คัปปะ (ญี่ปุ่น: 河童โรมาจิKappa โดยทั่วไปนิยมทับศัพท์ว่า "กัปปะ") เป็นผีญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกพรายน้ำ

กัปปะ
ภาพคัปปะ จากหนังสือ "ซุยโกะ โกรยากุ" ของโคกะ โตอัน ใน ค.ศ. 1836 (ผลิตใน ค.ศ. 1820)
กลุ่มโยไก
ชื่ออื่นกาทาโร, คาวาโกะ
ประเทศประเทศญี่ปุ่น
ถิ่นที่อยู่แม่น้ำ

รูปร่างและลักษณะนิสัย

แก้

คัปปะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างออกไปตามแต่ละความเชื่อ แต่โดยรวมแล้วคัปปะจะเป็นส่วนผสมของสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิด เช่น เชื่อว่าคัปปะมีส่วนสูงเพียง 3–4 ฟุต มีผิวหนังสีเขียวหรือสีน้ำตาลกระดำกระด่าง มีเมือกลื่นคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือมีขนดกทั่วทั้งตัว หรือกระทั่งมีเกล็ดหุ้มลำตัวเหมือนปลา และที่หลังมีกระดองเต่า นิ้วของคัปปะมีลักษณะคล้ายกับกบ คือ มีพังผืดเชื่อมต่อกันเพื่อใช้ในการว่ายน้ำ ใบหน้าและปากของคัปปะแหลมยาว มีจะงอยปากงุ้มที่แข็งแรงและคมกริบมาก บนกลางศีรษะจะแบนราบเหมือนจานไม่มีเส้นขนหรือผม แขนขาของคัปปะยาวและยืดหยุ่นได้ เป็นปีศาจที่อาศัยอยู่ตามหนองน้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เชื่อว่า อาหารที่คัปปะชอบคือ แตงกวา ชอบเล่นซูโม่เพราะมีพละกำลังมาก ลักษณะพิเศษคือ มีจานอยู่บนหัวไว้เก็บน้ำ ซึ่งน้ำจะทำให้คัปปะมีพลังพิเศษ และมีพละกำลังมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าสูญเสียน้ำไป คัปปะจะอ่อนแรงลงอย่างมาก ถึงขนาดที่ไม่สามารถขยับตัวได้ ถึงแม้ว่าคัปปะจะมีรูปร่างพอ ๆ กับเด็ก แต่ก็เป็นผีที่เอาชนะได้ยาก เมื่อคัปปะขึ้นจากน้ำจะหมดฤทธิ์ จึงใส่น้ำไว้บนศีรษะที่แบนราบของตัวเอง ดังนั้นเมื่อพบเจอกับคัปปะให้ก้มคาราวะ เมื่อคัปปะคาราวะตอบ น้ำบนศีรษะจะหก ทำให้หมดฤทธิ์ และอีกวิธี ก็คือ ให้เขียนชื่อตัวเอง ลงไปในแตงกวา แล้วขว้างลงไปในแม่น้ำ เมื่อ คัปปะ มาเจอแตงกวานี้เข้าก็จะกินอย่างเอร็ดอร่อย และ ก็จดจำชื่อ ที่อยู่บนแตงกวาด้วย คราวหน้าบังเอิญต้องเจอะเจอเจ้าของชื่อ คัปปะ ก็จะไม่ทำอันตรายอะไร ปัจจุบันมีซูชิชนิดหนึ่ง ไส้แตงกวา เรียกว่า "คัปปะมะกิ" (ญี่ปุ่น: カッパまき)

ภาพคัปปะที่โดนวาดโดย คะสึชิกะ โฮะกุไซ
 
ภาพคัปปะที่โดนวาดโดยโทะริยะมะ เซกิเอน
ภาพทาคางิ โทระโนะสุเกะ กำลังจับตัวคัปปะ วาดโดยอุตะงะวะ คุนิโยะชิ
ภาพคัปปะที่โดนวาดโดยจิตรกร

คัปปะมีความมั่นใจในพละกำลังตัวเองมาก มักจะท้ามนุษย์ในการแข่งซูโม่ จึงมีเรื่องเล่าว่า คนที่ฉลาดจะทำความเคารพคัปปะก่อนเริ่มการประลอง ด้วยการก้มศีรษะ แล้วคัปปะจะก้มตาม ทำให้น้ำกระฉอกออกจากจาน คัปปะจะอ่อนแรงลง และพ่ายแพ้ในที่สุด ซึ่งจะทำให้คัปปะเสียใจอย่างมาก ด้วยเหตุที่คัปปะ ชอบกินแตงกวา ในฤดูเก็บเกี่ยวแตงกวาของเกษตรกร ที่ญี่ปุ่นจึงมีธรรมเนียมการลอยแตงกวาลงแม่น้ำ เพื่อเซ่นเทพเจ้าแห่งน้ำ และทำทานให้ผีอดโซ เป็นที่มาของเรื่องเล่าที่ว่า หากชายใดแก้ผ้าลงเล่นน้ำในแม่น้ำ อาจถูกคัปปะดึงของลับ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแตงกวาที่เอามาเซ่น คัปปะมีนิสัยที่ขี้เล่นและอยากรู้อยากเห็น ซึ่งบางครั้งก็เป็นอันตรายกับมนุษย์ คัปปะก็มีความอันตรายเช่นเดียวกับผีร้ายอื่น ๆ มีเรื่องเล่าอยู่เสมอ ๆ ว่าคัปปะเคยหลอกล่อให้คนลงไปในน้ำ มักจะลากม้า หรือ วัว, ควาย แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ เด็ก ๆ ลงแม่น้ำจนจมน้ำตาย หากถูกชาวประมงจับได้ จะผายลมออกมาป้องกันตัว ซึ่งมีกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีเรื่องเล่าที่ว่า คัปปะจะคอยแอบอยู่แถว ๆ ห้องส้วม เมื่อเผลอคัปปะจะแกล้งโดยใช้นิ้วสวนทวาร ซึ่งพฤติกรรมพิเรนนี้ อาจทำให้ถูกจับตัวได้ แต่คัปปะมีความสุภาพอ่อนน้อมและมีสัมมาคาราวะมาก คัปปะเป็นผีที่มีความคิดความรู้สึกผิด จะมาขอโทษโดยการจับปลามาให้ที่หน้าประตูบ้านทุกวัน หรือไม่ก็มอบยาสมุนไพรชั้นเลิศที่ปรุงขึ้นมาให้ ซึ่งเชื่อว่าคัปปะมีความเชี่ยวชาญด้านการปรุงยาลี้ลับอย่างมาก

ความเชื่อ

แก้
 
The Praying Hand bath of Kappa's Family เมืองโจซังเค

ความเชื่อเรื่อง คัปปะ มีกระจายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เกาะคิวชู มีตำนานเล่าว่ามีช่างไม้ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ชื่อ ฮิดะริ จินโกะโระ อ้างว่าตุ๊กตาไม้ที่ตนทำโยนลงน้ำ กลายเป็นคัปปะไป อีกตำนานก็เล่าว่า เดิมคัปปะเป็นเทพที่ดูแลแม่น้ำลำคลอง แต่เมื่อมนุษย์เลิกนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คัปปะเลยตกชั้นเป็นเพียงภูติผีธรรมดา ที่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีศาลเจ้าบูชาคัปปะ โดยพ่อแม่ของเด็กจะนำของมาเซ่นไหว้คัปปะ เช่น เหล้าสาเก, น้ำ, คัมภีร์, กลอง เพื่อไม่ให้คัปปะยุ่งเกี่ยวกับลูกของตน และที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่งห่างจากเมืองฟุกุโอกะราว 2 ชั่วโมง ก็มีสิ่งที่เชื่อว่าเป็นซากของคัปปะอยู่ด้วย ซึ่งซากนี้มีอายุกว่า 400 ปี หรือในราวยุคเอโดะ โดยมีผู้พบที่ห้องใต้หลังคา แต่ทว่าซากนี้ก็ยังมิได้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวก็มีกระดูกเท้าของสัตว์ชนิดหนึ่ง พระที่วัดแห่งนี้เชื่อว่าเป็นกระดูกของคัปปะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตววิทยาเห็นว่าไม่น่าจะใช่เท้าของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพราะไม่ปรากฏพังผืด แต่น่าจะเป็นเท้าของสัตว์จำพวกสุนัข

อาจเป็นไปได้ว่า สิ่งที่มีบุคคลเห็นเป็นคัปปะ คือ สัตว์บางประเภทเช่น นาก หรือ ลิง มาก้มดื่มน้ำในเวลากลางคืนก็ได้

ที่เมืองโตะโนะ จังหวัดอิวะเตะ ในภูมิภาคโทโฮะกุ มีความเชื่อเรื่องคัปปะมาก จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ที่นี่มีพยานจำนวนมากที่อ้างว่าตนพบเห็นคัปปะ ผู้ที่เคยพบกล่าวว่าเห็นคัปปะในพุ่มไม้ มีตาแวววาว เชื่อว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำ เมื่ออากาศหนาวก็ย้ายเข้าไปอยู่ในถ้ำ ที่นี่มีแม่น้ำ คือ แม่น้ำคัปปะบุชิ (カッパ淵) เชื่อว่าที่ต้นน้ำเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคัปปะ

ปัจจุบัน

แก้

ปัจจุบันเรื่องราวของคัปปะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์, ละคร หรือการ์ตูนต่าง ๆ มากมาย เช่น ตัวละคร ซึเนโอะ ในเรื่องโดราเอมอน ก็นำมาจากคัปปะนั่นเอง โดยมากแล้ว คัปปะ ที่ปรากฏตามสื่อในวัฒนธรรมร่วมสมัยต่าง ๆ นั้น มักจะไม่มีภาพของความน่ากลัวหรือเป็นอันตราย ซึ่งต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังคงมีป้ายเตือนอันตรายจากคัปปะอยู่ตามริมแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น และพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นก็จะสอนลูก ๆ ของตนให้กลัวคัปปะเมื่อลงไปเล่นใกล้กับแหล่งน้ำ

อ้างอิง

แก้