คลองสำเหร่ เป็นคลองในกรุงเทพมหานคร แยกจากคลองบางกอกใหญ่ ระหว่างวัดจันทารามวรวิหารกับวัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งขวาที่แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน คลองมีความยาว 3 กิโลเมตร[1] ปัจจุบันคลองมีความกว้างประมาณ 8-20 เมตร และสภาพน้ำในคลองเน่าเสีย

คลองสำเหร่บริเวณวัดอินทารามวรวิหาร

คลองสำเหร่มีวัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองคือ วัดจันทารามวรวิหาร วัดอินทารามวรวิหาร วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม วัดกระจับพินิจ และวัดราชวรินทร์

ประวัติและชุมชนบริเวณคลอง

แก้

คลองสำเหร่ขุดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏในแผนที่ พ.ศ. 2444 (สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เพื่อเป็นคลองที่เชื่อมจากคุ้งน้ำเจ้าพระยาด้านเหนือ ผ่านแถบบางยี่เรือ ตลาดพลู ไปทางตะวันออกมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสำเหร่ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการอุปโภค บริโภค ใช้เป็นทางสัญจรลัดผ่านเขตชุนชนและเพื่อการเกษตร โดยเมื่อ พ.ศ. 2510 ได้รับรองเป็นคลองอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี[2]

บริเวณคลองสำเหร่มีวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาคือวัดราชวรินทร์ หรือ วัดสำเหร่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2260 บริเวณนั้นในอดีตมีต้นสำเหร่จำนวนมาก มีพื้นที่เป็นทุ่งหญ้ากว้างห่างไกล บริเวณสำเหร่ปรากฎใน นิราศถลาง ประพันธ์โดยหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) ราว พ.ศ. 2358–2359 โดยสะกดว่า "สามเหร่"[3] ความว่า[4]

ถึงสามเหร่นึกหวาดขยายผี ด้วยเป็นที่ฆ่าคนริมชลไหล
ล้วนป่าเตยเคยแลดูแต่ไกล พลางครรไลล่องมาไม่ช้านาน

แสดงให้เห็นว่าละแวกนี้เป็นที่ประหารนักโทษซึ่งคงอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ลึกเข้าไปในสวน ใครพายเรือผ่านก็อาจจะเห็นศพเสียบประจานจนหวาดกลัว คนไทยไม่กล้าอยู่อาศัยกันในละแวกนี้จนเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏ ต่อมาคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้สถานที่ทำการของคริสตจักรอย่างถาวรที่สำเหร่ เมื่อ พ.ศ. 2403 ตรงกับปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชุมชนชาวคริสต์เกิดขึ้นบริเวณนั้น มีการย้ายโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสคูลจากกุฎีจีนมารวมกับโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล แต่เมื่อ พ.ศ. 2446 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งโรงเรียนใหม่แถวถนนประมวญ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย[5]

อ้างอิง

แก้
  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง, ๒๕๖๑. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
  2. กรมศิลปากร. "คลองสำเหร่" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 14 สิงหาคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  3. "นิราศถลาง". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  4. "นิราศถลาง".
  5. "คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร". เดอะคลาวด์.