คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส

คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส (อังกฤษ: Karl Barry Sharpless; เกิด 28 เมษายน ค.ศ. 1941) เป็นนักเคมีชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีสองครั้ง มีผลงานเด่นด้านการสังเคราะห์แบบเลือกอิแนนชิโอเมอร์และเคมีคลิก

คาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส
เกิด (1941-04-28) 28 เมษายน ค.ศ. 1941 (82 ปี)
ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ
สัญชาติสหรัฐ
ศิษย์เก่าวิทยาลัยดาร์ตมัธ
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
มีชื่อเสียงจาก
คู่สมรสแจน ดิวเซอร์
บุตรแฮนนาห์ ชาร์เพลส, วิลเลียม ชาร์เพลส และไอแซก ชาร์เพลส
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ศูนย์วิจัยสคริปส์
มหาวิทยาลัยคีวชู
วิทยานิพนธ์Studies of the mechanism of action of 2,3-oxidosqualene-lanosterol cyclase: featuring enzymic cyclization of modified squalene oxides (1968)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกยูจีน แวน ทาเมเลน
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกเอ็ม. จี. ฟินน์
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆฮาร์ทมุท เซ. ค็อลพ์

ชาร์เพลสได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน ที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล" ใน ค.ศ. 2001 โดยได้รับรางวัลกึ่งหนึ่ง (อีกกึ่งหนึ่งมอบให้แก่วิลเลียม สแตนดิช โนลส์และเรียวจิ โนโยริ "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล") และได้รับรางวัลในสาขาเดียวกันอีกครั้งใน ค.ศ. 2022 ร่วมกับแคโรลีน เบอร์ทอซซีและม็อตเติน พี. เมิลดัล "สำหรับการพัฒนาเคมีคลิกและเคมีไบโอออร์โทโกนอล"[1][2]

ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา แก้

ชาร์เพลสเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1941 ในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย เขาใช้ชีวิตวัยเด็กในช่วงฤดูร้อนที่บ้านพักตากอากาศของครอบครัวริมแม่น้ำแมนัสกวานในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ซึ่งทำให้เขาสนใจการตกปลาเป็นงานอดิเรกนับตั้งแต่นั้น[3] ชาร์เพลสจบการศึกษาจากโรงเรียนเฟรนส์เซนทรัลใน ค.ศ. 1959[4] และเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยดาร์ตมัธจนจบศิลปศาสตรบัณฑิตใน ค.ศ. 1963 แต่เดิมชาร์เพลสตั้งใจจะเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาโน้มน้าวให้เขาเรียนเคมีต่อหลังจบปริญญาตรี[5] ชาร์เพลสจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเคมีอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใน ค.ศ. 1968 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาได้แก่ยูจีน แวน ทาเมเลน[6] เขาทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกด้านเคมีโลหอินทรีย์กับเจมส์ พี. คอลล์แมนที่สแตนฟอร์ดจนถึง ค.ศ. 1969 ก่อนจะย้ายไปมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อศึกษาด้านวิทยาเอนไซม์ในกลุ่มปฏิบัติการของค็อนราท เอ. บล็อค ระหว่าง ค.ศ. 1969 และ 1970[5]

ผลงานวิชาการ แก้

ชาร์เพลสดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (ค.ศ. 1970–1977 และ 1980–1990) และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (ค.ศ. 1977–1980)[7] ขณะประจำอยู่ที่สแตนฟอร์ดเขาค้นพบปฏิกิริยาอีพอกซิเดชันชาร์เพลส (Sharpless epoxidation) ในการสังเคราะห์ (+)-disparlure ซึ่งเป็นฟีโรโมนของผีเสื้อยิปซี (gypsy moth) และเขายังคงใช้ปฏิกิริยานี้ในงานวิจัยของเขาหลังจากกลับไปประจำที่เอ็มไอที[5] ชาร์เพลสดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ดับเบิลยู. เอ็ม. เค็กที่ศูนย์วิจัยสคริปส์ (Scripps Research) ตั้งแต่ ค.ศ. 1990

งานวิจัย แก้

ชาร์เพลสพัฒนาปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบคัดเลือกสเตอริโอเคมี และได้แสดงให้เห็นว่าตัวยับยั้งปฏิกิริยาที่มีความไวระดับเฟมโตโมลาร์ (10-15 โมลต่อลิตร) สามารถสังเคราะห์ได้โดยใช้เอนไซม์แอซิติลโคลีเนสเทอเรส (acetylcholinesterase) โดยเริ่มต้นจากเอไซด์และแอลไคน์ ปฏิกิริยาเคมีที่เขาค้นพบช่วยให้การสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์แบบอสมมาตรเป็นไปได้ง่ายขึ้นอย่างมาก[8]

ใน ค.ศ. 2001 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีกึ่งหนึ่งสำหรับผลงานปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล ได้แก่ปฏิกิริยาอีพอกซิเดชันชาร์เพลส ปฏิกิริยาไดไฮดรอกซิเลชันชาร์เพลส (Sharpless asymmetric dihydroxylation) และปฏิกิริยาออกซิเอมิเนชันชาร์เพลส (Sharpless oxyamination) อีกกึ่งหนึ่งมอบให้แก่วิลเลียม เอส. โนลส์และเรียวจิ โนโยริสำหรับผลงานไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล[9]

ชาร์เพลสคิดค้นวลี "เคมีคลิก" (click chemistry) ใน ค.ศ. 1998 และชาร์เพลสและนักศึกษาของเขาอีกสองคนที่ศูนย์วิจัยสคริปส์ได้แก่ฮาร์ทมุท ค็อลพ์และเอ็ม. จี. ฟินน์ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเคมีคลิกในผลงานตีพิมพ์ ค.ศ. 2001[10][11] ซึ่งประกอบไปด้วยปฏิกิริยาที่จำเพาะผลิตภัณฑ์และคายความร้อนซึ่งเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่รุนแรง ปฏิกิริยาในกลุ่มนี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้แก่ปฏิกิริยาเอไซด์–แอลไคน์ไซโคลแอดดิชันฮูสเก็น (Azide–alkyne Huisgen cycloaddition) เพื่อสังเคราะห์ 1,2,3-ไตรอาโซล[12]

ใน ค.ศ. 2022 กูเกิลสกอลาร์ระบุว่าดัชนีเอชของชาร์เพลสอยู่ที่ 180[13] ส่วนสโกปัสระบุว่าอยู่ที่ 124[14]

รางวัลเชิดชูเกียรติ แก้

ชาร์เพลสได้รับรางวัลโนเบลสองครั้งในสาขาเคมีใน ค.ศ. 2001 สำหรับผลงานปฏิกิริยาออกซิเดชันโดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัลและใน ค.ศ. 2022 สำหรับผลงาน "เคมีคลิก"[2][15]

ใน ค.ศ. 2019 ชาร์เพลสได้รับรางวัลเหรียญพรีสต์ลีย์ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐสำหรับ “การคิดค้นปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบอสมมาตร แนวคิดเคมีคลิก และการพัฒนาปฏิกิริยาไซโคลแอดดิชันระหว่างเอไซด์และอะเซทิลีนโดยใช้ทองแดงเร่งปฏิกิริยา[4][5]

เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำมหาวิทยาลัยคีวชู และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากราชสถาบันเทคโนโลยีคอเทฮอ (ค.ศ. 1995) มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (ค.ศ. 1995) มหาวิทยาลัยคาทอลิกลูแว็ง (ค.ศ. 1996) และมหาวิทยาลัยเวสลียัน (ค.ศ. 1999)[7]

ชีวิตส่วนตัว แก้

ชาร์เพลสสมรสกับแจน ดิวเซอร์ใน ค.ศ. 1965 และมีบุตรด้วยกันสามคน[8] ตาของเขาบอดข้างหนึ่งหลังจากประสบอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการใน ค.ศ. 1970 ระหว่างที่เขาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ โดยหลอดแก้วบางสำหรับการวิเคราะห์นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์สเปกโตรสโกปีระเบิด หลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ชาร์เพลสเน้นย้ำอยู่เสมอว่า "ไม่มีข้ออ้างใด ๆ เลยที่จะไม่สวมแว่นนิรภัยในห้องปฏิบัติการ”[16]

อ้างอิง แก้

  1. "The Nobel Prize in Chemistry 2001". Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 October 2022.
  2. 2.0 2.1 "The Nobel Prize in Chemistry 2022". Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 October 2022.
  3. Sharpless, Barry (December 8, 2001). "Searching For New Reactivity" (PDF). Nobel Prize.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "2019 Priestley Medalist K. Barry Sharpless works magic in the world of molecules". Chemical & Engineering News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ April 8, 2019.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "K. Barry Sharpless named 2019 Priestley Medalist". Chemical & Engineering News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ April 8, 2019.
  6. Sharpless, Karl Barry (1968). Studies of the mechanism of action of 2,3-oxidosqualene-lanosterol cyclase: featuring enzymic cyclization of modified squalene oxides (Ph.D.). Stanford University. OCLC 66229398 – โดยทาง ProQuest.
  7. 7.0 7.1 Henderson, Andrea Kovacs (2009). American Men & Women of Science. Farmington Hills, MI: Gale. Cengage Learning. pp. 764. ISBN 9781414433066.
  8. 8.0 8.1 "K. Barry Sharpless". Notable Names Database. Soylent Communications. 2014. สืบค้นเมื่อ July 12, 2014.
  9. "The Nobel Prize in Chemistry 2001". Nobelprize.org. The Nobel Foundation. 2001. สืบค้นเมื่อ July 12, 2014.
  10. Kolb, Hartmuth C.; Finn, M. G.; Sharpless, K. Barry (June 1, 2001). "Click Chemistry: Diverse Chemical Function from a Few Good Reactions". Angewandte Chemie. 40 (11): 2004–2021. doi:10.1002/1521-3773(20010601)40:11<2004::AID-ANIE2004>3.0.CO;2-5. ISSN 1521-3773. PMID 11433435.
  11. Modular click chemistry | ScienceWatch | Thomson Reuters. ScienceWatch. Retrieved on June 16, 2014.
  12. Evans, Richard A. (2007). "The Rise of Azide–Alkyne 1,3-Dipolar 'Click' Cycloaddition and its Application to Polymer Science and Surface Modification". Australian Journal of Chemistry (ภาษาอังกฤษ). 60 (6): 384. doi:10.1071/CH06457. ISSN 0004-9425.
  13. {{Google Scholar ID}} template missing ID and not present in Wikidata.[ลิงก์เสีย]
  14. "Scopus preview – Sharpless, K. Barry – Author details – Scopus". www.scopus.com. สืบค้นเมื่อ October 16, 2021.
  15. "The Nobel Prize in Chemistry 2001". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ April 5, 2019.
  16. A cautionary tale from the past | MIT News Office. Web.mit.edu (March 11, 1992). Retrieved on June 16, 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้