นที รักษ์พลเมือง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ นที รักษ์พลเมือง (16 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2557 ) อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
นที รักษ์พลเมือง | |
---|---|
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2532 | |
ก่อนหน้า | ศ.นพ.วีกิจ วีรานุวัตติ์ |
ถัดไป | ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2469[1] กาญจนบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 6 มีนาคม พ.ศ. 2557 (87 ปี) |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | นางสุภาพ รักษ์พลเมือง |
ประวัติ
แก้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ นที รักษ์พลเมือง เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ณ ตำบลบ้านเหนือ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรของพันเอก หลวงศัลยกรรมโกวิท (นาค รักษ์พลเมือง) และ นางจวง ศัลยกรรมโกวิท ด้านชีวิตครอบครัวได้สมรสกับ สุภาพ รักษ์พลเมือง (สกุลเดิม ถิ่นพนม) มีบุตร-ธิดา ด้วยกัน 3 คน คือ ดร.สุทรรศน์ รักษ์พลเมือง, จันทร์สุดา รักษ์พลเมือง อดีตรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม , นิศานาถ มีชำนะ
ศ.เกียรติคุณ นพ.นที รักษ์พลเมือง สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2492 จากนั้นเข้าปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ , เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน พ.ศ. 2493 ได้ศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มเติมได้รับ Cert. in Orthopaedics จาก Institute of Orthopaedic London เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเมื่อพ.ศ. 2494 ต่อมาในปีพ.ศ. 2507 ได้โอนไปสังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นภาควิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์นทีมีความรู้ความสามารถในการผ่าตัดรักษาในด้าน Spine Surgery โดยเฉพาะ TB Spine และ Hand Surgery เป็นผู้บุกเบิกและปรับปรุงวิธีการสอนนักศึกษาแพทย์ โดยใช้เทปโทรทัศน์เป็นอุปกรณ์การสอนเพื่อสาธิตวิธีการรักษา นอกจากนี้ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ออร์โธปิดิกส์ทั้งในรูปแบบการแสดง เครื่องมือ อุปกรณ์การผ่าตัด ตลอดจนแสดงแผนภาพในรูปนิทรรศการเพื่อช่วยในการสอนนักศึกษาแพทย์ให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้สร้างผลงานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ประมาณ 30 เรื่อง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2517
ประวัติการทำงาน
แก้- หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2528)
- ตำแหน่งรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2528)
- คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532)
- นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2549)
ช่วงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คือช่วงที่มีงานฉลอง 100 ปี ศิริราช ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้สร้างตึกสยามินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระบรมราชินูปถัมภ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ รวมทั้งได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากแพทย์พยาบาล และบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บุคคลทุกสาขาอาชีพในสังคม ทำให้ได้ตึกสยามินทร์ที่เป็นตึกผ่าตัดรวม ศูนย์ทำความสะอาดเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด ห้องไอซียู ห้องติดตามผลการรักษาผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการผ่าตัดโดยไม่ต้องเสียเวลานานและทนทุกข์ทรมานได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ กรรมการมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลกรรมการศิริราชมูลนิธิ กรรมการแผนกแพทยศาสตร์มูลนิธิอานันทมหิดล ประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิคส์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมออร์โธปิดิคส์แห่งประเทศไทย กรรมการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมแพทย์อุบัติเหตุ นายกสมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย กรรมการอำนวยการและกรรมการบริหารสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีวิทยาโดยหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังได้สละเวลาเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาแพทย์และเป็นที่ปรึกษาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดอีกด้วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.นที รักษ์พลเมือง ถึงแก่กรรมเมื่อวันพฤหัสดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19.42 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคไตวายเรื้อรัง สิริอายุได้ 87 ปี 9 เดือน 18 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร
เกียรติประวัติ/รางวัลที่เคยได้รับ
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2527 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2540 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2519 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
- พ.ศ. 2527 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ศ.เกียรติคุณนพ.นที รักษ์พลเมือง อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๒๑๑๑, ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บถาวร 2020-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บถาวร 2006-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน