นางกวัก
นางกวัก เป็นเทพีแห่งโชคลาภตามคติไทย ถือเป็นของขลังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ทำเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่างธรรมเนียมไทย นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตัก ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือหรือเรียกเข้ามาหา[1] เชื่อว่าเทพีองค์นี้จะกวักมือเรียกทรัพย์ เป็นที่นับถืออย่างยิ่งในหมู่พ่อค้าแม่ขายชาวไทยเพราะถือว่าเทพีองค์นี้จะเรียกลูกค้าเข้ามาอุดหนุนสินค้าในร้าน[2][3]
นางกวัก | |
---|---|
เทพีแห่งโชคลาภ | |
รูปปั้นนางกวักในวัดพระธาตุเรืองรอง จังหวัดศรีสะเกษ | |
เป็นที่บูชาใน | ศาสนาผี |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทพพื้นเมือง |
เป็นที่นับถือใน | ประเทศไทย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
บิดา-มารดา |
|
ประวัติ
แก้คติการนับถือนางกวักแต่ดั้งเดิม คือนับถือเป็นผีบรรพชนนางหนึ่งของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาไท โดยเป็นสตรีไทคนแรก ๆ ที่มีความสามารถเกี่ยวกับการทอผ้า จนกลายเป็นสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่น ๆ เพื่อการยังชีพหรือสร้างรายได้[4] โดยคติความเชื่อนางกวักแบบเดิมนี้ยังตกทอดในกลุ่มชาวไทต่าง ๆ เช่น ชาวไทพวนในจังหวัดลพบุรีและสุโขทัย ยังมีการละเล่น เรียกว่า นางกวัก โดยมีอุปกรณ์สำคัญในกิจกรรมคือ "กวัก" (อุปกรณ์ที่ใช้ปั่นด้าย) เพื่อเชิญผีบรรพชนมาลงคนทรง เพื่อเยี่ยมยามลูกหลานและทำนายทายทัก[5][6] นอกจากนี้ยังพบกิจกรรมเช่นเดียวกันนี้ในชุมชนลาวครั่งบางแห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย[4] ส่วนนางกวักในสังคมชาวไทยในภาคกลางได้ตกทอดคติการนับถือผีผู้หญิงของคนไทย ซึ่งนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่ ดังเช่นคติการนับถือแม่โพสพ[7] ความเชื่อเรื่องนางกวักได้พัฒนาเปลี่ยนสภาพจากผีไปเป็นเทพที่คอยกวักเงินกวักทองมาให้[8] ปรากฏการหล่อปั้นนางกวักครั้งแรกราวยุคกรุงศรีอยุธยา โดยมากพบเป็นขนาดบูชา สร้างจากเนื้อโลหะ, ดินเผา หรือสลักจากไม้[9][10]
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์คติการนับถือนางกวักปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สยามมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีการขยายตัวของกิจการร้านรวงในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ[7][11] นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังมีการนับถือแมวกวักหรือมาเนกิเนโกะ โดยแมวกวักเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2395 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู[12][11]
คติชน
แก้คติไทยเดิม
แก้ที่มาที่ไปของนางกวักนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดนัก และคาดว่าน่าจะเกิดจากพัฒนาการนับถือผีของคนไทย ตาม บทสวดคาถาบูชานางกวัก กล่าวว่านางกวักเป็นบุตรีของปู่เจ้าเขาเขียว ดังปรากฏความว่า[13]
"โอม มหาสิทธิโชคอุดม โอมปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียว ชื่อแม่นางกวัก ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงรัก รู้จักทุกตำบล คนรักทุกถ้วนหน้า โอมพวกพานิชชา พากูไปค้าถึงเมืองแมน ค้าหัวแหวน ก็ได้แสนทะนาน กูค้าสารพัดการ ก็ได้กำไรคล่อง ๆ กูจะค้าเงินก็เต็มกอง กูจะค้าทองก็เต็มหาบ กลับมาเรือนสามเดือน เลื่อนเป็นเศรษฐี สามปีเป็นพ่อค้าสำเภา โอมปู่เจ้าเขาเขียว ประสิทธิแก่กูคนเดียว สวาหะ"
ส่วน โองการไหว้ครูช่าง มีการกล่าวถึงเทพสตรีองค์หนึ่งชื่อนิลบรรพตเทพสุดา แปลว่า "ลูกสาวของเทพยดาแห่งเขาเขียว" ซึ่งชื่อใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในคติของครูช่างเชื่อว่านิลบรรพตเทพสุดาเป็นเทพแห่งการเย็บปักถักร้อย และเป็นพระภาคหนึ่งของพระวิศวกรรม ทว่านิลบรรพตเทพสุดากลับมีลักษณะเหมือนกันกับนางกวักคือ "กวัก" ทรัพย์สมบัติมาให้ ดังปรากฏใน โองการไหว้ครูช่าง ความว่า[13]
"...อนึ่งไซร้ข้าขอเคารพนบนางนามปรากฏ นิลบรรพตเทพสุดา กวักมาซึ่งสุวรรณรัตน์ สรรพสมบัติโอฬาร จะแจ้งการพิธี มารับพลีทั้งหลายไซร้ แล้วให้พระศรีสวัสดิ์ ปัดสรรพภัยทุกประการ นำศฤงคารโภคาทั่วทุกสิ่งมา เพิ่มพูนประมูลมากธนสาร นานมาโดยเนืองนิตย์ ประสิทธิแต่ปวงข้าพเจ้า ตามขนบเค้าแบบบรรพ์..."
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดีกรมศิลปากร ไม่ยืนยันว่านางกวักกับนิลบรรพตเทพสุดาเป็นเทพีองค์เดียวกัน[13]
นิทานพื้นบ้านลพบุรี
แก้นางกวักปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านลพบุรีที่รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[14] โดยมีเนื้อเรื่องว่าพระรามได้ต่อสู้กับท้าวกกขนาก (รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เรียกท้าวอุณาราช) เจ้าเมืองสิงขรผู้มีใจอยุติธรรม ด้วยการแผลงศรพรหมมาสตร์ตรึงท้าวกกขนากไว้บนเขาวงพระจันทร์ และสาปว่าท้าวกกขนากจะออกไปได้ก็ต่อเมื่อถึงยุคพระศรีอาริย์ หรือลูกศรที่ตรึงท้าวกกขนากถูกรดด้วยน้ำส้มสายชูเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์นั้นนางนงประจันทร์ธิดาท้าวกกขนากจึงเพียรทอผ้าไตรจีวรจากใยบัวเตรียมถวายพระศรีอาริย์ในอนาคต มิหนำซ้ำวันดีคืนดีนางนงประจันทร์จะแปลงกายเป็นหญิงสาวมาซื้อน้ำส้มสายชูหวังใจจะนำน้ำส้มสายชูนั้นไปราดรดศรพรหมมาสตร์[14] ชาวบ้านที่ทราบดังนั้นก็โกรธและรังเกียจนางนงประจันทร์ด้วยเกรงว่าหากท้าวกกขนากหลุดพ้นออกมาก็จะทำร้ายผู้คนอีก ด้วยเหตุนี้ปู่เจ้าเขาเขียวซึ่งเป็นสหายสนิทของท้าวกกขนากก็เกิดมีใจสงสารนางนงประจันทร์ จึงส่งนางกวักซึ่งเป็นธิดาไปอยู่เป็นเพื่อนนางนงประจันทร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา จากเดิมที่เคยมีผู้คนรังเกียจนางนงประจันทร์ ก็กลับมีแต่คนรักใคร่ นำลาภนำผลมาให้ นางนงประจันทร์จึงยกย่องนางกวักว่าเป็นหญิงผู้นำความสมบูรณ์ในโภคทรัพย์[15]
การทำให้เป็นอินเดีย
แก้หลังการรับศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ได้มีการนำเสนอที่มาของนางกวักว่ามีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียมาแต่ยุคพุทธกาล นางกวักมีนามเดิมว่าสุภาวดี เกิดที่เมืองมิจฉิกาสัณฑนคร เป็นธิดาของสุจิตตพราหมณ์ กับมารดาชื่อสุมณฑา ครั้นจำเริญวัยได้เดินทางไปค้าขายกับบิดา ระหว่างทางได้พบกับพระอรหันต์สององค์คือพระมหากัสสปะและพระสีวลี ซึ่งได้ประสาทพรให้นางสุภาวดีให้เป็นผู้เจริญร่ำรวยจากการค้าขาย ทำให้ครอบครัวของนางร่ำรวยขึ้น โดยสุภาวดีและครอบครัวมักทำบุญและบริจาคทานอยู่เป็นนิจ หลังนางสุภาวดีเสียชีวิตจึงมีการสร้างรูปขึ้นมาเคารพบูชา[16]
ทว่าคติการนับถือนางกวักไม่เคยมีในประเทศอินเดีย เข้าใจว่าคงแต่งเรื่องให้นางกวักมีความเป็นมายาวนาน และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์แก่นางกวักมากกว่า[16]
ลักษณะ
แก้นางกวักตามคติไทยมีลักษณะเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่างธรรมเนียมไทยคือไว้ผมปีกหรือดอกกระทุ่ม ห่มผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบน นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตัก หรืออาจถือถุงเงินที่มีการจดจารคาถาหัวใจสีวลี (พระสงฆ์ผู้เป็นเลิศด้านโชคลาภ) ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือหรือเรียกเข้ามาหา[1] ซึ่งมือขวาที่ยกนั้นหากอยู่สูงกว่าปากมีความหมายว่า "กินไม่หมด" ถ้าหากต่ำกว่าปากจะมีความหมายว่า "กินไม่พอ"[8] ในอดีตมักทำนางกวักให้มีขนาดเล็กสำหรับซุกตามแผง จะได้ไม่เกะกะหน้าร้าน[17] แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้นางกวักมีทรวดทรงหรือท่าทางที่ต่างไปจากเดิม เช่น แต่งกายสวยงามอย่างนางละคร, มีรูปพรรณอวบอ้วน, ยกมือกวักทั้งสองข้าง หรือการเพิ่มมือกวักให้มีจำนวนมากขึ้น[2][8][18] บ้างก็เสริมแต่งให้มีเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย เช่น สวมแว่นกันแดดหรือถือกระเป๋ามียี่ห้อ[19] นอกจากรูปปั้นแล้ว ในอดีตก็ทำรูปนางกวักไว้ที่ไม้ควักปูนในเชี่ยนหมากบ้าง แกะด้วยงาเลี่ยมแขวนกับสายสร้อยบ้าง[20]
ส่วนนางกวักในคติล้านนาจะเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกายพื้นเมืองล้านนา รูปพรรณงดงามสมส่วน ยกมือซ้ายขึ้นกวักโดยยกสูงขึ้นเหนือใบหู สะพายถุงเงินถุงทองไว้ด้านหลัง[21]
การบูชา
แก้แม้นางกวักจะมีพื้นฐานมาจากศาสนาผีซึ่งเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทย แต่ก็ได้รับการเคารพนับถือยิ่งโดยเฉพาะในหมู่พ่อค้าแม่ค้าที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพราะเชื่อว่านางกวักจะกวักเรียกลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุนสินค้าเปรียบดั่งการกวักเงินกวักทองมาให้[2][3] รวมไปถึงคติเมตตามหานิยม ดลบันดาลให้คนที่เกลียดกลับมารัก[9][10]
ผู้คนที่นับถือจะนำรูปปั้นนางกวักตั้งไว้บนหิ้งหรือมุมใดมุมหนึ่งของร้านค้า มีการถวายน้ำแดงและพวงมาลัยไปเซ่นไหว้[8]
วัฒนธรรมร่วมสมัย
แก้- ในปี พ.ศ. 2560 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รณรงค์โฆษณาเอสซีบีอีซีเพย์ แม่มณีมันนี่โซลูชันบริการคิวอาร์โค้ดชำระแทนเงินสด โดยมีตัวละคร "แม่มณี" หรือนางกวักสีสันสดใสเป็นตัวนำโชค เพราะถือว่าเป็นสิ่งมงคลเรียกลูกค้า และผู้คนสามารถจดจำได้ง่าย[22]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 ทิพยประติมา, หน้า 201
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ทิพยประติมา, หน้า 203
- ↑ 3.0 3.1 โรสิตา แสงสกุล. "รายงานวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของเครื่องรางของขลังที่มีต่อชาวพุทธในสังคมไทยปัจจุบัน"". วิทยาลัยศาสนวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 ชลธิรา สัตยาวัฒนา (16 มีนาคม 2562). "อีแม่นางกวัก บรรพสตรียุคปางด้ำนาย ของชุมชนชาวไท". ทางอีศาน. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "การเล่นนางกวัก ไทยพวนบ้านทราย". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 29 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "งานประเพณีที่มีการฉลอง". พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2565.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 ทิพยประติมา, หน้า 209
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 นายกบแดง (26 มกราคม 2561). "วิวัฒนาการนางกวัก.. . จากรูปปั้นสตรี "ผอมบาง" สู่ร่าง "ตุ้ยนุ้ย" สัญลักษณ์แห่งความมั่งมี - ความรักใคร่เมตตา". มิวเซียมสยาม. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 9.0 9.1 นุ เพชรัตน์ (20 มิถุนายน 2554). "ชั่วโมงเซียน-นางกวักมหาเสน่ห์". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 10.0 10.1 ไตรเทพ ไกรงู (1 มกราคม 2556). "แม่นางกวักมาแรงในยุคเศรษฐกิจดิ่งเหว". คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 11.0 11.1 ""นางกวัก" ไทย – "แมวกวัก" ญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อใด เกี่ยวข้องกันไหม?". มิวเซียมเพรส. 23 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ทิพยประติมา, หน้า 210-211
- ↑ 13.0 13.1 13.2 ทิพยประติมา, หน้า 204-205
- ↑ 14.0 14.1 ลพบุรี, หน้า 96-97
- ↑ ทิพยประติมา, หน้า 206-207
- ↑ 16.0 16.1 ทิพยประติมา, หน้า 207
- ↑ ศรัณย์ ทองปาน (28 พฤศจิกายน 2560). "เครื่องรางคนค้าขาย ๓ – นางกวัก". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "นางกวัก 5 มือ". เดลินิวส์. 30 ธันวาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""มิสเวลคัม" นางกวักยุค 4G มหาเลิฟ-มหารวย-มหาไลก์". เส้นทางเศรษฐีออนไลน์. 18 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ เกร็ดภาษา หนังสือไทย ฉบับปรับปรุง, หน้า 243
- ↑ Thanwa (18 ธันวาคม 2559). "แม่นางกวัก ล้านนาโบราณ". เชียงใหม่นิวส์. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ""ไทยพาณิชย์" ควง "ใหม่ – ดาวิกา" พรีเซ็นเตอร์คนใหม่ ร่วมเผยโฉมคาแรคเตอร์ "แม่มณี" นางกวักยุคดิจิทัล มัดใจร้านค้าทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวแคมเปญ "SCB Easy Pay – แม่มณี Money Solution" ดันสังคมไทยไร้เงินสด". ข่าวสด. 13 พฤศจิกายน 2560. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- บรรณานุกรม
- ส. พลายน้อย. เกร็ดภาษา หนังสือไทย ฉบับปรับปรุง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2560
- สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). ลพบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2542
- อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยประติมา. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2560