คริสตจักรที่ 1 สำเหร่

โบสถ์คริสต์ในเขตธนบุรี

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ (อังกฤษ: The First Presbyterian Church of Bangkok) เป็นโบสถ์คริสต์ของนิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 37 ซอยเจริญนคร 59 ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นคริสตจักรแห่งแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (The American Presbyterian Mission) ซึ่งมิชชันนารีคณะนี้ได้เริ่มวางรากฐานการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่
First Presbyterian Church, Samray
บริเวณด้านหน้าวัด มุมหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 37 ซอยเจริญนคร 59 ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
นิกายโปรเตสแตนต์
ประวัติ
สถานะเปิดใช้งาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2403
ผู้ก่อตั้งคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
สถาปัตยกรรม
ประเภทสถาปัตย์ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน
รูปแบบสถาปัตย์นีโอคลาสสิก โคโลเนียล
ปีสร้างพ.ศ. 2453
โครงสร้าง
จำนวนชั้น1
การปกครอง
มุขมณฑลคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
ภาพในอดีต ค.ศ. 1928

โบสถ์คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2547 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ[1]

มิชชันนารีโปรเตสแตนท์ยุคบุกเบิกรุ่นแรก

แก้

ค.ศ. 1828 ศาสนาจารย์นายแพทย์ คาร์ล เฟรเดอริค ออกัสตัส กุ๊ตสลาฟ (Dr.Karl Frederick Augustus Gustaff) และศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) เป็นมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ 2 ท่านแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมามิชชันนารีจากคณะอื่น ๆ เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คือคณะอเมริกันแบ๊บติสต์ได้ส่ง ศจ.เทเลอร์ โจนน์ เข้ามาในปี ค.ศ. 1833 คณะอเมริกันบอร์ด ได้ส่ง ศจ .ชาร์ล โรบินสัน และ ศจ.สตีเฟน จอห์สัน เข้ามาในปี ค.ศ. 1834 แต่การประกาศศาสนาในประเทศไทยขณะนั้นยังมีความยากลำบากต้องประสบกับการต่อต้านต่าง ๆ นานา มิชชันนารีบางท่านเจ็บป่วยด้วยโรคในเขตร้อน เช่น อหิวาตกโรค ทำให้หลายคณะต้องล้มเลิกการประกาศศาสนาในประเทศไทย

การเข้ามาของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน

แก้

ค.ศ. 1840 คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ส่ง ศจ.วิลเลียม พี บูแอล (William P. Buell) และภรรยาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแต่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ไม่นานภรรยาท่านก็เจ็บป่วยทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา งานของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้เริ่มวางฐานรากอย่างถาวรและจริงจัง โดยการเข้ามาของ ศจ.สตีเฟน แมตตูน (Rev. Stephen Mattoon, D.D.)[2] และภรรยา (Mary Lourie Mattoon) กับ ศจ. ซามูแอล เรโนล์ เฮาส์ (Rev. Samuel Reynolds House, M.D.)[3] ในปี ค.ศ.1847 ชาวไทยเรียกหมอแมตตูนว่า “หมอมะตูม” และหมอเฮาส์ว่า “หมอเหา” มิชชันนารีกลุ่มนี้ยังพักอาศัยร่วมอยู่กับมิชชันนารีกลุ่มอื่นที่บริเวณปากคลองบางหลวงและยังไม่ได้สร้างพระวิหารสำหรับนมัสการแต่ประการใด ค.ศ. 1849 ศจ.สตีเฟน บุช (Rev.Stephen Bush)และภรรยาเดินทางมาสบทบ

การตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพ

แก้

ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1849[4] คณะมิชชันนารี 5 คน ประกอบด้วย ศจ. สตีเฟน แมตตูนและภรรยา ศจ. สตีเฟน บุช และภรรยา และศจ. ซามูเอล เรโนล์ เฮาส์ ได้ประชุมอธิษฐานร่วมกันก่อตั้งคริสตจักรขึ้น เรียกว่าคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพฯ โดยให้บ้านพักของมิชชั่นนารีบริเวณกุฎีจีน (หลังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) เป็นสถานที่นมัสการ โดยมี ศจ. สตีเฟน แมตตูน เป็นศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรแห่งนี้

หลังจากตั้งคริสตจักรไม่กี่วัน คณะมิชชั่นก็ได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกคนแรก (Chinese Christian) คือ ท่านซินแส กีเอ็ง ก๊วยเซียน (Quasien Kieng) เดิมท่านซินแส เป็นคริสเตียนในสังกัดของคณะอเมริกันบอร์ด (A.B.C.F.M.) ต่อมามิชชั่นคณะนั้นได้โยกย้ายจากสยามไปทำงานในประเทศจีน ท่านซินแสจึงย้ายสมาชิกภาพเข้ามาสังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (ท่านเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนชายสมัยนั้น ที่ต่อมาคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย)[5]

ย้ายมาสำเหร่

แก้

ค.ศ.1857 ได้ย้ายบ้านพักมิชชันนารี โรงเรียน สถานที่ทำงาน จากกุฎีจีนมาที่สำเหร่เพราะมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าและเพื่อรองรับการขยายการทำงานในอนาคต วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1859 “นายชื่น” เป็นคนไทยคนแรกที่รับเชื่อโดยการประกาศของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน[6]

สร้างพระวิหารหลังแรก

แก้

ค.ศ. 1860 ได้เริ่มสร้างพระวิหารหลังแรกโดยการเรี่ยไรเงินจากพ่อค้ากะลาสี ทูต และชาวต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทย และยังได้เรี่ยไรประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ใช้เงินในการก่อสร้าง 700 ดอลลาร์ และมีพิธีมอบถวายในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 นับนั้นเป็นต้นมาคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ก็เป็นศูนย์กลางการทำงานของมิชชั่นนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ค.ศ. 1890 ศาสนาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ได้ย้ายโรงเรียนของท่านจากกุฎีจีนมารวมกับโรงเรียนของมิชชั่นที่สำเหร่ และใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1902 โรงเรียนนี้ย้ายมาที่ถนนประมวญและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ในเวลาต่อมา

ศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักร

แก้

วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1896 คริสตจักรได้สถาปนา ศบ.ย่วญ เตียงหยก เป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักรนับเป็นศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักร ค.ศ. 1902 ผป.ปลีก อุนยะวงษ์ ก่อตั้งคณะ King’s Daughters หรือคณะราชธิดาแห่งคริสตจักร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสตรีคริสเตียนของคริสตจักรในเวลาต่อมา

สร้างพระวิหารหลังปัจจุบัน

แก้

ค.ศ. 1910 สร้างพระวิหารปัจจุบัน โดยรื้อพระวิหารหลังเดิมลงและสร้างบนที่เดิม แต่ยังคงรูปแบบสถาปัตยากรรมของพระวิหารหลังแรกไว้ เงินที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากการเรี่ยไรสมาชิกของคริสตจักรใช้เงินก่อสร้างมากกว่า 7,000 บาท มีพิธีมอบถวายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1910 ซึ่งพระวิหารนี้ยังคงใช้นมัสการพระเจ้ามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ค.ศ. 1912 สร้างหอระฆัง ค.ศ. 1963 สร้างศาลาเตียงหยก ค.ศ. 1988 ขยายพระวิหารให้ยาวกว่าเดิม 3.50 เมตร ส่วนบริเวณธรรมาสน์ได้ขยายออกไปอีก 4.50 เมตร เพื่อรองรับจำนวนผู้มานมัสการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

คริสตจักรในปัจจุบัน

แก้

ในปัจจุบันคริสตจักรได้มีการพัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ได้มีการพัฒนาเรื่องของอาคารสถานที่ ด้านการประกาศ การเลี้ยงดูสมาชิก และการสร้างสาวก เป็นต้น ปัจจุบันคริสตจักรมีศิษยาภิบาล คือศาสนาจารย์ ประยูร คาระวานนท์ ผู้ปกครองประจำการ 11 คน มัคนายก 7 คน และกรรมการพันธกิจต่าง ๆ อีก 7 ด้านคือ คริสเตียนศึกษา การประกาศ ดนตรี บ้านและครอบครัว ปฏิคม เยี่ยมเยียน และประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันคริสตจักรมีสมาชิกจำนวน 205 คน ปัจจุบัน คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ อยู่ในสังกัดคริสตจักรภาคที่ 6 ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย

อ้างอิง

แก้
  1. The Cloud. (2564). คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำ. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
  2. "Sketch of the life of Rev. Stephen Mattoon, D.D. Digital Collection History of Johnson C. Smith University Page 10".
  3. "Samuel Reynolds House of Siam Pioneer Medical Missionary 1847-1876 by George Haws Feltus".
  4. "Samuel Reynolds House of Siam, pioneer medical missionary, 1847-1876, by George Haws Feltus. Page 76".
  5. "Samuel Reynolds House of Siam, pioneer medical missionary, 1847-1876, by George Haws Feltus. Page 77".
  6. "Sketch of the life of Rev. Stephen Mattoon, D.D. Digital Collection History of Johnson C. Smith University Page 39".

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°42′19″N 100°29′39″E / 13.705292°N 100.494071°E / 13.705292; 100.494071