การก
การก คือลักษณะพิเศษทางไวยากรณ์ของคำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ คำอนุภาค หรือคำบอกตัวเลข ที่ระบุหน้าที่ของคำนั้น ๆ ในวลี อนุประโยค หรือ ประโยค คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ ตัวกำหนด คำอนุภาค คำบุพบท คำบอกตัวเลข คำกำกับนาม และส่วนขยายในบางภาษาสามารถมีรูปผันได้หลายรูปขึ้นอยู่กับการก ขณะที่ภาษามีวิวัฒนาการ การกสามารถรวม (ตัวอย่างเช่นในภาษากรีกโบราณ อธิกรณการก (Locative) รวมเข้ากับสัมปทานการก (Dative)) ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า Syncretism
ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษากรีกโบราณ ภาษาอาร์มีเนีย ภาษาอัสสัม ภาษาส่วนใหญ่ในกลุ่มภาษาบอลโต-สลาวิก ภาษาบาสก์ ภาษาส่วนใหญ่ในกลุ่มภาษาคอเคเซียน ภาษาเยอรมัน ภาษาไอซ์แลนด์ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาละติน ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ ภาษาทิเบต (หนึ่งในภาษาที่มีวรรณยุกต์) กลุ่มภาษาเตอร์กิก และกลุ่มภาษายูราล มีระบบการกที่ใหญ่ คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ และตัวกำหนดต่างมีการผันคำทั้งหมด (โดยใช้วิภัตติปัจจัยเป็นปกติ) เพื่อระบุถึงการกที่มันอยู่ จำนวนของการกในแต่ละภาษานั้นแตกต่างกันไป โดยในภาษาเปอร์เซียและภาษาเอสเปรันโตมี 2 การก ภาษาอังกฤษใหม่มี 3 การกเฉพาะสรรพนามเท่านั้น ภาษาเยอรมันและภาษาไอซ์แลนด์มี 4 การก ภาษาโรมาเนียมี 5 การก ภาษาละติน ภาษาสโลวีเนีย ภาษารัสเซีย และภาษาตุรกีมีอย่างน้อย 6 การก ภาษาอาร์มีเนีย ภาษาเช็ก ภาษาลัตเวีย ภาษาลิทัวเนีย ภาษาโปแลนด์ ภาษาบอสเนีย ภาษาเซอร์เบีย ภาษาโครเอเชีย ภาษาสโลวาเกีย และภาษายูเครนมี 7 การก ภาษาสันสกฤตและภาษาทมิฬมี 8 การก ภาษาเอสโตเนียมี 14 การก ภาษาฟินแลนด์มี 15 การก ภาษาฮังการีมี 18 การก และภาษาทเซซ (Tsez) มี 64 การก
การกที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ กรรตุการก (Nominative) กรรมการก (Accusative) สัมปทานการก และสัมพันธการก (Genitive) โดยปกติในภาษาไทยมักใช้คำบุพบทในส่วนของคำที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับการก ตัวอย่างเช่นบุพบทวลี ด้วยเท้า (ดังในประโยคที่ว่า "แดงเตะเพื่อนด้วยเท้า") ในภาษารัสเซียสามารถสื่อสารวลีเดียวกันได้ด้วยคำ ๆ เดียวโดยใช้กรณการก (Instrumental)
การกในภาษาต่าง ๆ
แก้ภาษาไทย
แก้ภาษาไทยแบ่งการกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- กรรตุการก - ผู้ทำหรือผู้ใช้ให้ทำ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย ตำรวจ เป็นกรรตุการก
- กรรมการก - ผู้ถูกทำ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย ผู้ร้ายถูกจับโดยตำรวจ ผู้ร้าย เป็นกรรมการก
- การิตการก - ผู้ถูกใช้ให้ทำ เช่น ผู้กำกับให้ร้อยเวรไปจับผู้ร้าย ร้อยเวร เป็นการิตการก
- วิกัติการก
- คำที่อธิบายตำแหน่งของบทการกข้างหน้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ตำรวจยศพันตำรวจตรีจับผู้ร้าย ยศพันตำรวจตรี เป็นวิกัติการก
- หรือคำที่เป็นบทช่วยวิกตรรถกริยา เช่น เขาเป็นตำรวจ ตำรวจ คือวิกัติการก
- วิเศษณการก - คำที่เรียงอยู่หลังบุพบทที่ใช้เป็นบทเชื่อม เช่น ตำรวจจาก สน.บางเขน สน.บางเขน เป็นวิเศษณการก ถ้าละบุพบทเสีย ก็อยู่ติดกับบทที่มันประกอบ
กลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน
แก้ภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียนมี 8 การกแต่เดิม ดังนี้ โดยยกตัวอย่างภาษาไทยประกอบ
การก | สิ่งที่ระบุ | ตัวอย่างคำในประโยค | ตัวอย่างประโยค | ปฤจฉา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
กรรตุการก | ประธานของกริยาแท้ | ฉัน ดำ ช่าง |
ฉันซื้อแกงเขียวหวาน ดำฝากกระเป๋าไว้ ช่างพึ่งจะซ่อมรถเมื่อวาน |
ใคร? หรือ อะไร? | เทียบได้กับประธานสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธาน) |
กรรมการก | กรรมตรงของสกรรมกริยา | แกงเขียวหวาน กระเป๋า รถ พี่ |
ฉันซื้อแกงเขียวหวาน ดำฝากกระเป๋าไว้ ช่างพึ่งจะซ่อมรถเมื่อวาน ลุงข้างบ้านเรียกพี่เข้าไปพบ |
ใคร? หรือ อะไร? | เทียบได้กับกรรมสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม) |
สัมปทานการก | กรรมรองของคำกริยา | แก่เขา ที่แดง กับพ่อ |
ฉันซื้อแกงเขียวหวานให้แก่เขา ดำฝากกระเป๋าไว้ที่แดง ช่างพึ่งจะซ่อมรถให้กับพ่อเมื่อวาน |
แก่ใคร? หรือ แก่อะไร? | เทียบได้กับกรรมสรรพนาม (คำสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม) โดยมีคำบุพบทนำหน้า เช่น ที่ กับ แก่ เป็นต้น |
อปาทานการก | การเคลื่อนที่ออกห่างจากสิ่งหนึ่งหรือที่มา | จากร้านค้าหน้าปากซอย จากกรุงเทพ จากเจ้าของ |
ฉันซื้อแกงเขียวหวานให้แก่เขาจากร้านค้าหน้าปากซอย ฉันมาจากกรุงเทพ สุนัขวิ่งหนีจากเจ้าของทันทีที่ตะโกน |
จากไหน? จากใคร? | มักนำหน้าด้วย "จาก" ในภาษาไทย |
สัมพันธการก | ผู้เป็นเจ้าของของคำนามอีกอย่าง | ของเขา ของประเทศไทย |
แกงเขียวหวานของเขามาจากร้านค้า ฉันมาจากกรุงเทพที่เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย |
ของใคร? ของอะไร? | มักนำหน้าด้วย "ของ" ในภาษาไทย |
สัมโพธนการก | ผู้ที่ถูกเรียก | ตัวเอง! นี่เธอ! ดูก่อนอานนท์ |
ตัวเอง! อย่าลืมซื้อของมานะ นี่เธอ! ซื้ออะไรมาน่ะ ดูก่อนอานนท์... |
||
อธิกรณการก | สถานที่หรือเวลา | ในประเทศไทย ที่บ้าน เมื่อคืน |
พวกเราอาศัยอยู่ในประเทศไทย ภรรยาของเขารอเขาอยู่ที่บ้านตั้งแต่เช้า เมื่อคืนพวกเธอไปไหนมา? |
ที่ไหน? ในไหน? เมื่อไหร่? | เทียบได้กับคำบุพบทต่าง ๆ |
กรณการก | อุปกรณ์ วิธีการที่ใช้ หรือผู้ร่วมมือที่ทำให้เกิดการกระทำ | โดยสารรถยนต์ (โดยรถยนต์) ด้วยมือ ให้เพื่อนทำ |
นักเรียนโดยสารรถยนต์ไปโรงเรียนเป็นประจำ จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นด้วยมือ การบ้านนี้ฉันให้เพื่อนทำให้ |
อย่างไร? ใช้ใครทำ? ใช้อะไรทำ? ทำกับใคร? |