อีวาน ปัฟลอฟ

(เปลี่ยนทางจาก Ivan Pavlov)

อีวาน เปโตรวิช ปัฟลอฟ (รัสเซีย: Иван Петрович Павлов, 14 กันยายน ค.ศ. 1849 – 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936) เป็นนักจิตวิทยาและสรีรวิทยาชาวรัสเซีย-โซเวียต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ใน ค.ศ. 1904 จากงานวิจัยเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ปัฟลอฟยังเป็นที่รู้จักจากการอธิบายปรากฏการณ์การวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning)

อีวาน เปโตรวิช ปัฟลอฟ
Иван Петрович Павлов
เกิด14 กันยายน ค.ศ. 1849(1849-09-14)
เรียซัน จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936(1936-02-27) (86 ปี)
เลนินกราด สหภาพโซเวียต
สัญชาติรัสเซีย, โซเวียต
พลเมืองจักรวรรดิรัสเซีย สหภาพโซเวียต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก
มีชื่อเสียงจากการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม
Transmarginal inhibition
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (ค.ศ. 1904)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาสรีรวิทยา, จิตวิทยา, แพทย์
สถาบันที่ทำงานสถาบันการแพทย์ทหาร

ชีวประวัติและงานวิจัย

แก้

อีวาน ปัฟลอฟเกิดที่เรียซัน จักรวรรดิรัสเซีย[1] เขาเริ่มศึกษาชั้นสูงที่ Ryazan Ecclesiastical Seminary แต่ได้พักการเรียนและย้ายมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก (University of Saint Petersburg) เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและได้เป็นนักสรีรวิทยา ปัฟลอฟจบการศึกษาดุษฎีบัณฑิตใน ค.ศ. 1879

ในทศวรรษที่ 1890 ปัฟลอฟได้ศึกษาการทำงานของกระเพาะอาหารของสุนัขโดยการผ่าต่อมน้ำลายเพื่อเก็บ วัด และวิเคราะห์น้ำลายที่ตอบสนองเมื่อมีอาหารภายใต้สภาวะต่าง ๆ เขาค้นพบว่าสุนัขมีแนวโน้มหลั่งน้ำลายก่อนที่อาหารจะเข้าไปในปากจริง ๆ และเขาเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า การขับ (น้ำลาย) ทางจิตใจ (psychic secretion)

ปัฟลอฟได้ตัดสินใจที่จะศึกษาปรากฏการณ์ทางจิตใจมากกว่าศึกษาทางเคมีของน้ำลาย และได้เปลี่ยนจุดมุ่งหมายในการศึกษา โดยการจัดชุดทดลองให้สิ่งกระตุ้นก่อนที่จะให้อาหารสุนัขจริง ๆ หลักการดังกล่าวที่เขาได้ตั้งขึ้นมานั้นเป็นกฎพื้นฐานของ "รีเฟล็กซ์เรียน หรือรีเฟล็กซ์การวางเงื่อนไข" (conditional reflexes) กล่าวคือ การตอบสนองซึ่งในที่นี้คือการหลั่งน้ำลายในสัตว์จะเกิดอย่างมีเงื่อนไขตามประสบการณ์ที่เคยพบเจอในอดีต ปัฟลอฟทำการทดลองดังกล่าวระหว่างทศวรรษที่ 1890 และ 1900 และเป็นที่รู้จักกันในวงการวิทยาศาสตร์ตะวันตกจากการแปลการบรรยายของเขา แต่การตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษฉบับเต็มครั้งแรกเพิ่งจะมีใน ค.ศ. 1927

ปัฟลอฟเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลสหภาพโซเวียตซึ่งต่างจากนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น ๆ ทำให้เขาสามารถทำงานวิจัยได้ต่อไปเป็นเวลานาน นอกจากนี้เขายังได้รับการยกย่องจากวลาดิมีร์ เลนินและในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์[2][3]

หลังจากเหตุการณ์การลอบสังหารเซียร์เกย์ คีรอฟ (Sergei Kirov) ใน ค.ศ. 1934 ปัฟลอฟได้เขียนจดหมายจำนวนมากถึงวยาเชสลาฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov) วิพากษ์การลงโทษอย่างหนักและเรียกร้องให้พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนที่เขารู้จักส่วนตัวใหม่

บั้นปลายชีวิตปัฟลอฟสนใจในการใช้การวางเงื่อนไขเพื่อสร้างแบบจำลองเพื่อชักนำโรคประสาท เขาเสียชีวิตที่เลนินกราด ห้องปฏิบัติการของเขาถูกรักษาไว้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์

ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ปัฟลอฟได้ขอให้นักเรียนของเขาคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างเตียงบันทึกเหตุการณ์ขณะเขาเสียชีวิต เพราะเขาต้องการสร้างหลักฐานเกี่ยวกับประสบการณ์อัตวิสัยของบั้นปลายชีวิตของเขา การอุทิศตนเพื่อวิทยาศาสตร์ของปัฟลอฟในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเขามีความพยายามในการเรียนรู้ และเพิ่มพูนความรู้ด้านสรีรวิทยา แม้ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต[4]

การวิจัยด้านระบบรีเฟล็กซ์

แก้

ปัฟลอฟได้อุทิศตนเพื่อวิชาสรีรวิทยาและประสาทวิทยาอย่างมากมาย งานส่วนใหญ่ของเขาเกี่ยวกับการวิจัยด้านพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament), การวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม (classical conditioning) และกิริยารีเฟล็กซ์ (reflex actions)

เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการย่อยอาหารซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ใน ค.ศ. 1904[5] การทดลองของเขาเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อแยกส่วนของระบบย่อยอาหารในสัตว์ การตัดมัดประสาทแล้วสังเกตผลต่อทางเดินอาหาร และการเจาะรูจากภายนอกเข้าไปยังอวัยวะในทางเดินอาหารเพื่อศึกษาสิ่งที่อยู่ภายในอวัยวะนั้น การทดลองดังกล่าวเป็นพื้นฐานของงานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

งานวิจัยเกี่ยวกับกิริยารีเฟล็กซ์ โดยเฉพาะปฏิกิริยาต่อความเครียดและการเจ็บปวดอย่างไม่ตั้งใจ ปัฟลอฟได้นิยามพื้นอารมณ์แต่กำเนิด 4 ประเภทภายใต้การศึกษาในขณะนั้น ได้แก่ ซึมเชื่อง (phlegmatic), อารมณ์เสียง่าย (choleric), ร่าเริง (sanguine) และเศร้าโศก (melancholic) ปัฟลอฟและนักวิจัยของเขาได้สังเกตและเริ่มศึกษาการตอบสนองทางธรรมชาติของร่างกายที่เรียกว่า "shutdown" เมื่อถูกกระตุ้นโดยความเครียดหรือความเจ็บปวดอย่างมหาศาล ที่เรียกว่า transmarginal inhibition (TMI) งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบุคคลในแต่ละพื้นอารมณ์จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบเดียวกัน แต่แตกต่างจะใช้เวลาตอบสนองแตกต่างกัน เขากล่าวว่า "ความแตกต่างของพื้นฐานแต่กำเนิด .. คือระยะเวลาเร็วเท่าไรที่เขาถึงจุด shutdown และคนที่ถึงจุด shutdown เร็วโดยพื้นฐานจะมีระบบประสาทต่างชนิด" (that the most basic inherited difference. .. was how soon they reached this shutdown point and that the quick-to-shut-down have a fundamentally different type of nervous system.) [6]

คาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาได้นำงานของปัฟลอฟเกี่ยวกับ TMI มาสานต่อ และนำพื้นอารมณ์แต่กำเนิดของมนุษย์มาเชื่อมกับการสังเกตชนิดการ shutdown ในสัตว์ เขาเชื่อว่าบุคคลที่สนใจแต่ตัวเองจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่า และถึง TMI เร็วกว่าคนที่สนใจบุคคลอื่น สาขาการวิจัยด้านนี้เรียกว่า highly sensitive persons

วิลเลียม ซาร์แกนท์และคนอื่น ๆ ได้วิจัยต่อเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขทางจิตใจ เพื่อการปลูกฝังความจำและการล้างสมอง

เกียรติประวัติและมรดก

แก้
 
สุนัขตัวหนึ่งของปัฟลอฟ ที่พิพิธภัณฑ์ปัฟลอฟ เรียซัน ประเทศรัสเซีย

แนวคิดของปัฟลอฟที่เป็นที่โด่งดังไปทั่วคือ รีเฟล็กซ์มีเงื่อนไข (conditioned reflex) ซึ่งเขาพัฒนาร่วมกับผู้ช่วยชื่อ อีวาน ฟิลิปโปวิช โทโลชินอฟ (Ivan Filippovitch Tolochinov) ใน ค.ศ. 1901[7] โทโลชินอฟได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่สภาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในเฮลซิงกิใน ค.ศ. 1903[8] เมื่องานของพาฟลอฟเป็นที่รู้จักกันโลกตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อผ่านงานเขียนของจอห์น บี. วัตสัน ความคิดเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขในฐานะรูปแบบอัตโนมัติของการเรียนรู้กลายมาเป็นแนวคิดหลักของการมุ่งศึกษาด้านจิตวิทยาเปรียบเทียบ และทฤษฎีพฤติกรรมนิยม อาทิเบอร์ทรานด์ รัสเซิลล์ นักปรัชญาชาวอังกฤษได้สนับสนุนงานของพาฟลอฟเกี่ยวกับปรัชญาของจิต (philosophy of mind)

งานวิจัยของพาฟลอฟเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขสะท้อนมีอิทธิพลอย่างมากไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีกด้วย วลีที่ว่า "สุนัขของปัฟลอฟ" มักใช้เรียกคนที่ตอบสนองต่อสถานการณ์แทนที่จะใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ การวางเงื่อนไขของปัฟลอฟยังเป็นแนวคิดหลักของนิยายวิทยาศาสตร์แนวดิสโทเปียของอัลดัส ฮักซลีย์ชื่อ โลกวิไลซ์ (Brave New World) และนวนิยาย Gravity's Rainbow ชื่อโทมัส พินชอน (Thomas Pynchon) ทฤษฎีของเขายังมีผลต่อละครแนววิทยาศาสตร์เช่น ดิ เอ็กซ์-ไฟล์ส (The X-Files)

เชื่อกันว่าปัฟลอฟนั้นจะสั่นกระดิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นก่อนให้อาหารสุนัข แต่จริง ๆ แล้วจากงานเขียนของเขาบันทึกว่าเขาใช้สิ่งกระตุ้นหลากหลายชนิดมาก ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าช็อต เสียงนกหวีด เครื่องเคาะจังหวะ ส้อมเสียง และสิ่งกระตุ้นทางการมองเห็น นอกเหนือจากการใช้กระดิ่ง บางแหล่งข้อมูลยังไม่มั่นใจว่าปัฟลอฟเคยใช้กระดิ่งในงานวิจัยของเขาจริงหรือไม่[9] บางแห่งสันนิษฐานว่าคนอื่นที่เกิดในยุคเดียวกับปัฟลอฟเป็นผู้ใช้กระดิ่งทดลอง เช่น วลาดิมีร์ บาฮ์เจเรฟ (Vladimir Bekhterev) หรือจอห์น บี. วัตสัน (John B. Watson) แต่บางแห่งกล่าวว่ามีแหล่งอ้างอิงหลายแหล่งกล่าวชัดเจนว่าปัฟลอฟใช้กระดิ่งทดลอง[10]

อ้างอิง

แก้
  1. Ivan Pavlov The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1904
  2. "Ivan Pavlov". สืบค้นเมื่อ 2007-01-01.
  3. "Ivan Petrovich Pavlov :: Opposition to Communism - Britannica Online Encyclopedia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
  4. Chance, Paul. Learning and Behaviour. Wadsworth Pub. Co., 1988. ISBN 0-534-08508-3. Page 48.
  5. 1904 Nobel prize laureates
  6. Rokhin, L, Pavlov, I & Popov, Y. (1963) Psychopathology and Psychiatry, Foreign Languages Publication House: Moscow.
  7. Todes, Daniel Philip (2002). Pavlov's Physiology Factory. Baltimore MD: Johns Hopkins University Press. pp. 232 et sec. ISBN 0801866901.
  8. Anrep (1927) p142
  9. Catania, A. Charles (1994) ; Query: Did Pavlov's Research Ring a Bell?, PSYCOLOQUY Newsletter, Tuesday, 7 มิถุนายน พ.ศ. 2537
  10. Thomas, Roger K. (1994) ; Pavlov's Rats "dripped Saliva at the Sound of a Bell", Psycoloquy, Vol. 5, No. 80 http://www.cogsci.ecs.soton.ac.uk/cgi/psyc/newpsy?5.80 (accessed 22 August 2006)

บรรณานุกรม

แก้
  • Boakes, Robert (1984). From Darwin to behaviourism. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-23512-9.
  • Firkin, Barry G.; J.A. Whitworth (1987). Dictionary of Medical Eponyms. Parthenon Publishing. ISBN 978-1-85070-333-4.
  • Pavlov, I. P. (1927). Conditioned Reflexes: An Investigation of the Physiological Activity of the Cerebral Cortex. Translated and Edited by G. V. Anrep. London: Oxford University Press. Available online
  • Todes, D. P. (1997). "Pavlov's Physiological Factory," Isis. Vol. 88. The History of Science Society, p. 205–246.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้