คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์

คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์ (ฝรั่งเศส: Château de Vaux-le-Vicomte) เป็นคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ที่เมืองแม็งซีไม่ไกลจากเมอเลิงในจังหวัดแซเนมาร์นในแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ในประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรก

คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์
Château de Vaux-le-Vicomte
คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมบาโรก
เมืองแม็งซี, จังหวัดแซเนมาร์น
ประเทศประเทศฝรั่งเศส
พิกัด48°33′53″N 2°42′50″E / 48.56472°N 2.71389°E / 48.56472; 2.71389
เริ่มสร้างค.ศ. 1658 - ค.ศ. 1661
เว็บไซต์
คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
ทางเข้าด้านหน้าอันดูขึงขัง

คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์ก่อสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1658 ถึงปี ค.ศ. 1661 สำหรับนีกอลา ฟูแก มาร์ควิสแห่งเบลเลออีล, ไวเคานต์แห่งเมอเลิงและโว ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างของกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชิ้นหนึ่งของยุโรป และเป็นคฤหาสน์ที่ก่อสร้างอย่างหรูหราโอ่อ่าและยิ่งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสรองจากพระราชวังแมซง งานก่อสร้างเป็นงานของสถาปนิกหลุยส์ เลอ โว, ภูมิสถาปนิกอ็องเดร เลอ โนทร์ และจิตรกรนักตกแต่งชาร์ล เลอ เบริงที่เพิ่งทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรก การร่วมมือกันสร้างงานเป็นการเริ่มต้นวิธีการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของงานในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ศิลปินจากสาขาต่างมาทำงานร่วมกันที่อาจจะเป็นโครงสร้าง งานตกแต่งภายใน และการสร้างสวนภูมิทัศน์ การวางผังสวนใช้แกนเส้นแบบบาโรกที่ยืดยาวออกไปอย่างไม่จบไม่สิ้นซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของเอกลักษณ์ของงานในยุคนี้[1]

ประวัติ แก้

คฤหาสน์เดิมที่มีขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังแว็งแซนและพระราชวังฟงแตนโบล นีกอลา ฟูแกทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์และที่ดินชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1641 ในขณะนั้นฟูแกผู้มีอายุ 26 ปี เป็นสมาชิกราชสภาผู้มีความทะเยอทยาน ฟูแกเป็นนักสะสมศิลปะตัวยง และ เป็นที่ดึงดูดของศิลปินหลายคนที่ฟูแกให้การสนับสนุนโดยการให้ของขวัญและกำลังใจ

เมื่อได้แต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1657 ฟูแกก็จ้างให้เลอ โว, เลอ เบริง และเลอ โนทร์ ให้ปรับปรุงคฤหาสน์และสวนใหม่ พรสวรรค์และความรู้ทางด้านศิลปะของฟูแกเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผลงานที่ออกมาจากศิลปินทั้งสามเป็นงานอันมีคุณค่าทางศิลปะเป็นอันมาก[2]

ความต้องการที่จะสร้างคฤหาสน์อันยิ่งใหญ่และงดงามทำให้ฟูแกถึงกับต้องซื้อหมู่บ้านอีกสามหมู่บ้านเพื่อรื้อทิ้งและสร้างเป็นสวนและคฤหาสน์ ชาวบ้านที่ต้องขายบ้านช่องกลายมาเป็นลูกจ้างดูแลสวนของฟูแก กล่าวกันว่าฟูแกจ้างผู้คนถึง 18,000 คน ในราคาราว 16 ล้านลีฟวร์ฝรั่งเศส[3]

คฤหาสน์ของฟูแกกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาผู้คงแก่เรียน นักเขียน และศิลปิน กวีที่รวมทั้งฌ็อง เดอ ลา ฟงแตน และนักเขียนบทละคร มอลีแยร์ผู้สนิทสนมกับฟูแก ในงานเปิดคฤหาสน์ก็ได้มีการแสดงละครที่เขียนโดยมอลีแยร์ และการแสดงดอกไม้ไฟอันน่าประทับใจ[4]

งานเลี้ยงและการถูกจับ แก้

คฤหาสน์เป็นสถานที่อันหรูหราโอ่อ่าที่เป็นที่น่าประทับใจ แต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นดาบสองคมสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ไม่นานหลังจากงานเลี้ยงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1661 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็มีพระบรมราชโองการให้จับฟูแก ในงานเลี้ยงดังกล่าวก็ได้มีการแสดงบทละคร 'Les Fâcheux' โดยมอลีแยร์ ขึ้นเป็นครั้งแรก[5] การแสดงเป็นไปอย่างน่าประทับใจจนเกินตัว และ คฤหาสน์ของเสนาบดีก็ใหญ่โตเกินฐานะ อันที่จริงแล้ววัตถุประสงค์ของฟูแกก็เพื่อเป็นการเอาพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพราะส่วนหนึ่งของคฤหาสน์สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับพระองค์ แต่แผนของฟูแกกลับได้ผลอันตรงกันข้าม ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์หว่านล้อมให้พระเจ้าหลุยส์ทรงเชื่อว่าคฤหาสน์อันงดงามของฟูแกสร้างขึ้นด้วยเงินที่ยักยอกจากท้องพระคลัง หลังจากการจับกุมคอลแบร์ตก็ได้ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังแทนฟูแก[6] ต่อมาวอลแตร์สรุปถึงงานเลี้ยงอันมีชื่อเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1661 สั้น ๆ ว่า “คืนนั้นเวลาหกโมงเย็นฟูแกเป็นราชาแห่งฝรั่งเศส เวลาตีสองวันรุ่งขึ้นฟูแกก็เป็นผู้นิรนาม” ฌ็อง เดอ ลา ฟงแตนเขียนบรรยายงานเลี้ยงไม่นานหลังจากนั้นใน “Elégie aux nymphes de Vaux”

สมัยหลังฟูแก แก้

 
สวน

หลังจากที่ถูกจับกุมฟูแกก็ถูกจำขังตลอดชีวิต ภรรยาหนีไปลี้ภัย คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์ถูกยึด พระเจ้าหลุยส์ทรงยึด หรือซื้อพรมทอแขวนผนังจำนวน 120 ผืน, ประติมากรรม และต้นส้มทั้งหมด และมีพระบรมราชโองการให้ เลอ โว, เลอ เบริง และเลอ โนทร์ ออกแบบงานที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าคฤหาสน์และสวนโว-เลอ-วีกงต์ที่พระราชวังแวร์ซาย

สิบปีต่อมามาดามฟูแกก็ได้ทรัพย์สมบัติคืน และกลับมาปลดเกษียณพร้อมด้วยบุตรชายคนโตที่นั่น ในปี ค.ศ. 1705 หลังจากการเสียชีวิตของสามีและลูกชายมาดามฟูแกก็ตัดสินใจขายคฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์[7]

การขาย แก้

มาเรชาล เดอ วีลาร์กลายเป็นเจ้าของคนใหม่แม้ว่าจะยังไม่ได้เห็นตัวสิ่งก่อสร้างด้วยตนเอง ในปี ค.ศ. 1705 ต่อมาในปี ค.ศ. 1764 บุตรชายของมาเรชาลก็ขายคฤหาสน์ให้แก่ดยุคแห่งพราสแลง ผู้สืบเชื่อสายของพราสแลงเป็นเจ้าของอยู่ร่วมร้อยปี

ในปี ค.ศ. 1875 หลังจากที่ปล่อยให้ขาดการดูแลอยู่สามสิบปีคฤหาสน์ก็ขายในการประมูลให้กับอัลเฟรด โซมมิเยร์ คฤหาสน์อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม สวนอันมีชื่อเสียงก็ขาดการดูแลและรกร้าง การบูรณปฏิสังขรณ์อันเป็นงานใหญ่เริ่มขึ้นภายใต้การนำของสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงกาเบรียล-อีปอลิต เดตาเยอร์ เมื่ออาลแฟรด ซอมีเยเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1908 คฤหาสน์และสวนก็กลับคืนสู่ในสภาพที่ตั้งใจไว้แต่แรก บุตรชายเอดเมอ โซมมิเยร์และบุตรสะไภ้ดำเนินงานต่อมาจนเสร็จ ในปัจจุบันผู้สืบเชื้อสายก็ดำเนินการอนุรักษ์คฤหาสน์ต่อมา คฤหาสน์ยังคงเป็นสมบัติส่วนบุคคลที่เป็นของเคานท์แห่งโวก แต่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้[8]

อ้างอิง แก้

  1. Federic Lees, The Chateau de Vaux-le-Vicomte, Architectural Record, American Institute of Architects, p.413-433
  2. "Vaux Le Vicomte: The french masterpiece of the seventeenth century , Vauxlevicomte.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-24. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
  3. The garden of Vaux le Vicomte, Gardenvisit.com
  4. Ernest C. Peixottop, Through the French Provinces, p.73
  5. William Driver Howarth, Molière, a Playwright and His Audience, p.43
  6. "Louis Charles, Vaux-le-Vicomte: The Lost Château of Nicolas Fouquet, Gayot.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-01. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
  7. "Vaux Le Vicomte: The french masterpiece of the seventeenth century , Vauxlevicomte.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-24. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
  8. Château de Vaux le Vicomte, Chateau-France

ดูเพิ่ม แก้


แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์