ผีตายทั้งกลม (หรือบางครั้งเรียกว่า ผีตายท้องกลม ซึ่งเป็นคำที่ใช้ผิด) เป็นผีไทยลักษณะหนึ่ง โดยผู้หญิงที่ตายขณะที่กำลังตั้งครรภ์ลูกในท้องหรือขณะที่กำลังคลอดลูก ถ้าในขณะที่กำลังจะคลอดลูกนั้นแล้วเกิดตายขึ้นมาทั้งแม่และลูกถือว่าเป็นการตายโหงอีกรูปแบบหนึ่ง นางนาค หรือแม่นาคพระโขนงก็เป็นผีตายทั้งกลมเช่นกัน ผีตายทั้งกลมจะสำแดงอาการหลอกหลอนคนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ้าใครเดินผ่านบ้านที่มีหญิงตายทั้งกลมในยามค่ำคืน จะได้ยินเสียงกล่อมเด็กดังวังเวงมาจากในบ้านที่มีหญิงตายทั้งกลมนั้น หรือหนักหน่อยอาจจะมีคนเห็นเปลเด็กผูกอยู่บนคบไม้สูง โดยมีผีตายทั้งกลมนั่งกล่อมลูกอยู่ข้างล่าง ส่วนมือยืดยาวขึ้นไปบนคบไม้ ไกวเปลให้ลูก

ผีตายทั้งกลม
ศาลแม่นากพระโขนง เชื่อว่าเป็นวิญญาณของผีตายทั้งกลม
กลุ่มผีไทย
กลุ่มย่อยผีร้าย
ประเทศประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำว่าตายทั้งกลม สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า "ตายทั้งกลํ" คำว่า "กลํ" (/กม/) เป็นภาษาเขมร หรือภาษาโบราณ แปลว่า "ทั้งหมด ทั้งมวล หรือหมดสิ้น" ซึ่งในประชุมจารึกสยาม ภาคที่ ๑ จารึกสุโขทัย ชำระและแปลโดยยอร์จ เซเดส์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๗ มีข้อความว่า จึ่งได้แก่เมืองแก่กูทงงกลํ ซึ่งคำว่า ทงงกลํ ในที่นี้แปลว่า "ทั้งหมด" ผู้หญิงที่ตายทั้งกลม ก็คือ ตายทั้งหมด คือ ตายทั้งแม่และลูก[1]

ในวัฒนธรรมล้านนามีผีที่มีลักษณะคล้ายกับผีตายทั้งกลม เรียกว่า ผีพราย เป็นผีที่ตายจากการคลอดลูก ถือเป็นผีร้าย มักไปเข้าสิงหรือทำร้ายบุคคลที่กำลังป่วยหนัก ต้องให้พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ขับไล่[2] ส่วนชาวไทดำและไทขาวจะเรียกผีลักษณะนี้ว่า ผีปาย ใกล้เคียงกับล้านนา คือผีที่ตายจากการคลอดลูก[3][4] ชาวไทดำอธิบายว่าผีชนิดนี้จะร้องด้วยเสียง "ปิ๊ด ปิ๊ด" คล้ายกับเสียงร้องของเป็ด หากเจ็บไข้ได้ป่วยจากผีนี้ ให้ใช้เป็ดในการเซ่นไหว้[3] ส่วนชาวไทขาวอธิบายว่า เป็นผีร้ายที่ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยหรือตายได้[4]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ทั้งกลม หรือ ท้องกลม, คอลัมน์ องค์ความรู้ภาษาไทย โดย ราชบัณฑิตยสถาน โดย แสงจันทร์ แสนสุภา. หน้า 22 การศึกษา: เดลินิวส์ ฉบับที่ 23,135 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง
  2. อนุกูล ศิริพันธ์และคณะ. "ศรัทธา สักการะ" ความเชื่อ สู่วิถีชีวิตชาวล้านนา : ถอดบทเรียนจากการจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562, หน้า 105
  3. 3.0 3.1 สุมิตร ปิติพัฒน์, รองศาสตราจารย์ (2544). ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท ประเทศเวียดนาม. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 13.
  4. 4.0 4.1 ภพ สวัสดี (มกราคม–เมษายน 2561). ไทขาวในเวียดนาม : อัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท. วารสารวิชาการธรรมทรรศน์ 18:(1). p. 234.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)