ไนโตรเจนออกไซด์

ไนโตรเจนออกไซด์ (อังกฤษ: Nitrogen Oxide (NOx) หรือ กลุ่มก๊าซที่มีความไว (Highly reactive gases) เป็นก๊าซซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมีของไนโตรเจนและออกซิเจน ในอัตราส่วนแตกต่างกัน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ยกเว้นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เมื่อรวมตัวกับอนุภาคอื่น ๆ ในอากาศ จะเห็นเป็นชั้นสีน้ำตาลแดง

สาเหตุการเกิด

แก้

ก๊าซจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติแต่เกิดในปริมาณไม่มากนัก ส่วนสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ในอุณหภูมิสูง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือน โดยสัดส่วนการเกิดจากรถยนต์มีสูงถึงร้อยละ 55 ของการเกิดทั้งหมด[1]

ก๊าซในกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์

แก้
  1. ไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) หรือ ไนโตรเจนมอนอกไซด์
  2. ไนโตรเจนไดออกไซด์
  3. ไนโตรซิลาไซด์ (Nitrosylazide, N4O)
  4. ไนเตรทเรดิคัล (Nitrate radical, NO3)
  5. ไดไนโตรเจนไตรออกไซด์ (Dinitrogen trioxide, N2O3)
  6. ไดไนโตรเจนเตตรอกไซด์ (Dinitrogen tetroxide, N2O4)
  7. ไดไนโตรเจนเพนตอกไซด์ (Dinitrogen pentoxide, N2O5)
  8. ไตรไนเตรไมด์ (Trinitramide, N(NO2)3)
ภาพแสดงการจับตัวของก๊าซในกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์

ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

แก้

ด้วยอัตราส่วนผสมที่แตกต่างในแต่ละตัวของไนโตรเจน จึงส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และก๊าซในกลุ่มนี้สามารถเคลื่อนที่ไปจากแหล่งกำเนิดได้เป็นระยะทางไกลกว่าร้อยกิโลเมตร

  1. โอโซน เมื่อไนโตรเจนออกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารระเหยอินทรีย์ (Volatile Organic Compound) และมีพลังงานจากแสงอาทิตย์ช่วยเร่งปฏิกิริยา จะทำให้เกิดหมอกควัน (Smog) ในระดับภาคพื้นดิน เมื่อมนุษย์สูดดมก๊าซนี้เข้าไปเป็นเวลานาน เนื้อปอดจะถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลงโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดหรือระบบทางเดินหายใจ แม้พื้นที่ไกลจากจุดกำเนิดก๊าซก็ได้รับผลกระทบได้เนื่องจากก๊าซสามารถเคลื่อนที่ไปสู่ที่ต่าง ๆ ได้ด้วยการพัดพาของกระแสลม
  2. ฝนกรด เมื่อไนโตรเจนออกไซด์ หรือ ก๊าซในกลุ่มซัลเฟอร์ออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับสารตัวอื่นที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก หากตกลงสู่พื้นดินในรูปแบบ ฝน หมอก หิมะ หรืออนุภาคอื่น ๆ ที่ไม่มีองค์ประกอบของน้ำ หากวัตถุใดสัมผัสจะทำให้เกิดภาวะการกัดกร่อน หากตกลงในแหล่งน้ำจะทำให้เกิดภาวะความเป็นกรด ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเหล่านั้นทำให้ไม่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
  3. กรดไนตริก เกิดจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับสารประกอบตัวอื่น ๆ เช่น แอมโมเนีย หรือ ไอน้ำ ทำให้เกิดฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็ก หากสูดดมเข้าไปจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายปอด ส่วนผู้ที่มีภาวะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่แล้วจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ
  4. ไนเตรท หากอยู่ในแหล่งน้ำมากเกินไปจะทำพืชน้ำเจริญเติบโตมากจนทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำนั้น
  5. ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) เกิดจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
  6. สารประกอบทางเคมีเป็นพิษอื่น ๆ เช่น ไนเตรทเรดิคัล ไนโตรเรนส์ ไนโตรซาไมด์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
  7. บดบังทัศนวิสัยการมองเห็น ไนเตรท และ ไนโตรเจนไดออกไซด์ บดบังหรือขัดขวางการเดินทางของแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ทัศนวิสัยการมองเห็นสั้นลง

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้