ขุนไกรพลพ่าย
ขุนไกรพลพ่าย (/ขุน-ไกรฺ-พน-ละ-พ่าย/) หรือเรียกโดยย่อว่าขุนไกร เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารของตัวละครตัวหนึ่งในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนไกรเป็นบิดาของพลายแก้วผู้ต่อมามีบรรดาศักดิ์ว่า "ขุนแผน" และเป็นสามีของนางทองประศรี ขุนไกรต้องโทษประหารชีวิตตั้งแต่บุตรยังเล็ก ๆ
ขุนไกรพลพ่าย | |
---|---|
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | ชาย |
อาชีพ | ทหาร |
สังกัด | กรมอาทมาต |
คู่สมรส | ทองประศรี |
บุตร | ขุนแผน |
ญาติ | กุมารทอง (หลานชาย) พลายงาม (หลานชาย) พลายณรงค์ (หลานชาย) พลายชุมพล (หลานชาย) พลายเพชร (เหลนชาย) พลายบัว (เหลนชาย) พลายยง (เหลนชาย) |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
บ้านเกิด | บ้านพลับ กาญจนบุรี |
สัญชาติ | กรุงศรีอยุธยา |
พื้นเพ
แก้ขุนไกรเป็นคนบ้านพลับ จังหวัดกาญจนบุรีพบรักกับนางทองประศรีชาวบ้านวัดตะไกร จังหวัดเดียวกัน เขตหมู่บ้านทั้งสองนี้ปัจจุบันจะคงอยู่หรือไม่ไม่อาจทราบได้ ทั้งสองเมื่อสมรสกันแล้วก็พากันไปตั้งครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวคือพลายแก้ว
ด้านลักษณนิสัยของขุนไกรนั้น เสภาขุนช้างขุนแผนบรรยายว่า
เป็นทหารชาญชัยใจฉกรรจ์ | คุมไพร่ทั้งนั้นได้เจ็ดร้อย |
อาจองคงกระพันชาตรี | เข้าไหนไม่มีที่จะถอย |
รบศึกศัตรูอยู่กับรอย | ถึงมากน้อยทหารไม่หนีมา |
กรมการเมืองสุพรรณสั่นหัว | เข็ดขามคร้ามกลัวใครไม่ฝ่า |
โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา | มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ |
ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น ขุนไกรเป็นข้าราชการที่มีฐานะมั่งมีพอสมควร โดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[1]
ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้นไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้ จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป
เชื้อชาติ
แก้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สันนิษฐานว่าขุนไกรมีเชื้อมอญ โดยให้ข้อสังเกตว่า[2]
สังเกตดูจากคำนำหน้านามที่เรียกผู้ชายในตระกูลของขุนไกรว่า พลาย เช่น พลายแก้ว พลายงาม แล้ว สันนิษฐานว่าขุนไกรจะเป็นมอญหรือเป็นคนมีเชื้อมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักร คำว่าพลายนั้นเป็นภาษามอญแปลว่าหนุ่มหรือแปลว่าผู้ชายที่แข็งแรง ในภาษาไทยก็ยังใช้ แต่ใช้เรียกช้างตัวผู้ว่าช้างพลาย
นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ขุนไกรเป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะใช้คนไทยซึ่งไม่ชำนาญภาษาเพื่อนบ้านและมีความแตกต่างกับคนเหล่านั้นอยู่อักโขก็ไม่เหมาะสม และคนมอญนั้นนอกจากพูดภาษาพม่าได้ดีเป็นภาษาที่สองคนตนแล้วยังมีความเป็นอยู่เฉกเช่นเดียวกับชาวพม่าอีก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงสันนิษฐานด้วยเหตุข้างต้นว่า ขุนไกรผู้สังกัดกรมดังกล่าวน่าจะมีเชื้อมอญ[3]
ชีวิตราชการ
แก้ขุนไกรเป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตซึ่งเป็นกรมของสายลับ มีหน้าที่ไปแฝงตัวสอดแนมอยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยขุนไกรมีอำนาจควบคุมทหารเจ็ดร้อยนาย และประจำอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นเอง
นอกจากนี้ ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีมีฝูงควายป่าชุกชุม ซึ่งรัฐบาลไทยสมัยนั้นจัดให้เป็นสัตว์อนุรักษ์พันธุ์ จึงมอบหมายให้ขุนไกรมีหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์ควายป่านั้นไว้ด้วย
การถึงแก่กรรม
แก้ต่อมาสมเด็จพระพันวษา พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นเสด็จทอดพระเนตรฝูงควายป่าดังกล่าว ขุนไกรซึ่งคุมกองทหารมากมายจึงมีหน้าที่ถวายอารักขาและต้อนควายป่ามาให้ทอดพระเนตร
ในการออกจากบ้านไปทำหน้าที่ในวันนั้น เหตุที่ดวงขุนไกรถึงฆาต จึงปรากฏเป็นลางร้ายบอกเหตุต่าง ๆ นานาที่บ้านขุนไกร ดังเสภาขุนช้างขุนแผนว่า
ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง | แมงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่ |
สยอดสยองพองขนทุกคนไป | เย็นยักเยือกจับใจไปทุกยาม |
นอกจากนี้ ในคืนที่ขุนไกรอยู่บ้านเป็นครั้งสุดท้าย นางทองประศรียังหลับฝันร้ายว่าฟันร่วงจากปากอีกด้วย ฝันเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นฝันร้ายนักเพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดา มารดา สามี หรือภรรยาของผู้ฝันนั้นจะถึงแก่ความตาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[4]
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้นถ้าจะว่าไปก็เกือบฝันไม่เป็น และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อตื่นขึ้น...แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปากจนไม่มีเหลือ พอตื่นขึ้นในรุ่งเช้าวันนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อผมก็ตาย
วันที่ขุนไกรไปปฏิบัติหน้าที่ ฝูงควายป่าเกิดแตกตื่นเป็นโกลาหลอยู่หน้าที่นั่งและมีที่ท่าว่าจะฝ่าเข้ามาถึงพระที่นั่ง ขุนไกรจึงคว้าหอกไปยืนประจันกับฝูงควายแล้วไล่แทงจนล้มตายสุมกันนับร้อยตัวเพื่อป้องกันพระองค์
ฝ่ายสมเด็จพระพันวษานั้นมีพระราชประสงค์อนุรักษ์ฝูงควายป่านั้นไว้และสนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของควายฝูงนี้ยิ่งนักถึงขนาดเสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อขุนไกรผู้มีหน้าที่รักษาพันธุ์ควายป่ากลับประหารควายป่าเสียเอง จึงทรงพระโกรธยิ่ง มีรับสั่งให้ประหารชีวิตขุนไกรในทันทีทันใดนั้น แล้วให้นำศพของขุนไกรเสียบขาหย่างถ่างไว้ประจาน กับให้ริบลูกเมีย ข้าทาสบริวาร ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ของขุนไกรเข้าเป็นของหลวงสิ้น
"ขุนไกรนั้นพอได้ยินว่าตนจะถูกประหารชีวิตก็ดูออกจะเสียสติไม่สมกับชายชาติทหารเลย เพราะร้องห่มร้องไห้และพรรณนาไปต่าง ๆ คร่ำครวญ และเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดินเหมือนคนขาดสติ..."[5] หลวงฤทธานนท์เพื่อนเก่าของขุนไกรซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยจึงเข้ามาปลอบโยนจนขุนไกรได้สติ ยอมให้เพชฌฆาตมัดตัวกับหลักที่จะประหารชีวิตในท่านั่งประนมมือบนพื้นดินอย่างการประหารชีวิตทั่ว ๆ ไป แล้วหลับตานึกในใจว่าขอตายอย่างชายชาติทหาร และชี้นิ้วสั่งให้เพชฌฆาตลงมือได้เลย
ระหว่างนั้น หลวงฤทธานนท์ได้แจ้งข่าวแก่นางทองประศรี นางจึงหอบลูกและเงินอีกสองถูกหลบหนีไปอาศัยกับญาติของสามีที่ตำบลเขาชนไก่ จังหวัดกาญจนบุรี และเริ่มนับหนึ่งตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่จนกลับมามั่งคั่งอีกครั้งหนึ่ง
อนุสรณ์สถานถึงขุนไกรพลพ่าย
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 179.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 177.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 178.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 182.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 183.