กลยุทธ์จูงแพะติดมือ

กลยุทธ์จูงแพะติดมือ หรือ ซุ่นโส่วเชียนหยาง (อังกฤษ: Take the opportunity to pilfer a goat; จีนตัวย่อ: 顺手牵羊; จีนตัวเต็ม: 順手牽羊; พินอิน: Shùn shǒu qiān yáng) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้ความประมาทเลินเล่อของศัตรูเพียงเล็กน้อยให้เป็นประโยชน์ เมื่อพบเห็นโอกาสให้รีบฉกฉวยมาเป็นของตน แม้จะเป็นเพียงชัยชนะที่เล็กน้อยก็ตาม

กลยุทธ์จูงแพะติดมือ
ผู้วางกลศึกจูกัดเหลียง
ผู้ต้องกลศึกโจโฉ
ประเภทกลยุทธ์เผชิญศึก
หลักการใช้ความประมาทของศัตรูให้เป็นประโยชน์
สถานที่ผาแดง, แม่น้ำแยงซี
ผลลัพธ์จูกัดเหลียงลวงลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่นจากโจโฉ

ในยามศึกสงครามแม้โอกาสเพียงน้อยนิดที่สามารถเป็นประโยชน์แก่กองทัพจำต้องช่วงชิงมาเป็นของตนให้ได้ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จูงแพะติดมือไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกเอาลูกเกาฑัณฑ์จำนวนสิบหมื่นจากโจโฉ ตามคำสั่งของจิวยี่ที่สั่งให้จูกัดเหลียงทำลูกเกาฑัณฑ์จำนวนสิบหมื่นให้เสร็จภายในระยะเวลาสิบวัน เพื่อหาทางกำจัดจูกัดเหลียงด้วยความอิจฉาริษยาที่มีความฉลาดหลักแหลม รู้เท่าทันแผนการของตนเองตลอดเวลา[1]

ตัวอย่างกลยุทธ์ แก้

เมื่อคราวศึกเซ็กเพ็กระหว่างโจโฉ เล่าปี่และซุนกวน โจโฉนำทัพเรือนับหมื่นเตรียมบุกกังตั๋ง จูกัดเหลียงรับอาสาเป็นทูตไปเจราจาเกลี้ยกล่อมซุนกวนให้ร่วมทำศึกต่อสู้กับโจโฉ ซุนกวนจึงแต่งตั้งจิวยี่เป็นแม่ทัพใหญ่ในการทำศึก จิวยี่เห็นจูกัดเหลียงที่มีความฉลาดหลักแหลม สติปัญญาเป็นเลิศกว่าตนก็คิดริษยาหวังกำจัดเสียให้สิ้นซาก เกรงปล่อยจูกัดเหลียงไว้จะเป็นภัยในอนาคต จึงวางกลอุบายออกคำสั่งให้จูกัดเหลียงเป็นนายกอง เกณฑ์กำลังทหารสั่งการให้ช่างทำลูกเกาฑัณฑ์หรือธนูไฟจำนวนสิบหมื่นให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสิบวัน เพื่อหาเหตุผลที่จะฆ่าทิ้งหากจูกัดเหลียงปฏิบัติตามสั่งไม่ได้

จูกัดเหลียงเมื่อรับคำสั่งให้คุมช่างทำลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่น ก็รู้เท่าทันความคิดของจิวยี่ที่คิดจะกำจัดตน จึงแสร้งเย้ยว่า "ท่านจะเอาลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่นในสิบวันนั้นช้านัก ข้าพเจ้าจะทำลูกเกาทัณฑ์ให้เสร็จภายในสามวัน"[2] จิวยี่จึงคาดโทษจูกัดเหลียงไว้ด้วยการประหารชีวิตถ้าหากนำลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่นมาไม่ได้ภายในสามวันตามสัญญา โดยที่จิวยี่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจูกัดเหลียงจะต้องเสียหัวไม่พ้นตายเป็นแน่แท้หากปฏิบัติไม่ได้ตามวาจาที่ให้ไว้ จูกัดเหลียงเมื่อลั่นวาจาแก่จิวยี่แล้วก็วางตนตามปกติ ไม่ได้คุมช่างเตรียมทำลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่นแต่อย่างใด จนโลซกที่ปรึกษาซุนกวนเดือนเนื้อร้อนใจแทนจูกัดเหลียงในการทำลูกเกาฑัณฑ์สิบหมื่นในสามวัน

เช้าวันที่สองตามสัญญาเกิดหมอกลงหนักหนาทึบไปทั่วบริเวณ จูกัดเหลียงสั่งการให้โลซกนำเรือจำนวนยี่สิบลำ เอาผ้าดำคลุมฟางจำนวนมากมัดผูกติดไว้ทั้งสองข้างของแคมเรือ และให้เอาพวนใหญ่ผูกตรึงเรือทุกลำไว้ด้วยกัน แล้วแจวเรือทุกลำไปยังค่ายทหารของโจโฉพร้อมชักชวนโลซกให้นั่งกินดื่มสุราภายในเรืออย่างสำราญใจ เมื่อเรือทุกลำแจวไปถึงค่ายทหารโจโฉ จูกัดเหลียงก็สั่งการให้ทหารตีกลองร้องป่าวทำเสียงอึกทึกครึกโครมให้สนั่นหวั่นไหว ทหารโจโฉเมื่อได้ยินเสียงดังอื้ออึงด้านนอกค่ายประดุจศัตรูจำนวนมากยกกำลังมาหมายจะบุกโจมตีค่าย แต่หมอกลงจัดทำให้โจโฉไม่กล้านำกำลังทหารออกไปเกรงจะเป็นกลอุบายของศัตรู

โจโฉจึงสั่งการให้ทหารภายในค่ายระดมยิงลูกเกาฑัณฑ์จำนวนมากไปยังเรือดำที่มองไม่เห็น จูกัดเหลียงก็สั่งการให้ชักหุ่นฟางขึ้นรับลูกเกาฑัณฑ์ดั่งห่าฝนของทหารโจโฉที่ระดมยิงมาทุกทิศทุกทาง เมื่อได้ลูกเกาฑัณฑ์เต็มฝั่งด้านซ้ายแล้วก็ให้วกเรือกลับเพื่อรับลูกเกาฑัณฑ์ทางด้านขวาจนได้ลูกเกาฑัณฑ์เต็มเรือทั้งยี่สิบลำ ครั้นจูกัดเหลียงเห็นลูกเกาฑัณฑ์ติดที่หุ่นฟางมากพอกว่าจำนวนที่จิวยี่ต้องการ ก็ให้ทหารหยุดส่งเสียงตีกลองร้องป่าวและให้หันหัวเรือหลบหนี ก่อนจากไปจูกัดเหลียงได้ตะโกนเยาะเย้ยโจโฉให้เจ็บใจว่า "ขอบใจมหาอุปราชให้ลูกเกาฑัณฑ์แก่เราเป็นอันมาก แลลูกเกาฑัณฑ์นี้ก็จะกลับมารบสนองคุณท่าน"[2]

เมื่อกลับถึงกังตั๋ง จูกัดเหลียงสั่งการให้ทหารนำลูกเกาฑัณฑ์จากหุ่นฟางมานับพบว่าได้จำนวนมากกว่าสิบหมื่น และให้ทหารนำไปมอบให้แก่จิวยี่ตามสัญญา เมื่อจิวยี่ได้รับลูกเกาฑัณฑ์มากกว่าสิบหมื่นของจูกัดเหลียงถึงกับตะลึงในสติปัญญาอันหลักแหลมของจูกัดเหลียงที่ตนเองวางกลอุบายหมายกำจัด แต่กลับไม่สามารถกำจัดได้ตามที่คิด กลยุทธ์จูงแพะติดมือหรือซุ่นโส่วเชียนหยางของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในการลวงเอาลูกเกาฑัณฑ์จำนวนมากจากโจโฉ มามอบให้แก่จิวยี่ตามสัญญาภายในสามวันโดยไม่ต้องออกแรงและไม่ต้องโทษประหารชีวิตได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. ซุ่นโส่วเชียนหยาง กลยุทธ์จูงแพะติดมือ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 223, ISBN 978-974-690-595-4
  2. 2.0 2.1 จิวยี่อุบายจะฆ่าจูกัดเหลียงด้วยให้ทำลูกเกาทัณฑ์, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 622