การฆ่าทารกหญิงในประเทศจีน

จีนมีประวัติศาสตร์ของการฆ่าทารกหญิงเป็นระยะเวลากว่า 2,000 ปี[1] เมื่อมิชชันนารีคริสต์ศาสนาเดินทางถึงจีนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 พวกเขาเห็นทารกเพิ่งเกิดถูกโยนลงแม่น้ำหรือกองขยะ[2][3] ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มัตเตโอ ริชชีบันทึกถึงว่ามีการปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายมณฑลของจีน ซึ่งเหตุผลหลักมาจากความยากจน[3] การปฏิบัติเช่นนี้ยังดำเนินต่อมาจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และลดลงเป็นอย่างมากในยุคคอมมิวนิสต์[4] แต่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980[5] สำมะโนใน ค.ศ. 1990 แสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนโดยรวมของชายต่อหญิงอยู่ที่ 1.066 ขณะที่อัตราส่วนปกติของทุกช่วงอายุควรต่ำกว่า 1.02[6]

ป้ายข้างถนนเขียนว่า "เป็นสิ่งต้องห้ามที่จะเลือกปฏิบัติ ข่มเหง หรือละทิ้งเด็กผู้หญิง"

ประวัติศาสตร์ แก้

 
การฝังทารกในประเทศจีน (p.40, March 1865, XXII)[7]

คริสต์ศตวรรษที่ 19 แก้

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการปฏิบัติเช่นนี้อย่างกว้างขวาง เมื่ออ่านจากเอกสารในสมัยราชวงศ์ชิง พบความชุกของคำว่า ni nü (ทำให้เด็กหญิงจมน้ำ) และการทำให้จมน้ำเป็นวิธีที่ใช้มากสุดโดยทั่วไปในการฆ่าเด็กหญิง วิธีการอื่น ๆ ที่ใช้เช่น ทำให้ขาดอากาศหายใจและการปล่อยให้อดอยาก[a][9] อีกวิธีหนึ่งที่ทำกันคือปล่อยให้ตากแดดด้วยการนำเด็กใส่ไว้ในตระกร้าแล้วนำไปไว้บนต้นไม้ สำนักชีในพุทธศาสนาได้สร้าง "หอคอยเด็ก" เพื่อให้คนได้ทิ้งเด็ก[10] ที่เจียงซีใน ค.ศ. 1845 มิชชันนารีได้เขียนถึงการที่เด็กเหล่านี้มีชีวิตรอดถึงสองวันขณะที่ถูกปล่อยให้เผชิญกับสภาพอากาศ และผู้ที่ผ่านไปมาต่างเพิกเฉยต่อเสียงร้องของเด็ก[11] มิชชันนารี David Abeel ได้รายงานใน ค.ศ. 1844 ว่าประมาณหนึ่งในสามถึงหนึ่งในสี่ของเด็กหญิงที่เกิดทั้งหมดถูกฆ่าหลังคลอดหรือหลังจากนั้นในเวลาไม่นาน[12]

ใน ค.ศ. 1878 มิชชันนารีเยซูอิตชาวฝรั่งเศส Gabriel Palatre ตรวจทานเอกสารจาก 13 มณฑล[13] และ Annales de la Sainte-Enfance ยังพบถึงหลักฐานการฆ่าทารกในชานซีและเสฉวน ตามข้อมูลที่เรียบเรียงโดย Palatre พบว่าการปฏิบัติเช่นนี้เห็นได้อย่างกว้างขวางในมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแม่น้ำแยงซีล่าง (Lower Yangzi River region)[14]

คริสต์ศตวรรษที่ 20 แก้

ใน ค.ศ. 1930 Rou Shi สมาชิกขบวนการ 4 พฤษภาคมได้เขียนเรื่องสั้นเรื่อง A Slave-Mother ซึ่งเขาได้แสดงภาพความยากจนสุดขีดในชุมชนชนบทอันเป็นสาเหตุให้เกิดการฆ่าทารกหญิง[15]

เอกสารที่ตีพิมพ์โดยรัฐบาลจีนใน ค.ศ. 1980 ได้ระบุถึงการปฏิบัติฆ่าทารกหญิงว่าเป็น "ความชั่วร้ายยุคศักดินา"[b] ภาครัฐมีการพิจารณาอย่างเป็นทางการว่าการปฏิบัติดังกล่าวมาจากยุคศักดินา ไม่ใช่ผลของนโยบายลูกคนเดียวของรัฐ Jing-Bao Nie กล่าวว่า "มันเป็นการประหลาดที่จะเชื่อว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการวางแผนครอบครัวของรัฐกับการฆ่าทารกหญิง[16]

ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1980 ในจดหมายเปิดผนึก โปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ร้องขอให้สมาชิกพรรคและสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์เป็นตัวอย่างนำในการมีลูกคนเดียว ตั้งแต่ช่วงต้นของการใช้นโยบายลูกคนเดียว ได้มีความกังวลว่าอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของอัตราส่วนเพศ ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เจ้าหน้าที่ระดับสูงมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากรายงานการทอดทิ้งและฆ่าทารกหญิงโดยพ่อแม่ที่ต้องการมีลูกชาย ใน ค.ศ. 1984 รัฐบาลได้พยายามที่จะจัดการปัญหาด้วยการปรับนโยบายลูกคนเดียว โดยคู่สมรสที่มีลูกคนแรกเป็นลูกสาว สามารถมีลูกคนที่สองได้[5]

สถานการณ์ปัจจุบัน แก้

 
อัตราส่วนเพศของเด็กที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากหลังจากการใช้นโยบายลูกคนเดียว

คู่รักชาวจีนหลายคู่ปราถนาที่จะได้ลูกชายเพื่อสนับสนุนและเป็นความมั่นคงให้กับพ่อแม่ที่ชรา[17] ในทางตรงกันข้าม เป็นที่คาดการณ์ว่าลูกสาวจะออกจากครอบครัวหลังจากการสมรสและดูแลครอบครัวฝ่ายสามี[17] ในครอบครัวชนบทที่ใน ค.ศ. 2014 นับเป็นจำนวนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรจีน[18] ผู้ชายจะมีคุณค่าเพิ่มเติมในฐานะแรงงานในภาคการเกษตร[17][19]

ในการสำรวจระหว่างช่วงสำมะโนใน ค.ศ. 2005 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างอัตราส่วนเพศของแต่ละมณฑล ซึ่งมีค่าพิสัยระหว่าง 1.04 ในทิเบต และ 1.43 ในเจียงซี[20] ในการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการขาดเด็กผู้หญิงของจีนของ Banister (2004) ได้ชี้แนะให้เห็นถึงการกลับมาอย่างแพร่หลายของการฆ่าทารกหญิงหลังจากการนำนโยบายลูกคนเดียวมาใช้[21] ในทางกลับกันก็มีนักวิจัยจำนวนมากที่โต้แย้งว่าการฆ่าทารกหญิงเป็นสิ่งหายากในประเทศจีนทุกวันนี้[20][22] โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่รัฐบาลให้การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย[23] Zeng และคณะ (1993) ได้มีตัวอย่างของสาเหตุที่อัตราส่วนเพศไม่สมดุล เช่น อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของภาวะไม่สมดุลของจำนวนเพศมาจากข้อมูลที่ขาดหายไปของการเกิดของเด็กหญิง เป็นต้น[22]

Geneva Centre for the Democratic Control of Armed Forces (DCAF) ได้กล่าวถึงการลดลงทางประชากรของทารกหญิงที่เกิดจากปัญหาที่เกี่ยวกับเพศอยู่ในพิสัยเดียวกันกับการเสียชีวิตจำนวน 191 ล้านคน จากข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 [24] ใน ค.ศ. 2012 ได้มีการเผยแพร่สารคดีเรื่อง It's a Girl: The Three Deadliest Words in the World ซึ่งเน้นไปที่การฆ่าทารกหญิงในประเทศอินเดียและประเทศจีน[25]

คำอธิบายเพิ่มเติม แก้

  1. "เมื่อเด็กหญิงเกิดขึ้นมา พวกเธอถูกทำให้ตกน้ำเพื่อให้จมน้ำหรือใช้แรงต่อร่างกายของเด็กหญิงเพื่อให้หายใจติดขัดหรือถูกบีบคอด้วยมือของมนุษย์ และในบางครั้งยิ่งน่าสังเวชขึ้นไปอีกจากการที่คนรับใช้นำเด็กหญิงไว้ในกระโถนหรือในอ่างที่เตรียมไว้สำหรับการให้กำเนิด ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำและเลือด และปล่อยไว้แบบนั้น ให้ตายอย่างอนาถ และยิ่งทารุณโหดร้ายมากยิ่งขึ้นหากมารดาไม่โหดร้ายพอที่จะเอาชีวิตเด็กหญิง พ่อสามี แม่สามีหรือสามีจะปลุกปั่นเธอด้วยคำพูดให้ฆ่าเด็กหญิง"[8]
  2. "การฆ่าทารกด้วยการให้จมน้ำหรือทิ้งทารกหญิงเป็นประเพณีชั่วร้ายที่หลงเหลือมาจากยุคศักดินา"[16]

อ้างอิง แก้

  1. Mungello 2012, p. 144.
  2. Milner 2000, pp. 238–239.
  3. 3.0 3.1 Mungello 2012, p. 148.
  4. Coale & Banister 1994, pp. 459–479.
  5. 5.0 5.1 White 2006, p. 200.
  6. Milner 2000, pp. 239–240.
  7. "Burying Babies in China". Wesleyan Juvenile Offering. XXII: 40. March 1865. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2020. สืบค้นเมื่อ 1 December 2015.
  8. Mungello 2008, p. 17.
  9. Mungello 2008, p. 9.
  10. Lee 1981, p. 164.
  11. Mungello 2008, p. 10.
  12. Abeel 1844.
  13. Harrison 2008, p. 77.
  14. Mungello 2008, p. 13.
  15. Johnson 1985, p. 29.
  16. 16.0 16.1 Nie 2005, p. 50.
  17. 17.0 17.1 17.2 Chan, C. L. W., Yip, P. S. F., Ng, E. H. Y., Ho, P. C., Chan, C. H. Y., & Au, J. S. K. (2002). Gender selection in China: It’s meanings and implications. Journal of Assisted Reproduction and Genetics, 19(9), 426-430.
  18. National Bureau of Statistics of China. (2014). Total population by urban and rural residence and birth rate, death rate, natural growth rate by region [Data set]. Retrieved from China statistical yearbook 2014 เก็บถาวร 2015-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, accessed 2 October 2019
  19. Parrot, Andrea (2006). Forsaken females : the global brutalization of women. Lanham, MD: Rowman & Littlefield Publishers. p. 53. ISBN 978-0742545793.
  20. 20.0 20.1 Zhu, W. X., Lu, L., & Hesketh, T. (2009). China’s excess males, sex selective abortion, and one child policy: Analysis of data from 2005 national intercensus survey. BMJ: British Medical Journal, 338(7700)
  21. Banister, J. (2004). Shortage of girls in China today. Journal of Population Research, 21(1), 19-45.
  22. 22.0 22.1 Zeng, Y., Tu, P., Gu, B., Xu, Y., Li, B., & Li, Y. (1993). Causes and implications of the recent increase in the reported sex ratio at birth in China. Population and Development Review, 19(2), 283-302.
  23. Female infanticide. (n.d.) เก็บถาวร 2019-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน BBC Ethics guide. Accessed 2 October 2019.
  24. Winkler 2005, p. 7.
  25. DeLugan 2013, pp. 649–650.

บรรณานุกรม แก้