ไตเสียหายเฉียบพลัน

(เปลี่ยนทางจาก ไตวายฉับพลัน)

ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute kidney injury, AKI) หรือเดิมใช้ชื่อว่าภาวะไตวายเฉียบพลัน (อังกฤษ: acute renal failure, ARF) คือภาวะซึ่งร่างกายมีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างเฉียบพลัน มีสาเหตุหลากหลายตั้งแต่ภาวะปริมาตรเลือดต่ำทุกแบบ การได้รับสารซึ่งเป็นอันตรายต่อไต การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ และสาเหตุอื่น ๆ การวินิจฉัยภาวะไตเสียหายเฉียบพลันอาศัยลักษณะเฉพาะของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การมีระดับของยูเรียไนโตรเจนในเลือดและครีแอทินีนขึ้นสูง หรือการตรวจพบว่าไตผลิตปัสสาวะออกมาได้น้อยกว่าปกติ ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดเหตุเมตะบอลิก ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ยูเรียคั่งในเลือด เสียสมดุลของปริมาณสารน้ำในร่างกาย และส่งผลต่อระบบอวัยวะอื่น ๆ การให้การรักษาทำได้โดยให้การรักษาประคับประคอง เช่น การบำบัดทดแทนไต และการรักษาภาวะซึ่งเป็นสาเหตุ

ไตเสียหายเฉียบพลัน
(Acute kidney injury)
ชื่ออื่นAcute renal failure (ARF)
ภาพไตที่ถูกตัดส่งตรวจทางพยาธิวิทยา แสดงให้เห็นบริเวณเปลือกไต (cortex) มีสีซีด แตกต่างจากบริเวณเนื้อไต (medulla) ซึ่งยังมีสีเข้ม ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตจากภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน
สาขาวิชาNephrology, Urology

อาการและอาการแสดง

แก้

อาการของภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเป็นผลมาจากความผิดปกติของการทำงานของไตที่เกิดจากโรคซึ่งเป็นสาเหตุ การมียูเรียและสารซึ่งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ คั่งในเลือด ทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน[1] การมีโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นมากอาจทำให้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นมากจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้[2] สมดุลสารน้ำในร่างกายมักเสียไป แต่ไม่ค่อยพบเกิดเป็นความดันเลือดสูง[3]

อาการปวดชายโครงอาจพบได้ในบางภาวะ เช่น การมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดไต หรือไตอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดโดยผ่านการยืดของเยื่อหุ้มไต[4] หากไตเสียหายเฉียบพลันนั้นมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำ อาจมีอาการและอาการแสดงของภาวะขาดน้ำให้ตรวจพบได้ เช่น อาการกระหายน้ำ และอาการแสดงอื่น ๆ เป็นต้น[4] การตรวจร่างกายอาจช่วยให้พบภาวะซึ่งอาจเป็นสาเหตุของไตเสียหายได้ เช่น ผื่นซึ่งอาจพบในเนื้อไตอักเสบบางชนิด หรือคลำได้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอาจเป็นจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น[4]

นอกจากนี้การที่ไตไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ทำให้มีสารน้ำคั่งในร่างกาย คั่งในแขนขาทำให้แขนขาบวม คั่งในปอดทำให้น้ำท่วมปอด[1] หรืออาจคั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อาจเป็นมากจนเกิดภาวะหัวใจถูกบีบรัดได้[3]

สาเหตุ

แก้

การจำแนกประเภท

แก้

ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน ได้รับการวินิจฉัยจากประวัติทางคลินิกและข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการลดลงอย่างรวดเร็วในการทำงานของไต โดยวัดจากระดับครีแอทินินในซีรัม หรือจากการลดลงอย่างรวดเร็วของปัสสาวะที่เรียกว่าภาวะปัสสาวะน้อย (oliguria) (ในเวลา 24 ชั่วโมง ปัสสาวะน้อยกว่า 400 มล.)

ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน
ชนิด UOsm UNa FeNa BUN/Cr
ก่อนถึงไต >500 <10 <1% >20[5]
ภายในไต <350 >20 >2% <10-15[5]
พ้นจากไต <350 >40 >4% >20[5]

ไตเสียหายเฉียบพลัน อาจเกิดจากโรคทางระบบ (เช่น อาการของโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่างเช่น โรคไตอักเสบลูปัส) การบาดเจ็บจากการกดทับ, สารทึบรังสี, ยาปฏิชีวนะบางชนิด และอื่น ๆ ภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นเนื่องจากหลายกระบวนการ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดน้ำ และภาวะติดเชื้อร่วมกับยาที่เป็นพิษต่อไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัด หรือจากสารทึบรังสี

สาเหตุของไตเสียหายเฉียบพลันโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น ตำแหน่งก่อนถึงไต, ภายในไต และทางเดินปัสสาวะที่พ้นจากไต

ไตเสียหายเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ถึง 30% ของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจ[6] มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 60–80% ในผู้ป่วยที่ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ระดับครีแอทินินก่อนการผ่าตัดที่มากกว่า 1.2 มก./ดล., หัตถการที่ทำกับลิ้นหัวใจและทำทางเบี่ยงหลอดเลือด, การผ่าตัดฉุกเฉิน และการใช้บอลลูนใน​หลอดเลือดแดงก่อนการผ่าตัด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับภาวะไตเสียหายเฉียบพลันหลังการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ปัจจัยเสี่ยงเล็กน้อยอื่น ๆ ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผู้ป่วยเพศหญิง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคเบาหวานที่ต้องใช้อินซูลิน และประสิทธิภาพการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายที่ลดลง[6]

ประวัติ

แก้

ก่อนความก้าวหน้าของการแพทย์แผนปัจจุบัน ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันถูกเรียกว่าเป็นภาวะของเสียคั่งในกระแสเลือด หรือ ยูรีเมีย (uremia) ซึ่งมีการปนเปื้อนของเลือดโดยปัสสาวะ ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1847 คำว่ายูรีเมีย ถูกใช้เพื่อหมายถึงภาวะปริมาณปัสสาวะออกลดลง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า oliguria โดยมาจากการสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ปัสสาวะผสมกับเลือดแทนที่จะถูกขับถ่ายออกทางท่อปัสสาวะ[7]

ภาวะไตเสียหายเฉียบพลันเนื่องจากการตายของท่อไตเฉียบพลัน ได้ถูกวินิจฉัยในสหราชอาณาจักรในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 จากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดอะบลิตซ์ในลอนดอน ได้เกิดเนื้อร้ายของท่อไตเป็นบางส่วนขึ้น ซึ่งนำไปสู่การทำงานของไตที่ลดลงอย่างกะทันหัน[8] ในช่วงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามอุบัติการณ์ของภาวะไตเสียหายเฉียบพลันลดลง เนื่องจากการให้ของเหลวทางหลอดเลือดดำและการจัดการภาวะเฉียบพลันที่ดีขึ้น[9]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Skorecki K, Green J, Brenner BM (2005). "Chronic renal failure". ใน Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, และคณะ (บ.ก.). Harrison's Principles of Internal Medicine (16th ed.). New York, NY: McGraw-Hill. pp. 1653–63. ISBN 0-071-39140-1.
  2. Weisberg LS (December 2008). "Management of severe hyperkalemia". Crit. Care Med. 36 (12): 3246–51. doi:10.1097/CCM.0b013e31818f222b. PMID 18936701.
  3. 3.0 3.1 Tierney, Lawrence M.; Stephen J. McPhee; Maxine A. Papadakis (2004). "22". CURRENT Medical Diagnosis and Treatment 2005 (44 ed.). McGraw-Hill. p. 871. ISBN 0071436928. สืบค้นเมื่อ 2011-08-05.
  4. 4.0 4.1 4.2 Brady HR, Brenner BM (2005). "Chronic renal failure". ใน Kasper DL, Braunwald E, Fauci AS, และคณะ (บ.ก.). Harrison's Principles of Internal Medicine (16th ed.). New York, NY: McGraw-Hill. pp. 1644–53. ISBN 0-071-39140-1.
  5. 5.0 5.1 5.2 Goldman, Lee; Schafer, Andrew I., บ.ก. (15 April 2015). Goldman-Cecil medicine (25th ed.). Philadelphia, PA: Elsevier/Saunders. p. 781. ISBN 978-1455750177. OCLC 899727756.
  6. 6.0 6.1 Thiele, R.; James M. Isbell; Mitchell H. Rosner (2015-03-06). "AKI Associated with Cardiac Surgery". Clinical Journal of the American Society of Nephrology. 10 (3): 500–514. doi:10.2215/CJN.07830814. PMID 25376763.
  7. "oliguria | Origin and meaning of oliguria by Online Etymology Dictionary". www.etymonline.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-01-29.
  8. Bywaters EG, Beall D (1941). "Crush injuries with impairment of renal function". Br Med J. 1 (4185): 427–32. doi:10.1136/bmj.1.4185.427. PMC 2161734. PMID 20783577.
  9. Schrier RW, Wang W, Poole B, Mitra A (2004). "Acute renal failure: definitions, diagnosis, pathogenesis, and therapy". J. Clin. Invest. 114 (1): 5–14. doi:10.1172/JCI22353. PMC 437979. PMID 15232604.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก