ไทใหญ่

กลุ่มชาติพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าของอัมรินทร์
(เปลี่ยนทางจาก ไทยใหญ่)

ไทใหญ่ ชาน หรือ ฉาน (ไทใหญ่: တႆး, ออกเสียง [táj] ไต๊; พม่า: ရှမ်းလူမျိုး, ออกเสียง: [ʃáɰ̃ lùmjó]; จีน: 掸族; พินอิน: Shàn zú) หรือ เงี้ยว (ซึ่งเป็นคำเรียกที่ไม่สุภาพ)[4] คือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศพม่า[5] ส่วนมากอาศัยในรัฐฉานและบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณดอยไตแลง ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า[6] ชาวไทใหญ่มีประมาณ 4–6 ล้านคน[1] โดยเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊กให้จำนวนประมาณการที่ 5 ล้านคนทั่วประเทศพม่า[2] ซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 10 ของประชากรพม่าทั้งหมด[5][7] แต่มีไทใหญ่หลายแสนคนที่ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อหนีปัญหาทางการเมืองและการหางาน ตามภาษาของเขาเองจะเรียกตัวเอง "ไต"หรือ "ไท" มีหลายกลุ่ม เช่น ไทแหลง ไทคำตี่ ไทอาหม ไทพ่าเก และไทมาว แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ไตโหลง [ไต = ไท และ โหลง (หลวง) = ใหญ่] หรือที่คนไทยเรียกว่า ไทใหญ่ จะเห็นได้ว่าภาษาไทและภาษาไทยคล้ายกันบ้างแต่ไม่เหมือนกัน ชาวไทใหญ่ถือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันชาติ

ไทใหญ่
တႆး
ไต๊
ธงชาติของชาวไทใหญ่
ประชากรทั้งหมด
ประมาณ 4–6 ล้านคน[1][2]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 พม่า
(ส่วนใหญ่อยู่ใน รัฐฉาน)
ประมาณ 5 ล้านคน[a][2]
ภาษา
ภาษาไทใหญ่, ภาษาพม่า, ภาษาจีน, ภาษาอัสสัม, ภาษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่นเหนือ
ศาสนา
ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายกึงจอง ส่วนน้อยนับถือนิกายกึงโยน[3]

ประวัติ

แก้

ชาวไทใหญ่ หรือ ฉาน หรือ ฌาน เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในเขตพม่า ตอนใต้ของจีน และภาคเหนือของประเทศไทย ชาวไทใหญ่ที่อยู่ในเขตประเทศจีน เรียกตนเองว่าเป็นไทเหนือด้วยถือว่าอาศัย อยู่ทางเหนือของแม่น้ำคง (สาขาของแม่น้ำสาละวิน) และจะเรียกชาวไทใหญ่ในพม่า ว่าเป็นไทใต้ ในประเทศไทย มีชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ จากตอนใต้ของประเทศจีนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 17

ที่มาของชื่อ

แก้

คำว่า “ ไทใหญ่ “ เป็นชื่อที่ชาวไทใหญ่คุ้นเคยมานาน ควบคู่กับคำที่ชาวไทใหญ่มักขนานนามตนเองว่า “ ไทใหญ่น้อย ” แต่นอกเหนือจากชาวไทใหญ่ในประเทศไทยแล้วไม่มีคน รู้จักคำว่า ไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกตนเองว่าไต ชาวพม่าเรียกชาวไทใหญ่ว่า “ ชาน ” หรือ “ ฉาน “ ซึ่งเป็นต้นเค้าให้ชาวตะวันตกเรียกชาวไทใหญ่ และยังเรียกชาวไทยวน หรือชาวไทยภาคเหนือว่า “ชานสยาม” (Siamese Shan)อีกด้วย[8] เพราะเนื่องจากชาวตะวันตกเห็นว่าคนสองกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน

ในขณะที่ชาวกะชีนหรือจิ่งเผาะเรียกว่า “ อะซาม ” ชาวอาชาง ชาวปะหล่อง และชาวว้าเรียกว่า “ เซียม ” คำทั้งหมดนี้มาจากรากเหง้าของคำเดิมคือ “ สยาม ” สาม หรือ “ ซาม ” ทั้งสิ้น ส่วนชาวจีนฮั่นมีวิธีเรียกชาวไทใหญ่ที่แตกต่างออกไป คือ ใช้คำที่แสดงลักษณะของชนชาติ มาขนานนาม เช่น เรียกว่า พวกเสื้อขาว (ป๋ายยี) พวกฟันทอง (จินฉื่อ) พวกฟันเงิน (หยินฉื่อ ) พวกฟันดำ (เฮยฉื่อ) และยังมี ชื่ออื่นๆ เช่น เหลียว หลาว หมางหมาน พวกเยว่ร้อยเผ่า และหยี เป็นต้น จีนจะมีการเรียกชื่อชาวไทใหญ่เปลี่ยน แปลงไปตามระยะเวลาทางประวัติศาสตร์[9]

ชื่อที่ชาวพม่าใช้เรียก

แก้

“ชาน” คือชื่อที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวไทใหญ่

ชื่อที่ชาวไทยใช้เรียก

แก้

“เงี้ยว” เป็นคำที่ชาวล้านนาในแถบเชียงใหม่ใช้เรียกชาวไทใหญ่ ส่วนชาวเชียงรายเรียกชาวไทใหญ่ว่า “ไตใหญ่” ส่วนชาวไทยภาคกลางเรียกชาวไทใหญ่ว่า “ไทใหญ่” โดยการเรียกชื่อนี้มีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ถามคนอยุธยาว่า “คนไทยมีที่ไหนบ้าง” โดยเธอบอกว่า “คนไทยมีทั้ง ไทใหญ่และไทน้อย” และเธอยังบอกว่าตนเป็นไทน้อย แสดงให้เห็นว่าคนอยุธยาคือชาวไทน้อยและมองคนไทใหญ่ว่าไม่ต่างจากตนถือว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน

“อนึ่ง ชาวสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนี้ เรียกตัวเองว่าไทน้อย (Tai Noe) คือสยามน้อย (Little Siam) ตามที่ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่า ยังมีคนอีกจำพวกหนึ่งซึ่งป่าเถื่อนที่สุดเรียกกันว่าไทใหญ่ (Tai Yai) คือสยามใหญ่ (Great Siam) อันเป็นพวกที่อยู่ทางเขตเขาภาคเหนือ” [10]

ชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียก

แก้

ชาวอังกฤษ

แก้

“ชาน” คือชื่อที่ชาวอังกฤษใช้เรียกชาวไทใหญ่ โดยเรียกตามชาวพม่า

ชาวจีน

แก้

“ต้าป๋ายยี” “ป๋ายยี” “จินฉื่อ” “เฮยฉื่อ” คือคำที่ชาวจีนฮั่นใช้เรียกชาวไทใหญ่

อิทธิพลของพม่า

แก้

ประวัติศาสตร์ไทใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงคราม จนการเรียนประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่กลายเป็นวิชาต้องห้ามมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง อิทธิพลทางวัฒนธรรมของพม่าในไทใหญ่จึงมีมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และการเมือง[11] กล่าวคือเมื่อพม่ามีอิทธิพลทางการปกครองก็จะเกณฑ์ให้เจ้าฟ้าไทใหญ่ส่งลูกชายและลูกสาวไปเมืองหลวงพม่า เจ้าหญิงเจ้าชายเหล่านี้จึงได้รับวัฒนธรรมพม่ามา และนำกลับมาเผยแพร่แก่ประชาชนไทใหญ่ในรูปแบบของภาษา ดนตรี นาฏศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ [12] เช่น เกิดความนิยมว่า วรรณคดีที่ไพเราะซาบซึ้งควรมีคำพม่าผูกผสมผสานกับคำไท[13][14]

ถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน

แก้

ชาวไทใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศพม่า เรียกตัวเองว่า คนไต ส่วนชาวล้านนามักเรียกว่า เงี้ยว มีเมืองหลวงที่ถือกำเนิดคือ ตองจี มีเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองของชาวไทใหญ่มาแต่โบราณ ได้แก่ เมืองแสนหวี สี่ป้อ น้ำคำ หมู่เจ เมืองนาย เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองกาเล เมืองยาง เมืองมีด เป็นต้น[15]

นอกจากนั้นยังมีชาวไทใหญ่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และยังมีที่อยู่อาศัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศจีน เช่น เมืองมาว เมืองวัน เมืองหล้า เมืองขอน เป็นต้น และบางส่วนของรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะที่ตำบลซ้างปานี แขวงเมืองสิพพสาครและอรุณาจัลประเทศ[16]

วัฒนธรรม

แก้

สังคมและประเพณี

แก้
 
ฟ้อนนกกิงกะหร่า เป็นการรำที่เลียนแบบอากัปกิริยาของนกเช่น ขยับปีก ขยับหาง บิน กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะของกลอง

ชาวไทใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการค้าขาย นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเทวดาและผีเสื้อบ้านเสื้อเมือง และยึดถือในการทำบุญแต่ละประเพณีเป็นอย่างมาก ดังประโยคที่กล่าวไว้ว่า "กินอย่างม่าน ตานอย่างไต" ซึ่งหมายถึงว่า ชาวไทใหญ่นิยมการทำบุญทำทานมาก[16] เทศกาลของไทใหญ่ตามปฏิทินจันทรคติ ประกอบด้วยวันเหลินสาม (Wan Lern Saam) ในเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อกันว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูร้อน, ปอยซอนน้ำ (Poy son Nam) หรือ สงกรานต์ และปอยโบกไพ (Poy Moak Fai) หรือบุญบั้งไฟ ในเดือนเมษายน, เข้าหว่า (Kao Waa) หรือเข้าพรรรษา, ออกหว่า (Oak Waa) หรือออกพรรษา และยี่เป็งหรือลอยกระทง[17]

ภาษา

แก้

ภาษาไทใหญ่เป็นวิชาเลือกหนึ่งภายในรัฐ เจ้าขุนสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมรัฐฉานในอดีต เคยออกสำรวจคนไทใหญ่ในพม่า พบว่ามีคนไทใหญ่พูดภาษาไทใหญ่มากมายหลายแห่ง แต่ไม่มีจำนวนที่แน่นอน เพราะคนไทใหญ่เหล่านั้นจะเรียกตนเองว่าเป็นพม่า พูดภาษาพม่า แต่งกายเป็นพม่า[18]

อักษร

แก้

อักษรไทใหญ่ พัฒนามาจากอักษรไทใต้คงเก่า ซึ่งเป็นอักษรที่ใช่ในหมู่ชาวไทใหญ่ทั้งหมด โดยยังคงมีลักษณะกลม เนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนไปเขียนด้วยพู่กันเหมือนอักษรไทใต้คง (อักษรถั่วงอก) เมื่อรัฐฉานตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2428 ทางอังกฤษได้ส่งเสริมให้ชาวไทใหญ่พัฒนาอักษรของตนขึ้นใหม่ และจัดให้มีการพิมพ์ ทำให้รูปอักษรที่เกิดจากการหล่อตัวพิมพ์มีลักษณะป้อม กลมคล้ายอักษรพม่ามากขึ้น

ศาสนา

แก้

ชาวไทใหญ่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานตั้งแต่ พ.ศ. 2015 ในช่วงที่พระญาณคัมภีร์เดินทางมาจากเชียงใหม่ไปเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายโยน ชาวไทใหญ่ยังนับถือเทพและผีเจ้าเมืองด้วย เป็นความเชื่อดั่งเดิมที่เชื่อว่าเจ้าเมืองที่เสียชีวิตไปแล้วจะยังคงปกปักรักษาชาวบ้านในชุมชน ชาวไทใหญ่ยังมีความเชื่อในเรื่องของโลกหน้าอีกด้วย[19]

สถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์

แก้
 
วัดจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370 โดย พระยาสิหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรกของ แม่ฮ่องสอน

เรือนชาวไทใหญ่นิยมสร้างเรือนใต้ถุนเตี้ย หลังคาจั่วเดียว หากเป็นครัวครอบใหญ่นิยมสร้างเป็นหลังคาสองจั่ว

งานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่มีวิวัฒนาการคล้ายกับชาวสยาม ต่างก็รับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มา ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญพม่า แต่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองภายใต้กรอบของศิลปะแบบมอญพม่า

วัด หรือ จอง ในภาษาไทใหญ่ นิยมสร้างอุโบสถ วิหาร หอฉัน กุฎิสงฆ์ อยู่ติดกันในลักษณะเรือนหมู่แบบคนไทย แต่สร้างหลังคาของอาคารต่าง ๆ ทรงยอดปราสาทแบบพม่ามอญ เรียกว่า ทรงพญาธาตุ แต่ลดจำนวนชั้นและความซับซ้อนของโครงสร้างลงไป ส่วนเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับสถูปเจดีย์แบบมอญพม่า แต่มีการประยุกต์โดยขยายส่วนสูงเพิ่มขึ้น ทำให้เจดีย์ไทใหญ่มีรูปทรงสูงชลูดมากกว่าเจดีย์พม่า

 
วัดสันป่าก่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 โดยพระก่า คำเฮือง จองติ้ จองสร้อย และปู่หลอย

การสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นิยมแกะสลักจากหินหยก หรือเป็นพระพุทธไม้แกะสลักปิดทองแล้วประดับด้วยกระจก สร้างเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ครบทั้ง 4 อิริยาบถ ได้แก่ นั่ง ยืน นอน เดิน มีรูปพระพักตร์แบบพม่า และยังนิยมสร้างรูปพระอรหันต์อุปคุต รวมถึงรูปประติมากรรมต่าง ๆ ที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เช่น รูปสิงห์ รูปหงส์ รูปคนฟ้อนรำ เป็นต้น ส่วนงานจิตรกรรมมีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและพม่า กล่าวคือ นิยมเขียนภาพจากพุทธประวัติ ภาพชาดก มีทั้งตัวละครที่แต่งกายแบบพม่า เขียนตัวละครที่แต่งกายทรงมงกุฎยอดแหลม มีเครื่องแต่งกายเหมือนจิตรกรรมไทย ด้านงานประณีตศิลป์ ได้แก่ เครื่องเขิน เป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ บาตรพระ พานสำหรับใส่เครื่องบูชา ทำจากไม้ตกแต่งด้วยการลงเขิน หรือลงรักปิดทองและประดับด้วยกระจก งานประณีตศิลป์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่คือ ลายฉลุ เป็นการฉลุลายแบบที่ภาษาภาคกลางเรียกว่า งานทองแผ่ลวด แต่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ลายไตร นำไปใช้ตกแต่งอาคารในวัดวาอาราม ศาลา หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ[20]

ชุดแต่งกาย

แก้
 
การแต่งกายบุรุษชาวไทใหญ่

การแต่งกายในอดีต

แก้
  • ผู้หญิง

สตรีชาวไทใหญ่ในอดีตนิยมสวมเสื้อแซค เป็นเสื้อเนื้อบางแขนยาวหรือสามส่วน ป้ายสาบเสื้อทับไปทางขวาโดยใช้กระดุมผ้าหรือกระดุมโลหะสอดยึดห่วง ซึ่งเสื้อป้ายนี้ได้อิทธิพลการแต่งกายมาจากชาวจีนแบบราชวงศ์ชิง นุ่งซิ่นเนื้อบาง เช่น ซิ่นก้อง ซิ่นส่วยต้อง ซิ่นปะล่อง ซิ้นหล้าย ซิ่นฮายย่า ซิ่นถุงจ้าบ ซิ่นแพรปังลิ้น และซิ่นปาเต๊ะ ทรงผมเกล้ามวยตามอายุ

  • ผู้ชาย

บุรุษชาวไทใหญ่ในอดีตนิยมสวมเสื้อแซคหรือเสื้อแต้กปุ่ง เป็นเสื้อแขนยาว คอกลม กระดุมผ่าหน้า มีกระเป๋าเสื้อ นุ่งกางเกงสะดอเรียกว่า เรียกว่า ก๋นไต หรือ โก๋นโห่งโย่ง มัดเอวและเคียนหัวด้วยผ้าสีอ่อน เช่น สีขาว ชมพู หรือเหลือง[16] ส่วนการแต่งกายในราชสำนักไทใหญ่มักจะได้รับอิทธิพลมาจากราชสำนักมัณฑะเลย์

อาหาร

แก้
 
ข้าวกั๊นจิ๊น เป็นข้าวสวยคลุกเลือดหมูสดห่อในใบตองแล้วนำไปนึ่งจนสุก

ชาวไทใหญ่นิยมกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก อาหารที่รับประทานส่วนใหญ่ประกอบด้วยผัก ใช้น้ำมันงาในการปรุงอาหาร อาหารนิยมปรุงจากถั่วเน่า[21] อาหารของชาวไทใหญ่ส่วนใหญ่มักจะปรุงจากพืชผักหรือยอดไม้เป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเมื่อได้รับประทานอาหารไทใหญ่แล้ว ไม่แตกต่างจากการรับประทานยาสมุนไพร  อาหารขึ้นชื่อของชาวไทใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนานคือ ถั่วเน่า ทำจากถั่วเหลืองหมักเหมือน ถั่วเน่าแข๊บ ของทางภาคเหนือของไทย แต่ถั่วเน่าของไทใหญ่นั้นมีหลากหลายรสมากกว่า เช่น รสเผ็ด ซึ่งใส่พริกป่น ขิง เข้าไปด้วย บางสูตรก็ใส่มะแขว่น และยังมีอารหารต่างๆอีกมากมาย เช่น ถั่วพูอุ่น ข้าวแรมฟืน ข่างปองมะละกอ เมี่ยงเต้าเจี้ยว ไก่อุ๊บข้าวเหลือง ผักกาดจอเจม(ผักกาดจอหวาน) เน้อลุง(จิ๊นลุง) ข้าวกั๊นจิ้น เป็นต้น

นอกจากอาหารคาวแล้ว ก็ยังมีขนมหวานอีก เช่น อาละหว่า ข้าวหย่ากู๊ ส่วยทะมิน เปงม้ง แอบน้ำอ้อย ข้าวมูลห่อ เป็นต้น ซึ่งขนมของชาวไทใหญ่มักจะทำขึ้นในช่วงเทศกาลต่าง 

นาฏศิลป์

แก้

ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่ คือ การฟ้อนนกกิงกะหล่าหรือนกกิงกะหร่า เป็นการแสดงประกอบการเฉลิมฉลองประเพณีออกหว่า หรือ งานออกพรรษา ซึ่งตรงกับประเพณีเดือน 11 โดยมีความเชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระมารดาและเทวดายังชั้นสวรรค์ดาวดึงส์ และเมื่อเสด็จนิวัติยังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหณะ[22]

ฟ้อนไตหรือรำไต เป็นการรำที่มีมาตั้งแต่การก่อตั้งเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ได้มีการว่างเว้นไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดย พ่อครูแก้ว และแม่ครูละหยิ่น ทองเขียว ซึ่งในการรำไตใช้เพลงอยู่ 3 เพลง มาบรรเลงต่อเนื่องกัน คือ

1.มวยโล่วโล่ว

2.จู่จู่มวย

3.ขะย่านตานโจ่ง

เครื่องดนตรี

แก้

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีของชาวไทใหญ่ เช่น

1.มองแว๊ง(ฆ้องวง)

2.ปาตยา(ระนาดเล็ก)

3.เช่าลงปั๊ด

4.มองถ่าง(ฆ้องราง)

5.จะควิ่น

6.ตอยลง

7.จี(เครื่องเคาะจังหวะ)

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีของชาวไทใหญ่ เช่น

1.ตอยอฮอร์น(คล้ายไวโอลิน)

และยังมีการใช้ ป่ากย่าหรือแอคคอร์เดียน อีกด้วย[23]

จ๊าดไต

การแสดงลิเกไทใหญ่ หรือจ๊าดไต มีลักษณะคล้ายกับการแสดงลิเกของภาคกลางของประเทศไทยเรา  ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยงงานวัด และได้ชมลิเกไทใหญ่ ที่วัดพระธาตุดอยกองมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่องานวันลอยกระทงที่ผ่านมา และได้สอบถามผู้ใหญ่ที่ชอบดูจ๊าดไต ได้ความว่า

ต้นกำเนิดจ๊าดไต อยู่ที่รัฐฉานของพม่า มีการพัฒนามาจากการแสดงข้างถนนจนเป็นมรสพที่ยิ่งใหญ่และนิยมเล่นกันโดยทั่วไป  เมื่ออังกฤษมีอำนาจเข้ามาปกครองรัฐฉานของพม่า จนเกิดสงครามขึ้น  ชาวไทใหญ่บางส่วนได้อพยพมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณชายแดนที่ติดต่อกับบ้านห้วยผึ้ง และได้เข้าตั้งครัวเรือนที่บ้านคาหาน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้นำการแสดงจ๊าดไตมาด้วย และได้คิดรูปแบบการแสดง โดยใช้เครื่องดนตรีแบบง่ายที่หาได้ในตอนนั้น  เป็นการดีด สี ตี เป่า ตามลักษณะวิถีชีวิตในขณะนั้น ส่วนการแสดงจ๊าดไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นจะเป็นการผสมกันระหว่างไทใหญ่กับพม่า ทั้ง ท่าทาง การร่ายรำ แนวเพลง รวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้ ยกเว้นเพลงที่ร้องที่ยังคงเอกลักษณ์ของไทใหญ่อยู่

หมายเหตุ

แก้
  1. รายงานจากเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก ชาวไทใหญ่มีจำนวนร้อยละ 9 ของประชากรพม่าทั้งหมด (55 ล้านคน) หรือประมาณ 5 ล้านคน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "The Indigenous Shan People". The Peoples of the World Foundation. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Explore All Countries – Burma". The World Factbook. Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2018.
  3. เสมอชัย พูลสุวรรณ (2009). รัฐฉาน (เมืองไต): พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). p. 66. ISBN 978-974-660-569-4.
  4. "ยวน ในยวนพ่าย ก็เป็น ลาว (คักๆ)". สุจิตต์ วงษ์เทศ. 21 กันยายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2015.
  5. 5.0 5.1 "Shan people". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2020.
  6. Sao Sāimöng Mangrāi (1969). The Shan States and the British Annexation (2nd ed.). Cornell University Southeast Asia Program. ISBN 0-8357-5595-9.
  7. "FACTBOX: The Shan, Myanmar's largest minority". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 30 สิงหาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2020.
  8. Andrew Turton (2004), "Violent Capture of People for Exchange on Karen-Tai borders in the 1830s", Structure of Slavery in Indian Ocean Africa and Asia, London: Frank Cass, p. 73, doi:10.1080/01440390308559156, ISBN 9780714654867, ISSN 0144-039X
  9. "ประวัติชาวไทใหญ่". www.taiyai.org. สถาบันไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. 2 กันยายน 2011.
  10. Simon de La Loubère (1986). The Kingdom of Siam. Oxford University Press. p. 7. ISBN 0-19-582668-X. อ้างใน นิติ ภวัครพันธุ์ (2015). ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. p. 24. ISBN 978-974-315-904-6.
  11. Maung Htin Aung (มกราคม 1967). A History of Burma. New York: Columbia University Press. p. 95. ISBN 1-135-35576-2.
  12. Arthur P. Phayre, Sir (1967). History of Burma (2 ed.). London: Susil Gupta. pp. 108–109. ISBN 0-678-07264-7.
  13. ‘Mae Sai Evacuated as Shells Hit Town’. Bangkok Post. 12 พฤษภาคม 2002.
  14. ‘Mortar Rounds Hit Thai Outpost, 2 Injured’. Bangkok Post. 20 มิถุนายน 2002. p.1.
  15. "กลุ่มชาติพันธุ์: ไทใหญ่". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
  16. 16.0 16.1 16.2 "ไทใหญ่". สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  17. "ไทใหญ่ : ว่าด้วยเครื่องแต่งกาย". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-12. สืบค้นเมื่อ 2021-02-22.
  18. "Shan: A language of Myanmar". Ethnologue. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2006.
  19. "ศาสนาและความเชื่อ". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
  20. ดินาร์ บุญธรรม (2 มกราคม 2019) [2015]. "ชมศิลปะไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน". ไทยศึกษา. สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  21. จักรพงษ์ คำบุญเรือง (15 พฤษภาคม 2019). "วิถีชีวิต "ชาวไต" ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน". เชียงใหม่นิวส์.
  22. ศรินประภา ภัทรจินดา; ชนัย วรรณะลี; อัควิทย์ เรืองรอง (มกราคม–มิถุนายน 2019). "กระบวนการสร้างสรรค์รูปแบบการฟ้อนนกกิงกะหล่า". วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 15 (1): 201–223. eISSN 2697-6358.
  23. ปิยะพงษ์ ยานะวาส (มีนาคม 2011). การศึกษาวงตอยอฮอร์น อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน (PDF) (วิทยานิพนธ์ M.A.). สาขามานุษยดุริยางควิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

หนังสือและบทความ

แก้

เว็บไซต์

แก้