สาวเรียวกังหัวใจเกินร้อย

(เปลี่ยนทางจาก Hanasaku Iroha)

สาวเรียวกังหัวใจเกินร้อย[1][2] (ญี่ปุ่น: 花咲くいろはโรมาจิHanasaku Iroha; "สีสันแห่งการผลิบาน")[3] หรือเรียกโดยย่อว่า ฮะนะอิโระ (花いろ; "สีสันดอกไม้")[4] เป็นชื่ออนิเมะโทรทัศน์ชุดหนึ่งซึ่งมะซะฮิโระ อันโด (Masahiro Andō) กำกับ, มะริ โอะกะดะ (Mari Okada) เขียนเรื่อง, เมล คิชิดะ (Mel Kishida) ออกแบบตัวละคร และบริษัทพีเอเวิกส์ (P.A. Works) ผลิตเพื่อเฉลิมฉลองปีที่สิบแห่งกิจการของตน[5] โดยนำออกฉายทางโทรทัศน์ญี่ปุ่นในเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2554 ต่อมา ได้รับการดัดแปลงเป็นมังงะลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารด้วย

สาวเรียวกังหัวใจเกินร้อย
Hanasaku Iroha
ใบประชาสัมพันธ์อนิเมะเป็นภาพมิงโกะ โทะโมะเอะ โอะฮะนะ ยุอินะ และนะโกะ ซ้ายไปขวาตามลำดับ
花咲くいろは
แนวตลก วีรคติ นาฏกรรม เสี้ยวชีวิต
มังงะ
  • ฮะนะซะกุอิโระฮะ
  • Hanasaku Iroha
เขียนโดยพีเอเวิกส์ (P.A. Works)
วาดภาพโดยเอโตะ ชิดะ (Eito Chida)
สำนักพิมพ์สแควร์เอนิกซ์ (Square Enix)
นิตยสารกังงังโจเกอร์ (Gangan Joker)
กลุ่มเป้าหมายโชเน็ง
วางจำหน่ายตั้งแต่ธันวาคม 2553ตุลาคม 2555
จำนวนเล่ม5
อนิเมะโทรทัศน์
  • สาวเรียวกังหัวใจเกินร้อย
  • Hanasaku Iroha
กำกับโดยมะซะฮิโระ อันโด (Masahiro Andō)
สตูดิโอพีเอเวิกส์
เครือข่ายโตเกียวเอ็มเอกซ์
ฉาย 3 เมษายน 2554 25 กันยายน 2554
ตอน26
มังงะ
  • ฮะนะซะกุอิโระฮะ: กรีนเกิลส์กราฟฟิตี
  • Hanasaku Iroha: Green Girls Graffiti
เขียนโดยพีเอเวิกส์
วาดภาพโดยจุง ซะซะเมะยุกิ (Jun Sasameyuki)
สำนักพิมพ์บันไดวิชวล (Bandai Visual)
นิตยสารเว็บคอมิกเก็กกิง (Web Comic Gekkin)
กลุ่มเป้าหมายเซเน็ง
วางจำหน่ายตั้งแต่1 กรกฎาคม 25542 กรกฎาคม 2555
จำนวนเล่ม2
ภาพยนตร์อนิเมะ
  • ฮะนะซะกุอิโระฮะโฮมสวีตโฮม
  • Hanasaku Iroha Home Sweet Home
กำกับโดยมะซะฮิโระ อันโด
เขียนบทโดยมะริ โอะกะดะ (Mari Okada)
ดนตรีโดยชิโร ฮะมะงุชิ (Shiroh Hamaguchi)
สตูดิโอพีเอเวิกส์
ฉาย30 มีนาคม 2556

เนื้อหาว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งถูกมารดาส่งไปอยู่กับยายผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมและบ่อน้ำร้อนเก่าแก่ โดยต้องทำงานเป็นบริกรในโรงแรมนั้นแลกที่อยู่ที่กิน กับทั้งต้องประเชิญและฟันฝ่าความกดดันตลอดจนอุปสรรคนานัปการเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างและไปสู่อนาคตที่ดีกว่าดังมุ่งหวัง อนิเมะนี้ชี้ปัญหาหลายประการทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาในวงครอบครัวและการทำงานที่นับวันผู้เยาว์จำต้องแบกรับมากขึ้นเนื่องจากการกระทำของผู้ใหญ่ โดยนำเสนอผ่านเนื้อเรื่องแนวตลก นาฏกรรม และวีรคติ เมื่อเผยแพร่แล้วก็ได้รับความนิยมเป็นอันมาก ทั้งเป็นโอกาสให้ฝ่ายบ้านเมืองญี่ปุ่นสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวด้วย

ครั้นปลายปี 2554 พีเอเวิกส์ประกาศว่า ได้ดำเนินโครงการที่สองของอนิเมะนี้ โดยเป็นอนิเมะยาวเรียก ฮะนะซะกุอิโระฮะโฮมสวีตโฮม (Hanasaku Iroha Home Sweet Home) เพื่อฉาย ณ โรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นในปีถัดมา[6][7]

การผลิตและเผยแพร่ แก้

อนิเมะนี้ บริษัทพีเอเวิกส์ ผลิต, ซะฮิโระ อันโด กำกับใหญ่, มะริ โอะกะดะ เขียนบท, คะนะมิ เซะกิงุชิ (Kanami Sekiguchi) กำกับการเคลื่อนไหวโดยสร้างตัวละครขึ้นจากแบบที่เมล คิชิดะ ร่างขึ้น, จิง อะเกะตะงะวะ (Jin Aketagawa) กำกับเสียง และชิโร ฮะมะงุชิ (Shirō Hamaguchi) ประพันธ์เพลงประกอบ[8]

ครั้นแล้ว จึงออกฉายทางโทรทัศน์ญี่ปุ่นผ่ายเครือข่ายของโตเกียวเอ็มเอกซ์ (Tokyo MX) กับทั้งเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ บราซิล และโปรตุเกส สิบสี่ประเทศ ผ่านเว็บไซต์ครันชีโรล (Crunchyroll) ในเวลาเดียวกัน คือ ทุก ๆ วันอาทิตย์ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2554 ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ปีเดียวกันนั้น[9][10] ต่อมา บริษัทโพนีแคนยอน (Pony Canyon) จึงเผยแพร่เป็นดีวีดีและบลูเรย์เป็นชุด ๆ ชุดแรกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ชุดสุดท้าย คือ ชุดที่หก จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554[9]

สำหรับประเทศไทย บริษัทโรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แถลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2555 ในงานแคปซูลครั้งที่ 17 ที่โรงพยาบาล​เซนต์หลุยส์ กรุงเทพมหานคร ว่า ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะนี้เข้ามาเผยแพร่ มีกำหนดจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน 2555[2][11][12] แต่ภายหลังเลื่อนมาเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2555 โดยเปิดตัว ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17 ในวันนั้นเอง[13]

เพลง แก้

อนิเมะสิบสามตอนแรกใช้เพลงเปิดชื่อ "ฮะนะโนะอิโระ" (ハナノイロ; ดอกไม้หลากสี) วงนะโนะ.ริเปะ (nano.RIPE) ร้อง และใช้เพลงปิดชื่อ "เฮซี" (Hazy; พร่ามัว) วงสเฟียร์ (Sphere) ร้อง ครั้นตอนที่สิบสี่สืบไปใช้เพลงเปิดชื่อ "โอะโมะกะเงะวาร์ป" (面影ワープ; "ตะกอนแห่งร่องรอย") วงนะโนะ.ริเปะร้อง และใช้เพลงปิดชื่อ "ฮะนะซะกุอิโระฮะ" วงแคล็มบน (Clammbon) ร้อง[14]

อย่างไรก็ดี มีบางตอนใช้เพลงอื่นปิด คือ ตอนที่หกใช้เพลง "สึกิกะเงะโทะบุรังโกะ" (月影とブランコ; "ม้าโยกและจันทรา"), ตอนที่แปดใช้เพลง "ยุเมะจิ" (夢二; "ทางฝัน"), ตอนที่สิบเอ็ดใช้เพลง "ไซโบคิวกุ" (細胞キオク; "ความทรงจำของเซลล์") และตอนที่ยี่สิบสองใช้เพลง "ไฮลีป" (ハイリープ; "ทะยาน") วงนะโนะ.ริเปะร้องทั้งสี่เพลง[14]

มีการใช้เพลงอีกสองเพลงประกอบวีดิทัศน์และอนิเมะประชาสัมพันธ์ ได้แก่ เพลง "แพทริเชีย" (パトリシア) กับเพลง "ยุเมะจิ" วงนะโนะ.ริเปะร้องทั้งสองเพลง และบริษัทแลนทิส (Lantis) จำหน่ายเป็นซิงเกิลเดียวกันตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2553[5][15][16][17][18]

อนึ่ง ในอนิเมะยังมีเพลงแทรกอีกสองเพลง คือ เพลง "บมโบะริโยะรุ" (雪洞夜; "ค่ำคืนแห่งโคม") คณะประสานเสียงเด็กซุงินะมิ (Suginami Children's Chorus Group) ร้อง กับเพลง "เรย์ออฟไลต์" (Ray of Light; ลำแสง) ไม่ปรากฏผู้ร้อง เพลงทั้งสองนี้กับเพลงอื่น ๆ อีกหกสิบเอ็ดเพลงที่ใช้ประกอบอนิเมะปรากฏอยู่ในอัลบัมชื่อ 'ฮะนะซะกุอิโระฮะ' ออริจินัลซาวด์แทร็ก (「花咲くいろは」 オリジナル・ サウンドトラック) ซึ่งแลนทิสจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2554[19]

เรื่อง แก้

เนื้อเรื่อง แก้

อนิเมะว่าด้วยโอะฮะนะ มะสึมะเอะ หญิงสาววัยสิบหกปี ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวกับซะสึกิ มะสึมะเอะ มารดา แต่มารดาหนีหนี้สินตามคนรักไปและให้เธอไปอาศัยอยู่กับซุอิ ชิจิมะ ยายที่มิเคยพบหน้าค่าตากันมาก่อน ยายของโอะฮะนะเป็นเจ้าสำนักโรงแรมและบ่อน้ำร้อนชื่อ "คิสซุอิ" (喜翆荘) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยไทโช นางซุอิให้หลานทำงานที่โรงแรมเพื่อแลกค่าอยู่ค่ากิน ณ ที่นั้น โอะฮะนะพบว่า ตนเองไม่สามารถเข้ากับพนักงานหลาย ๆ คนได้ จึงท้อแท้เป็นอันมาก ทว่า เมื่อกำหนดใจไว้แล้วว่า จะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตตนให้ดีขึ้น ก็ได้พยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับคนทั้งปวงหมายจะไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้

ฉาก แก้

เนื้อเรื่องดำเนินไปในกรุงโตเกียวกับตำบลยุโนะซะงิ (Yunosagi) อันเป็นตำบลสมมุติ[20] ตามท้องเรื่อง ตำบลยุโนะซะงินั้นอยู่ชานเมืองนะนะโอะ จังหวัดอิชิกะวะ มีลักษณะเป็นชนบทเงียบสงบติดทะเล อากาศร่มเย็น มักมีนกกระสานวลออกเพ่นพ่านทั่วไปตามท้องถนน และมีเทศกาลซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ เดือนตุลาคมเรียก "เทศกาลตามประทีป" (ぼんぼり祭り) ในเทศกาลนี้ พลเมืองจะแขวนโคมกระดาษเป็นทิวแถวไปตามสองข้างทางตั้งแต่วัดหลักเมืองเป็นต้นไป เพื่อให้เป็นแสงไฟนำทางเด็กหญิงซึ่งเป็นภูตจิ้งจอกประจำเมืองไปร่วมเทวสโมสรที่อารามหลวงอิซุโมะ (Izumo-taisha) ในจังหวัดชิมะเนะตามความเชื่อ อนึ่ง ผู้คนจะเขียนถ้อยคำอธิษฐานห้อยไว้กับโคมเพื่อภูตจิ้งจอกดังกล่าวจะได้นำส่งต่อให้แก่บรรดาเทพเจ้าที่มาประชุม ณ อารามนั้นด้วย

ตัวละคร แก้

ชื่อ พากย์
ญี่ปุ่น ไทย
  • โอะฮะนะ มะสึมะเอะ
  • (松前 緒花)
คานาเอะ อิโต เบญจวรรณ วนิชจิวพันธ์

  โอะฮะนะเป็นตัวนางของเรื่อง อายุสิบหกปี มีบุคลิกลักษณะร่าเริง มีพลังงานมาก กล้าหาญ บ้าบิ่น มีมุมมองทางบวก และมีพฤติกรรมที่คนรอบข้างมองว่าตลกขบขัน โอะฮะนะมีจุดเด่นที่ตัวเตี้ย ผมเป็นลอนโดยธรรมชาติ แต่คนอื่นมักเข้าใจว่าดัดมา นอกจากนี้ เธอยังมักติดกิ๊บรูปกลีบดอกไม้สีขาวที่ผมด้านซ้ายขวาด้านละดอก และพอใจบริโภคโคล่าเจือชาดำ

  ซะสึกิ มารดาของโอะฮะนะ หนีตามชายคนรักเพื่อช่วยกันหลบเลี่ยงการชำระหนี้สินของเขา แล้วส่งเธอไปอยู่กับนางซุอิ ยายที่มิเคยพบเจอกันมาก่อนและเป็นเจ้าสำนักโรงแรมเก่าแก่หลังหนึ่งที่ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วโอะฮะนะต้องทำงานเป็นบริกรแลกปัจจัยดำรงชีวิต ก่อนเดินทาง โคอิชิ เพื่อนสนิทของโอะฮะนะ ได้สารภาพรักต่อเธอ แต่ยังมิทันที่เธอจะได้ตอบเขาว่ากระไร เขาก็วิ่งหนีหายไปเสียก่อน ครั้นเวลาผ่านไป โอะฮะนะจึงตระหนักว่าตนก็รักเขามาก และตอบรับรักเขา ณ ท้ายเรื่อง

  • มิงโกะ สึรุงิ
  • (鶴来 民子)
จิอากิ โอมิงาวะ นิรมล กิจภิญโญชัย

  มิงโกะเป็นหญิงสาวอายุสิบหกปี เป็นพนักงานฝึกหัดในครัวโรงแรมคิสซุอิ และพำนักอาศัยที่โรงแรมระหว่างทำงาน เธอมีรูปโฉมงดงามเป็นที่ต้องใจคนทั่วไปถึงขนาดที่เพื่อนร่วมโรงเรียนพากันเรียกเธอว่า "เจ้าหญิง" และมีชายหนุ่มมาขอคบหาเป็นคู่รักอยู่มิขาดสาย ทว่า มิงโกะผู้มีกิริยาเย็นชาและมีโทสะเป็นเจ้าเรือนได้บอกปัดชายเหล่านั้นไปทั้งสิ้น

  มิงโกะนั้นต้องการเป็นแม่ครัวมืออาชีพมาแต่เด็กซึ่งขัดกับความประสงค์ของบิดามารดา เธอออกติดตามหาสถานที่ที่จะช่วยฝึกหัดเธอตามความปรารถนานั้นได้ จนมาถึงโรงแรมคิสซุอิที่ซึ่งนางซุอิยินดีรับเธอไว้หลังจากโทรุตกลงเป็นพี่เลี้ยงให้ นับแต่นั้น มิงโกะก็มีใจรักใคร่โทรุอย่างมาก

  แรกพบกัน มิงโกะรู้สึกไม่ชอบพอโอะฮะนะ เพราะโอะฮะนะรื้อถอนทำลายต้นกระเทียมที่เธอปลูกไว้หน้าโรงแรม จึงบอกให้โอะฮะนะ "ไปตายเสีย" และภายหลังเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ไข่ข้าว" นางซุอินั้นให้โอะฮะนะพักอยู่ห้องเดียวกับมิงโกะ เมื่อเวลาผ่านไป มิงโกะก็ยอมรับและสนิทสนมกับโอะฮะนะมากขึ้นตามลำดับ

  • นะโกะ โอะชิมิซุ
  • (押水 菜子)
อากิ โทโยซากิ พนาวรรณ ศรีวะโลสกุล

  นะโกะเป็นหญิงสาววัยสิบหกปี มีอากัปกิริยาช่างเหนียมอายจนเกินควร ทำงานเป็นบริกรอยู่ที่โรงแรมคิสซุอิ มีน้องสาวน้องชายอีกสามคนที่ต้องช่วยบิดามารดาเลี้ยง เมื่อได้รู้จักกับโอะฮะนะแล้วก็ได้สนิทสนมกันมากขึ้นโดยลำดับ นะโกะมีทักษะในการว่ายน้ำมากถึงขนาดที่ผู้คนเรียกขานเธอมาแต่เด็กว่า "คัปปะปะ" (Kappapa) ล้อเลียนชื่อพรายน้ำคัปปะ

  • ยุอินะ วะกุระ
  • (和倉 結名)
ฮารุกะ โทมัตสึ ศันสนีย์ ติณห์กีรดีศ

  ยุอินะเป็นหญิงสาวอายุสิบหกปี เป็นหลานของเจ้าสำนักโรงแรมฟุกุยะซึ่งโอะฮะนะสำคัญว่าเป็นโรงแรมคู่แข่งของคิสซุอิ ยุอินะเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนของโอะฮะนะ มิงโกะ และนะโกะ และมักไปไหนมาไหนกับคนทั้งสาม ยุอินะมีบุคลิกลักษณะร่าเริงแจ่มใส มักพยายามพูดสำเนียงท้องถิ่นอื่น และชื่นชอบโอะฮะนะที่มีอารมณ์ขัน ยุอินะนั้นเฝ้าถามตนเองเสมอว่า ควรรับช่วงกิจการโรงแรมของครอบครัวต่อ หรือดำเนินชีวิตไปในทางอื่นดังใจใฝ่ฝัน ภายหลังเธอได้คำตอบว่า คนเรานั้นเมื่อไม่รักชอบสิ่งใดแล้วก็มิควรฝืนใจกระทำสิ่งนั้น เมื่อเธอไม่สนใจงานโรงแรมก็จะไม่มุ่งไปทางนั้น

  • ซุอิ ชิจิมะ
  • (四十万 スイ)
ศันสนีย์ ติณห์กีรดีศ

  ซุอิเป็นหญิงวัยหกสิบแปดปี เป็นมารดาของซะสึกิกับเอะนิชิ และเป็นยายของโอะฮะนะ เดิมนางซุอิกับสามีเป็นพนักงานในโรงแรมแห่งหนึ่งและได้พบรักกัน เจ้านายรักใคร่เอ็นดูคนทั้งสองเป็นอันมาก จึงยกโรงแรมกับบ่อน้ำพุร้อนอีกแห่งหนึ่งซึ่งเวลานั้นมีอายุมากกว่าครึ่งศตวรรษให้พวกเขาสืบกิจการต่อ สามีของนางตั้งนามโรงแรมและบ่อน้ำพุนั้นว่า "คิสซุอิ" มีความหมายว่า "ความสุขของซุอิ" ทั้งสองครองรักกันและช่วยกันบุกเบิกกิจการผ่านร้อนผ่านหนาวมานานัปการจนกระทั่งมีหน้ามีตาในสังคม ทว่า ไม่ช้าไม่นานสามีนางตายละนางเสีย นางจึงสืบสานเจตนารมณ์ร่วมกันของนางกับสามีในกิจการโรงแรมนั้นต่อมา

  นางซุอิวางตัวเข้มงวดอย่างยิ่งต่อเหล่าพนักงาน ภายนอกจึงดูดุร้ายและเย็นชา แต่นางรัก เอาใจใส่ และช่วยเหลือคนทั้งนั้นเสมอมาไม่ว่าในเรื่องใด จึงได้รับทั้งความรัก ความเคารพ ความเชื่อฟัง และความเสียสละจากพวกเขา

  • ซะสึกิ มะสึมะเอะ
  • (松前 皐月)
นิรมล กิจภิญโญชัย

  ซะสึกิเป็นหญิงวัยสามสิบแปดปี เป็นบุตรของนางซุอิและเป็นมารดาของโอะฮะนะ สามีของเธอถึงแก่ความตายเมื่อนานมาแล้ว เธอคบหากับผู้ชายหลายคนแต่ก็มิได้จริงจังด้วย เพราะความรักที่มีต่อสามีนั้นมิเสื่อมคลาย ซะสึกิกับมารดาไม่ลงรอยกันในหลาย ๆ เรื่อง จึงละทิ้งมารดาและโรงแรมมาอยู่ที่กรุงโตเกียวทำงานเป็นนักเขียน ซะสึกิเลี้ยงดูโอะฮะนะแบบปล่อยปละละเลยมาแต่เล็กเพราะสาละวนอยู่กับงาน เป็นเหตุให้โอะฮะนะต้องยืนหยัดด้วยกายและใจของตนเองทั้งต้องเป็นที่พึ่งของมารดาด้วยในเวลาเดียวกัน

  • โทรุ มิยะงิชิ
  • (宮岸 徹)
จุนจิ มาจิมะ อภินันท์ ธีระนันทกุล

  โทรุเป็นชายหนุ่มวัยยี่สิบสามปี ทำงานเป็นพนักงานครัวที่โรงแรมคิสซุอิ มักพูดจาโผงผางและปากร้าย เมื่อเห็นโอะฮะนะน่ารักและจริงใจก็แหย่เย้าเธอเล่นเป็นประจำ ทำให้เธอไม่พอใจเขาสักเท่าไรนัก แต่เขานั้นหลงรักและเป็นห่วงเป็นใยเธอมากขึ้นทุกวัน เป็นเหตุให้มิงโกะซึ่งแอบชอบเขาอยู่ขุ่นเคืองโอะฮะนะเสมอ

  • โคอิชิ ทะเนะมุระ
  • (種村 孝一)
ยูกิ คาจิ ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร

  โคอิชิเป็นชายหนุ่มวัยสิบหกปี และเป็นเพื่อนสนิทของโอะฮะนะในกรุงโตเกียว เขาหลงรักโอะฮะนะมาเป็นเวลานาน กระทั่งทราบว่าเธอต้องจากกรุงโตเกียวไป จึงรวบรวมความกล้าแล้วบอกรักเธอก่อนวิ่งหนีหายไปด้วยความตื่นเต้นตกใจ ครั้นโอะฮะนะจากไปแล้ว เขาก็คอยเป็นกำลังใจให้เธออยู่ไม่ขาด แต่ความห่างเหินโดยระยะทางนั้นก็ยังให้เขารู้สึกราวกับถูกโอะฮะนะทิ้งไป

  • โทะโมะเอะ วะจิมะ
  • (輪島 巴)
มามิโกะ โนโตะ ศันสนีย์ ติณห์กีรดีศ

  โทะโมะเอะเป็นหญิงวัยยี่สิบแปดปี ทำงานเป็นพนักงานที่โรงแรมคิสซุอิโดยเป็นหัวหน้าบริกร เนื่องจากอายุใกล้สามสิบปีแล้วแต่ยังเป็นโสด จึงมักถูกมารดาเร่งเร้าให้หาคู่อยู่เป็นนิตย์

  • เอะนิชิ ชิจิมะ
  • (四十万 縁)
กริน อักษรดี

  เอะนิชิเป็นชายวัยสามสิบสองปี เป็นบุตรของนางซุอิ และเป็นน้องชายของซะสึกิ โดยศักดิ์จึงเป็นน้าของโอะฮะนะ สมัยเด็กเขาถูกพี่สาวแกล้งบ่อยครั้ง ครั้นโอะฮะนะมาแล้ว จึงแกล้งเธอบ้าง เมื่อโรงแรมคิสซุอิเลิกกิจการลง เอะนิชิกำหนดใจว่าจะเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะของตนในการบริหารจัดการเพื่อสืบทอดโรงแรมต่อจากมารดา

  • เร็นจิ โทะงะชิ
  • (富樫 蓮二)
ทาโร ยามางุจิ คมสรร รัตนากรบดี

  เร็นจิเป็นชายวัยสี่สิบสองปี ทำงานเป็นหัวหน้าพ่อครัวที่โรงแรมคิสซุอิ และเป็นพี่เลี้ยงของโทรุ เขามีรูปร่างกำยำใหญ่โต ที่ใบหน้ามีบาดแผลเล็ก ๆ บาดแผลหนึ่ง และมักมีอารมณ์ฟืดฟาด คนภายนอกจึงมักยำเกรงและหวาดกลัวเขา แต่คนภายในนั้นทราบดีว่า เขามีจิตใจอ่อนโยน และเกิดความวิตกกังวลได้ง่ายอย่างยิ่งเมื่อถูกกดดัน

  • ทะกะโกะ คะวะจิริ
  • (川尻 崇子)
อายุมิ สึเนมัตสึ นิรมล กิจภิญโญชัย

  ทะกะโกะเป็นหญิงอายุสามสิบปี เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของเอะนิชิ และทำงานเป็นที่ปรึกษาฝ่ายบริการจัดการของโรงแรมคิสซุอิ แต่มักเสนอแผนการที่คุ้มดีคุ้มร้าย จึงมักเป็นที่หวั่นใจของชาวคิสซุอิทั่วกัน ทะกะโกะนั้นมักพูดญี่ปุ่นคำอังกฤษคำ และภายหลังได้สมรสกับเอะนิชิ

  • ทะโร จิโรมะรุ
  • (次郎丸 太朗)
จุนอิจิ สึวาเบะ ภัคภูมิ ลิ้มมานะสภาพร

  ทะโรเป็นชายวัยสามสิบเอ็ดปี เป็นนักเขียนนิยาย มาหลอกอาศัยอยู่ที่โรงแรมคิสซุอิ เมื่อถูกจับได้จึงทำงานใช้หนี้สิน ทะโรนั้นมักเขียนนิยายเร้ากำหนัดโดยใช้ชาวคิสซุอิเป็นตัวละคร งานเขียนของเขายังรวมถึงมังงะเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้มิงโกะกับโทรุรักจะเป็นพ่อครัวแม่ครัวด้วย เมื่อคนทั้งสองทราบว่าเป็นผลงานของเขาแล้วก็ให้รู้สึกพิพักพิพ่วนขึ้นในทันใด

  • เด็นโระกุ ซุเกะงะวะ
  • (助川 電六)
โช คมสรร รัตนากรบดี

  เด็นโระกุเป็นชายวัยเจ็บสิบสามปี ทำงานเป็นภารโรงที่โรงแรมคิสซุอิตั้งแต่หนุ่ม ชาวคิสซุอิเรียกเขาว่า "ลุงเมล็ดถั่ว" (マメ父) เพราะชื่อเด็นโระกุคล้ายนามบริษัทถั่วชื่อดังแห่งหนึ่ง

หมายเหตุ:     = ไม่ทราบ

สื่ออื่น แก้

มังงะ แก้

เอโตะ ชิดะ (Eito Chida) ดัดแปลงอนิเมะนี้เป็นมังงะ ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร กังงังโจเกอร์ (Gangan Joker) ของสำนักพิมพ์สแควร์เอนิกซ์ (Square Enix) ตั้งแต่ฉบับเดือนตุลาคม 2553 แล้วรวมเล่มจำหน่าย เล่มแรกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2554 เล่มถัดมาวันที่ 22 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[21] ต่อมา จุง ซะซะเมะยุกิ (Jun Sasameyuki) เขียนมังงะภาคเสริมเรียก ฮะนะซะกุอิโระฮะ: กรีนเกิลส์กราฟฟิตี (Hanasaku Iroha: Green Girls Graffiti) มีมิงโกะเป็นตัวนาง ลงเผยแพร่ในนิตยสารออนไลน์ เว็บคอมิกเก็กกิง (Web Comic Gekkin) ของบริษัทบันไดวิชวล (Bandai Visual) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554[21]

อนิเมะโรง แก้

วันที่ 10 ธันวาคม 2554 บริษัทพีเอเวิกส์แถลงว่า ได้ดำเนินโครงการที่สองของอนิเมะนี้ โดยเป็นอนิเมะยาวชื่อ ฮะนะซะกุอิโระฮะโฮมสวีตโฮม เพื่อฉาย ณ โรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นในปี 2555[6][7] ครั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 นิตยสาร กังงังโจเกอร์ ฉบับเดือนมิถุนายน 2555 ก็ได้ลงโฆษณาประชาสัมพันธ์อนิเมะโรงดังกล่าว และเว็บไซต์ผู้ถือสิทธิ์เผยแพร่ในต่างประเทศก็ได้ลงประกาศยืนยันข่าวนั้นด้วย ทว่า ยังมิได้กำหนดการฉายแต่ประการใด[22]

 
 
ซ้าย: ป้ายสถานีรถไฟยุโนะชิงะซึ่งการรถไฟญี่ปุ่นให้ติดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2555
ขวา: รถไฟในจังหวัดอิชิกะวะซึ่งประดับรูปตัวละครจากอนิเมะนี้

การตอบรับ แก้

การตอบรับเชิงวิพากษ์ แก้

อนิเมะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางบวกโดยทั่วกัน เว็บไซต์เมเนีย (Mania) ชื่นชมความสามารถของคานาเอะ อิโต ในการพากย์เป็นโอะฮะนะ กับทั้งสรรเสริญความสวยงามและคุณภาพของภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนการดำเนินเรื่องราว แต่กล่าวว่า อนิเมะเริ่มเรื่องมาทำนองซ้ำซากจำเจ[23]

เครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ยกย่องความสมจริงและคุณภาพของภาพเคลื่อนไหว คณะนักพากย์ กับทั้งเพลงเปิดและปิดอนิเมะ นอกจากนี้ เห็นว่า ตัวละครออกแบบมาได้ดี มีลักษณะดึงดูดใจอย่างประจักษ์ชัด และมีอุปนิสัยที่ช่วยธำรงความสมจริงไว้ได้ โดยเฉพาะโอะฮะนะมีบุคลิกลักษณะยอดเยี่ยมเหนือตัวละครจำพวกโมะเอะที่ปรากฏอยู่ทั่วไป[24] เครือข่ายข่าวอนิเมะยังว่า เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ปฏิกิริยาระหว่างตัวละครทั้งหลายนั้นน่าประทับใจและมีความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ของโอะฮะนะกับมารดาและยายนั้นเขียนขึ้นได้ดีนักหนาทั้งยังชวนใจหวิวไปพร้อมกับตัวละครด้วย[25] ที่สุดแล้ว เครือข่ายข่าวอนิเมะประเมินว่า อนิเมะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในบรรดาที่ดีที่สุดสำหรับปี 2554 นั้น[26]

การตอบรับทางความนิยม แก้

สถานที่สมมุติหลาย ๆ แห่งในอนิเมะนั้นอ้างอิงสถานที่จริง เป็นต้นว่า โรงแรมคิสซุอิมีน้ำพุร้อนยุวะกุ (Yuwaku Hot Spring) ในเมืองคะนะซะวะ จังหวัดอิชิกะวะ เป็นต้นแบบ[27] และสถานีรถไฟยุโนะชิงะได้แรงบันดาลใจจากสถานีรถไฟนิชิงิชิ (Nishigishi Station) เมืองนะนะโอะ จังหวัดอิชิกะวะ[20]

เมื่ออนิเมะนี้ออกเผยแพร่ในกลางปี 2554 และได้รับความนิยมเป็นอันมาก ผู้คนมากมายก็หลั่งไหลไปเยี่ยมชมน้ำพุร้อนยุวะกุ ถึงขนาดทำให้โรงแรมในท้องที่นั้นและใกล้เคียงได้รับการจองเต็มทั้งสิ้นในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในปีนั้นเป็นเหตุให้มีผู้ถอนการจองไปถึงหนึ่งพันห้าร้อยคน[27] ต่อมา การรถไฟญี่ปุ่นได้ติดตั้งป้ายสถานีรถไฟยุโนะชิงะขึ้นที่หน้าสถานีรถไฟนิชิงิชิในเดือนเมษายน 2555 ทั้งยังได้แต่งขบวนรถไฟในจังหวัดอิชิกะวะเป็นรูปตัวละครจากอนิเมะออกให้บริการ และจัดให้บรรดาผู้พากย์เป็นโอะฮะนะ มิงโกะ นะโกะ กับยุอินะบรรยายประวัติจังหวัดเปิดในรถไฟระหว่างโดยสารไปจังหวัดนั้น ตลอดจนจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ เกี่ยวเนื่องกับอนิเมะนี้ เป็นต้นว่า ตุ๊กตาตัวละครแต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานรถไฟ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย[20][28][29]

อ้างอิง แก้

  1. Admin (2555, 7 มิถุนายน). "มาโหวตชื่อไทยของ Hanasaku Iroha กันเถอะ". โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์. สืบค้นเมื่อ 2555, 9 มิถุนายน. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 "ประกาศลิขสิทธิ์ใหม่จากโรสมีเดีย พ่อบ้านมูฟวี่ - สาวเรียวกัง - จอมโซ้ย - ชมรมไร้เพื่อน". โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์. 2555, 7 มิถุนายน. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  3. "花咲く舞台袖・Q&A① タイトル" [Hanasaku Stage Wings Q&A 1: Title] (ภาษาญี่ปุ่น). P.A. Works. December 8, 2010. สืบค้นเมื่อ May 18, 2011.
  4. "花咲くいろはスペシャルインタビュー第9回" [Hanasaku Iroha Special Interview No. 9] (ภาษาญี่ปุ่น). P.A. Works. สืบค้นเมื่อ March 22, 2011.
  5. 5.0 5.1 "P.A. Works' Hana-Saku Iroha Previewed with Promo Video". Anime News Network. August 1, 2010. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  6. 6.0 6.1 "Hanasaku Iroha Gets New Anime in 2012". Anime News Network. December 10, 2011. สืบค้นเมื่อ December 10, 2011.
  7. 7.0 7.1 "「花いろ」聖地、湯涌に5千人 アニメの「ぼんぼり祭り」再現". The Hokkoku Shimbun. October 10, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-02. สืบค้นเมื่อ February 28, 2012.
  8. "スタッフ&キャスト" [Staff & Cast] (ภาษาญี่ปุ่น). P.A. Works. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  9. 9.0 9.1 "Hanasaku Iroha DVD releases" (ภาษาญี่ปุ่น). P.A. Works. สืบค้นเมื่อ October 29, 2011.
  10. "Crunchyroll Confirms Hana-Saku Iroha Simulcast". Anime News Network. March 28, 2011. สืบค้นเมื่อ May 30, 2011.
  11. "ประกาศลิขสิทธิ์ใหม่จากโรสมีเดีย พ่อบ้านหนังโรง - สาวเรียวกัง - จอมโซ้ย - เนื้อ". โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์. June 5, 2012. สืบค้นเมื่อ June 6, 2012.
  12. "โรส มีเดีย สร้างสถิติใหม่และเปิดตัวการ์ตูนใหม่ล่าสุด ณ งาน". อาร์วายทีไนน์. 2555, 12 มิถุนายน. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  13. "มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17". โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์. 2555, 16 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 2555, 19 ตุลาคม. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  14. 14.0 14.1 "インフォメーション" [Information] (ภาษาญี่ปุ่น). P.A. Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ April 3, 2011.
  15. "パトリシア" [Patricia] (ภาษาญี่ปุ่น). Lantis. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-11. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  16. "Qwaser, Zakuro, Hana-Saku Iroha Promos Streamed". Anime News Network. August 31, 2010. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  17. "P.A. Works' Hana-Saku Iroha Promo Video Streamed". Anime News Network. October 7, 2010. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  18. "Hana-Saku Iroha, Fractale Anime Promo Videos Streamed". Anime News Network. December 10, 2010. สืบค้นเมื่อ December 20, 2010.
  19. "[Hanasaku Iroha] Original Soundtrack (CD)". 1999.co.jp. May 11, 2012.
  20. 20.0 20.1 20.2 ""Hanasaku Iroha" Train Pulls Out of Yunosagi Station". Crunchyroll. March 27, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-30. สืบค้นเมื่อ May 20, 2012.
  21. 21.0 21.1 "花咲くいろは Green Girls Graffiti" [Hanasaku Iroha: Green Girls Graffiti] (ภาษาญี่ปุ่น). Bandai Visual. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-13. สืบค้นเมื่อ July 17, 2011.
  22. "Hana-saku Iroha: Home Sweet Home to Open In Theaters in 2012". Anime News Network. May 21, 2012. สืบค้นเมื่อ May 21, 2012.
  23. G.B. Smith (April 4, 2011). "Hanasaku Iroha Episode #01 review". Mania. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-19. สืบค้นเมื่อ October 29, 2011.
  24. Kimlinger, Carl (May 23, 2011). "Episodes 1-7 Streaming review". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ October 29, 2011.
  25. Kimlinger, Carl (July 6, 2011). "Episodes 8-13 Streaming review". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ October 29, 2011.
  26. Kimlinger, Carl (October 17, 2011). "Episodes 14-26 Streaming review". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ October 29, 2011.
  27. 27.0 27.1 "アニメファン、湯涌に続々 「花咲くいろは」モデル" [Anime Fans One After Another Come to Yuwaku, the Model for "Hanasaku Iroha"] (ภาษาญี่ปุ่น). Hokkoku Shimbun. June 11, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-15. สืบค้นเมื่อ November 8, 2011.
  28. "のと鉄道花咲くいろは声優陣による車内放送 七尾→穴水". Metropolitan Railway Company. July 13, 2011. สืบค้นเมื่อ May 20, 2012.
  29. "制服の細部やポージング小道具などこだわりの詰まった仕上がり 和倉ななお 運転士 のと鉄道株式会社 (鉄道むすめ 鉄道制服コレクション vol.8 トミーテック)". Metropolitan Railway Company. May 20, 2012.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้