นิกโกเลาะ ปากานีนี
นิกโกเลาะ ปากานีนี (อิตาลี: Niccolò Paganini; 27 สิงหาคม ค.ศ. 1782 - 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1840) เป็นนักไวโอลิน วิโอลา กีตาร์ในยุคโรแมนติกชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับถึงฝีมือการเล่นว่าเป็นที่หนึ่งในยุคนั้น ทั้งยังได้พัฒนาเทคนิคการสีไวโอลินแบบใหม่ เขายังมีผลงานประพันธ์โซนาตา คอนแชร์โต และคาปรีซสำหรับการเดี่ยวไวโอลินจำนวนหลายชิ้น ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ Caprice No. 24 นอกจากนี้ปากานีนียังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคีตกวีสำคัญในยุคต่อมา เช่น โยฮันเนิส บรามส์ และ เซียร์เกย์ รัคมานีนอฟ
นิกโกเลาะ ปากานีนี | |
---|---|
เกิด | 27 ตุลาคม ค.ศ. 1782 เจโนวา อิตาลี |
เสียชีวิต | 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1840 นิส ซาร์เดญญา (ปัจจุบันอยู่ในฝรั่งเศส) | (57 ปี)
อาชีพ | คีตกวี นักไวโอลิน |
ปีปฏิบัติงาน | ค.ศ. 1793-1840 |
ปากานีนีหัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 5 ปี โดยเล่นแมนโดลินของบิดา เริ่มเล่นไวโอลินเมื่ออายุ 7 ปี และเริ่มแสดงพรสวรรค์ออกมาจนได้รับทุนการศึกษาด้านดนตรี เมื่อโตขึ้นได้ย้ายไปเรียนไวโอลินที่ปาร์มา ก่อนจะย้ายไปฟลอเรนซ์ โดยมีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่น
ปากานีนีเริ่มมีชื่อเสียงในวงกว้างจากการเล่นคอนเสิร์ตที่โรงอุปรากรลา สกาลา เมืองมิลาน ในปี ค.ศ. 1813 ต่อมาได้เดินทางไปเล่นในต่างเมือง เช่นที่ เวียนนา ในปี ค.ศ. 1828 ลอนดอน ในปี ค.ศ. 1831 และปารีส ในปี ค.ศ. 1831 และ 1833
ช่วงบั้นปลายชีวิต ปากานีนีป่วยด้วยโรคจากพิษของสารปรอทที่ใช้ในการรักษาโรคซิฟิลิส จนต้องเลิกเล่นดนตรีในปี ค.ศ. 1834 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งคอหอยในปี ค.ศ. 1840
นิกโกเลาะ ปากานีนี มีเครื่องดนตรีที่ใช้ประจำตัวอยู่หลายชิ้น ทั้งที่ผลิตโดยอันโตนีโอ อามาตี นิกโกลา อามาตี อันโตนีโอ สตราดีวารี แต่ชิ้นที่สำคัญที่สุด คือไวโอลินที่ผลิตโดย จูเซปเป กวาเนรี ที่มีชื่อว่า "Il Cannone Guarnerius" (ปืนใหญ่ ผลิตในปี ค.ศ. 1743) ปากานีนีได้รับไวโอลินคันนี้เป็นของขวัญจากเพื่อน หลังจากสูญเสียไวโอลินคันเดิมไปจากการพนัน และใช้ไวโอลินคันนี้ในการเล่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1803 [1] ตลอดมาจนกระทั่งเสียชีวิต ปากานีนีได้อุทิศไวโอลิน Il Cannonne ให้เป็นสมบัติของเมืองเจนัว ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ศาลากลางเมืองเจนัวพร้อมกับไวโอลินคันจำลอง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติของอิตาลี
อ้างอิง
แก้- ↑ "Niccolò Paganini's violin, The "Cannone" of Joseph Guarnerius del Gesù". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-12. สืบค้นเมื่อ 2009-01-19.