ขุนศรีวิชัย
ขุนศรีวิชัยเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของตัวละครตัวหนึ่งในเสภาขุนช้างขุนแผน โดยเป็นบิดาของขุนช้าง นอกจากจะเป็นคนรุ่นเดียวกับขุนไกรพลพ่ายบิดาของขุนแผนแล้วยังถึงแก่กรรมในโอกาสไล่เลี่ยกันอีกด้วย
ขุนศรีวิชัย | |
---|---|
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | ชาย |
ตำแหน่ง | นายกรมช้างนอก |
คู่สมรส | เทพทอง |
บุตร | ขุนช้าง |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
บ้านเกิด | สุพรรณบุรี |
สัญชาติ | กรุงศรีอยุธยา |
พื้นเพ
แก้ขุนศรีวิชัยเป็นข้าราชการพลเรือน เกิดที่จ.สุพรรณบุรีมีตำแหน่งเป็นนายกรมช้างนอก มีหน้าที่ดูแลช้างหลวงทั้งปวงในจังหวัดสุพรรณบุรีและคอยเฝ้าระวังโขลงช้างป่าซึ่งมีเป็นอันมากในจังหวัดนั้น
ด้านฐานะทางเศรษฐกิจของขุนศรีวิชัย เสภาขุนช้างขุนแผนว่า
เป็นเศรษฐีมีทรัพย์นับร้อย | บ่าวไพร่ใหญ่น้อยก็นักหนา |
ได้นางเทพทองเป็นภรรยา | อยู่ท่าสิบเบี้ยเมืองสุพรรณ |
ซึ่งศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[1]
ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้นไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้ จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป
ครอบครัว
แก้ด้านครอบครัวนั้น ขุนศรีวิชัยสมรสกับนางเทพทอง ตั้งครอบครัวอยู่ที่ตำบลท่าสิบเบี้ย จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองมีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวคือขุนช้าง
ในบรรดาครอบครัวทั้งสามนั้น คือ ครอบครัวของขุนแผน ครอบครัวของขุนช้าง และครอบครัวของนางวันทอง ขุนศรีวิชัยดูเหมือนจะมียศสูงกว่าเพื่อน เพราะเป็นข้าราชการคนสนิทของสมเด็จพระพันวษาและมีสิทธิ์เข้าเฝ้าแห่แหนที่กรุงศรีอยุธยาได้ตามใจชอบ
ขุนศรีวิชัยนั้นเมื่อขุนช้างเติบใหญ่ขึ้นเป็นเด็กพอรู้ความก็พาไปเฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียนในระหว่างที่เสด็จออกขุนนางเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็ก สมเด็จพระพันวษาทอดพระเนตรเห็นขุนช้างแล้วก็ทรงพระสรวลที่ขุนช้างหัวล้านตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่ก็ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนไว้และอนุญาตให้ขุนศรีวิชัยเอากลับไปเลี้ยงดูก่อน เติบใหญ่แล้วค่อยส่งเข้ารับราชการอีกทีก็ได้
การถึงแก่กรรม
แก้ภายหลังจากที่ขุนไกรพลพ่ายถึงแก่ความตายแล้ว ในบ้านโป่งแดงแห่งจังหวัดสุพรรณบุรีนั้นมีซ่องโจรอยู่ชุกชุม มีนายโจรชื่อ "จันศร" โจรเหล่านั้นเสพสุรายาเมาทุกวัน และลองของกันเอาดาบฟันกันเอาปืนยิงใส่กันก็มิเป็นอันตรายใด ๆ
เหล่าโจรพอทราบว่าขุนศรีวิชัยมีสมบัติมากมายก็ต้องตาต้องใจให้เข้าปล้นยิ่งนัก นายจันศรจึงยกพลราวกับยกทัพออกรบ ตัวนายโจรนั้นขี่ช้างราวกับจอมทัพ และทัพโจรนั้นติดอาวุธนานาชนิดและมากมาย พอมาถึงชายป่าใกล้อำเภอเมืองสุพรรณบุรีก็พักพลเพื่อทำพิธีบูชาครูโจร พิธีดังกล่าวนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[2]
พิธีกรรมนั้นก็คือการไหว้ครูแล้วปลุกเสกเครื่องอาวุธที่จะนำไปใช้ในการปล้น เริ่มด้วยการปลูกศาลเพียงตา ศาลเพียงตานั้นทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ไม้ไผ่ปีกเป็นเสา 4 เสายกพื้นขึ้นมาให้สูงเพียงตา...จะสังเวยเทวดา และใช้ไม้ไผ่ปูพื้นซึ่งกว้างยาวจัตุรัสไม่เกิน 1 เมตร แล้วยกไม้ไผ่เป็นเสาสูงขึ้นไปมีหลังคาดาดผ้าขาวอยู่เหนือพื้นนั้น...
ศาลเพียงตานี้เป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อสังเวยเทวดาหรือภูตผีปีศาจเป็นการชั่วคราว จะเป็นที่บ้านหรือตามถนนหนทางโดยเฉพาะทางสามแพร่งก็ได้
ศาลเพียงตานี้ของโจรนั้นจะทำอย่างประณีตไม่ได้ จึงได้แต่ตั้งเครื่องสังเวยตามแต่จะหาได้ แล้วเอาเครื่องรางของขลังตลอดจนอาวุธของโจรวางไว้บนศาล จุดธูปเทียนบูชาเทวดา แล้วตั้งพวกน้ำมันหอมและกระแจะสำหรับเจิมหน้าไว้บนศาลนั้นเช่นเดียวกัน
พอเริ่มการ ผู้ที่ทำพิธีก็ตั้งนะโมขึ้นสามจบ...จึงว่าคาถาชุมนุมเทวดา...บูชา...ครูบาอาจารย์ที่ได้เคยสอนคาถาอาคมทำให้เหนียวบ้าง ทำให้หายตัวได้บ้าง ตลอดจนสอนวิธีให้เลี้ยงผีเอาไว้ใช้สอย...
ที่พูดมานี้อย่านึกว่าผมเป็นผู้วิเศษไม่เชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ ความจริงผมเชื่อ ไปไหนก็ห้อยพระเครื่องและมีเครื่องราง รู้คาถาอาคมที่จะใช้ท่องบ่นเมื่อมีเหตุต่าง ๆ หรือเมื่อมีความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่องคาถาแล้วจับปลายกิ่งไม้ให้หายตัวได้ แต่ก็มีคนตาบอนแอบมองเห็นทุกที...
เมื่อโจรสังเวยเทวดาและไหว้ครูแล้วก็เสกเหล่าแจกกันกัน...
เมื่อพิธีกรรมบูชาครูโจรสิ้นสุดลง บรรดาโจรก็ยกเข้าปล้นบ้านขุนศรีวิชัยโดยมีการโห่ร้องอึกทึกเป็นเชิงจิตวิทยาให้คนในบ้านแตกตื่น ขุนศรีวิชัยนั้นมีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันฟันไม่เข้าแทงไม่ออกเช่นกัน โจรจึงจับฆ่าด้วยการเอาไม้ไผ่เหลาแหลมเทียงทะลุร่างกายจากทวารหนักออกปาก ขุนศรีวิชัยจึงตายด้วยวิธีการแปลกประหลาดตามความเชื่อทางไสยศาสตร์เช่นนี้ แล้วโจรก็ขนเอาทรัพย์สมบัติไป แต่ทรัพย์สินของขุนศรีวิชัยนั้นมีมากเหลือไม่อาจขนไปหมดได้ กับทั้งเมื่อโจรไปแล้วก็ปรากฏว่าครอบครัวขุนช้างยังอยู่มั่งมีได้จากทรัพย์เดิมที่เหลือ แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของขุนศรีวิชัย
นับแต่นั้น นางเทพทองภริยาขุนศรีวิชัยก็ปกครองครอบครัวสืบต่อมา
อ้างอิง
แก้- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 179.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 186-187.