การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์

การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ (อังกฤษ: Forensic Autopsy) เป็นการผ่าศพเพื่อศึกษาหาสาเหตุการตายเช่นเดียวกับการผ่าศพทางพยาธิวิทยา (อังกฤษ: Pathological Autopsy) คือแพทย์จะเริ่มตั้งแต่การตรวจสภาพศพภายนอก วิเคราะห์และตรวจสอบบาดแผลที่ปรากฏบนศพ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสภาพร่างกายภายนอก ก่อนทำการผ่าศพเพื่อตรวจสอบสภาพอวัยวะภายใน เพื่อเป็นการค้นหาสาเหตุการตายรวมทั้งกลไกต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบ่งบอกสาเหตุการตาย และในศพบางราย การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์อาจจะช่วยเป็นแนวทางสำคัญในการชี้เบาะแสให้ทราบถึงพฤติการณ์ในการตายได้ ส่วนวิธีการในการผ่าศพ แพทย์จะเลือกใช้มีดกรีดบริเวณผิวหนังให้เป็นรูปร่างใด จากตำแหน่งใด ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ในแต่ละรายให้เหมาะสม เพื่อให้ได้รายละเอียดและข้อมูลตามต้องการ[1]

หลักในการผ่าศพ

แก้
 
ภาพแสดงการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์

การผ่าศพทางพยาธิวิทยา จะมุ่งเน้นไปทางด้านการเจ็บป่วยของผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคใด สาเหตุของการตายคืออะไร กลไกในการตายเป็นอย่างไร ซึ่งการที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้นั้น แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ตายเช่น อาการป่วยของโรค การดำเนินการในการรักษาโรค การรักษาพยาบาล ผลของการตรวจรักษาทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงอาการของผู้ตายที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการรักษา ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารยาให้ผู้ป่วย ซึ่งพยาธิแพทย์จะได้นำมาประมวลร่วมกับผลการตรวจพบทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย รวมทั้งผลการตรวจชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ เพื่อสรุปว่าผู้ป่วยตายเพราะเหตุใด

การวินิฉัยหรือการรักษาพยาบาลที่ให้แก่ผู้ป่วย แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องวินิจฉัยและวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยความเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยแบบเดียวกันหรือมีอาการคล้าย ๆ กัน เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์อีกด้วย การตรวจสอบชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์ นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการวินิจฉัยในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านที่สามารถใช้เป็นสิ่งยืนยันพยาธิสภาพที่ตรวจพบได้อย่างถาวร

สำหรับการผ่าศพทางนิติพยาธินั้น จะมุ่งเน้นเกี่ยวกับพยาธิสภาพของบาดแผล เพราะสาเหตุการตายเป็นหน้าที่ของนิติพยาธิแพทย์ ซึ่งสาเหตุของการตายมักเป็นการตายอย่างกะทันหันเช่น ผู้ตายถูกรุมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย การเกิดอุบัติเหตุ การฆ่าตัวตายหรือการตายโดยไม่ทราบเหตุ เพราะฉะนั้นประวัติทางด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอาจจะมีน้อยจนถึงน้อยมาก แต่ในบางรายผู้ตายไม่ได้ตายทันทีหลังเกิดเหตุ อาจจะได้รับการรักษาพยาบาลมาช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในกรณีอย่างนี้แพทย์ผู้รักษาต้องให้ความร่วมมือในการส่งรายละเอียด การรักษาพยาบาล การดำเนินโรค การเปลี่ยนแปลงของอาการตลอดจนผลการตรวจต่าง ๆ ทางห้องปฏิบัติการ เหมือนกับการส่งให้พยาธิแพทย์เช่นกัน และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย พนักงานสอบสวนและผู้ชันสูตรพลิกศพสามารถส่งหมายเรียกให้แพทย์ผู้รักษามาให้ปากคำได้ถ้าไม่ให้ความร่วมมือในการคลี่คลายคดี

บาดแผลที่ปรากฏ

แก้

การผ่าศพทางนิติพยาธิ เป็นการผ่าศพเพื่อเน้นไปทางด้านบาดแผลภายนอกร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่านิติพยาธิแพทย์สามารถละเลยรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพร่างกายและอวัยวะภายในได้ การผ่าศพตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ (อังกฤษ: Microscopic Examination) ยังคงมีความจำเป็นมากสำหรับการผ่าศพ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ตายมักจะตายในขณะเกิดเหตุ บาดแผลต่าง ๆ มักไม่ทันมีการเปลี่ยนแปลงทางกล้องจุลทรรศน์ แต่ยังมีผู้ตายในกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้ที่ตายอย่างกะทันหันและไม่คาดคิด หรือผู้ป่วยตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตายตามธรรมชาติและการตัดชิ้นเนื้อทางกล้องจุลทรรศน์จะเป็นข้อมูลอันสำคัญในการวินิจฉัยถึงสาเหตุการตอยของผู้ป่วย[2]

อีกกรณีหนึ่งซึ่งพบมากขึ้นในปัจจุบันคือ กรณีที่ญาติผู้ตายร้องเรียนว่า "แพทย์ผู้ทำการรักษาให้การรักษาพยาบาลไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย" ทำให้การตายนั้นกลายเป็นคดีความ เข้าข่ายที่ต้องให้นิติเวชแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่สาเหตุของการตายเป็นการตายจากโรคทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ผู้ตายที่ตายผิดธรรมชาติ มักตายในขณะเกิดเหตุหรือหลังเกิดเหตุในเวลาสั้น ๆ และนิติพยาธิแพทย์จะเน้นทางด้านบาดแผลเป็นสำคัญในการตรวจและผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ ประวัติหรือเรื่องราวต่าง ๆ จากที่เกิดเหตุจึงค่อนข้างสั้น และในหลาย ๆ กรณีสามารถตรวจสอบได้ง่ายเมื่อเห็นสถานที่เกิดเหตุ เช่นศพของหญิงสาวผูกคอตาย ตรวจสอบในสถานที่เกิดเหตุ พบผู้ตายใช้เชือกไนลอนแขวนคอตายที่ขื่อเพดานในห้องนอน โดยประตูหน้าต่างภายในห้องนอนปิดสนิท ไม่มีร่องรอยของการงัดแงะ เครื่องปรับอากาศยังคงทำงานเป็นปกติ ในห้องมีสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการดิ้นรนต่อสู้ และมีจดหมายลาตายเขียนด้วยลายมือผู้ตายอ้างเหตุฆ่าตัวตายอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แพทย์ผู้ทำการตรวจสอบเชื่อถือได้ว่า ผู้ตายผูกคอตายเองไปกว่า 80% แล้ว เมื่อร่วมกับการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ ไม่พบมีบาดแผลใดใดปรากฏในร่างกาย นอกจากแผลของการรัดด้วยเชือกที่บริเวณลำคอ การบาดเจ็บภายในลำคอก็พบน้อยมาก สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าผู้ตายผูกคอตนเอง

อาจกล่าวได้ว่า การผ่าศพทางนิติพยาธิเริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ (อังกฤษ: Forensic Autopsy Begins at Crime Scene) นอกจากนั้นการดูศพตั้งแต่ที่เกิดเหตุ ยังทำให้แพย์สามารถดำเนินการป้องกันหรือรักษาสภาพบางส่วนของศพเป็นพิเศษได้ เช่นเมื่อมีเหตุทะเลาะวิวาทจนเป็นเหตุให้ยิงกันตาย และผู้ตายมีส่วนร่วมในการยิงกันด้วย แพทย์ผู้ทำการชันสูตรควรรักษาสภาพของมือที่ใช้ยิงเป็นกรณีพิเศษ เช่นใช้ถุงพลาสติกห่อหุ้มมือข้างที่ใช้จับอาวุธปืน ไม่ให้มีการปนเปื้อน และไม่ให้มีการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือก่อนจะทำการตรวจเขม่าดินปืนเป็นต้น หรือในรายที่เกิดการข่มขืนและฆ่า แพทย์ก็ควรห่อหุ้มมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายในลักษณะที่จะรักษาสิ่งที่อาจจะอยู่ในมือผู้ตายเช่นเศษชิ้นเนื้อในเล็บ รอยกัดและรอยขีดข่วน ซึ่งแพทย์สามารถนำใช้เป็นวัตถุพยานในการยืนยันการกระทำความผิดได้ รวมทั้งการห่อศพด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สิ่งที่ติดอยู่กับศพสูญหายไป หรือปนเปื้อนสิ่งที่ไม่ได้ติดมากับศพในที่เกิดเหตุมาปนเปื้อนในภายหลัง

การที่นิติพยาธิเน้นทางด้านบาดแผล ทำให้ต้องเน้นไปถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้ตายด้วย เนื่องจากเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายจะช่วยรองรับอาวุธหรือวัตถุที่ก่อให้เกิดบาดแผลก่อน ร่องรอยของอาวุธอาจจะปรากฏบนเสื้อผ้าแทนที่จะไปปรากฏบนบาดแผลก็ได้ นอกจากนั้นบาดแผลที่ทะลุผ่านเสื้อผ้ากับบาดแผลที่ไม่ทะลุผ่านเสื้อผ้าก็มีความหมายต่างกันเช่น ถ้าเป็นการฆ่าตัวตาย บาดแผลจะเกิดที่ส่วนของร่างกายตามที่ผู้ตายได้เลือกสรรแล้ว และมักไม่ทะลุผ่านเสื้อผ้าของตนเองเช่น การกรีดข้อมือเพื่อฆ่าตัวตาย การยิงขมับด้วยอาวุธปืน เป็นต้น

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างพยาธิและนิติพยาธิคือ พยาธิแพทย์มักไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินระยะเวลาในการตายของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายส่วนใหญ่จะตายในโรงพยาบาลและทราบเวลาตายที่แน่นอน หลังตายก็สามารถเก็บศพไว้ในตู้เย็นเพื่อเป็นการรักษาสภาพและอุณหภูมิของศพ โอกาสของพยาธิแพทย์ที่จะได้รับศพที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการเน่าสลายตัวแทบจะไม่มี ส่วนนิติพยาธิแพทย์จะต้องพบศพที่เน่าสลายตัวทุกรูปแบบ และจำเป็นต้องพยายามประเมินระยะเวลาตายให้ได้ใกล้เคียง เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานต่อไป

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. การผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2547, หน้า 23
  2. บาดแผล, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2547, หน้า 23