นางสุพรรณมัจฉา (ความหมาย: "ปลาทอง") เป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ อันเป็นธิดาของทศกัณฑ์ ที่ต่อมาได้ตกเป็นภรรยาคนหนึ่งของหนุมาน[1] ทหารเอกของพระราม อันเป็นตัวเอกของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว

สุพรรณมัจฉา
ตัวละครใน รามเกียรติ์
เผ่าพันธุ์ปลา
ครอบครัวทศกัณฐ์ (บิดา)
นางปลา (มารดา)
อินทรชิต (พี่น้องร่วมบิดา)
นางสีดา (พี่น้องร่วมบิดา)
ไพนาสุริยวงศ์ (พี่น้องร่วมบิดา)
สหัสกุมาร (พี่น้องร่วมบิดา)
สิบรถ (พี่น้องร่วมบิดา)
ทศคีรีวัน ทศคีรีธร (พี่น้องร่วมบิดา)
คู่สมรสหนุมาน
บุตรมัจฉานุ

นางปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อครั้งที่พระรามให้หนุมานถมมหาสมุทรข้ามไปยังกรุงลงกา ทศกัณฑ์จึงให้นางสุพรรณมัจฉาและบริวารที่เป็นปลาลอบขนหินถมทะเลดังกล่าวไปทิ้ง หนุมานสงสัยจึงดำลงไปใต้ท้องทะเลจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ภายหลังทั้งสองได้ร่วมรักกันและมีบุตรคือ มัจฉานุ ที่ตัวเป็นลิงมีหางเป็นปลา

เช่นเดียวกับนางสีดา ที่มีบิดาเป็นยักษ์ แต่ก็มีรูปโฉมที่สวยงาม แม้นางสุพรรณมัจฉาจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็เป็นที่กล่าวขานถึงรูปลักษณ์ที่งดงามที่ปรากฏตามจิตรกรรมฝาผนัง จนเป็นหนึ่งในนางในวรรณคดีที่มีชื่อเสียงนางหนึ่ง[2][3] ทั้งนี้นางสุพรรณมัจฉาปรากฏอยู่ในรามายณะของภูมิภาคอุษาคเนย์บางประเทศเท่านั้น[4]

ประวัติ

แก้

นางสุพรรณมัจฉา เป็นธิดาของทศกัณฑ์ กับนางปลา[5][6][7] ซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานแต่ทศกัณฑ์ได้แปลงกายเป็นปลาลงไปสมสู่จนกำเนิดธิดาขึ้นมา[8] แม้ทศกัณฑ์จะเป็นยักษ์ แต่ในวรรณคดีอนุโลมให้ทศกัณฑ์เป็นมนุษย์[9] ด้วยเหตุนี้ในงานจิตรกรรมฝาผนังเธอจึงมีรูปลักษณ์ที่ท่อนบนเป็นมนุษย์ส่วนท่อนล่างเป็นปลา[5] คือกลายเป็น นางเงือก[9] กระนั้นนางสุพรรณมัจฉาก็มีรูปโฉมที่งดงาม มีผิวกายผ่องพรรณเป็นสีทอง ดังปรากฏความว่า[7]

แสดงรูปนาเรศ สุพรรณมัจ ฉาเฮย
ผิวเทียมทองอุบัติ ผ่องพ้น
ธิดาทศเศียรกษัตริย์ มาตุเรศปลาแฮ
ที่ลักคาบศิลาล้น สมุทรครั้งถมถนน

ด้วยเหตุนี้นางสุพรรณมัจฉาจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา[8] แต่ด้วยความที่นางสุพรรณมัจฉามีท่อนล่างเป็นปลา จึงอาศัยอยู่เพียงแต่ในน้ำในมหาสมุทร มิอาจอยู่ในเวียงวังดังบุตรคนอื่น[2]

ความสัมพันธ์กับหนุมาน

แก้
 
การสังวาสของหนุมานและสุพรรณมัจฉา

ครั้นเมื่อพระราม ได้มอบหมายให้หนุมานและนิลพัทพาพลวานรไปถมมหาสมุทรเพื่อทำถนนไปสู่กรุงลงกา เมื่อทศกัณฑ์ล่วงรู้เข้าจึงสั่งให้สุพรรณมัจฉาและบริวารคือฝูงปลาคาบก้อนหินของฝ่ายพระรามไปทิ้งเสีย ทำให้การถมถนนไม่เป็นผลสำเร็จ[2] หนุมานจึงเกิดความสงสัย จึงดำลงไปใต้น้ำพบนางสุพรรณมัจฉาและฝูงปลากำลังคาบก้อนหินไปทิ้ง หนุมานโกรธแค้นมากจึงชักตรีออกไปฆ่านางสุพรรณมัจฉา แต่ท้ายที่สุดหนุมานก็เปลี่ยนทัศนคติแปรเป็นความรักต่อนาง[7] หนุมานจึงเกี้ยวพาราสีและร่วมสังวาสกัน[6] ดังปรากฏความว่า[7]

เมื่อนั้น นวลนางสุพรรณมัจฉา
ได้ร่วมรสรักภิรมยา กับวายุบุตรวุฒิไกร
อิบแอบแนบชิดพิศวง งวยงงด้วยความพิศมัย
แสนรักแสนสวาทจะขาดใจ อรทัยลืมกลัวพระบิดา
ลืมเล่นในท้องชลธาร ลืมฝูงบริวารมัจฉา
ลืมอายลืมองค์กัลยา เสน่หาเพิ่มพ้นพันทวี

หลังสิ้นการสังวาส นางสุพรรณมัจฉาก็เลิกก่อกวนการสร้างถนน แต่ก็ทำสำเร็จเปราะหนึ่งเพราะหนุมานก็ต้องเสียเวลามาร่วมเพศกับนางระยะหนึ่ง[6] ต่อมานางสุพรรณมัจฉาได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อ มัจฉานุ[9][10][11] ที่เป็นลิงแต่มีหางเป็นปลา นางสุพรรณมัจฉาเกรงว่าทศกัณฑ์ผู้บิดาจะล่วงรู้ว่านางได้เสียกับหนุมานแล้ว จึงนำบุตรมาทิ้งไว้ที่ชายหาด ที่ต่อมาไมยราพณ์ได้นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม[7]

ทางศาสนา

แก้

ในอดีตเมื่อถึงช่วงเวลาทอดกฐินจะมีการประดับธง คือ "ธงจระเข้" คู่กับ "ธงนางมัจฉา" เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ด้วยเหตุนี้ธงจระเข้และนางมัจฉาจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่น ๆ[12]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหนุมานและนางสุพรรณมัจฉาถูกนำไปสร้างเป็นเพลง สุวรรณมัจฉา ขับร้องโดยบุหลัน คชรมย์ ถูกเผยแพร่เป็นดิจิตอลดาวน์โหลดซิงเกิลเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560

อ้างอิง

แก้
  1. S.N. Desai (2005). Hinduism in Thai Life. Popular Prakashan. p. 135. ISBN 978-81-7154-189-8. สืบค้นเมื่อ 2012-07-24.
  2. 2.0 2.1 2.2 "ประวัตินางในวรรณคดี หญิงงามในบทประพันธ์". สนุกดอตคอม. 5 เมษายน 2556. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "โรงละครอักษรา". Room. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. Satyavrat Sastri (2006). Discovery of Sanskrit Treasures: Epics and Puranas. Yash Publications. p. 77. ISBN 978-81-89537-04-3. สืบค้นเมื่อ 2012-07-24.
  5. 5.0 5.1 "นางสำมนักขา, สุพรรณมัจฉา, นางเบญกาย, นางมณโฑ, สดายุ". SiamNT ฝีมือไทย ภูมิปัญญาไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-17. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 ชานันท์ ยอดหงษ์. "รามเกียรติ์ : sex, ผู้หญิง, รัฐ และ อุษาคเนย์". The Southeast Asian Consortium on Gender, Sexual and Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "สุพรรณมัจฉา (รามเกียรติ์)". My First Brain. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "ทศกัณฑ์ (รามเกียรติ์)". My First Brain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา (26 กุมภาพันธ์ 2557). "ลักษณะประหลาดที่น่าสนใจทางพันธุศาสตร์ของตัวละครในวรรณคดีไทย". สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-18. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "สุพรรณมัจฉา". รามเกียรติ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-10. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "ตัวละครหลักในเรื่องรามเกียรติ์". True ปลูกปัญญา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-03. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ท.เลียงพิบูลย์. "ธง"รูปจระเข้" และ "รูปนางมัจฉา เกี่ยวข้องกับกฐินอย่างไร". วัดป่าเชิงเลน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-01. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้