กรมไปรษณีย์โทรเลข
กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นส่วนราชการระดับกรมในอดีต สังกัดกระทรวงคมนาคม และยุบเลิกโดย พระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2545 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545
ตรากรมไปรษณีย์และโทรเลข | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ยุบเลิก | 19 มกราคม พ.ศ. 2545 |
หน่วยงานสืบทอด | |
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงคมนาคม (จนถึงปี พ.ศ. 2545) |
เชิงอรรถ | |
สังกัด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2547 |
ประวัติ
แก้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม เพื่อดูแลกิจการไปรษณีย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก และได้เปิดรับฝากส่งหนังสือ (จดหมาย) ในเขตพระนครและธนบุรีเป็นการทดลองเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ที่ทำการแห่งแรกตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า "ไปรษณียาคาร" ในวันเดียวกันยังมีการจัดตั้งกรมโทรเลข เพื่อดูแลกิจการโทรเลข ซึ่งเป็นการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นกิจการแรกของประเทศสยาม
ในปี พ.ศ. 2429 กรมโทรเลข (ซึ่งได้ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้) ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหมมาดำเนินการ และขยายบริการโดยเปิดให้ประชาชนได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในกรุงเทพและธนบุรีเป็นครั้งแรก
ในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการยุบรวมกิจการกรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ใช้ชื่อใหม่ว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" โดยดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรศัพท์ และโทรเลข และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้รับโอนคลังออมสินจากกรมพระคลังมหาสมบัติ มาดำเนินการรับฝากเงินจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2472 และได้แยกคลังออมสินออกไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ ธนาคารออมสิน ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490[1] และมีการโอนกิจการกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯ และธนบุรี ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497
ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการและกิจการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ[2] เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ซึ่งต่อมาได้มีการแปรรูปเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ภารกิจ
แก้ภารกิจของกรมไปรษณีย์โทรเลข แบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่
- ยุคแรก (พ.ศ. 2426 - พ.ศ. 2441) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ และบริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี
- ยุคที่สอง (พ.ศ. 2441 - พ.ศ. 2490) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และคลังออมสิน
- ยุคที่สาม (พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2520) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ และโทรเลข ส่วนบริการโทรศัพท์ โอนกิจการไปเป็นรัฐวิสาหกิจ (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ต่อมาแปรรูปเป็น บมจ.ทีโอที ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 หลังจากนั้น ยุบรวมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน) และบริการคลังออมสิน โอนกิจการไปเป็นธนาคารออมสินตั้งแต่ พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน
- ยุคที่สี่ (พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2546) มีหน้าที่ดำเนินกิจการวิทยุสมัครเล่น และการบริหารความถี่วิทยุ ส่วนบริการไปรษณีย์และโทรเลข โอนกิจการไปเป็นรัฐวิสาหกิจ (การสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ต่อมาแยกกิจการไปรษณีย์ไปขึ้นกับ บจก.ไปรษณีย์ไทย และแยกกิจการโทรคมนาคมไปขึ้นกับกสท โทรคมนาคมตั้งแต่ พ.ศ. 2546 หลังจากนั้น ยุบรวมกับ บมจ.ทีโอที เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่วนบริการโทรเลข ซึ่งขึ้นกับ บจก.ไปรษณีย์ไทย ยกเลิกตั้งแต่ พ.ศ. 2551)
การยุบเลิก
แก้ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 โดยมีการโอนกิจการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กทช. ในขณะนั้น หรือสำนักงาน กสทช. ในปัจจุบัน) ยกเว้นกิจการไปรษณีย์ และเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างที่มีผู้ครอบครองอยู่ ให้โอนไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผลทำให้กรมไปรษณีย์โทรเลขต้องยุติการทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว[3]
ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้ยุติการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547[4]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชบัญญัติคลังออมสิน พุทธศักราช 2456
- ↑ พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
- ↑ "พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-16.
- ↑ สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๗[ลิงก์เสีย]