ผีในวัฒนธรรมไทย

ชาวไทยเชื่อว่า ผีสามารถให้คุณหรือให้โทษได้ หากเซ่นสวรวงหรือบูชาไม่ถูกต้อง เช่น ผีขุนน้ำ คือ เทพอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสถิตอยู่บนดอยสูง ผีขุนน้ำมักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านจะอัญเชิญมาสถิตที่หอผีที่ปลูกอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้เหล่านี้ ผีขุนน้ำที่อยู่ต้นแม่น้ำใด ก็มักจะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ผีปันน้ำ (เทือกเขาผีปันน้ำ ในภาคเหนือ) หรือผีมด และ ผีเมง คือ ผีบรรพบุรุษตามความเชื่อของชาวล้านนา (คำว่า "มด" หมายถึงระวังรักษา) ส่วนผีเมงนี้เข้าใจกันว่ารับมาจากชนเผ่าเม็งหรือมอญโบราณ, ผีเจ้าที่ หรือพระภูมิเจ้าที่ คือผีที่รักษาประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้ดูแลรักษาเขตนั้น ๆ ดังนั้น คนโบราณเมื่อเดินทางและหยุดพักที่ใด มักจะบอกขออนุญาตเจ้าที่ทุกครั้ง

ศาลเพียงตา ซึ่งเป็นสิงสถิตย์ของผีที่คุ้มครองดูแลที่ดิน

นอกเหนือไปจากผีดังกล่าวแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นยังมีผีอีกหลายประเภท เช่น ผีกละ หรือ ผีจะกละ เป็นผีที่มักเข้าสิงผู้คนเพื่อเรียกร้องจะกินอาหาร เมื่อเข้าสิงใคร ก็จะแสดงกิริยาผิดปกติไป เมื่อคนสังเกตเห็นก็มักร้องขอกินอาหารและจะกินอย่างตะกละตะกลาม จึงเรียกผีกละตามลักษณะการกิน แต่มักเขียนเป็นผีกะ หรือผีกละยักษ์ เป็นผีที่อยู่รักษาสถานที่ต่างๆ เช่น วัดร้าง, ถ้ำ หรือที่ซึ่งมีสมบัติฝังหรือซ่อนอยู่ ผีกละยักษ์จะคอยพิทักษ์สมบัติเหล่านั้น จนกว่าเจ้าของจะรับทรัพย์สินเหล่านั้นไป ในกรณีผีกละยักษ์ที่อยู่ในวัด เล่ากันว่า มักจะเป็นวิญญาณของพระหรือเจ้าอาวาสที่ผิดวินัย เมื่อตายแล้วไปเกิดไม่ได้ จึงต้องทำหน้าที่พิทักษ์วัดไปจนกว่าจะสิ้นกรรม รูปร่างของผีกละยักษ์ไม่แน่นอน บ้างก็ว่าเป็นหมูตัวใหญ่ที่มีร่างกายเป็นทองแดง บ้างก็ว่าเป็นสุนัขใหญ่สีดำสนิททั้งตัว เป็นต้น

ผี มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยมาแต่โบราณ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย จนเกิดเป็นข้อห้าม หรือคะลำ ในภาษาอีสานต่าง ๆ ที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคไป เช่น ห้ามกินเลือด, ห้ามเลี้ยงนกฮูก, นกเค้าแมว, นกแสก, และค้างคาว, ห้ามเคาะจานข้าว, ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน หรือห้ามเผาศพในวันศุกร์ เป็นต้น[1] [2] [3]

ผีไทยในสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

 
รูปวาดของผู้หญิงที่เชื่อว่าเป็น แม่นากพระโขนง ภายในศาลแม่นากพระโขนง ในวัดมหาบุศย์

ในวัฒนธรรมร่วมสมัยต่าง ๆ มีผีไทยได้ปรากฏตามสื่อเป็นจำนวนมาก แม่นากพระโขนง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของผีตายทั้งกลมที่เชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในต้นยุครัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นผีไทยที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง มีศาลบูชา อยู่ที่วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง ในปัจจุบัน แม่นากพระโขนง ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์, ละครเวที ภาพยนตร์ แม้กระทั่งการ์ตูน หรืออะนิเมะชั่นต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ยุคภาพยนตร์เงียบ ในปี พ.ศ. 2479 ทั้งให้ความรู้สึกน่ากลัว หรือแม้กระทั่งขบขันหรือล้อเลียน[4] [5] หรือ กระสือ ผีผู้หญิงที่ถอดหัวเหลือแต่ไส้กับอวัยวะต่าง ๆ เรืองแสงได้ ล่องลอยหาของสดของคาว และมูตรคูถต่าง ๆ ในเวลากลางคืน กินเป็นอาหาร ก็เป็นผีอีกประเภทหนึ่งเช่นกันที่มักถูกถ่ายออดออกมาในสื่อประเภทนี้ ร่วมกับผีปอบ ที่ บ้านผีปอบ กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีจำนวนภาคต่อมากที่สุด (จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2556-14 ภาค)[6] [7] [8]


Spirits: Creativities from beyond ผี: ความกลัว...จัดการได้ ด้วยจินตนาการสร้างสรรค์

นิทรรศการที่จัดโดย TCDC โดยเป็นนิทรรศการที่จะชวนคุณมาสัมผัสประสบการณ์ขนหัวลุก จากหลายเรื่องราวที่เล่าขานกันมายาวนานเกี่ยวกับความเชื่อและนิยามของ “ผี” ที่จะปลุกความกลัวและสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ผ่านกระบวนการจัดการความกลัวด้วยจินตนาการสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องผี ๆ พร้อมร่วมเปิดมุมมองใหม่ให้กับคำนิยามของผีผ่านหลากตำนาน ความเชื่อ และข้อเท็จจริงที่รวบรวมจากทุกมุมโลก รวมถึงการแสดงนานาทัศนะของผู้คนหลากอาชีพที่มีความเกี่ยวพันกับมิติคู่ขนานกับกลวิธีสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมและเอาชนะ “ความกลัว” ด้วย “ความเข้าใจ” ในนิทรรศการประกอบไปด้วยการจัดแสดงรูปปั้นผี ภาพเขียนผีที่มีการจัดนิทรรศการอย่างเป็นระบบทำให้ผู้ชมได้สัมผัสรสชาติความกลัว รวมถึงจากจัดแสดงอิทธิพลของผีที่มีต่อสื่อร่วมสมัย เช่น โปสเตอร์หนัง นิยาย และสื่อใหม่ต่างๆ [1]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "แนะนำให้รู้จัก สารพัด "ผีของไทย"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-14. สืบค้นเมื่อ 2013-02-12.
  2. Ghosts and Spirits of Lan Na (Northern Thailand', in: Forbes, Andrew, and Henley, David, Ancient Chiang Mai Volume 4. Chiang Mai, Cognoscenti Books, 2012. ASIN: B006J541LE
  3. Phya Anuman Rajadhon, Essays on Thai Folklore, Editions Duang Kamol, ISBN 974-210-345-3
  4. "สวัสดีน๊านนาน... "แม่นาคพระโขนง"!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-09. สืบค้นเมื่อ 2013-02-12.
  5. "สวัสดีน้านนาน ... แม่นาคพระโขนง ตอน (จบ) 3 4 แอ็คชัน!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-09. สืบค้นเมื่อ 2013-02-12.
  6. "มองหาความคัลต์ในหนังไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-02-12.
  7. หนังผีแบบไทยไทย
  8. ผีขึ้นจอ (2)