กบทูด

(เปลี่ยนทางจาก Limnonectes blythii)

กบทูด, กบภูเขา หรือ เขียดแลว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Limnonectes blythii) เป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในที่พบได้ในประเทศไทย[2] ความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง อยู่ตามลำห้วยป่าดิบเฉพาะแห่ง โดยพบภาคตะวันตกของไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย เช่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังพบได้ในกัมพูชา, ลาว และเวียดนาม

กบทูด
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
Amphibia
อันดับ: อันดับกบ
Anura
วงศ์: วงศ์กบลิ้นส้อม
Dicroglossidae
สกุล: กบลำห้วย
Limnonectes
(Boulenger, 1920)
สปีชีส์: Limnonectes blythii
ชื่อทวินาม
Limnonectes blythii
(Boulenger, 1920)
ชื่อพ้อง

Rana macrodon var. blythii Boulenger, 1920

มีลักษณะ ปลายปากเรียวแหลมจนเห็นได้ชัด ส่วนลำตัวอ้วนใหญ่ ผิวเป็นตุ่มเล็ก ๆ ไม่สะดุดตาดูคล้ายเป็นผิวหนังเรียบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ริมฝีปากดำ มีขีดดำจากท้ายตาลากมาจนถึงเหนือวงแก้วหู บริเวณสีข้างอาจมีลาย หรือจุดสีดำ น้ำตาลเข้ม ส่วนขามีลายเข้มคาด เป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนสีผิวไปตามที่อยู่อาศัย เช่น ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดงเมื่ออาศัยอยู่ตามพงหญ้าแห้ง หรือมีสีดำเมื่อหลบซ่อนอยู่ในโพรงไม้ กบทูดเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหากินตอนกลางคืน ชอบสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เวลากลางวันมักหลบซ่อนอยู่ตามที่มืดทึบ เช่น โพรงไม้, หลุม, พงหญ้า บริเวณเหล่านี้ล้วนมีสภาพชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกบทูดไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งหรือร้อนจัดได้นาน เพราะสภาพเช่นนี้จะทำให้ผิวหนังแห้ง อาจทำให้ตายได้

ความแตกต่างเพศผู้เพศเมีย สามารถดูได้จากระยะห่างระหว่างตากับวงแก้วหู ตัวผู้จะมีระยะห่างดังกล่าวนี้ยาวกว่าตัวเมีย นอกจากนี้ ยังสังเกตได้จากเขี้ยว ซึ่งตัวผู้จะเห็นได้เด่นชัดมากกว่าตัวเมียที่มีลักษณะคล้ายตุ่มเล็ก ๆ และโดยส่วนใหญ่แล้ว กบทูดตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย

ฤดูผสมพันธุ์ของกบทูดอยู่ระหว่างเดือนมกราคม–มีนาคม เมื่อช่วงฤดูวางไข่ ตัวผู้จะขุดหลุมสำหรับตัวเมียวางไข่ เวลาผสมพันธุ์ตัวผู้ลงไปอยู่ในหลุมที่ตัวเองขุด แล้วจะส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ก็จะลงไปในหลุมนั้น หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันกลบหลุมไข่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกองหินนูนขึ้นมา ทั้งตัวเมียและตัวผู้จะผลัดกันเฝ้าหลุมไข่พร้อมกับออกหาอาหาร

กบทูดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่จัดเป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้[3]

ปัจจุบัน กบทูดเป็นสัตว์ที่หายากชนิดหนึ่งในประเทศไทย อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป กรมประมงจึงส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดแม่ฮ่องสอนสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ[4] และกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้แล้วในขณะนี้[5]

ภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. IUCN SSC Amphibian Specialist Group (2022). "Limnonectes blythii". IUCN Red List of Threatened Species. 2022: e.T222337463A114716689. สืบค้นเมื่อ 22 December 2022.
  2. http://www.focuspaktai.com/index.php?file=news&obj=news.view เก็บถาวร 2006-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (id=9724)
  3. กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
  4. เขียดแลว
  5. การเพาะเลี้ยงกบทูด หรือกบภูเขา หรือเขียดแลว เก็บถาวร 2021-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากมติชน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้