ถนนเทพรักษ์ [เทบ-รัก] (อักษรโรมัน: Thanon Thep Rak) เป็นถนนสายหนึ่งในท้องที่เขตบางเขนและเขตสายไหม ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร

ถนนเทพรักษ์บริเวณตัดกับถนนสุขาภิบาล 5

ลักษณะ

แก้

ถนนเทพรักษ์เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6-8 ช่องทางจราจร มีเกาะกลาง เขตทางกว้าง 40-60 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 5,250 เมตร[1] มีจุดเริ่มต้นจากถนนพหลโยธินบริเวณด้านใต้ของซอยพหลโยธิน 50 ในพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองหนองผักชีเข้าพื้นที่แขวงคลองถนน เขตสายไหม จากนั้นกลับเข้าพื้นที่แขวงอนุสาวรีย์อีกครั้ง[2] ก่อนข้ามคลองหนองผักชี[3] เข้าพื้นที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน ตัดกับถนนวัชรพล มุ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านใต้ทางพิเศษฉลองรัช และไปสิ้นสุดที่ถนนสุขาภิบาล 5 บริเวณคลองหนองบัวบาน

ประวัติ

แก้

ถนนเทพรักษ์ตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรัตนโกสินทร์สมโภช[4] พ.ศ. 2541 โดยมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่เขตบางเขน เขตสายไหม และบริเวณใกล้เคียง โดยจะช่วยกระจายการจราจรจากถนนสายหลักอย่างถนนพหลโยธินและถนนรามอินทราสู่ถนนโครงการสายนี้รวมทั้งถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ถนนวัชรพล และถนนสายไหม นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวได้หมดอายุบังคับใช้ไปก่อนที่กรุงเทพมหานครจะสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้แล้วเสร็จ จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาเดียวกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2545

ต่อมา โครงการถนนสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรัตนโกสินทร์สมโภชกลายเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างถนนและอุโมงค์ทางลอด 16 โครงการของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าสอบสวนเมื่อปี พ.ศ. 2549 หลังจากเกิดความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการประมูลงานก่อสร้าง ทำให้กรุงเทพมหานครต้องยกเลิกการประมูลและชะลอโครงการไป[5] จากนั้นจึงพิจารณาตั้งโครงการขึ้นมาใหม่และเปิดประมูลในช่วงปี พ.ศ. 2551 แม้จะได้ผู้ชนะการประมูลรายใหม่แล้ว แต่ขณะนั้นเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงตามไปด้วย จึงมีการเจรจาต่อรองเรื่องราคางานระหว่างผู้รับเหมากับกรุงเทพมหานครยืดเยื้อเป็นเวลานาน[6] กว่าผู้รับเหมาจะลงพื้นที่ก่อสร้างถนนได้จริงเวลาก็ล่วงมาจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยในครั้งแรกมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555[7] แต่ยังคงประสบปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 จึงต้องขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีกเรื่อย ๆ ในที่สุดจึงแล้วเสร็จและสามารถเปิดการจราจรในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558[8]

ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 คณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยรองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกับผู้แทนจากสำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้แทนสำนักงานราชบัณฑิตยสภาและกรมศิลปากร ได้พิจารณาและอนุมัติให้ตั้งชื่อถนนสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนสุขาภิบาล 5 (รัตนโกสินทร์สมโภชเดิม) อย่างเป็นทางการว่า "ถนนเทพรักษ์" ซึ่งมีความหมายว่า ถนนที่มีเทพยดาปกปักรักษาคุ้มครอง ทำให้ผู้ใช้ถนนดังกล่าวปลอดภัย[9]

ถนนต่อเชื่อม

แก้

ปัจจุบัน สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ยังมีโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมกับถนนเทพรักษ์เพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วยถนนต่อเชื่อมจากทางแยกถนนพหลโยธินตัดกับถนนเทพรักษ์ เลียบคลองถนนและคลองวัดหลักสี่ ไปบรรจบถนนวิภาวดีรังสิตในพื้นที่เขตดอนเมือง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถนนต่อเชื่อมจากทางแยกต่างระดับถนนสุขาภิบาล 5 ตัดกับถนนเทพรักษ์ เลียบคลองสามตะวันตก ไปบรรจบถนนนิมิตใหม่ในพื้นที่เขตคลองสามวา ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร[1] และถนนต่อเชื่อมจากบริเวณใกล้คลองลำหนองจอก ไปบรรจบแยกลาดปลาเค้า จุดตัดถนนรามอินทราและถนนลาดปลาเค้า ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร[10]

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สำนักการโยธา. กรุงเทพมหานคร. "พิธีเปิดถนนโครงการต่อเชื่อม ถนนพหลโยธิน - รัตนโกสินทร์สมโภชน์ วันที่ 23 ธ.ค. 58 (21 ธ.ค. 58)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.bangkok.go.th/yota/page/top/391/ข่าวประชาสัมพันธ์/0/info/28105/พิธีเปิดถนนโครงการต่อเชื่อม-ถนนพหลโยธิน---รัตนโกสินทร์สมโภชน์-วันที่-23-ธค-58--21-ธค-58 2558. สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559.
  2. แนวคลองหนองผักชีซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตสายไหมและเขตบางเขนในบริเวณนี้ถูกเบี่ยงไปจากเดิม
  3. ช่วงคลองกะเฉดเดิม
  4. ชื่อเรียกถนนสุขาภิบาล 5 (กม. 11) ในขณะนั้น
  5. ผู้จัดการออนไลน์. "“อภิรักษ์” ยกเลิก 9 โครงการ กทม.หลังพบฮั้วประมูล." ผู้จัดการออนไลน์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9490000007972[ลิงก์เสีย] 2549. สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559.
  6. ฐานเศรษฐกิจ. "ตัด 6 เลนใหม่ มี.ค.53." ฐานเศรษฐกิจ. ฉบับที่ 2,509 (28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2553).
  7. ผู้จัดการออนไลน์. "เกือบลืม! เปิดแล้วถนน 5 ปีเพิ่งเสร็จ! ผลงาน “ชายหมู” 896 ล้าน เชื่อมพหลฯ-รัตนโกสินทร์ฯ." ผู้จัดการออนไลน์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000140311&Html=1&TabID=1& เก็บถาวร 2015-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2558. สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559.
  8. กองประชาสัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร. "ผู้ว่าฯกทม.เปิดถนนโครงการก่อสร้างถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.prbangkok.com/News_executives/39434 2558. สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559.
  9. เดลินิวส์. "ได้ชื่อถนนใหม่ 2 แห่ง “ถนนเทพรักษ์” กับ“ถนนพัฒนาการ”." เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www1.dailynews.co.th/bangkok/401324[ลิงก์เสีย] 2559. สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559.
  10. aof (2022-05-03). "ครม. เวนคืนที่ดินอนุสาวรีย์-ท่าแร้ง-คลองถนน ขยายถนน 6 ช่องจราจร". ประชาชาติธุรกิจ.