ไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 140
ไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 140 เป็นเที่ยวบินจากท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชก กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ไปยังท่าอากาศยานนานาชาตินาโงยะ-โคมากิ นครนาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกขณะกำลังลงจอดที่นาโงยะเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1994 มีผู้เสียชีวิต 264 คน นับเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไชนาแอร์ไลน์ และร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่นรองจากเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 123 ซึ่งตกเมื่อ ค.ศ. 1985[1]
เครื่องบินแอร์บัส เอ300 ของไชนาแอร์ไลน์ซึ่งคล้ายกับเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ | |
สรุปAccident | |
---|---|
วันที่ | 26 เมษายน ค.ศ. 1994 |
สรุป | เครื่องบินอยู่ในภาวะร่วงหล่น (stall) เนื่องจากความผิดพลาดของนักบินและการฝึกหัดที่บกพร่อง |
จุดเกิดเหตุ | คาซูงาอิ ใกล้กับนาโงยะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น 35°14′43″N 136°55′56″E / 35.2453°N 136.9323°E |
อากาศยานลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภทอากาศยาน | แอร์บัส เอ300บี4-622อาร์ |
ดําเนินการโดย | ไชนาแอร์ไลน์ |
ทะเบียน | B-1816 |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชก เถา-ยฺเหวียน ประเทศไต้หวัน |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาตินาโงยะ-โคมากิ โคมากิ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น |
ผู้โดยสาร | 256 |
ลูกเรือ | 15 |
เสียชีวิต | 264 |
รอดชีวิต | 7 |
เที่ยวบิน
แก้เที่ยวบินที่ 140 ขึ้นบินจากท่าอากาศยานนานาชาติเจียง ไคเชกเมื่อเวลา 16:53 น. ตามเวลาท้องถิ่นในไต้หวัน (UTC+08:00) ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง มีปลายทางที่ท่าอากาศยานนาโงยะ-โคมากิ นักบินประกอบด้วยกัปตันหวัง เล่อฉี (จีน: 王樂琦; พินอิน: Wáng Lèqí) อายุ 42 ปี และผู้ช่วยกัปตันจวง เมิ่งหรง (莊孟容; Zhuāng Mèngróng) อายุ 26 ปี[2][3] ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง นักบินเริ่มลดระดับเมื่อเวลา 19:47 น. และเครื่องบินผ่านจุดระบุตำแหน่ง (marker beacon) ด้านนอกเวลา 20:12 น. เครื่องบินลดระดับมาถึงระดับความสูง 1,000 ฟุต (300 เมตร) ที่ระยะทาง 3 ไมล์ทะเล (5.6 กิโลเมตร) จากปลายรันเวย์ก่อนจะรักษาระดับเดิมไว้ประมาณ 15 วินาที และลดระดับต่อมาจนถึงระดับความสูง 500 ฟุต (150 เมตร) นักบินได้เร่งเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มแรงขับสองครั้งติดต่อกันก่อนที่ส่วนหัวของเครื่องบินจะเชิดขึ้นทำมุมสูง ความเร็วลมลดลงอย่างรวดเร็ว เครื่องบินอยู่ในภาวะร่วงหล่น (stall) และกระแทกพื้นในเวลา 20:15:45 น. โนริยาซุ ชิราอิ ผู้รอดชีวิตได้ให้สัมภาษณ์ว่าพนักงานบนเครื่องบินแจ้งว่าเครื่องบินกำลังตกหลังจากที่เครื่องเข้าสู่ภาวะร่วงหล่นแล้ว[4] ซิลวานี เดโตนิโอ ซึ่งรอดชีวิตก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 27 เมษายนได้ให้สัมภาษณ์ว่าผู้โดยสารไม่ได้รับคำเตือนก่อนเกิดเหตุ[5] ผู้โดยสารที่รอดชีวิตทั้งหมดนั่งอยู่ระหว่างแถวที่ 7 และ 15
วันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีผู้รอดชีวิต 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ โดยแบ่งเป็นชาวญี่ปุ่น 7 คน ชาวไต้หวัน 2 คน และชาวฟิลิปปินส์ 1 คน[5] อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตเหลือเพียง 7 คนในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ด้วย 3 คน[4]
การสืบสวน
แก้อุบัติเหตุครั้งนี้มีสาเหตุจากความผิดพลาดของนักบิน พวกเขาไม่สามารถแก้ไขการควบคุมเครื่องและความเร็วพร้อมกันได้[6] เก้าเดือนก่อนเกิดเหตุ แอร์บัสได้แจ้งเตือนลูกค้าให้ปรับปรุงระบบควบคุมเพื่อให้ระบบออโตไพลอตหยุดทำงานเมื่อนักบินขยับคันบังคับไปในทางที่กำหนดระหว่างที่เครื่องอยู่ในโหมดโกอะราวด์[7] "ทางที่กำหนด" ดังกล่าวรวมไปถึงการดันคันบังคับไปข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักบินเที่ยวบินที่ 140 ทำก่อนตก ไชนาแอร์ไลน์วางแผนว่าจะรอปรับปรุงเครื่องบินลำที่เกิดเหตุตอนที่เครื่องบินลำดังกล่าวจะเข้าตรวจซ่อมบำรุงครั้งสำคัญ เพราะมองว่าการปรับปรุงนั้นไม่เร่งด่วน[7] ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมกับความผิดพลาดของนักบินที่นำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด[6] นอกจากนี้ยังพบว่านักบินฝึกอบรมการบินกับเครื่องบินแอร์บัส เอ300 ที่ศูนย์จำลองการบินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชุดฝึกอบรมดังกล่าวไม่ได้รวมปัญหาระหว่างโกอะราวด์เข้าไปด้วย ทำให้นักบินเข้าใจว่าถ้าดันคันบังคับไปข้างหน้าก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ออโตไพลอตหยุดทำงาน เนื่องจากเครื่องบินโบอิง 747 ที่เขาคุ้นเคยก็ใช้วิธีการเดียวกัน[8]
หลังเกิดเหตุ
แก้กรมการบินพลเรือน (Civil Aeronautics Administration) ของประเทศไต้หวันสั่งการให้ไชนาแอร์ไลน์ปรับปรุงระบบตามที่แอร์บัสแจ้ง พร้อมทั้งปรับปรุงการฝึกอบรมและทดสอบนักบิน โดยให้ดำเนินการอย่างเร็วที่สุด[7]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 ศาลแขวงนาโงยะได้พิพากษาให้ไชนาแอร์ไลน์จ่ายค่าเสียหายให้ผู้รอดชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิต 232 รายรวม 5 ล้านเยน ในขณะที่แอร์บัสนั้นศาลแขวงนาโงยะพิพากษายกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิตบางส่วนเห็นว่าค่าเสียหายที่ได้นั้นยังไม่เพียงพอ จึงยื่นอุทธรณ์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2007 ไชนาแอร์ไลน์ยินยอมที่จะจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติม[9]
การรำลึกครบรอบ 20 ปีของอุบัติเหตุครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2014 ที่เมืองคาซูงาอิ จังหวัดไอจิ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ASN Aircraft accident Airbus A300B4-622R B-1816 Nagoya-Komaki International Airport (NGO)". Aviation Safety Network. สืบค้นเมื่อ 16 November 2018.
- ↑ Landers, Peter (1 May 1994). "'It's over, it's over'/Recorder details cockpit panic aboard doomed plane". Houston Chronicle. Associated Press. p. A30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-21. สืบค้นเมื่อ 25 April 2013.
- ↑ "華航名古屋空難 四人獲不起訴 เก็บถาวร 2007-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Liberty Times. Tuesday 10 April 2001 (90th year of the Republic, 中華民國90年4月10日 星期二). Retrieved on 25 July 2012.
- ↑ 4.0 4.1 "China Air co-pilot over limit for DWI." Associated Press at Houston Chronicle. Friday 6 May 1994. A26. Retrieved on 22 March 2009.
- ↑ 5.0 5.1 Thurber, David (27 April 1994). "261 die in crash of China Airlines Airbus in Japan". Houston Chronicle. Associated Press. p. A14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2011. สืบค้นเมื่อ 14 June 2009.
- ↑ 6.0 6.1 "Nagoya A300 Accident Report". Sunnyday.mit.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2018. สืบค้นเมื่อ 26 April 2013.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Nakao, Masayuki. "China Airlines Airbus A300-600R (Flight 140) Missed Landing and Goes Up in flame at Nagoya Airport" () Japan Science and Technology Agency. Retrieved on 25 December 2008. Descent path(), Primary scenario()
- ↑ "Deadly Go-Around". Mayday. ฤดูกาล 18. ตอน 9. 2018-06-27.
- ↑ "Kin settle over 1994 China Air Nagoya crash" (Archive). The Japan Times. Friday 20 April 2007. Retrieved on 25 December 2008.
- ↑ Jiji Press, "’94 China Air crash remembered เก็บถาวร 2014-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" (), Japan Times, 28 April 2014