ดอลบี แอทมอส
ดอลบี แอทโมส (อังกฤษ: Dolby Atmos) เป็นชื่อของระบบเสียงสำหรับโรงภาพยนตร์ระบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นโดยดอลบี แลบอราทอรี่ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยภาพยนตร์เรื่องนักรบสาวหัวใจมหากาฬ ของค่ายดิสนีย์ และพิกซาร์ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ใช้ระบบเสียงนี้ โดยออกฉายที่โรงภาพยนตร์ดอลบี เธียเตอร์ ในเขตฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 โดยได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมและผู้ให้บริการอย่างมาก จนมีการขอซื้อลิขสิทธิ์ไปติดตั้งอย่างล้นหลาม โดยใน พ.ศ. 2556 มีโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมสเปิดใหม่ในปีเดียวกว่า 300 โรงภาพยนตร์
ระบบเสียงดอลบี แอทโมส เป็นระบบเสียงที่พัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของระบบเสียงดอลบี เซอร์ราวนด์ 7.1 ที่ใช้อยู่ในโรงภาพยนตร์ทั่วๆ ไป แต่ในระบบดอลบี แอทโมส จะเน้นการจำลองสภาพเสียงจากสามแกนหลักคือ หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา และด้านบน เพื่อให้เกิดสภาพเสียงโอบล้อมตัวผู้ชมแบบ 360 องศา อีกทั้งยังมีการประมวลผลด้านเสียงที่แยกจากกัน ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องใช้ความคิดในการแยกสภาพเสียงให้แตกต่างจากระบบปกติ ว่าเสียงจุดนี้จะเกิดขึ้นจากลำโพงชุดไหนเป็นต้น
อุปกรณ์ชุดแรกของดอลบี แอทโมส มีชื่อเรียกว่า "ดอลบี แอทโมส ซีเนม่า โปรเซสเซอร์" (Dolby Atmos Cinema Processor) เป็นชุดอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณได้กว่า 128 แชนแนล และสามารถแยกสัญญาณเสียงออกไปหาตัวลำโพงได้มากที่สุดถึง 64 ตัวต่อหนึ่งโรงภาพยนตร์ อีกทั้งตัวลำโพงมีความสามารถในการแยกประมวลผลแบบอิสระจากกัน จึงทำให้การฟังเสียงจากภาพยนตร์มีความเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงและสมบูรณ์แบบที่สุด อาทิ เสียงฝนตกจากเดิมที่มีเพียงเสียงรอบทิศทาง แต่ระบบเสียงดอลบี แอทโมส สามารถทำให้เกิดเสียงที่ตกลงมาจาก ฟ้าได้จริง หรือแม้กระทั่งฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์ ก็สามารถได้ยินเสียงใบพัดและเครื่องกำลังบินอยู่เหนือศีรษะเราได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
โรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมสในประเทศไทย
แก้สำหรับประเทศไทย ระบบเสียงดอลบี แอทโมสเริ่มเข้ามามีบทบาทในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 โดยเอสเอฟ ซีเนม่าเป็นโรงภาพยนตร์ค่ายแรกที่นำระบบเสียงนี้มาใช้ โดยติดตั้งอยู่ในโรงภาพยนตร์ที่ 12 ของโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เน้นฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศในช่วงแรก ต่อมาเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ก็ได้เริ่มเปิดโรงภาพยนตร์ระบบเสียงนี้เพิ่มในสาขาต่างๆ ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยเริ่มจากโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เป็นสาขาแรก ปัจจุบัน เอสเอฟ ซีเนม่า เป็นผู้ที่มีโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมส มากที่สุดในประเทศไทย จากการพัฒนาโรงภาพยนตร์ซิกมา ซีเนสเตเดียม โรงภาพยนตร์แบบพรีเมียมขนาดใหญ่เพื่อกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนโดยเฉพาะ
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมส มีสาขาที่เปิดให้บริการในประเทศไทยดังนี้
ชื่อสาขา | โรงภาพยนตร์ | วันที่เริ่มเปิดทำการ | จังหวัดที่ตั้ง |
---|---|---|---|
เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ | Zigma CineStadium (12) | เมษายน พ.ศ. 2556 | กรุงเทพมหานคร |
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน | 5 | มกราคม พ.ศ. 2557 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟเอกซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ | Zigma CineStadium (2) | มกราคม พ.ศ. 2557 | เชียงใหม่ |
เอ็มวีพี ทวีกิจ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บุรีรัมย์ | 4 | ธันวาคม พ.ศ. 2557 | บุรีรัมย์ |
เอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ เอ็มโพเรียม | 5 | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 | กรุงเทพมหานคร |
ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์ | 6 | 1 เมษายน พ.ศ. 2558 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา | Zigma CineStadium (2) | 29 มกราคม พ.ศ. 2559 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล ลาดพร้าว | Zigma CineStadium (8) | 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พระราม 9 | Zigma CineStadium (4) | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 | กรุงเทพมหานคร |
ไอคอน ซีเนคอนิค ไอคอนสยาม | 7 | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน | Zigma CineStadium (10) | 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 | นนทบุรี |
เอสเอฟ ซีเนม่า เทอร์มินอล 21 พระราม 3 | Zigma CineStadium (1) | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟ ซีเนม่า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ | Zigma CineStadium (3) | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566 | กรุงเทพมหานคร |
เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล นครสวรรค์ | Zigma CineStadium (3) | 31 มกราคม พ.ศ. 2567 | นครสวรรค์ |
เมกา ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัล เมกาบางนา | LG Miraclass LED Cinema (6) | 8 มีนาคม พ.ศ. 2567[1] | สมุทรปราการ |
เอสเอฟ ซีเนม่า แพชชั่น ระยอง | Zigma CineStadium (5) | 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 | ระยอง |
เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล ขอนแก่น | Zigma CineStadium (8) | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567 | ขอนแก่น |
ส่วนตัวภาพยนตร์ในช่วงหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในระบบนี้ล้วนเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศทั้งหมด แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถีถือว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ใช้ระบบเสียงนี้ โดยออกฉายในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และหลังจากนั้นก็เริ่มมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในระบบนี้มากขึ้น นั่นก็คือเรื่อง ฝากไว้..ในกายเธอที่ฉายในกรุงเทพมหานคร และเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสาที่ออกฉายในระบบดอลบี แอทโมสทั่วประเทศที่มีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และบุรีรัมย์)
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ของดอลบี แอทโมส เก็บถาวร 2014-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ภาษาอังกฤษ)
- เว็บไซต์ของเอสเอฟ ซีเนม่า (ระบบฉาย)
- เว็บไซต์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เก็บถาวร 2022-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ดอลบี แอสโมส)