น้ำตา
น้ำตา เกิดจากการหลั่งน้ำตา (Lacrimation หรือ lachrymation) ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดและหล่อลื่นดวงตาเพื่อตอบสนองต่ออาการระคายเคืองตา[1] น้ำตาที่เกิดจากการร้องไห้มีผลมาจากความรู้สึกรุนแรงภายใน เช่น ความโศกเศร้า ความปิติยินดี อารมณ์ ความกลัวเกรง หรือความยินดี การหัวเราะและการหาวก็สามารถทำให้เกิดน้ำตาได้


a) ต่อมน้ำตา
b) จุดน้ำตาชั้นบน
c) ท่อทางเดินน้ำตาชั้นบน
d) ถุงน้ำตา
e) จุดน้ำตาชั้นล่าง
f) ท่อทางเดินน้ำตาชั้นล่าง
g) คลองท่อน้ำตา
ส่วนประกอบของน้ำตา
แก้น้ำตาประกอบด้วยน้ำและสารต่างๆ ที่เป็นเสมือนอาหารให้เซลล์ผิวดวงตา ช่วยให้ผิวดวงตาแข็งแรง เช่น ออกซิเจน โดยปกติ กระจกตา เป็นอวัยวะที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงเหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ในดวงตา จึงต้องการออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาเป็นหลัก นอกจากนี้ น้ำตา ยังมีสารอิเล็กโทรไลต์และวิตามินต่างๆ เช่นวิตามินเอ วิตามินอี มีสารต้านจุลชีพ (antimicrobial) และสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ที่จำเป็นต่อการคงสภาพที่ปกติของผิวดวงตา
ในภาวะปกติ น้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นไขมัน ชั้นกลางเป็นน้ำ และชั้นที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก น้ำตาจะหายไปโดยการระเหยร้อยละ 20 ที่เหลือจะไหลลงท่อบริเวณหัวตา
อวัยวะสำหรับหลั่งน้ำตา
แก้- ต่อมน้ำตา อยู่ในเบ้าตาตรงมุมบนหัวตาไปถึงมุมหางตา มีท่อเล็กๆ ประมาณ 3-9 ท่อ เปิดสู่รอยพับบนเยื่อบุตา ทำให้ตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ ช่วยชะล้างฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมที่เข้าตา
- หลอดน้ำตา เป็นหลอดเล็กๆ อยู่ในเปลือกตาบนและล่าง ตรงมุมหัวตา หลอดน้ำตายาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ทอดไปสู่ถุงน้ำตา จึงเป็นทางระบายน้ำตาด้านหน้าของลูกตาไปสู่ถุงน้ำตา
- ถุงน้ำตา อยู่หลังผิวหนังบริเวณระหว่างมุมหัวตาของเปลือกตากับดั้งจมูก มีท่อยาวประมาณ 18 มิลลิเมตร กว้าง 3-4 มิลลิเมตร เปิดสู่ช่องจมูกส่วนหน้า[2]
ชนิดของน้ำตา
แก้น้ำตาสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- Basal tears ในกระจกตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้น จะมีน้ำหล่อเลี้ยงเพื่อปกป้องนัยน์ตาไม่ให้แห้งและยังช่วยปกป้องนัยน์ตาจากฝุ่น ส่วนประกอบของน้ำตาชนิดนี้ประกอบไปด้วย น้ำ มิวซิน ลิพิด ไลโซไซม์ แล็คโตเฟอริน ไลโปคาลิน ลาคริติน อิมมูโนโกลบูลิน กลูโคส ยูเรีย โซเดียม และ โพแทสเซียม ซึ่งสารบางตัวอย่างเช่นไลโซไซม์สามารถช่วยป้องกันแบคทีเรียได้ โดยปกติแล้วน้ำตาชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาในปริมาณ 0.75-1.1 กรัมภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และจะลดปริมาณลงเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น
- Reflex tears น้ำตาชนิดนี้จะเกิดจากมีสิ่งเร้าภายนอกมากระทำให้ระคายเคือง เช่น ไอของหัวหอมที่ระเหยออกมาหลังการสับ แก๊ซน้ำตา สเปรย์พริกไทย ซึ่งสารเหล่านี้จะไปกระตุ้น Transient receptor potential channels ใน เส้นประสาทอ็อพธาลมิก ให้เกิดปฏิกิริยา[3] ซึ่งตัวกระตุ้นนี้อาจเป็นแสงที่จ้ามาก การได้รับตัวกระตุ้นประเภทพริกไทยยังบริเวณลิ้น หรือเชื่อมโยงกับการสำรอก การหาวและไอ ได้อีกด้วย
- Emotional tears หรือเรียกโดยทั่วไปว่าการร้องไห้หรือสะอื้นไห้ เกิดขึ้นจากการเกิดอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปลื้มปิติยินดี ความโกรธ หรือความเจ็บปวดทรมาน อันทำให้ระดับการผลิตน้ำตาเพิ่มมากขึ้น น้ำตาชนิดนี้มีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างออกไปจากน้ำตาที่หล่อเลี้ยงนัยน์ตา emotional tears นั้นจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนที่มีองค์ประกอบของโปรตีนอย่างโปรแลกติน อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิกฮอร์โมน และลูเอนเคฟาลิน ที่มากกว่าสองชนิดแรก ซึ่ง ไฮโปทาลามัสในระบบลิมบิกจะเป็นตัวที่ควบคุมการหลั่งของน้ำตาชนิดนี้ โดยที่ต่อมน้ำตาจะถูกควบคุมด้วยระบบประสาทพาราซิมพาธีติกผ่านทางสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน และส่งไปยังนิโคตินิกรีเซ็ปเตอร์และมัสคารินิกรีเซ็ปเตอร์ ซึ่งหากตัวรับทั้งสองถูกกระตุ้น ต่อมน้ำตาก็จะผลิตน้ำตาออกมา[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ Farandos, NM; Yetisen, AK; Monteiro, MJ; Lowe, CR; Yun, SH (2014). "Contact Lens Sensors in Ocular Diagnostics". Advanced Healthcare Materials. doi:10.1002/adhm.201400504.
- ↑ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8 อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ โดย นายแพทย์วิเชียร ดิลกสัมพันธ์ และนายแพทย์ชูศักดิ์ เวชแพศย์[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://cdn.intechopen.com/pdfs/31117/InTech-Transient_receptor_potential_trp_channels_in_the_eye.pdf
- ↑ Skorucak A. "The Science of Tears." ScienceIQ.com. Accessed September 29, 2006.