ซีเอนนา

รงควัตถุ

ซีเอนนา (อังกฤษ: sienna) เป็นรงควัตถุจากดินที่มีส่วนประกอบของไอเอิร์นออกไซด์และแมงกานีสออกไซด์ ซีเอนนาในสภาพธรรมชาติมีสีน้ำตาลเหลืองเรียกว่า ซีเอนนาดิบ (raw sienna) เมื่อผ่านความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเรียกว่า ซีเอนนาเผา (burnt sienna)[1] ซีเอนนามาจากสาธารณรัฐซีเอนาซึ่งผลิตสารสีนี้ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา[2] ซีเอนนา โอเคอร์และอัมเบอร์เป็นสารสีแรก ๆ ที่มนุษย์ใช้ดังปรากฏในจิตรกรรมถ้ำจำนวนมาก ซีเอนนาเป็นหนึ่งในรงควัตถุสีน้ำตาลที่ศิลปินใช้แพร่หลายนับตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

ซีเอนนา
 
ผงสีซีเอนนาเผา
About these coordinates     รหัสสี
Hex triplet#882D17
sRGBB  (rgb)(136, 45, 23)
HSV       (h, s, v)(12°, 83%, 53%)
SourceISCC-NBS
B: อยู่ในช่วง [0–255] (ไบต์)

คำว่าซีเอนนามาจากภาษาอิตาลี terra di Siena แปลว่า "ดินซีเอนา" การใช้ซีเอนนาเป็นชื่อสีในภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในค.ศ. 1760[3]

เคมี แก้

ซีเอนนาเป็นดินที่มีส่วนประกอบของสินแร่เหล็กไอเอิร์นออกไซด์ที่เรียกว่าไลโมไนต์เช่นเดียวกับโอเคอร์และอัมเบอร์ ซีเอนนาในสภาพปกติมีสีน้ำตาลเหลืองและเข้มกว่าโอเคอร์เนื่องจากมีปริมาณแมงกานีสออกไซด์ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเกิดจากไอเอิร์นออกไซด์เปลี่ยนรูปเป็นฮีมาไทต์[4] ซีเอนนามีสีอ่อนกว่าอัมเบอร์เนื่องด้วยอัมเบอร์มีปริมาณแมงกานีสสูงกว่า (5–20 เปอร์เซ็นต์) ทำให้อัมเบอร์มีสีน้ำตาลเขียวหรือน้ำตาลเข้ม

การใช้ในงานศิลปะ แก้

ซีเอนนาเป็นที่รู้จักและถูกใช้มาตั้งแต่สมัยโรมัน ในอดีตสาธารณรัฐซีเอนาผลิตซีเอนนาจากเหมืองดินในเมืองอาร์ซีรอสโซ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกรอสเซโต แคว้นตอสคานา) ซีเอนนา อัมเบอร์และโอเคอร์เป็นสีน้ำตาลมาตรฐานที่ศิลปินใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16–19 จิตรกรสมัยบาโรก เช่น การาวัจโจและแร็มบรันต์เป็นที่รู้จักจากการใช้สีน้ำตาลที่หลากหลายรวมถึงสามเฉดนี้ในการสร้างสรรค์ผลงาน[5][6]

ปัจจุบันมีการผลิตซีเอนนาในแคว้นซาร์ดิเนียและแคว้นซิซิลี รวมถึงจังหวัดอาร์แดนน์ในประเทศฝรั่งเศส ขณะที่พบแหล่งสำรองสำคัญที่เทือกเขาแอปพาเลเชียนในทวีปอเมริกาเหนือ ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการผลิตสารสีจากไอเอิร์นออกไซด์สังเคราะห์เพื่อทดแทนของเดิมจากธรรมชาติ

อ้างอิง แก้

  1. Shorter Oxford English Dictionary, 5th Edition (2002)
  2. Webster's New World Dictionary of the American Language, College Edition, (1964)
  3. Maerz and Paul A Dictionary of Color New York:1930 McGraw-Hill Page 204; Color Sample of Sienna: Page 37 Plate 7 Color Sample E12
  4. Wilcox, Michael (2002). Blue and yellow don't make green. School of Color. pp. 172, 161. ISBN 0-9679628-7-0. สืบค้นเมื่อ October 19, 2009.[ลิงก์เสีย]
  5. John Burnet (1880), A Treatise on Painting in Four Parts, (Google Books)
  6. David Bomfeld, Christopher Brown, Ashok Roy, (1988) Rembrandt- Art in the Making - Rembrandt. Yale University Press, (ISBN 978-0-300-06145-1).