นพพร บุณยฤทธิ์ (8 เมษายน พ.ศ. 2469 - พ.ศ. 2560) เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ชาวกรุง และสยามรัฐ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550

นพพร บุณยฤทธิ์
เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2469
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (91 ปี) [1]
นามปากกานพพร บุณยฤทธิ์
นิตย์ นราธร
จอเหี่ยว
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน

ประวัติ แก้

นพพร บุณยฤทธิ์ เกิดที่ฝั่งธนบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายสวัสดิ์ และนางเจริญ บุณยฤทธิ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเริ่มงานหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ "ชาติไทยรายวัน" มี เฉนียน บุญยเกียรติ เป็นบรรณาธิการ เริ่มงานเขียนครั้งแรก ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "ประชากร" ชื่อเรื่อง "เทียมแข" เมื่อ พ.ศ. 2491 [2]

การทำงาน แก้

นพพร บุณยฤทธิ์ ได้รับการชักชวนจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 พร้อมกับช่วยงานคณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และรับงานเขียนบทละครให้กับศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) และเรื่อง "สุดชีวิต" "สุดสายใจ" และ "สุดฟากฟ้า" โดยเฉพาะในเรื่อง สุดฟากฟ้า ยังรับบท "ร.อ.ฟูเจ็ง" นายทหารเกาหลี ร่วมแสดงกับฉลอง สิมะเสถียร และสุพรรณ บูรณะพิมพ์ [3][4]

นพพร บุณยฤทธิ์ รับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารชาวกรุงรายเดือน เมื่อปี พ.ศ. 2497 และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2522 ขณะดำรงตำแหน่งบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน เกิดกรณีพิพาทกับ นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทพร้อมกับนายกำพล วัชรพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรณีนำเสนอข่าวการล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สืบเนื่องจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ ตกที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2516 จนถูกปองร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐ [3]

นพพร บุณยฤทธิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[5] และเป็นสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 4ระหว่าง พ.ศ. 2518-2519 [2] นอกจากนี้ยังกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะที่เป็นนักเขียนอาวุโส รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2550

อ้างอิง แก้

  1. เรียงคนมาเป็นข่าว ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2560 : โดย ชโลทร
  2. 2.0 2.1 ประวัติ นพพร บุณยฤทธิ์ เก็บถาวร 2016-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
  3. 3.0 3.1 นพพร บุณยฤทธิ์ เล่า, ประทีป โกมลภิส เขียน. อยู่กับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์น้ำฝน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2538. 247 หน้า. ISBN 974-7192-29-2
  4. นพพร บุณยฤทธิ์ แสดงเรื่องสุดฟากฟ้า รอบพิเศษรอบแรกเพียงรอบเดียว แล้วแจ้งว่าล้มป่วยไม่สามารถแสดงต่อได้ ทีมงานได้จัดให้เมืองเริง ปัทมินทร์ รับบทแทน
  5. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.