กัมปงโลรงบ่วงก๊ก

(เปลี่ยนทางจาก กำปง ลอรอง บ่วงก๊ก)

1°23′0″N 103°52′41″E / 1.38333°N 103.87806°E / 1.38333; 103.87806

กัมปงโลรงบ่วงก๊ก
หมู่บ้าน
ประเทศสิงคโปร์
ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ย่านบ่วงก๊ก (ว่านกั๋ว)
พื้นที่
 • ทั้งหมด0.3181 ตร.กม. (0.12281 ตร.ไมล์)
 (12248.1 ม. 2)
ประชากร
 • ทั้งหมดn/a คน
 28 ครัวเรือน

กัมปงโลรงบ่วงก๊ก (มลายู: Kampong Lorong Buangkok หรือ Kampung Lorong Buangkok; อักษรยาวี: كامڤوڠ لوروڠ بواڠكوق; จีน: 罗弄万国村; พินอิน: Luónòng Wàn Guó Cūn; แต้จิ๋ว: หล่อหล่งบ่วงก๊กชึง) เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในย่าน บ่วงก๊ก (Buangkok หรือ ว่านกั๋ว ตามสำเนียงจีนมาตรฐาน) ใน เขตโห้วก่าง ประเทศสิงคโปร์ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2499 ถือเป็นกำปง (หมู่บ้าน) ดั้งเดิมแห่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่บนเกาะสิงคโปร์ในปัจจุบัน กำปงนี้ตั้งอยู่เลียบทางน้ำสุไหงพังโกล ที่ระบายลงสู่ ช่องแคบยะโฮร์ ฝั่งตะวันออก

ปัจจุบันกำปงนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการท่องเที่ยวในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนำเสนอ วิถีการใช้ชีวิตในกำปงตามแบบพื้นเมืองดั้งเดิม

ประวัติ แก้

กัมปงโลรงบ่วงก๊ก มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Kampong Selak Kain ใน ภาษามลายู หมายถึง 'การถกโสร่งขึ้น' ตามประวัติในระยะต้น ๆ ของหมู่บ้าน (ในคริสต์ศตวรรษที่ 20) ชาวบ้านยกโสร่งขึ้นและขมวดปมเพื่อลุยน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหมู่บ้าน เดิมที่ดินของกำปงนี้ได้ถูกซื้อใน พ.ศ. 2499 จาก Huang Yu Tu โดย ซ่ง เตียวกุน (Sng Teow Koon) นักธุรกิจขายยาแผนจีนโบราณ[1] ขณะที่ซื้อนั้นที่ดินผืนนี้มีบ้านปลูกสร้างอาศัยแล้ว 4 - 6 หลัง ซ่ง เตียวกุน ได้ปลูกบ้านของเขากับครอบครัวร่วมในที่ดินดังกล่าว และเริ่มให้คนเช่าที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ที่ดินผืนดังกล่าวได้ตกทอดมาถึงทายาท หนึ่งในนั้นคือ ซ่ง มุ้ยหง (Sng Mui Hong) ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกับหลานสาวของเธอ พี่น้องอีก 3 คนของซ่ง มุ้ยหงซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้แต่งงานและย้ายออกจากหมู่บ้านไปทั้งหมด

การพัฒนาเป็นกำปง(หมู่บ้าน) ในระยะต้นที่ดินเป็นพื้นที่หนองน้ำและมีบ้านเพียง 5-6 หลัง ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุด มีประมาณ 40 ครัวเรือน พื้นที่ดินเคยมีขนาด 21,460 ตร.ม. และถูกลดขนาดลงเหลือ 12248.1 ตร.ม. รัฐบาลเป็นผู้บริการจัดหาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ชุมชนของกำปง คือ ไฟฟ้า น้ำประปา และการเก็บขยะ การไปรษณีย์โดยมีเจ้าหน้ามาเก็บและส่งโดยมอเตอร์ไซค์วันละครั้ง

ผู้อยู่อาศัย แก้

 
แบบบ้านทั่วไปใน กัมปงโลรงบ่วงก๊ก
 
สะพานแห่งหนึ่ง ใน กัมปงโลรงบ่วงก๊ก

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำงานใน โรงพยาบาลวูดบริดจ์ (Woodbridge Hospital) หรือโรงงานที่อยู่ใกล้เคียง เด็ก ๆ เข้าเรียนในโรงเรียนใกล้เคียง เช่น โรงเรียนประถมศึกษาเอี๋ยฉู่กั้ง (Yio Chu Kang Primary School) ผู้อยู่อาศัยเคยจ่ายค่าเช่า 2 – 3 เหรียญสิงคโปร์ ชาวบ้านส่วนมากเลี้ยงไก่เพื่อเป็นอาหารและใช้ชีวิตอย่างดั้งเดิมและไม่ใส่ใจการเปลี่ยนแปลงเมืองของพื้นที่รอบข้าง

ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบัน ประกอบอาชีพช่างแต่งหน้า คนงาน และส่วนใหญ่เป็๋นผู้สูงอายุ ปัจจุบันมี 28 ครัวเรือน (เป็น เชื้อสายจีน 18 ครัวเรือน และ เชื้อสายมาเลย์ 10 ครัวเรือน) ซึ่งจ่ายค่าเช่าโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ดอลลาร์สิงคโปร์ ชาวกำปงยังคงมีความสุขกับชีวิตที่แบบช้า ๆ ง่าย ๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็นเมื่อเริ่มตั้งกำปง “เราเปิดประตูทิ้งไว้ คือ การแสดงความไว้วางใจที่เรามีต่อกัน"

น้ำท่วม แก้

ที่ผ่านมากำปงถูกน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เมื่อฝนตกหนักตรงกับช่วงน้ำขึ้น น้ำท่วมฉับพลันเช่นนี้ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำอย่างกัมปงโลรงบ่วงก๊ก ระดับน้ำในท่อระบายน้ำและลำคลองเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถระบายออกได้เร็วพอทำให้เกิดน้ำท่วม ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการสร้างคลองที่ถนนเจอราล์ด (Gerald Drive) เพื่อพยายามแบ่งลดหรือซับน้ำจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตามพิสูจน์แล้วว่ายังไม่เพียงพอเมื่อต้องเผชิญกับอุทกภัยขนาดใหญ่ ขณะนี้พื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549 แผนการปรับปรุงระบบระบายน้ำและการยกระดับพื้นดินมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ถูกยกเลิกเนื่องจากมีการกล่าวกันว่าเป็นโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับชุมชนที่มีขนาดเพียง 28 ครัวเรือน

สื่อและการรับรู้ แก้

ในภาพยนตร์สารคดี Selak Kain The Last Kampong ได้เผยแพร่เรื่องราวของ กัมปงโลรงบ่วงก๊ก ที่ได้รับการออกอากาศทางช่อง Arts Central ซึ่งเป็นช่องสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ สารคดีได้เน้นไปที่การดิ้นรนของผู้อยู่อาศัยเพื่อรักษาวิถีชีวิตในกำปงของพวกเขาในช่วงของศตวรรษที่ 21 สารคดีสอดแทรกความทันสมัยและวิถีชีวิตของชาวกำปงเพื่อนำเสนอการการใช้ชีวิตคู่ขนานในกำปงกับในเมืองที่มีความเป็นสากลอย่างสิงคโปร์ และวิธีของผู้อยู่อาศัยทั้งวัยเยาว์และผู้สูงอายุในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกกำปง ภาพยนตร์สารคดีนี้เป็นผลงานของ Ngee Ann Polytechnic ใน Project Pilot Showcase ใน พ.ศ. 2549 และยังเป็นรายการแนะนำประเทศสิงคโปร์ในหมวดสารคดีสำหรับนักศึกษาของ Consortium for Educational Communication ของอินเดีย

พื้นที่นี้เพิ่งถูกนำเสนอในบทความของ New York Times ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ที่พาดหัวว่า "สิงคโปร์เตรียมฮุบหมู่บ้านสุดท้าย" จากข่าวที่กำปงกำลังจะถูกรื้อถอนและพัฒนาในแผนแม่บท URA พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ให้เป็นโรงเรียนใหม่ 2 แห่ง (ประถมและมัธยม) ถนนสายใหม่ที่เชื่อม Buangkok Drive กับ ถนน Yio Chu Kang รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ HDB บล็อก 990 - 999 ที่ไม่ได้เตรียมการสำรองที่ยู่อาศัยเพื่อชดเชยให้แก่ชาวกำปง แผนการสร้างโรงเรียนสองแห่งและถนนดังกล่าวถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยการเสนอแผนอนุรักษ์กำปงในเดือนธันวาคม 2558 พร้อม ๆ กับแนวทางการพัฒนาไปสู่สังคมในการลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคล และแนวทางการควบรวมระบบโรงเรียนตั้งแต่ปี 2558[2]

ใน พ.ศ. 2556 ในละครโทรทัศน์ของสิงคโปร์ เรื่อง Beyond มีการถ่ายทำฉากบางฉากในการอุปโลกน์ "Kampong Minpi" ในตอนที่ 10 และ 11 ที่พื้นที่นี้[3]

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 (พ.ศ. 25ุ63) ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการปิดการเข้าออกชายแดน รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น การแจกคูปองเงินสด การจัดแนะนำเส้นทางเดินเทรลฝั่งสู่ฝั่ง (NParks Coast-to-Coast Trail)[4] และพัฒนาให้ กัมปงโลรงบ่วงก๊ก เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่[5] โดยการนำเสนอวิถีการใช้ชีวิตในกำปงตามแบบพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น การรีดผ้าด้วยเตารีดถ่าน การทำไอศกรีมหลอด การเล่นหนังยาง ซึ่งเมื่อเริ่มแรกชาวกำปงส่วนใหญ่ยังรู้สึกอึดอัดกับการเป็นจุดสนใจทางการท่องเที่ยว แต่ได้เปลี่ยนไปเป็นความภูมิใจในการดำรงไว้ซึ่งวิถีการใช้ชีวิตในกำปงดั้งเดิมแห่งสุดท้ายในเมืองนานาชาติที่ทันสมัยอย่างสิงคโปร์[6]

การคมนาคม แก้

กัมปงโลรงบ่วงก๊ก ตั้งอยู่ที่ถนน Yio Chu Kang สามารถเดินทางด้วย MRT ไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Serangoon แล้วต่อรถประจำทางหมายเลข 70 หรือ 103 และลงที่ป้ายจอดรถ Church of St Vincent de Paul ระยะทางการเดินประมาณ 230 เมตร หรือ ด้วย MRT สาย North East ไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบ่วงก๊ก (Buangkok MRT Station) แล้วเดินเท้าบนถนน Buangkok Drive และต่อด้วยถนน Buangkok Link ระยะทางการเดินประมาณ 2.4 กม.

อ้างอิง แก้

  1. Sim, Bryna (2007-08-05). "S'pore's last kampung worth $33m but landowner won't sell". Straits Times.
  2. Kampong Lorong Buangkok redevelopment likely several decades later
  3. Crimewatch 2021 EP1 | Ferry Terminal Murder (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2022-06-21
  4. https://www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature/parks-and-nature-reserves/coast-to-coast
  5. https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_2392183
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-01. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.

อ่านเพิ่ม แก้

  • "A place and lifestyle trapped in time". The Straits Times. 1999-01-19.
  • "Alert: Flood could hit on March 21 to 23". The Straits Times. 2004-03-11. p. H1.
  • "Floods fail to wash away kampung's charm". The Straits Times. 2004-03-11. p. H2.
  • "No spare S10m? Get out the changkul". The Straits Times. 2004-03-17. p. H2.
  • "Relak! Flood-prone kampung Lorong Buangkok ...". The Straits Times. 2004-03-23. p. H1, H6, H10.
  • "Volunteers help tackle kampung's flood woes". The Straits Times. 2004-04-19.
  • "DPM Wong lauds 'kampung spirit' tack to boost bonding". The Straits Times. 2004-05-04.
  • Kor, Kian Beng (2004-03-08). "We told you so". The New Paper.
  • "Kampung calm". The New Paper. 2004-03-23.
  • Sim, Chi Yin (2004-03-23). "Kampunk weekend". The New Paper.
  • "Peace and quiet: Priceless". The New Paper. 2007-08-20.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้