ขุนหลวงวิลังคะ หรือ ขุนหลวงวิรังคะ เป็นตำนานของชาวลัวะ เป็นเรื่องเล่าที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนความเชื่อของผู้คนหลายชุมชนในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน และลำปาง

เนื้อเรื่อง

แก้

ในสมัยของพระนางจามเทวีซึ่งปกครองเมืองหริภุญไชย ราว พ.ศ. 1300 นครหริภุญไชยเป็นนครของชนชาติมอญหรือเม็ง ขณะที่บริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ มีขุนหลวงวิรังคะเป็นกษัตรย์ชาวลัวะองค์ที่ 13 ของระมิงค์นครในราชวงศ์กุนาระ ทรงมีอิทธิฤทธิ์มีฝีมือในการพุ่งหอกเสน้าเป็นที่เลื่องลือ

ขุนหลวงวิรังคะมีความประสงค์จะอภิเษกกับพระนางจามเทวีแต่พระนางไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอนางอภิเษกด้วย พระนางก็ผัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้า (หอกด้ามยาวมีสองคม) มาตกที่ในเมือง พระนางจึงจะอภิเษกสมรสด้วย

ในครั้งแรกขุนหลวงวิรังคะได้พุ่งเสน้ามาตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุญไชย ปัจจุบันเรียกว่า หนองเสน้า พระนามจามเทวีเกรงว่าขุนหลวงวิรังคะอาจจะพุ่งเสน้ามาตกยังเมืองได้ จึงนำเอาเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชาย นำเอาใบพลูมาททำหมากสำหรับเคี้ยวโดยเอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระนางถวายแด่ขุนหลวง เมื่อได้รับของฝากจากพระนาง ขุนหลวงได้นำมาสวมลงบนศีรษะทำให้อำนาจและพลังของขุนหลวงเสื่อมลง

เมื่อพุ่งเสน้าครั้งต่อมา เสน้ามาตกที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ชาวบ้านเรียกว่า หนองเสน้า เช่นเดียวกัน เมื่อขุนหลวงเสื่อมวิทยาคุณเช่นนั้น ก็หนีออกจากบ้านเมืองไป ก่อนสิ้นชีวิตขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ที่ที่สามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ทหารได้จัดขบวนศพของขุนหลวงจากเชิงดอยสุเทพ ขึ้นสู่บนดอยสุเทพ เพื่อหาสถานที่นั้น จนได้มาลอดใต้เถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง เรียกว่า เครือเขาหลง ซึ่งเชื่อว่าหากใครลอดผ่านจะทำให้พลัดหลงทาง จึงทำให้ขบวนแห่พลัดหลงกันไป

ขบวนแห่ศพขุนหลวงได้พากันพลัดหลง กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง นักดนตรีบางคนพลัดหลง ไปพร้อมกับเครื่องดนตรีของตน จนท้ายสุดเสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวง ได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่งซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง

สำนวน

แก้

เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิลังคะมีมากกว่า 19 สำนวน[1] มีเนื้อเรื่องสาระแตกต่างกันไป บางชุมชนยังมีลักษณะถูกเล่าโต้ตอบกัน ช่วงชิงพื้นที่ความถูกต้องให้กับบุคคลที่แต่ละชุมชนเลือกเห็นชอบระหว่างพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิลังคะ[2]

สถานที่อันเนื่องในตำนาน

แก้

ดอยต่าง ๆ นักดนตรีบางคนในขบวนแห่ศพขุนหลวงพลัดหลง เกิดชื่อปุยหรือภูเขาต่าง ๆ คือ ดอยฆ้อง ดอยกลอง ดอยฉิ่ง ดอยสว่า ชื่อของ กิ่วแมวปลิว (แมวหมายถึงฝาครอบโลงศพที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ใช้ตกแต่งด้านบนของฝาโลงศพ) มาจากตำนานที่ฝาครอบโลงศพปลิวตกบริเวณนั้น

ยอดภูเขาดอยคว่ำหล้อง (ปัจจุบันเรียก ม่อนแจ่ม) คำว่าหล้อง หมายถึง โลงศพคือโลงศพที่คว่ำตกลงมา

บ้านเมืองก๊ะ เชื่อกันว่าชาวลัวะเหล่านี้เป็นเชื้อสายของขุนหลวงวิรังคะ อนึ่งชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ 3 แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม และอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณดอยคำ อำเภอเมืองเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันมีวัดชื่อวัดพระธาตุดอยคำซึ่งมีอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะประดิษฐานที่ลานวัดใกล้เจดีย์ และที่ดอยคำแห่งนี้ เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของหัวหน้าลัวะ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของขุนหลวงวิรังคะ ชื่อว่า ปู่แสะย่าแสะ ซึ่งจะมีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ด้วยควายทุกปี หรือ 3 ปีครั้ง[3]

บริเวณลานด้านหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลบ่อหลวง ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐานอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ[4]

บ้างเชื่อว่าวัดร้างชื่อวัดสะหลีพันตนตั้งอยู่ที่บ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่พระนางจามเทวีได้ขอให้ขุนหลวงวิลังคะหันมานับถือพระพุทธศาสนา โดยสร้างวัดแห่งนี้ให้ ชื่อเดิมของวัดสะหลีพันตนเคยมีชื่อว่า "วัดพระเจ้าลัวะ" หรือ "วังพระเจ้าลัวะ"[5]

อ้างอิง

แก้
  1. เมธี ใจศรี และคนอื่น ๆ. (2558). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ตำนานพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิลังคะ.โครงการรวบรวมจัดเก็บมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ:กระทรวงวัฒนธรรม.
  2. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. "จามเทวี: ตัวตนและอุดมคติ". วารสารข่วงผญา.
  3. "ขุนหลวงวิรังคะ" (PDF). มหาวิทยาลัยพายัพ.[ลิงก์เสีย]
  4. เพ็ญสุภา สุขคตะ. "'วิรังคราช' วีรบุรุษของชาวลัวะผู้บูชาความรัก (1) / ปริศนาโบราณคดี". มติชนสุดสัปดาห์.
  5. เพ็ญสุภา สุขคตะ. "'วิรังคราช' วีรบุรุษของชาวลัวะ ผู้บูชาความรัก (จบ) / ปริศนาโบราณคดี". มติชนสุดสัปดาห์.