การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย

การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย (อังกฤษ: Postmortem Change) เป็นการเปลี่ยนแปลงของปฏิกิริยาหลายอย่างภายในร่างกายของมนุษย์เมื่อเสียชีวิต ซึ่งแพทย์จะต้องนำสิ่งที่ตรวจพบในศพมาประเมินเพื่อหาสาเหตุและระยะเวลาของการตาย เพื่อประสานงานให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อใช้ในการติดตามค้นหาพยานหลักฐานในการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย จะเกิดขึ้นเมื่อมีการตาย ซึ่งการตายนั้นอาจเกิดจากการฆ่าตัวตายหรือถูกบุคคลอื่นกระทำจนถึงแก่ความตาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ระบุไว้ว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย" และตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2499 ระบุไว้ว่า "คนตาย หมายความว่าคนสิ้นชีวิตเท่านั้น ลูกตายในท้อง หมายถึงลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกินกว่า 28 สัปดาห์และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต" ส่วนการตายตามหลักวิชาการแพทย์หมายถึง การหยุดทำงานของสมอง ระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต

ประเภทของการตาย แก้

การตายของมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่

  1. การตายตามธรรมชาติ
  2. การตายผิดธรรมชาติ
  3. การตายโดยผลของกฎหมาย

การตายผิดธรรมชาติตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีวิจารณาความอาญา มาตรา 148 ได้แก่ การฆ่าตัวตาย การถูกฆ่าตาย การถูกสัตว์ทำร้าย การตายโดยอุบัติเหตุและการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ สำหรับการตายโดยผลของกฎหมายได้แก่การหายสาบสูญของบุคคลตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้[1] การตายทางการแพทย์ที่ใช้ในการสรุปถึงการตายของผู้ป่วย ได้แก่การตรวจดูเยื่อบุนัยน์ตาที่ไม่มีการตอบสนองต่อแสงไฟ ภาวะสมองตาย

ระยะเวลาการตาย แก้

ระยะเวลาการตาย เป็นการค้นหาระยะเวลาการตายว่าผู้ตายตายมานานเท่าใด มีความสำคัญทางกฎหมายมากทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ในทางกฎหมายอาญานอกจากจะสามารถช่วยบอกถึงเวลาของการฆาตกรรม ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แล้วยังมีส่วนช่วยเหลือในการตั้งข้อสงสัยใครหรือตัดผู้ต้องสงสัยคนใดออกได้ นอกจากนี้อาจใช้ช่วยยืนยันหรือหักล้างข้อแก้ตัวของผู้ต้องสงสัย ส่วนในทางกฎหมายแพ่งอาจจะช่วยบอกได้ว่าใครเป็นทายาทผู้รับมรดกหรืออื่น ๆ เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินประกันชีวิต

ทางการแพทย์ แก้

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่จะสามารถตรวจศพเพื่อหาระยะเวลาตายที่แน่นอนได้ วิธีต่าง ๆ ทางนิติเวชศาสตร์ที่แพทย์ใช้ในการหาเวลาตายล้วนแต่ไม่แม่นยำ ถ้าสภาพร่างกายขณะตายเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงการหลังตายจะขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม ถ้าสภาพสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงของร่างกายก็จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และยิ่งเวลาที่ตายนานขึ้น ระยะเวลาการตายที่ประเมินได้ยิ่งมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้น

นอกจากนั้นบาดแผลที่เป็นเหตุตายที่พบในศพ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นตายทันทีที่เกิดบาดแผลแต่อาจจะสลบอยู่อีกหลายชั่วโมงก่อนตายก็ได้ ฉะนั้นการประมวลเวลาตายจึงต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หลังการตายหลาย ๆ อย่างมาประกอบกันเพื่อให้ได้เวลาที่ใกล้เคียงที่สุด การตายที่ค่อนข้างจะได้เวลาแน่นอน คือการตายที่เกิดระหว่างการรักษาของแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถบอกได้ค่อนข้างแน่นอนว่าตายเมื่อใด แต่เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ในปัจจุบันผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว ยังอาจจะได้รับการรักษาสภาพด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจเพื่อที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายยังคงสภาพ สามารถนำไปให้ผู้ป่วยอื่นที่รอการปลูกอวัยวะนั้น ๆ ได้ ในปัจจุบันจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้นับการตายตั้งแต่แพทย์อย่างน้อยสองคน โดยคนหนึ่งเป็นผู้รักษาและอีกคนหนึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทให้การวินิจฉัยว่าสมองตาย

แพทยสภาได้มีประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย[2]โดยกำหนดคำบรรยายศัพท์ สภาวะและเงื่อนไขในการวินิจฉัย รายละเอียดการวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาทและการตรวจทางคลื่นสมองและระยะเวลาของผลที่ตรวจได้ ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ผู้ทำการวินิจฉัย เพื่อให้การวินิจฉัยสมองตายทำได้โดยปราศจากข้อสงสัย และเมื่อแพทย์ผู้ทำหน้าที่ได้วินิจฉัยว่าสมองตาย หมายความว่าผู้นั้นได้ตายแล้วตามกฎหมาย[3]

การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย แก้

การเปลี่ยนแปลงหลังการตายของร่างกายผู้ตาย จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง 2 ระยะเวลาด้วยกันคือ การเปลี่ยนแปลงในระยะแรกและการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง สำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะแรก ร่างกายของผู้ตายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ

  • ไม่มีสติสัมปชัญญะ
  • ไม่มี Reflex Muscular Flaccidity ตอบสนองต่อการกระตุ้น
  • หัวใจหยุดเต้น ไม่มีการหายใจ
  • ไม่มีปฏิกิริยาแห่งชีวิต (อังกฤษ: Vital Reaction) หรือสิ่งใด ๆ ที่บ่งบอกว่ายังมีชีวิตอยู่
  • ไม่มีปฏิกิริยาแห่งชีวิตที่ลูกตา

เมื่อผู้ตายมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะแรกแล้ว การเปลี่ยนแปลงในระยะหลังของร่างกาย เป็นการบ่งบอกถึงสภาพร่างกายของผู้ตาย รวมทั้งเป็นการชี้บ่งลักษณะการตายของผู้ตาย ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แก้

ซึ่งเมื่อมีการตายเกิดขึ้น และมีการประมวลระยะเวลาการตายทุกอย่างแล้ว การหาระยะเวลาในการตายของผู้ตายในอุณหภูมิและความชื้นของประเทศไทยโดยเฉลี่ย และสภาพของศพไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเบื้องต้น เมื่อผู้ตายตายใหม่ ๆ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง สภาพร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอันดับแรกคือตัวอ่อนปวกเปียก เมื่อสัมผัสกับร่างกายผู้ตายอาจจะรู้สึกว่ายังอุ่น ๆ ยกเว้นในการเกิดคาดาเวอริคสปัสซั่มหรือรายที่แข็งตัวเร็วผิดปกติ ร่างกายจะเกิดการลดลงของอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว บวกหรือลบประมาณ 1-2 ชั่วโมง

ระยะแรก แก้

ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จะเกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อตามร่างกายบางส่วน แต่ Lividity ยังเกิดไม่เต็มที่และยังไม่การ Fix ของร่างกาย บวกหรือลบประมาณ 3–4 ชั่วโมง ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง จะเกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อเต็มที่ทั่วทั้งตัว ลิวิดิตี้ปรากฏเต็มที่ บวกหรือลบประมาณ 4–6 ชั่วโมง ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 18 ชั่วโมง การแข็งตัวของกล้ามเนื้อเริ่มคลายตัว เกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อไม่ทั่วตัว แต่ลิวิดิตี้ยังคงปรากฏเต็มที่และเกิดการ Fixed ของร่างกาย บวกหรือลบประมาณ 6–8 ชั่วโมง

ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง การแข็งตัวของกล้ามเนื้อเริ่มคลายจนเกือบหมด เกิดการแข็งตัวของกล้ามเนื้อไม่ทั่วตัว ที่บริเวณท้องน้อยเริ่มมีสีเขียวปรากฏซึ่งเกิดจากก๊าซในร่างกาย อาจจะข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ลิวิดิตี้ยังเห็นเต็มที่ บวกหรือลบประมาณ 6–8 ชั่วโมง ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ร่างกายเกิดการอ่อนตัว ไม่มีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อหลงเหลืออยู่ สัมผัสและคลำตามร่างกายส่วนบนจะมีเส้นเลือดขึ้นเขียวทั่วไป ร่างกายเริ่มมีการบวมอืดพอสังเกตได้ มีกลิ่นเหม็นเน่าเล็กน้อย บวกหรือลบประมาณ 12–24 ชั่วโมง

ระยะกลาง แก้

ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 4 วัน ร่างกายเกิดการขึ้นอืดเต็มที่ ลิ้นจุกปาก ตาถลน ผิวหนังลอกตัวในบางส่วน ใบหน้าบวมฉุและคล้ำจัด บวกหรือลบประมาณ 1–2 วัน ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 7 วัน เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายเริ่มหายไปบางส่วน เช่นที่บริเวณหน้าผากหรือใบหน้า อาจจะมองเห็นกระดูกหน้าผากหรือกระดูกโหนกแก้มบางส่วน บวกหรือลบประมาณ 2– 3 วัน ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ร่างกายเริ่มเข้าสู่กระบวนการเน่าสลายตัว เนื้อเยื่อของร่างกายสลายตัวมากขึ้น อาจจะมองเห็นกระดูกซี่โครงและอวัยวะในช่องอกเน่าอยู่ภายในร่างกาย มีกลิ่นเหม็นเน่าอย่างมาก บวกหรือลบประมาณ 5-6 วัน

ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 อาทิตย์แรก เนื้อเยื่อตามร่างกายเริ่มมีการสลายตัวมากขึ้น ศีรษะด้านบนอาจจะเหลือแต่เพียงกะโหลก กระดูกซี่โครงเริ่มมองเห็นมากขึ้น เนื้อเยื่อหน้าท้องหายไป สามารถมองเห็นลำไส้และอวัยวะในช่องท้องได้อย่างชัดเจน เกิดการเน่าสลายตัวทั่วทั้งร่างกาย บวกหรือลบประมาณ 7–10 วัน ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เนื้อเยื่อตามร่างกายเกิดการสลายตัวจนเกือบหมดทั้งตัว แต่ยังคงมีเนื้อเยื่อบางส่วนหลงเหลืออยู่ เช่นบริเวณต้นขา สะโพกหรือหลังส่วนที่ร่างกายนอนทับอยู่ บวกหรือลบประมาณ 1–2 อาทิตย์

ระยะสุดท้าย แก้

ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ร่างกายจะไม่มีเนื้อเยื่อเหลือเลย กระดูกบางส่วนเช่นนิ้วมือนิ้วเท้าหลุดออกจากกัน แต่กระดูกสันหลังยังยึดติดกันได้ด้วยพังผืด บวกหรือลบประมาณ 1 เดือน ถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน กระดูกต่าง ๆ ตามร่างกายเริ่มหลุดออกจากกันเป็นชิ้น ๆ พังผืด เส้นเอ็นเกิดการสลายตัวจนหมด มีกลิ่นเหม็นเน่าหลงเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย บวกหรือลบประมาณ 2– 3 เดือน และถ้าผู้ตายตายในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ร่างกายจะมีสภาพเหมือนกับตายมาแล้วประมาณ 6 เดือน แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า ร่างกายจะคงเหลือแต่โครงกระดูกล้วน ๆ บวกหรือลบประมาณ 4 – 6 เดือน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย, นิติเวชศาสตร์ การชันสูตรศพ, แพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, สำนักพิมพ์วิญญูชนจำกัด, หน้า 45, 2546
  2. ประกาศแพทยสภาเรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย
  3. ระยะเวลาการตายและการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย นิติเวชศาสตร์, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ, สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ