นกกระจอกเทศ

(เปลี่ยนทางจาก Struthio camelus)

นกกระจอกเทศ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Struthio camelus)[4] จัดอยู่ในประเภทสัตว์มีกระดูกสันหลัง สกุล Struthio เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

นกกระจอกเทศ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 15–0Ma สมัยไมโอซีนตอนต้นถึงปัจจุบัน
สายพันธ์ุแอฟริกาใต้ (S. c. australis) เพศผู้ (ซ้าย) และเพศเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
ชั้นฐาน: Palaeognathae
อันดับ: Struthioniformes
วงศ์: วงศ์นกกระจอกเทศ
สกุล: Struthio
Linnaeus, 1758[3]
สปีชีส์: Struthio camelus
ชื่อทวินาม
Struthio camelus
Linnaeus, 1758[3]
ชนิดย่อย[3]
การแพร่กระจายในปัจจุบันของนกกระจอกเทศ
  S. c. camelus   S. c. australis
  S. c. massaicus   S. molybdophanes

ลักษณะ

แก้

นกตัวผู้มีขนาดโตกว่าตัวเมียมาก ตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยขนตามลำตัวจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำ ส่วนขนปีกและขนหางจะเป็นสีขาวสวยงามมาก สำหรับตัวเมียจะมีขนตามตัวสีน้ำตาลเทาอ่อน ปากมีลักษณะแบนและกว้างมาก ดวงตากลมโต หัวเล็ก ศีรษะล้าน มีขนอ่อนบางสีเทา น้ำตาลอ่อนคล้ายสีครีมหรือผลมะอึก คอยาวและมีขนอ่อนเช่นเดียวกับหัว ปีกเล็กไม่สมตัว ขนที่ปีกยาวพอสมควรแต่ก็ไม่ใช่ขนสำหรับการบิน ซึ่งขนปีกมีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น ขาและโคนขาเป็นขาเกลี้ยง ๆ ไม่มีขน นกตัวผู้มีลำคอหย่อนยานกว่าตัวเมีย จึงโป่งคอและทำเสียงร้องเลียนแบบสิงโตได้ นกตัวผู้ 1ตัวจะคุมนกตัวเมียหลายตัว

ลักษณะเท้าของนกกระจอกเทศจะพบว่ามีนิ้วเท้าข้างละ 2 นิ้ว ใต้นิ้วเป็นเนื้ออ่อน ๆ ปลายนิ้วทู่ ๆ ใหญ่ ๆ นิ้วทั้งสองจัดเป็นนิ้วกลางและนิ้วนางเท่านั้น นิ้วที่ใหญ่มากคือนิ้วกลาง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์โลกอย่างหนึ่งคือ สัตว์ที่ไม่ใช้ความเร็วของฝีเท้าจะมีนิ้วครบชุดมือ – เท้าข้างละ 5 นิ้ว หากสัตว์นั้นต้องการความเร็วของฝีเท้าเพื่อวิ่งหนีศัตรู ธรรมชาติก็จะวิวัฒนาการให้นิ้วหายไปทีละนิ้วสองนิ้วจนเหลือแต่เพียงนิ้วเดียว เช่นเท้าของม้า มีเพียงนิ้วเดียวที่เรียกว่ากีบเท้าม้า ขนาดโตเต็มที่สูงประมาณ 2 – 2.5 เมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่จะหนักประมาณ 160 กิโลกรัม มีอายุยืนได้ถึง 65 – 75 ปี หัวเล็ก คอยาว ตาโต ขนตายาว มีขาใหญ่แข็งแรง บินไม่ได้แต่วิ่งได้เร็ว ลูกนกอายุเพียง 2-3 วันก็จะวิ่งได้แล้ว หากินในทุ่งกว้างเป็นฝูงใหญ่ อยู่ร่วมฝูงกับม้าลายและยีราฟ การต่อสู้ป้องกันตัวของนกกระจอกเทศจะกระโดดเตะได้ ระวังตัวสูง จึงหลบหลีกสัตว์กินเนื้อได้ดี ไข่ของนกกระจอกเทศเป็นไข่นกที่ใหญ่ที่สุดในโลก กินพืช, เมล็ดพืช, ผลไม้สุกและสัตว์ตัวเล็ก ๆ โดยใช้ปากงับแล้วกระดกเข้าลำคอ จากนั้นยืดคอให้ตรง ให้อาหารไหลลงไปตามหลอดอาหารในลำคอ นอกจากนั้น ยังชอบกินของแปลกปลอม โดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนแสงได้ เช่น นาฬิกา, ขวดพลาสติก

ในประเทศไทย ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจเหมือนในหลายประเทศ นกกระจอกเทศถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปลายสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ ตามบันทึกในพงศาวดารคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า ราชทูตชาวอังกฤษนำนกกระจอกเทศพร้อมสิงโตและม้าเทศจากแอฟริกาเข้ามาถวายเป็นบรรณาการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในพระราชวัง[5] [6]

นอกจากนี้แล้ว นกกระจอกเทศยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดอีกว่า เมื่อเวลาตกใจหรือเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาจะใช้หัวซุกหรือมุดลงในทราย จนเป็นที่มาของสำนวนในภาษาอังกฤษว่า "bury your head in the sand like an ostrich" (ซ่อนหัวของคุณในทรายเหมือนนกกระจอกเทศ) อันหมายถึง คนขี้ขลาดหรือคนที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความเป็นจริง แต่ความจริงแล้วนกกระจอกเทศมิได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น เชื่อว่าคงจะเป็นการเข้าใจผิดจากการที่มองเห็นนกกระจอกเทศในระยะไกลมากกว่า แท้ที่จริงแล้วคงเป็นพฤติกรรมที่ก้มหัวลงใช้จะงอยปากพลิกไข่ในหลุมขนาดใหญ่วันละหลายครั้งมากกว่า [7]

กายวิภาคศาสตร์ของนกกระจอกเทศ

แก้

นกกระจอกเทศมีแผ่นอกที่ใหญ่ ซึ่งปิดบริเวณทรวงอกไว้เพื่อป้องกันหัวใจและตับ มันไม่มีกระดูกทรวงอก ดังนั้นจึงไม่มีตำแหน่งให้กล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับยึดติด มีหัวใจ ปอด และตับอยู่ในช่องทรวงอก ทางเดินอาหารของนกกระจอกเทศนั้นยาวมาก นกกระจอกเทศโตเต็มที่จะมีทางเดินอาหารยาวประมาณ 26 ฟุต และมี caeca ขนาดใหญ่คู่หนึ่ง มีลำไส้ (colon) ยาวประมาณ 60%ของความยาวทั้งหมด

ระบบย่อยอาหาร

แก้

นกกระจอกเทศเป็นสัตว์กินพืช (Herbivorous) กระเพาะของนกจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระเพาะบด (Gizzard) เหมือนไก่ แต่ไม่มีกระเพาะพัก (Crop) และส่วนที่สองเป็นกระเพาะแท้ (Proventriculus) เหมือนสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant) บางชนิดเช่น โคและกระบือ เป็นต้น นกกระจอกเทศจึงสามารถย่อยอาหารที่มีกากใยได้ดี อาหารของนกกระจอกเทศจึงเป็นพืช ผัก หญ้า และสัตว์ตัวเล็ก เช่น ลูกกบ จิ้งจก หรือแมลงต่าง ๆ นอกจากนี้ นกกระจอกเทศยังจิกกินก้อนหินเล็ก ๆ เพื่อช่วยในการบดย่อยอาหารที่บริเวณกระเพาะบดด้วย เนื่องจากลำไส้ของนกกระจอกเทศมีความยาวมาก เวลาที่ใช้ในการย่อยจึงนานถึง 36 ชั่วโมง

ระบบทางเดินหายใจ

แก้

ระบบทางเดินหายใจของนกกระจอกเทศก็เช่นเดียวกับนกทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วยปอด และระบบถุงลมที่มีอยู่ในทรวงอกและขยายเข้าไปโพรงกระดูก กระดูกทุกซี่ไม่ได้เป็นโพรงทั้งหมดบางซี่ซึ่งรวมถึงขาท่อนล่างจะมีเปลือกนอกที่หนา นกกระจอกเทศสามารถใช้ระบบถุงลม เพื่อลดความร้อนของร่างกายได้โดยการหอบ อัตราการหายใจปกติของนกอยู่ระหว่าง 7-12 ครั้ง/นาที

ระบบสืบพันธุ์

แก้

อวัยวะสืบพันธุ์ของนกกระจอกเทศเพศผู้ประกอบด้วย 2 อัณฑะ อยู่ใน ventral cloaca แต่ไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นกกระจอกเทศไม่มีท่อปัสสาวะ

อวัยวะสืบพันธ์เพศเมียประกอบด้วยรังไข่ 1 อัน และมีปุ่มคลิตอริส (Clitoris) เล็ก ๆ อยู่บน ventral cloaca

ในเชิงเศรษฐกิจ

แก้

มนุษย์รู้จักและใช้ประโยชน์จากนกกระจอกเทศมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีแล้ว โดยใช้เนื้อและไข่ในการบริโภคส่วนขนในการทำเครื่องประดับและเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันก็ได้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง[7]

สายพันธุ์นกกระจอกเทศ

แก้

นกกระจอกเทศมีหลายสี แต่ละสีแสดงพันธุ์ที่แตกต่างกัน แบ่งได้3 ชนิด ตามสีขน ดังนี้

1. นกกระจอกเทศพันธุ์คอดำ (African black domestic หรือ Black Neck) พัฒนามาจากพันธุ์ S.camcius เป็นนกกระจอกเทศที่คนทั่วไปคุ้นเคย อาศัยอยู่ในมอรอคโคและซูดาน ลักษณะผิวหนังจะมีสีเทาดำ ขนสั้นและสีเข้มกว่าพันธุ์อื่นๆ มีนิสัยที่เชื่องมากที่สุดในบรรดานกกระจอกเทศทั้งหมด พันธุ์คอดำ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดเนื่องจากสามารถให้ไข่ได้ถึง 80 ฟอง/ปี อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ที่มีราคาสูงมาก

2. นกกระจอกเทศพันธุ์คอแดง (Red Neck) มาจากแอฟริกาตะวันออก (แทสมาเนียและเคนยา) เป็นนกกระจอกเทศป่าที่พัฒนามาจากพันธุ์ S.Camssaicus นกกระจอกเทศพันธุ์นี้จะมีผิวสีชมพูเข้ม ตัวผู้มีผิวหนังสีขาวครีมที่ต้นขาและคอ ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ผิวหนังที่ขาและคอจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มค่อนข้างสดใส ตัวผู้มีขนสีดำตลอดลำตัวยกเว้นปลายหางและปลายปีกจะมีสีขาว ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลเทา มีขนาดลำตัวใหญ่มาก สูงประมาณ 2-2.5 เมตร น้ำหนัก 105-165 kg ให้ผลผลิตเนื้อมากแต่ให้ไข่น้อย ตัวผู้ค่อนข้างดุ โดยเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์

3. นกกระจอกเทศพันธุ์คอน้ำเงิน (Blue Neck) มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือ ตะวันตก หรือทางตอนใต้ของแอฟริกาและเป็นนกกระจอกเทศป่า พัฒนามาจากพันธุ์ S. molybdophanes และ S.australis นกกระจอกเทศพันธุ์นี้จะมีผิวหนังสีฟ้าอมเทา ในตัวผู้จะมีผิวหนังสีฟ้าอมเทาบนคอ ขา และต้นขา มีเพียงหน้าแข้งเท่านั้นที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงในฤดูผสมพันธุ์ นกกระจอกเทศตัวเมียที่โตเต็มที่จะมีสีฟ้าอมเทา ขนของตัวผู้ที่โตเต็มที่จะเป็นสีดำแซมขาว ในขณะที่ขนของตัวเมียจะมีสีเทาจางๆถึงน้ำตาลเทา ให้เนื้อน้อยกว่าพันธุ์คอแดง แต่ให้ไข่มากกว่า

การเลือกทำเลในการเลี้ยงนกกระจอกเทศ

แก้

นกกระจอกเทศเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่าโปร่งแบบทุ่งหญ้า พื้นที่ราบแบบทะเลทรายที่มีพืชอาหารที่อุดมสมบูรณ์ นกชนิดนี้มีพฤติกรรมที่วิ่งเร็วมาก ชอบใช้ชีวิตแบบอิสระ และเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงนกกระจอกเทศ คือ

  • พื้นที่เป็นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง สามารถปลูกพืชอาหารสัตว์ได้
  • ควรเป็นดินร่วนปนทราย สามารถดูดซับน้ำลงสู่ดินอย่างรวดเร็ว
  • ลักษณะอากาศค่อนข้างแห้งแล้งปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 1000 มิลลิลิตร/ปี จะเหมาะมาก เพราะนกกระจอกเทศไม่ชอบอากาศชื้นแฉะ
  • ห่างไกลจากแหล่งชุมชนพอสมควร ควรเลี้ยงแบบอิสระเพื่อไม่ให้นกเครียด
  • มีแหล่งน้ำที่สะอาดสามารถให้นกกินได้ตลอดปี

การผสมพันธุ์ของนกกระจอกเทศ

แก้

นกกระจอกเทศถ้าปล่อยเลี้ยงธรรมชาติจะถึงอายุผสมพันธุ์เมื่อเพศผู้อายุราว 3-4 ปีขึ้นไปส่วนเพศเมียอายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ขึ้นไป แต่นกกระจอกเทศที่เลี้ยงเป็นฟาร์ม จะผสมพันธุ์เมื่อเพศผู้มีอายุ 2 ปีครึ่งขึ้นไป เพศเมียอายุ 2 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาหารและการจัดการเป็นหลัก อัตราส่วนการผสมพันธุ์คือ เพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 1-3 ตัว นกกระจอกเทศจะผสมพันธุ์ในช่วงที่มีอากาศเย็นและแห้ง ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม

วิธีการผสมพันธุ์

แก้

นกกระจอกเทศเพศผู้จะแสดงอาการเป็นสัด โดยการนั่งลงบนพื้นด้วยข้อเข่า แล้วกางปีกทั้งสองข้างออกโบกขึ้นลง ขณะเดียวกันหัวก็จะโยกไปตามจังหวะของการโบกปีก ส่วนตัวเมียจะแสดงอาการเป็นสัด โดยกางปีกออกสั่น แต่ไม่เหมือนตัวผู้ เมื่อนกกระจอกเทศตัวเมียนั่งบนพื้น หัวและคอจะทอดยาวไปตามพื้น แต่จะมีบางตัวที่ชูหัวตั้ง แล้วตัวผู้จะขึ้นคร่อมบนหลังตัวเมีย เพื่อสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปทางก้นของตัวเมีย ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าหากเลี้ยงนกกระจอกเทศเพศผู้และเพศเมียรวมกัน ก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์ ควรแยกตัวผู้ออกจากฝูงตัวเมีย โดยไม่ให้ตัวผู้เห็นตัวเมียเลย เพราะจะทำให้ฮอร์โมนเพศผู้สูงขึ้น ทำให้การผสมพันธุ์ติดดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่นกกระจอกเทศจะให้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

  • อาหารมีคุณภาพดีและเหมาะสม
  • ความสมบูรณ์ของก้น
  • อุณหภูมิและสิ่งแวดล้อม

ส่วนข้อพิจารณาความเหมาะสมของคู่พันธุ์ ควรพิจารณาจากสิ่งต่อไปนี้

  • ปริมาณไข่ต่อปี
  • อัตราของไข่มีเชื้อ
  • อัตราการฟักออกเป็นตัว
  • อัตราการตายของลูกนก

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยงนกกระจอกเทศ

แก้

ปัญหาที่พบในการเลี้ยงนกกระจอกเทศมีดังนี้

  • ลูกนกมีมาตรฐานอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้ ปัญหานี้อาจมีผลมาจากภาวะโภชนาการไม่ดี ไข่ถูกเก็บไว้นานเกินไป กระบวนการฟักไม่ถูกต้อง หรือห้องฟักไม่ถูกสุขอนามัย
  • ขาดอาหาร ถ้าลูกนกไม่เรียนรู้การกินอาหารใน 2-3 วันแรก ในไม่ช้าพวกมันจะเริ่มไม่มีสี ดังนั้นควรดูแลว่าลูกนกชอบอาหารที่ให้ไปหรือไม่
  • ความเครียด สาเหตุเกิดจากการถูกจับมากเกินไป หรือการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่ผิดปกติ เกิดจากความเครียดทำให้ลูกนกแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติออกมา
  • ปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ปัญหานี้ส่วนมากเป็นเรื่องของการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี มีลูกนกมากเกินไป หรือการให้ความอบอุ่นไม่เป็นผล
  • ปรสิตทั้งภายในและภายนอกและโรคต่าง ๆ ควรกำจัดปรสิตเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ควรกำจัดหมัดขนนกและเห็บด้วยสเปรย์กำจัดปรสิตภายนอก และย้ายลูกนกออกไปเพื่อทำความสะอาดคอกอย่างสม่ำเสมอ
  • ปัญหาการซื้อ ถ้าหากนกกระจอกเทศถูกเปลี่ยนเจ้าของบ่อย ๆ ลูกนกอาจปรับสภาพไม่ทันทำให้ตายได้
  • นำไปไว้ในฝูงเร็วเกินไป นกกระจอกเทศจะไม่ได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอในพื้นที่ที่ล้อมรั้วไว้ ก็อาจเป็นสาเหตุของความเครียดได้เช่นกัน
  • มีลูกนกมากเกินไปในพื้นที่จำกัด ปัญหานี้อาจทำให้ลูกนกเกิดความเครียด การกินขน และการได้รับอาหารน้อย
  • นกป่า ปัญหาที่มีนกป่ามาก่อกวนทำให้ลูกนกตื่นกลัวและไม่มีสมาธิในการกินอาหาร
  • การจัดสรรอาหารและน้ำ สามารถให้อาหารเสริมที่ทำมาจากหญ้าผสมข้าวโพด เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในการซื้ออาหารเสริมที่แพง ๆ ได้ และควรมีน้ำดื่มที่เพียงพอตลอดเวลา
  • การเก็บขน ลูกนกอายุ 6 เดือนควรเล็มก้านขนนก, อายุ7 เดือน ควรถอนขนร่างกายที่เจริญเต็มที่, อายุ 8 เดือนถอนขนนก

โรคที่พบในนกกระจอกเทศ

แก้

สาเหตุของโรคส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้และโภชนาการด้านอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ โรคดังต่อไปนี้

  • โรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลม (Nematoda) เป็นสาเหตุของการระคายตาและเป็นขี้ตา
  • โรคที่เกิดจากโพรโทซัว (Protozoa) ทำให้นกสูญเสียขน
  • โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Viral diseases) เกิดโรคฝีดาษ
  • โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย (Bacterial Diseases) เป็นสาเหตุของโรคตาแดง
  • โรคที่เกิดจากเชื้อรา (Fungal infection) ทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร

การรักษา

แก้

สำหรับการรักษาโรคที่เกิดในนกกระจอกเทศสามารถทำได้ดังนี้

รูปภาพ

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. เฉพาะประชากรในแอลจีเรีย บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชาด มาลี มอริเตเนีย โมร็อกโก ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซเนกัล และซูดาน ประชากรบริเวณอื่นไม่ได้นับรวมใน CITES Appendices

อ้างอิง

แก้
  1. BirdLife International (2018). "Struthio camelus". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T45020636A132189458. doi:10.2305/IUCN.UK.2018-2.RLTS.T45020636A132189458.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 14 January 2022.
  3. 3.0 3.1 Brands, Sheila (14 August 2008). "Systema Naturae 2000 / Classification, Genus Struthio". Project: The Taxonomicon. สืบค้นเมื่อ 4 February 2009.[ลิงก์เสีย]
  4. ราชบัณฑิตยสถาน. อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2540.
  5. หน้า 151, คำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ (พ.ศ. 2544) ISBN 974-87895-7-8
  6. "การเลี้ยงนกกระจอกเทศ". กรมปศุสัตว์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-08-19.
  7. 7.0 7.1 หน้า 8 ทัศนะ, นกกระจอกเทศ ก้อนเมฆ และปัญหา. "กรุงเทพธุรกิจ อาหารสมอง" โดย วรากรณ์ สามโกเศศ. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 31 ฉบับที่ 10645: วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. กฤษณา แก้วชะอุ่ม,ภีระ ไกรแสงศรี.หนังสือการเลี้ยงนกกระจอกเทศเชิงธุรกิจ.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ เพชรกะรัต .
  2. พันธจิต.หนังสือนกกระจอกเทศ The ostrich.นนทบุรี:สำนักพิมพ์ฐานเกษตรกรรม.
  3. อ. วสันต์ สุขวรรณมณี(2545).หนังสือคู่มือการเลี้ยงนกกระจอกเทศ.นนทบุรี:สำนักพิมพ์เกษตรสาส์น