ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์

ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์ (ฝรั่งเศส: Jean-Baptiste Colbert) เป็นเลขานุการส่วนตัวของมาซาแร็ง เข้ามาอยู่ในกรุงปารีสตั้งแต่ยังเยาว์ และได้รับราชการในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส จนได้เป็นมุขมนตรีในปี 1661

ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์
Jean-Baptiste Colbert
มุขมนตรีแห่งรัฐฝรั่งเศส
ดำรงตำแหน่ง
9 มีนาคม 1661 – 6 กันยายน 1683
กษัตริย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ก่อนหน้าฌูล มาซาแร็ง
ถัดไปมาร์ควิสแห่งลูวอยส์
เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
ดำรงตำแหน่ง
7 มีนาคม 1669 – 6 กันยายน 1683
กษัตริย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ถัดไปฌ็อง-บาติสต์ กอลแบร์ รุ่นลูก
ผู้ว่าการกระทรวงพระคลัง
ดำรงตำแหน่ง
4 พฤษภาคม 1661 – 6 กันยายน 1683
กษัตริย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ก่อนหน้านีกอลา ฟูว์แก
ถัดไปกลูด เลอ แปลตีเยร์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด29 สิงหาคม ค.ศ. 1619(1619-08-29)
แร็งส์, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต6 กันยายน ค.ศ. 1683(1683-09-06) (64 ปี)
ปารีส, ฝรั่งเศส

ประวัติ

แก้

กอลแบร์เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1619 เป็นบุตรของพ่อค้าขายผ้าที่เมืองแร็งส์ กอลแบร์เข้ามาอยู่ในกรุงปารีสตั้งแต่เยาว์วัย เมื่ออายุยี่สิบปีก็เข้าทำงานในกระทรวงการสงคราม และได้สมรสกับญาติหญิงของเสนาบดีกระทรวงการสงคราม ต่อมากอลแบร์ได้เป็นเลขานุการของพระคุณเจ้ามาซาแร็ง มุขมนตรีแห่งรัฐ และตั้งแต่ปี 1652 เขาไว้วางใจให้กอลแบร์ทำงานหลายอย่างแทนตนเองในยามที่ตนเองไม่อยู่

ในปี 1661 พระคุณเจ้ามาซาแร็งถึงแก่มรณภาพ กอลแบร์กราบทูลพระเจ้าหลุยส์เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่มาซาแร็งซุกซ่อนเอาไว้ ทำให้กอลแบร์มีความดีความชอบ และได้รับแต่งตั้งเป็นมุขมนตรีแห่งรัฐถัดจากมาซาแร็ง ต่อมาในปี 1665 กอลแบร์ยุยงให้พระเจ้าหลุยส์ปลดนีกอลา ฟูว์แก ผู้ว่าการกระทรวงพระคลังและเป็นคู่แข่งของเขามาช้านาน ออกจากตำแหน่งสำเร็จ ตัวเขาได้รับแต่งตั้งแทนที่ฟูว์แก เขาส่งเสริมการพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมในฝรั่งเศสด้วยการก่อตั้งโรงงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการพิมพ์ และยังออกระเบียบข้อบังคับจำนวนมากในภาคเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นการเริ่มปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งราชอาณาจักร

กอลแบร์มีความมุ่งหมายจะทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุด ด้วยการดำเนินนโยบายสองทางคือ การพยายามไม่ให้เงินออกนอกประเทศ และการพยายามดึงเงินเข้าประเทศ นอกจากนี้ กอลแบร์จึงได้จัดระบบการคลังใหม่ เช่นปราบปรามการแอบอ้างอภิสิทธิ์ได้รับยกเว้นภาษี การเพิ่มภาษีทางอ้อม นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างดี การคลังของฝรั่งเศสหลุดพ้นภาวะหนี้สินล้นพ้น กอลแบร์ได้รับฉายาว่า กอลแบร์ผู้ยิ่งใหญ่ (le Grand Colbert)

ในปี 1669 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ โคลแบร์สั่งให้มีการสำรวจเกี่ยวกับการบริหารและเศรษฐกิจของอาณานิคมเป็นครั้งแรก ซึ่งเจ้าของไร่ในอาณานิคมเหล่านี้ยังคงใช้แรงงานทาส ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนมาตุภูมิฝรั่งเศส เขาให้บุตรชายของเขาร่างกฤษฎีกาควบคุมการใช้ทาสเป็นฉบับแรก ซึ่งออกโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี 1685 ต่อมาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ "Code Noir" (ประมวลคนดำ) กฎหมายดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นผลงานของกอลแบร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากอลแบร์จะวางรากฐานประเทศไว้อย่างเข้าที่เข้าทาง แต่ก็เริ่มเสื่อมถอยลงเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย กอลแบร์ได้ทูลคัดค้านโครงการฟุ่มเฟือยต่างๆ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงริบอำนาจบางส่วนจากเขา แต่เขาก็ยังได้เป็นมุขมนตรี เมื่อกอลแบร์สิ้นอำนาจ การคลังก็ระส่ำระสาย และมีสงครามทำให้ฝรั่งเศสยากจนลง กอลแบร์ป่วยเป็นโรคนิ่วไตและถึงแก่ความตายในปี 1683