ท้าวหิรัญพนาสูร
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ท้าวหิรัญพนาสูร หรือ ท้าวหิรัญฮู เป็นอสูรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงนับถือเป็นเทพารักษ์ประจำพระองค์
เทวรูปท้าวหิรัญพนาสูร | |
จำพวก | เทพเจ้าอสูร |
---|---|
อาวุธ | ธารพระกร (ไม้เท้า) |
ประวัติ
แก้ในปี ร.ศ. 126 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จประพาสเมืองลพบุรี คืนหนึ่งมีผู้ตามเสด็จท่านหนึ่งได้มีนิมิตฝันประหลาดเห็นชายหุ่นล่ำสันใหญ่โตมาหา บอกว่าชื่อ "หิรัญ" เป็นอสูรชาวป่ามาบอกว่า ต่อแต่นี้เขาจะคอยตามเสด็จพระองค์ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ใด เขาจะคอยดูแลและระวังภัยไม่ให้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่านได้ เมื่อทรงทราบเหตุการณ์ในฝันจึงทรงมีพระราชดำรัสให้จุดธูปเทียน จัดเตรียมอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ในป่าเมืองลพบุรีนั้นทันที และทุกครั้งไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปแห่งหนใด ในเวลาค่ำถึงยามเสวย พระองค์จะมีพระราชดำรัสให้จัดอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ทุกครั้งไป
และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงระลึกถึงท้าวหิรัญฮูอยู่เสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงมาหล่อรูปท้าวหิรัญฮูด้วยทองสัมฤทธิ์ จากนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารจัดเครื่องเซ่นสังเวย และเชิญท้าวหิรัญฮูเข้าสถิตในรูปหล่อนั้น พระราชนามให้ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร" แต่งองค์ทรงเครื่องสวมชฎาแบบโบราณ มีไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
มหาดเล็กคนสนิทผู้หนึ่งคือ "จมื่นเทพดรุณทร" ได้เล่าให้ข้าราชบริพารฟังต่อ ๆ กันมาว่า "ในหลวง (ร.6) ทรงเรียกท้าวหิรัญพนาสูรว่า "ตาหิรัญฮู" ซึ่งคนในวังสมัย ร.6 จะรู้ถึงกิตติศัพท์ของ "ตาหิรัญฮู" ดีว่าสำแดงเดชและอภินิหารอย่างไรบ้าง จึงเล่ากันปากต่อปากเรื่อยมา อย่างเรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อโปรดให้สร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร โดยให้พระยาอาทรธรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีแกลเลตตี นายช่างชาวอิตาเลี่ยนที่มาทำงานในกรมศิลปากรเป็นผู้หล่อ เมื่อหล่อเสร็จก็จะยกขึ้นตั้งบนฐานในพระราชวังพญาไท แกลเลตตีก็เอาเชือกผูกคอท้าวหิรัญฮูชักรอกขึ้นไป เสร็จแล้วแกลเลตตีก็ป่วยกะทันหันทำงานไม่ได้ เพราะคอเคล็ดโดยไม่รู้สาเหตุ พอพระยาอาทรไปเยี่ยม ท่านพอจะรู้สาเหตุจึงบอกว่าคงเป็นเพราะเอาเชือกไปผูกคอรูปหล่อท้าวหิรัญฮูให้เอาดอกไม้ ธูป เทียนไปขอขมาเสีย เมื่อนายช่างชาวอิตาเลี่ยนทำตามคอที่เคล็ดจึงกลับมาเป็นปกติอย่างอัศจรรย์
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ ตรวจรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งเป็นพระราชมรดก โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ตามเสด็จ กรมหมื่นฯ ได้กราบทูลขอรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีรูปท้าวหิรัญฮูติดอยู่ด้วย พระองค์ก็พระราชทานให้ เล่ากันว่าเมื่อเอารถกลับไปไว้ที่วังสี่แยกหลานหลวง คืนนั้นก็นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ในโรงเก็บรถทั้งคืน ครั้นลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร จึงคิดว่าอาจเป็นเสียงหนู แต่ขณะที่กำลังคิดในทางที่ดีก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะจู่ ๆ ไฟในโรงรถก็เกิดสว่างจ้าขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่โรงรถปิดอยู่ จึงเรียกคนขับรถและมหาดเล็กไปช่วยกันดู แต่พอเปิดประตูโรงเก็บรถก็ต้องใจหายเป็นครั้งที่ 2 เพราะไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย และยังน่าสงสัยที่เห็นรถจอดขวางโรง ซึ่งแต่แรกไม่ได้จอดในลักษณะนี้ จึงต้องช่วยกันกลับรถจอดใหม่ จากนั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ต้องจัดเครื่องเซ่นสังเวยท้าวหิรัญฮูเพื่อขอขมา และไม่กล้าใช้รถพระราชทานคันนั้นอีกเลย
การจัดสร้างเทวรูป
แก้เมื่อแรกสร้างนั้นทรงสร้างองค์ด้วยเงินมีขนาดเล็ก สูงราวประมาณ 20 เซนติเมตร จำนวน 4 องค์ โดยมีลักษณะเป็นชายร่างกำยำ ทรงเทริดอย่างโบราณ ถือธารพระกรด้วยพระหัตถ์ขวา ยกเว้นองค์พระราชทานพระยาอนิรุทธเทวาที่ถือด้วยพระหัตถ์ซ้าย
- องค์แรกทรงให้ตั้งที่ข้างพระแท่นบรรทม และเชิญตามเสด็จไปทุกที่ ต่อมาเมื่อสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อให้ปกปักรักษาทั้งสองพระองค์ ปัจจุบันประดิษฐานในห้องทรงนมัสการ วังรื่นฤดี ซึ่งทั้งสองพระองค์โปรดให้เชิญตามเสด็จไปทุกที่เช่นกัน
- องค์ที่สองพระราชทานแก่พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) โดยประดิษฐานในหอที่ตั้งอยู่บนกำแพงในบ้านบรรทมสินธุ์ (ปัจจุบันคือบ้านพิษณุโลก)
- องค์ที่สามไว้หน้ารถยนต์พระที่นั่งรอง ยี่ห้อโอเปิ้ลปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่กองรถยนต์หลวง
- องค์ที่สี่อยู่ที่กรมมหาดเล็กหลวง ต่อมาได้ตั้งไว้ที่ชั้นบนของพระที่นั่งราชกรัณยสภา
ใน พ.ศ. 2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ โปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรัญยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์มีชฎา เทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ มีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรัญยพนาสูรเข้าสิงสถิตยนรูปสัมฤทธิ์เมื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทสืบไป
การสังเวย
แก้ในรัชกาลที่ 6 จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระยาหารสังเวยทุกวัน เวลาเพล ต่อมาในปัจจุบันพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงกำหนดธรรมเนียมให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สังเวยกระยาหารแก่ท้าวหิรัญพนาสูรพร้อมกับพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 6 ทุกวัน วันละ 2 เวลา คือ 08.00 น และ 11.00 น พร้อมทั้งทรงสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนในเวลา 20.00 น ที่ห้องพระ วังรื่นฤดี ถ้าเสด็จไปปฏิบัติพระกรณียกิจต่างจังหวัด ก็จะจัดพระกระยาหารสังเวยทุกเวลาเพล ถือเป็นเทวรูปที่ปกปักรักษาพระองค์ เฉกเช่นเดียวกับที่เคยปกปักรักษารัชกาลที่ 6 มาก่อน ส่วนเวลาเพลของทุกวัน ห้องเครื่องพระตำหนักจิตรลดารโหฐานจะจัดกระยาหารใส่ปิ่นโต มาสังเวยที่พระที่นั่งกรัณยสภาทุก ๆ วัน
คำบูชา
แก้คาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร (เทพเจ้าแห่งดงพญาเย็น)
(จุดธูป 16 ดอก) นะโม 3 จบ
“ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม” (สวด 9 จบ)
บรรณานุกรม
แก้เอกสารที่เกี่ยวข้อง
แก้- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 ว.2/3 ประกาศเรื่องท้าวหิรันยพนาสูร (10 เม.ย. 2454-16 ส.ค. 2465). [รหัสไมโครฟิล์ม ม-ร.6 ว/2]
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ.0701.1/188 ประวัติท้าวหิรัญยพนาสูร (ม.ท.)
- Preedee Hongsaton. (2561, กรกฎาคม-ธันวาคม). The Silver Guardian Demon of the Jungle: Modern Buddhism in the Suppression of the Sharn Rebellion in Thailand [ท้าวหิรัญพนาสูร: พุทธศาสนาสมัยใหม่ในการปราบกบฏเงี้ยวในประเทศไทย]. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5(2): 221-257.