วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ

(เปลี่ยนทางจาก Bangkok Symphony Orchestra)

วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ Bangkok Symphony Orchestra (ชื่อย่อ BSO) เป็นวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 โดยวิทยา ตุมรสุนทร ประกอบด้วยนักดนตรีอาชีพ 60 คน มีฐานะเป็นชมรมในชื่อว่า "ชมรมวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ" และได้รับพระกรุณาให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยมีอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานชมรม อัจฉรา เตชะไพบูลย์ เป็นกรรมการ และเลขานุการ

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า "มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" (Bangkok Symphony Orchestra Foundation under the Royal Patronage of His Royal Highness Crown Prince Maha Vajiralongkorn) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิรอยัลแบงค์ค็อกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา" (Royal Bangkok Symphony Orchestra Foundation under The Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya - RBSO)[1]มีคุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ เป็นรองประธานกรรมการปัจจุบันมีสมาชิก รวม 70 คน ประกอบด้วย นักดนตรีอาชีพจากหน่วยงาน สถาบัน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ตั้งแต่ก่อตั้งวงจนถึงปัจจุบัน มีผู้อำนวยการด้านดนตรี ดังนี้

  • พลเรือตรีวีระพันธ์ วอกลาง พ.ศ. 2525-2532
  • Vladimir Kin ชาวรัสเซีย พ.ศ. 2532-2534
  • Timm Tzschaschel ชาวเยอรมัน พ.ศ. 2534-2537
  • John Georgiadis ชาวอังกฤษ พ.ศ. 2537-2539
  • Hikotaro Yazaki ผู้อำนวยเพลงชาวญี่ปุ่น 2539 - 2551
  • Michel Tilkin ผู้อำนวยเพลงชาวเบลเยียม 2561-2564

ปัจจุบัน วานิช โปตะวนิช และ นรอรรถ จันทร์กล่ำ ทำหน้าที่เป็นวาทยากรประจำวง (Resident Conductor) และมีผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียงระดับโลก รับเชิญเป็นผู้อำนวยเพลงเป็นครั้งคราว เช่น เมห์ธา ชาร์ดาด โรฮานี ฮิโคทาโร ยาซากิ

วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ มีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตอย่างสม่ำเสมอ เน้นการแสดงประเภท ซิมโฟนีออเคสตร้า เป็นหลัก, มีกิจกรรม "คอนเสิร์ตในสวน" จัดแสดงดนตรีในวันสุดสัปดาห์ที่่สวน 100 จุฬาฯ และบันทึกเสียงลงแผ่นซีดีวางจำหน่ายทั่วไป

ปัจจุบันมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ได้จัดตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี (Bangkok Symphony Music School : BSS) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรี และเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านดนตรีคลาสสิกในอนาคต

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้