ศักดิ์เกษม หุตาคม

ศักดิ์เกษม หุตาคม (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2529) นักเขียนนวนิยายรัก โศกนาฏกรรม และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง เจ้าของนามปากกา อิงอร ได้รับฉายาว่า นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง [1]

ศักดิ์เกษม หุตาคม
เกิด17 พฤษภาคม พ.ศ. 2461
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประเทศสยาม
เสียชีวิต21 ธันวาคม พ.ศ. 2529 (68 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาอิงอร
อาชีพนักเขียน นักแต่งเพลง
คู่สมรสเยาวนิจ เศวตศิลา

ศักดิ์เกษม หุตาคม เกิดที่ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อาศัยอยู่กับมารดาและยาย เพราะกำพร้าบิดาตั้งแต่เด็ก จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา แล้วเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพ พร้อมกับเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบอนุปริญญาเมื่อ พ.ศ. 2480 [2]

ช่วงเรียนอนุปริญญา ศักดิ์เกษมทำงานเป็นเสมียนที่กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่รักการเขียน เช่น นายตำรา ณ เมืองใต้ สด กูรมะโรหิต เหม เวชกร วรรณสิทธิ์ ศิษย์เพาะช่าง ใช้เวลาว่างเขียนเรื่องสั้นรวมเล่มอ่านกันเอง ใช้ชื่อว่าชาวคณะ "ริ้วอักษร" ต่อมาได้เขียนส่งหนังสือพิมพ์ "ประชามิตร-สุภาพบุรุษ" ซึ่งศรีบูรพา เป็นบรรณาธิการ ใช้นามปากกา "อิงอร" ผลงานชิ้นแรกคือเรื่องสั้น "สิ่งที่เหลือ" ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 และเริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่องสั้น "นิทรา-สายัณห์" ซึ่งต่อมาถูกขยายให้ยาวขึ้น และรวมเล่มจำหน่ายในปี พ.ศ. 2488 [2]

ผลงาน

แก้

ผลงานของอิงอรที่มีชื่อเสียง เช่น

  • นิทรา-สายัณห์
  • ดรรชีนาง
  • ธนูทอง
  • ช้องนาง
  • โนรี
  • บุหรงทอง
  • ราชันย์ผู้พิชิต
  • ริมฝั่งเนรัญชลา
  • กลิ่นยี่โถแดง
  • เกียรติศักดิ์ทหารเสือ
  • มดแดง
  • ปูจ๋า
  • กบเต้น
  • ไทยใหญ่ ฯลฯ

ล้วนได้รับความนิยม นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครเวที และละครโทรทัศน์

อิงอรยังมีผลงานประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียง เช่น

  • รักเธอเสมอ
  • ความหลังฝังใจ
  • ดรรชนีไฉไล
  • หนาวตัก
  • เดือนต่ำดาวตก
  • ภูมิพลมหาราช

โดยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง

  • "รักเธอเสมอ" (ลูกกรุง) และ
  • "ความหลังฝังใจ" (ลูกทุ่ง) และรางวัลสังข์เงิน จากเพลง
  • "ภูมิพลมหาราช"

ศักดิ์เกษม หุตาคม ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2529 อายุ 68 ปี ด้วยโรคหัวใจ

อ้างอิง

แก้
  1. ฉายา นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4