เวียงแก้ว เป็นเขตพระราชฐานของเวียงเชียงใหม่ เปรียบได้ดังพระราชวังและสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ตั้งอยู่กลางเวียงค่อนไปทางเหนือของเวียงเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า สร้างมาพร้อมกับการสร้างเวียงเชียงใหม่ของพญามังราย ซึ่งภายในเวียงแก้วเดิม มีกำแพงแบ่งอาณาเขตออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนเหนือ ส่วนใต้ และส่วนตะวันออก ภายในเวียงแก้วแต่ละส่วนประกอบไปด้วยหมู่อาคารราชมณเฑียร

เวียงแก้ว
อาคารเรือนเพ็ญ ส่วนหนึ่งของเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เวียงแก้ว
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทคุ้มหลวง
ความเป็นมา
ผู้สร้างพระเจ้ากาวิละ
สร้างพ.ศ. 2339
สมัยนครเชียงใหม่
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2560
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพเหลือเพียงฐานอิฐ
ผู้บริหารจัดการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่)
การเปิดให้เข้าชมยังไม่เปิดให้เข้าชม

เวียงแก้วซึ่งได้เป็นที่พำนักของเจ้านครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2339 จึงสิ้นสภาพการเป็น คุ้มหลวง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413[1] เมื่อครั้นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชอินทนนท์ ซึ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเชียงใหม่ที่ 7 ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่ข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งตึกยุพราชและสนามของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ต่อมาในรัชสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเชียงใหม่มีฐานะเป็นมณฑลพายัพในกำกับของรัฐบาลสยาม พื้นที่เวียงแก้วเป็นที่รกร้างไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มาเป็น 40 ปี[1] เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ได้จัดสรรพื้นที่เวียงแก้วเป็นสามส่วน โดยทำเป็นสวนสัตว์และแบ่งให้พระญาติในตอนเหนือ[1] ส่วนที่ดินตอนใต้แบ่งให้สยามสร้างคุกราว พ.ศ. 2462[2]

ที่มาของชื่อ แก้

ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่าเหตุใดจึงมีชื่อว่าเวียงแก้ว แต่จากการสันนิษฐานตามพงศาวดารโยนกในสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ซึ่งบันทึกไว้ว่า "ครั้นอยู่มา ท้าวพระยารามัญผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่กระทำการอุกอาจ มิได้อ่อนน้อมต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ กิตติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี จึงมีตราให้ข้าหลวงถือมาบังคับท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ ให้ฟังบังคับบัญชาพระเจ้านครเชียงใหม่ และน้อมนำคำรพต่อพระเจ้านครเชียงใหม่สืบไป"[3] นั้นชี้ชัดว่า เมื่อเชียงใหม่ยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรอังวะใน พ.ศ. 2101 แล้ว คงจะได้มอบหมายให้ขุนนางพม่าจำนวนหนึ่งคงอยู่ที่เวียงเชียงใหม่ แต่ขุนนางพม่าผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่นั้นจะไปตั้งฐานที่พำนักอยู่ที่ใด ในเมื่อภายในกำแพงเมืองเวียงเชียงใหม่นั้นมีวัดวาอารามและบ้านเรือนไพร่ฟ้าประชาชนปลูกอยู่เต็มไปหมด จึงคงจะมีแต่ "ข่วงหลวง" ที่ฝั่งตรงกันข้ามคุ้มแก้ว ที่เป็นพื้นที่ว่างที่กว้างขวางพอจะจัดเป็นค่ายพักแรมของขุนนางพม่านั้นได้ ชาวนครเชียงใหม่ในเวลานั้นจึงคงจะเรียกค่ายพำนักของขุนนางพม่านั้นว่า "เวียงหน้าคุ้มแก้ว" ซึ่งต่อมาถูกกร่อนเหลือเพียงแต่ "เวียงแก้ว" นอกจากนี้ แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ได้ระบุตำแหน่ง ขอบเขต รูปร่าง และชื่อ "เวียงแก้ว" อย่างชัดเจน[4]

ประวัติ แก้

ในอดีตเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงหอคำสมัยพระเจ้ากาวิละ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2339[5] ใช้เป็นคุ้มของพระเจ้าเชียงใหม่ต่อมา ทว่าตามธรรมเนียมล้านนาผู้ที่สามารถประทับบนหอคำได้ ต้องมีสถานภาพเป็นกษัตริย์ล้านนาเท่านั้น แต่เจ้าล้านนาในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยาม ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงรัตนโกสินทร์เสียก่อน ในประวัติศาสตร์ล้านนาจึงมีพระเจ้าเชียงใหม่เพียง 4 พระองค์ คือ พระเจ้ากาวิละ (เจ้าหลวงองค์ที่ 1) พระเจ้ามโหตรประเทศ (เจ้าหลวงองค์ที่ 5) พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 6) และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าหลวงองค์ที่ 7)

ในสมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 4 จึงให้สร้าง "หอเทียม" ทางทิศใต้ของหอคำของพระเจ้ากาวิละ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ครั้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ จึงได้โปรดให้สร้างหอคำประดับเกียรติยศ แทนหอเทียมของเจ้าพุทธวงศ์

ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้สร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่บริเวณข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม (โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ทำให้พื้นที่เวียงแก้วที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2339 ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 เป็นต้นมา และมีการรื้อหอคำ ในช่วงปี พ.ศ. 2418 - 2420 อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานว่ายังคงมีการใช้งานอยู่บ้าง อ้างอิงจากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ซึ่งระบุชื่อ "เวียงแก้ว" แต่ไม่มีคำว่า "ร้าง" ต่อท้ายน่าจะหมายถึงว่ายังมีการใช้งานอยู่บ้าง และยังพบว่ามีการจัดงานราชพิธีในปี พ.ศ. 2434[6] อีกด้วย

ในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2448 จึงมีการย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพมาใช้สถานที่ของ "เค้าสนามหลวง" เดิมทีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ มีดำริที่จะยกพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเค้าสนามหลวงด้านทิศใต้ ให้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ แต่ในห้วงเดียวกันเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้ขอเวียงแก้วสำหรับสร้าง "คอกหลวง" หรือเรือนจำประจำมณฑลพายัพ แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าเรือนจำถูกสร้างขึ้นในปีใด แต่จากการสันนิษฐานจึงประมาณได้ว่าเรือนอาจถูกสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2459 - 2460[7] ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็น "เรือนจำกลางเชียงใหม่" จนในปี พ.ศ. 2544 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เข้ามาแทนที่จนถึงในปี พ.ศ. 2555 จึงมีการย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว

การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ แก้

 
ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ในราวปี พ.ศ. 2529 ชาวเชียงใหม่ได้เรียกร้องให้มีการคืนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นเดิม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี พ.ศ. 2532 ให้กรมราชทัณฑ์ คืนพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 จึงมีการคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน คือ "โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว พุทธมณฑลแห่งเชียงใหม่" งบประมาณ 150 ล้านบาท[8] ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเป็นสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่ (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวดำเนินโครงการ ข่วงหลวงเวียงแก้ว[9]

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีพิธีทุบทำลายกำแพงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีทุบทำลายป้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการสิ้นสุดความเป็นทัณฑสถานของสถานที่แห่งนี้[10] กระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 จึงได้เริ่มต้นการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง ประกอบกับแนวกำแพงเวียงแก้ว[11]

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างมีส่วนร่วมโดยการจัดประกวดการออกแบบข่วงหลวงเวียงแก้วเมื่อปี 2557[12] โดยผู้ชนะการประกวดแบบคือ นายกวิน ว่องวิกย์การ ซึ่งต่อมาได้มีการปรับแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่การขุดค้นทางโบราณคดี และเปิดให้ประชาชนได้ร่วมแลกเปลี่ยน[13]

โดยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดประกวดราคาก่อสร้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อปี 2560[14]

สถานที่ปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันพื้นที่ของเวียงแก้วเดิมส่วนใหญ่ เป็นที่ดินราชพัสดุ อันเป็นที่ตั้งของ[15]

เวียงแก้วส่วนเหนือ
เวียงแก้วส่วนใต้
เวียงแก้วส่วนตะวันออก
  • บ้านเรือนประชาชน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 “เวียงแก้ว” จาก “คุ้มหลวง” สู่ “คอกหลวง” นครเชียงใหม่. https://www.silpa-mag.com/history/article_5445
  2. "ล้านนาราชาชาตินิยม (3)". mgronline.com. 2013-03-04.
  3. พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. น. ๓๙๙.
  4. วรชาติ มีชูบท. ย้อนอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2560
  5. สงวน โชติสุขรัตน์. "ตำนานพิงคราชวงศ์ปกรณ์ ผูกที่ 7" ใน ประชุมตำนานล้านนาไทย
  6. ภูเดช แสนสา. คุ้มหลวง หอคำ เวียงแก้ว สัญญะขัติยะล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ : กองบุญหมื่นฟ้า. 2556
  7. วรชาติ มีชูบท. "เรือนจำในเวียงแก้ว".
  8. หนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร0705/202 ลงวันที่ 15 มกราคม 2556
  9. ประวัติความเป็นมา >> โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว[ลิงก์เสีย]
  10. ผวจ.เชียงใหม่นำขบวนรื้อคุกหญิงทำ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” เตรียมให้ศิลปากรศึกษาก่อนเดินหน้าก่อสร้าง[ลิงก์เสีย]
  11. ข่วงเวียงแก้ว พบของดีอื้อ ดินเผา-ถ้วยจีน นักโบราณคดีลุยขุด กำแพงเมืองโผล่อีก
  12. ประกวดออกแบบ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” คาดเริ่มสร้าง ก.ย.นี้
  13. ออกแบบล่าสุด "เวียงแก้ว" จ.เชียงใหม่
  14. โครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว จ.เชียงใหม่ เสร็จแน่ เร่งขุดค้นก่อนรื้อคุกเนรมิตสวนกลางเมือง
  15. แผนที่กายภาพ แสดงแนวเขตที่ราชพัสดุ แปลง ชม.๑๖๑๒[ลิงก์เสีย] กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย