. Kicza, John E. (Spring 2001). "Francesca Lardicci, ed., A Synoptic Edition of the Log of Columbus's First Voyage (Repertorium Columbianum, 6.) Turnhout: Brepols, 1999. xiv + 684 pp. Eu 88; Bfr 3550. ISBN: 2-503-50873-1. - Nigel Griffin, ed., Las Casas on Columbus: Background and the Second and Fourth Voyages (Repertorium Columbianum, 7.) Turnhout: Brepols, 1999. xii + 494 pp. Eu 74; Bfr 2985. ISBN: 2-503-50883-9". Renaissance Quarterly. 54 (1): 280–282. doi:10.2307/1262236. JSTOR 1262236. S2CID 162201544. ProQuest 222340483.
  16. 16.0 16.1 Carey, Richard T. (1992). "The Conquest of Paradise". News from Indian Country. Hayward, Wisconsin. Ethnic NewsWatch. p. 28. ProQuest 367678520.
  17. 17.0 17.1 "Was Christopher Columbus Jewish?". The Jewish Press (1977-1989). Omaha, Nebraska. Ethnic NewsWatch. 1979. p. 11. ProQuest 371491469.
  18. 18.0 18.1 18.2 Rabasa, José (2013). "Writing Violence". ใน Castro-Klaren, Sara (บ.ก.). A Companion to Latin American Literature and Culture. John Wiley & Sons. pp. 49–67. ISBN 978-1-118-66135-2.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 Vilches, Elvira (2004). "Columbus's Gift: Representations of Grace and Wealth and the Enterprise of the Indies". MLN. 119 (2): 201–225. doi:10.1353/mln.2004.0104. hdl:10161/10622. JSTOR 3251770. S2CID 161887999. ProQuest 223316074.
  20. 20.0 20.1 De Sanctis, Dona (2008). "IN DEFENSE OF COLUMBUS". Italian America. 13 (4): 14–15, 24. ProQuest 194614148.
  21. Paredes, Leslie (28 สิงหาคม 2005). "Robert Fuson, 77, longtime USF scholar". Tampa Bay Times.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้