โรมัน กอนซาเลซ
โรมัน กอนซาเลซ (สเปน: Román González; เกิด: 17 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ที่กรุงมานากัว; ชื่อเต็ม: โรมัน อัลเบร์โต กอนซาเลซ ลูนา (Román Alberto González Luna) นักมวยสากลอาชีพชาวนิการากัว ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักมวยที่เก่งที่สุดในโลกอันดับ 4 เมื่อเทียบกันรุ่นต่อรุ่นจากนิตยสารเดอะริง[1] และอันดับ 5 ของอีเอสพีเอ็น[2] ถือได้ว่าเป็นตำนานนักมวยชาวนิการากัวคนหนึ่ง เหมือนกับอาเลกซิส อาร์เกวโย ในอดีต โดยเป็นนักมวยชาวนิการากัวคนแรกที่ได้แชมป์โลกถึง 4 รุ่น
โรมัน กอนซาเลซ | |
---|---|
เกิด | โรมัน อัลเบร์โต กอนซาเลซ ลูนา 17 มิถุนายน พ.ศ. 2530 |
ประวัติ
แก้กอนซาเลซเกิดในตระกูลนักมวย ที่มีปู่และพ่อเคยเป็นนักมวยมาก่อนทั้งสิ้น ขึ้นชกมวยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยมีพ่อเป็นเทรนเนอร์ และมีการ์โลส บลันดอน บิดาอูร์เร เป็นผู้จัดการ ทำสถิติชนะรวด 14 ครั้ง รวมถึงได้แชมป์ในระดับภูมิภาคละตินอเมริกามาจำนวนหนึ่ง จึงได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดเทเก็งโปรโมชันส์ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริหารโดยอากิฮิโกะ ฮนดะ โปรโมเตอร์ชาวญี่ปุ่น[3] กอนซาเลซชกครั้งแรกในญี่ปุ่นพบกับเอริเบอร์โต เกฮอน นักมวยชาวฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งกอนซาเลซเอาชนะน็อกไปได้เพียงแค่ยกแรกเท่านั้น จากนั้นกอนซาเลซได้ชกต่อเนื่องอีก 5 ครั้ง ที่กรุงมานากัวบ้านเกิด ก่อนจะได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกครั้งแรกในรุ่นมินิมัมเวท ในฐานะรองแชมป์โลก WBA อันดับ 1 กับยูตากะ นีดะ เจ้าของตำแหน่งชาวญี่ปุ่น ที่บ้านเกิดเจ้าของแชมป์คือ เมืองโยโกฮามะ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ปรากฏว่ากอนซาเลซเอาชนะทีเคโอนีดะไปได้แค่ยกที่ 4 จากนั้นจึงป้องกันตำแหน่งไว้ได้ 3 ครั้ง ก่อนจะสละตำแหน่งไปเนื่องจากควบคุมน้ำหนักไม่ได้ โดยชกเคลื่อนไหวในพิกัด 108 ปอนด์เพียงครั้งเดียว และได้ขึ้นชิงแชมป์เฉพาะกาลพบกับฟรันซิสโก โรซัส นักมวยชาวเม็กซิโก ที่สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงกุในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 และเป็นฝ่ายชนะน็อกไปเพียงแค่ยกที่ 2 เท่านั้น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมมวยโลกให้เป็นแชมป์โลกตัวจริง และได้ป้องกันตำแหน่งไว้ได้อีก 5 ครั้ง สลับกับการชกนอกรอบ ทั้งที่เม็กซิโก, ลาสเวกัส, แคลิฟอร์เนีย รวมถึงมานากัว โดยผ่านนักมวยฝีมือดีหลายคน ทั้งฆวน ฟรันซิสโก เอสตราดา หรือรามอน การ์ซิอา อิราเลส ก่อนจะสละตำแหน่งขึ้นสู่รุ่น 112 ปอนด์ พบกับแชมป์โลกสภามวยโลก ชาวญี่ปุ่น อากิระ ยาเองาชิ ผู้ซึ่งเคยเป็นแชมป์โลกในรุ่น 105 ปอนด์ของสมาคมมวยโลกมาแล้วเช่นเดียวกัน ด้วยการเอาชนะน็อก พรสวรรค์ ป.ประมุข นักมวยชาวไทยไปได้ในปี พ.ศ. 2554 ทั้งคู่ชกกันเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2557 ที่สนามกีฬาในร่มแห่งชาติโยโยงิที่ 2 ในกรุงโตเกียว ปรากฏว่าแม้จะเลื่อนรุ่นขึ้นมาและชกในรุ่นนี้เป็นครั้งแรก แต่พลังหมัดของกอนซาเลซไม่ได้ลดความหนักลงเลย สามารถชกเอายาเองาชิลงไปให้กรรมการนับ 8 ได้หลายครั้ง ก่อนที่จะชนะทีเคโอไปได้อย่างเด็ดขาดในยกที่ 9[4] และจากนั้นได้ป้องกันตำแหน่งนี้ไว้ได้อีก 4 ครั้ง โดยพบกับนักมวยฝีมือดีอีกหลายคน เช่น ร็อคกี้ ฟูเอนเตส, เอ็ดการ์ โซซา, ไบรอัน วิโลเรีย[5][6] รวมถึงแม็ควิลเลียม อาร์โรโย [7] [8]
ต่อมากอนซาเลซได้เลื่อนรุ่นขึ้นไปชกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท เป็นการชิงแชมป์โลกของสภามวยโลกในรุ่นนี้กับเจ้าของตำแหน่งชาวเม็กซิโก การ์โลส กัวดรัส ผู้ซึ่งได้ตำแหน่งนี้มาจากการเอาชนะคะแนนโดยเทคนิค ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย นักมวยชาวไทยไปได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ทั้งคู่ชกกันในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่เดอะฟอรัม เมืองอิงเกิลวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย [9] ผลการชกปรากฏว่า กอนซาเลซโดนหมัดชุดของกัวดรัสที่เร็วกว่าทั้ง 12 ยก แต่ทว่าเป็นฝ่ายเดินบุกเข้าหาตลอด และได้รับผลการตัดสินให้เป็นฝ่ายชนะคะแนนไปอย่างเป็นเอกฉันท์ และต่อมากอนซาเลซก็ได้สละแชมป์โลก WBC ในรุ่นฟลายเวทไปเพื่อครองแชมป์เพียงรุ่นเดียว[10]
แต่เมื่อกอนซาเลซป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย ในการชกภาคบังคับ เนื่องจากศรีสะเกษเป็นรองแชมป์โลกอันดับหนึ่ง ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2017 ที่เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กอนซาเลซถูกหมัดขวาของศรีสะเกษอัดเข้าที่สีข้างลงไปให้กรรมการนับ 8 ในยกแรก และเกิดศีรษะชนกันจนเกิดแผลแตกที่หางคิ้วขวาเลือดไหลนองหน้าในยกที่ 3 และในยกที่ 6 ศรีสะเกษถูกตัดคะแนนไปเนื่องจากไม่ระมัดระวังการใช้ศีรษะ เมื่อครบ 12 ยก กอนซาเลซเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 113-113 และ 114-112 ทั้งสองเสียง ทำให้กอนซาเลซมีสถิติแพ้เป็นครั้งแรก ทั้งที่ก่อนการชกอัตราต่อรองได้ให้กอนซาเลซเป็นต่อถึง 14-1 และถูกมองว่าน่าจะเอาชนะน็อกศรีสะเกษได้ในเวลาไม่เกิน 5 ยก
หลังแพ้ศรีสะเกษมาแล้ว กอนซาเลซมักให้สัมภาษณ์เสมอว่า เป็นเพราะศรีสะเกษใช้ศีรษะชนตนจึงทำให้แพ้ [11] สภามวยโลกจึงกำหนดให้ทั้งคู่ชกกันอีกครั้งเสมือนการล้างตา ในวันที่ 9 กันยายน ปีเดียวกัน ที่ดิกนิตีเฮลท์สปอร์ตพาร์ก คาร์สัน รัฐแคลิฟอร์เนีย คราวนี้กอนซาเลซได้เปลี่ยนทีมเทรนเนอร์เป็นเซ็นได ทานากะ เทรนเนอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีประสบการณ์เป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยชาวญี่ปุ่นมาแล้วหลายรายในระดับโลก แต่กอนซาเลซเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปเพียงแค่เวลา 1:18 ของยกที่ 4 เท่านั้น หลังจากถูกหมัดฮุกขวาของศรีสะเกษล้มลงไป 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 กรรมการห้ามบนเวทีได้โบกมือยุติการชกทันทีโดยไม่มีการนับ ซึ่งนี่ยังถือเป็นการแพ้น็อกครั้งแรกในชีวิตของกอนซาเลซ[12] ซึ่งหลังการชกจบลง โซฟิอา มันกูยา แฟนสาวของกอนซาเลซซึ่งนั่งชมอยู่ข้างเวทีถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจ[13] และตัวของกอนซาเลซเองต้องเข้ารับการตรวจระบบประสาทที่โรงพยาบาลทันที[14]
โรมัน กอนซาเลซ เคยได้รับการยกย่องให้เป็นนักมวยที่เก่งที่สุดเมื่อเทียบกันรุ่นต่อรุ่นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 จากนิตยสารเดอะริง หลังจากฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ได้ประกาศแขวนนวมไปก่อนหน้านั้น[15] ซึ่งนับว่าหาได้ยากสำหรับนักมวยพิกัดรุ่นเล็กที่จะได้รับการยกย่องเช่นนี้ เป็นนักมวยที่มีจุดเด่นที่น้ำหนักหมัดหนักทั้งซ้ายและขวา มีสถิติการชนะน็อกคิดเป็นร้อยละ 84 อีกทั้งยังสามารถออกหมัดได้ทุกทิศทางและต่อเนื่องในทุกยก ซึ่งรูปแบบการชกเช่นนี้นับได้ว่าเป็นการป้องกันตัวไปในตัวด้วย โดยเคยถูกชกลงไปให้กรรมการนับ 8 เพียงแค่สองครั้งในชีวิต ครั้งแรกในยกที่ 1 เมื่อครั้งที่ยังชกในระยะแรก ๆ และอีกครั้งในยกที่ 1 อีกเช่นกันกับการชกกับศรีสะเกษ ซึ่งหลังจากนั้นทำให้อันดับโลกของกอนซาเลซตกลงมาเป็นอันดับ 4[1] และอันดับ 5 ของอีเอสพีเอ็น[2]
ชีวิตส่วนตัว กอนซาเลซนับถือศาสนาคริสต์ และมีลูก 2 คน อยู่ที่มานากัว[16][17] โดยหย่ากับภรรยาคือ ราเกล ดอญญา[13]
เกียรติประวัติ
แก้- แชมป์ WBA Fedecentro และแชมป์ประเทศนิการากัวรุ่นไลท์ฟลายเวท
- ชิง (ที่ว่าง), 6 ตุลาคม 2549 ชนะน็อก โอสการ์ มูริโย ( นิการากัว) ยก 10 ที่ ปาราโอกาสิโน มานากัว ประเทศนิการากัว
- ป้องกันครั้งที่ 1, 15 ธันวาคม 2549 ชนะทีเคโอ ฆวน ฟรันซิสโก เซนเตโน ( นิการากัว) ยก 7 ที่ ปาราโอกาสิโน มานากัว ประเทศนิการากัว
- ป้องกันครั้งที่ 2, 30 มีนาคม 2550 ชนะน็อก บิเซนเต เอร์นันเดซ ( เม็กซิโก) ยก 2 ที่ ปาราโอกาสิโน มานากัว ประเทศนิการากัว (ต่อมากอนซาเลซสละแชมป์ WBA Fedecentro)
- ป้องกันครั้งที่ 3, 13 กรกฎาคม 2550 ชนะน็อก บิเกล เตเยซ ( นิการากัว) ยก 3 ที่ ปาราโอกาสิโน มานากัว ประเทศนิการากัว
- แชมป์ WBA Fedelatin รุ่นมินิมัมเวท
- ชิง (ที่ว่าง), 12 พฤษภาคม 2550 ชนะทีเคโอ โฆเซ ลุยส์ บาเรลา ( เวเนซุเอลา) ยก 1 ที่ ปาราโอกาสิโน มานากัว ประเทศนิการากัว
- แชมป์โลก WBA รุ่นมินิมัมเวท
- ชิง, 15 กันยายน 2551 ชนะทีเคโอ ยูตากะ นีดะ ( ญี่ปุ่น) ยก 4 ที่ แปซิฟิโกโยโกฮามะ โยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 1, 28 กุมภาพันธ์ 2552 ชนะคะแนน ฟรันซิสโก โรฮัส ( เม็กซิโก) ที่ ออดิโตริโอ เกลาเกตซา เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
- ป้องกันครั้งที่ 2, 14 กรกฎาคม 2552 ชนะคะแนน คัตสึนาริ ทากายามะ ( ญี่ปุ่น) ที่ เวิลด์เมมโมเรียลฮอล โคเบะ ประเทญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 3, 30 มกราคม 2553 ชนะทีเคโอ อิบัง เมเนเซส ( เม็กซิโก) ยก 4 ที่ ออดิโตริโอ ซิโกล เบยน์ตรีอูโน ปวยบลา ประเทศเม็กซิโก
- แชมป์เฉพาะกาล WBA รุ่นไลท์ฟลายเวท
- ชิง (ที่ว่าง), 24 ตุลาคม 2553 ชนะน็อก ฟรันซิสโก โรฮัส ( เม็กซิโก) ยก 2 ที่ สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงกุ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ต่อมา WBA แต่งตั้งกอนซาเลซให้เป็นแชมป์โลก)
- แชมป์โลก WBA รุ่นไลท์ฟลายเวท
- ป้องกันครั้งที่ 1, 19 มีนาคม 2554 ชนคะแนน มานูเอล บาร์กัส ( เม็กซิโก) ที่ ปลาซา ซานดิเอโก โกกูลา ประเทศเม็กซิโก
- ป้องกันครั้งที่ 2, 16 กรกฎาคม 2554 ชนะทีเคโอ โอมาร์ ซาลาโด ( เม็กซิโก) ยก 7 ที่ ปลาซา เด โตโรส กังกุน ประเทศเม็กซิโก
- ป้องกันครั้งที่ 3, 1 ตุลาคม 2554 ชนะน็อก โอมาร์ โซโต ( เม็กซิโก) ยก 2 ที่ เอ็มจีเอ็มแกรนด์ลาสเวกัส ลาสเวกัส สหรัฐ
- ป้องกันครั้งที่ 4, 28 เมษายน 2555 ชนะน็อก ราโมน การ์ซิอา อิราเลส ( เม็กซิโก) ยก 4 ที่ แฟร์เพลกซ์ โพโมนา สหรัฐ
- ป้องกันครั้งที่ 5, 17 พฤศจิกายน 2555 ชนะคะแนน ฆวน ฟรันซิสโก เอสตราดา ( เม็กซิโก) ที่ ลอสแอนเจลิส เมโมเรียล สปอร์ตส์ อารีนา ลอสแอนเจลิส สหรัฐ
- แชมป์โลก WBC และเดอะริง รุ่นฟลายเวท
- ชิง, 5 กันยายน 2557 ชนะทีเคโอ อากิระ ยาเองาชิ ( ญี่ปุ่น) ยก 9 ที่ สนามกีฬาในร่มโยโยงิที่ 2 โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 1, 22 พฤศจิกายน 2557 ชนะทีเคโอ ร็อคกี้ ฟูเอนเตส ( ฟิลิปปินส์) ยก 6 ที่ สระว่ายน้ำนา นาชาติโยโกฮามะ โยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 2, 16 พฤษภาคม 2558 ชนะทีเคโอ เอดการ์ โซซา ( เม็กซิโก) ยก 2 ที่ เดอะฟอรัม อิงเกิลวูด สหรัฐ
- ป้องกันครั้งที่ 3, 17 ตุลาคม 2558 ชนะทีเคโอ ไบรอัน วิลอร์เรีย ( สหรัฐ) ยก 9 ที่ เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก สหรัฐ
- ป้องกันครั้งที่ 4, 23 เมษายน 2559 ชนะคะแนน แม็กวิลิอัม อาร์โรโย ( ปวยร์โตรีโก) ที่ เดอะฟอรัม อิงเกิลวูด สหรัฐ
- แชมป์โลก WBC รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท
- ชิง, 10 กันยายน 2559 ชนะคะแนน การ์โลส กัวดรัส ( เม็กซิโก) ที่ เดอะฟอรัม อิงเกิลวูด สหรัฐ
- เสียแชมป์, 18 มีนาคม 2560 แพ้คะแนน ศรีสะเกษ ศ.รุ่งวิสัย ( ไทย) ที่ เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก สหรัฐ
- แชมป์โลก WBA รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท
- ชิง, 29 กุมภาพันธ์ 2563 ชนะทีเคโอ คอลิด ยะห์ไฟ ( สหราชอาณาจักร) ยก 9 ที่ ฟอร์ดเซนเตอร์ แอทเดอะสตาร์ ฟริสโก สหรัฐ (ต่อมา WBA เลื่อนตำแหน่งกอนซาเลซให้เป็นซูเปอร์แชมป์)
- แชมป์โลก WBA (ซูเปอร์แชมป์) รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท
- เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 มวยสากลอาชีพ (2017-03-24). "10 อันดับ ของนิตยสาร The Ring ล่าสุดครับ". เฟซบุก. สืบค้นเมื่อ 2017-03-24.
- ↑ 2.0 2.1 "Pound-for-pound rankings: Gennady Golovkin is the new No. 1". espn. 2017-03-24. สืบค้นเมื่อ 2017-03-24.
- ↑ "Boxeador Latino del Mes: Román González" (ภาษาสเปน). NotiFight.com. November 3, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ August 26, 2011.
- ↑ "Roman Gonzalez stops Akira Yaegashi in nine, wins RING flyweight title". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-21. สืบค้นเมื่อ 5 September 2014.
- ↑ "Gonzalez stops Viloria, retains flyweight title". สืบค้นเมื่อ 2016-08-13.
- ↑ "Gonzalez TKO's Viloria". boxrec.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-03. สืบค้นเมื่อ 2016-04-26.
- ↑ "Gonzalez defeats Arroyo via UD". boxrec.com. สืบค้นเมื่อ 2016-04-26.
- ↑ Christ, Scott (2016-04-24). "Gonzalez vs Arroyo results: Roman Gonzalez dominates, but KO streak ends". Bad Left Hook. สืบค้นเมื่อ 2016-07-02.
- ↑ "'Chocolatito' to fight Cuadras in bid for 4th belt". สืบค้นเมื่อ 2016-07-16.
- ↑ "โอกาสทอง! "โรมัน" สละเข็มขัดฟลายเวต "WBC" เปิดทาง "นวพล" เจรจาชกชิงแชมป์ว่าง". sportringside. 2016-09-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-13. สืบค้นเมื่อ 2016-11-05.
- ↑ "สะใจไหม? สื่อเผย "โรมัน" หยัน "ศรีสะเกษ" มีดีแค่ "หัวโขก-หมัด" ก่อนเสียแชมป์โลก". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-03-20. สืบค้นเมื่อ 2017-09-10.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""ศรีสะเกษ" ย้ำแค้น "กอนซาเลซ" ชนะน็อกยก 4 ป้องเข็มขัด WBC". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2017-09-10.
- ↑ 13.0 13.1 "แฟนโรมันหัวใจสลาย เห็นสุดที่รักบอบช้ำ พ่ายน็อคครั้งแรกในชีวิต". สยามสปอร์ต. 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2017-09-11.
- ↑ ""โรมัน" รับต้านหมัด "ศีรษะเกษ" ไม่ไหว ถูกหิ้วตรวจร่างกายที่ รพ". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2017-09-11.
- ↑ Ring ratings. Ring Magazine เก็บถาวร 2014-07-24 ที่ archive.today, retrieved May 4, 2016.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-21. สืบค้นเมื่อ 2016-09-05.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-28. สืบค้นเมื่อ 2016-09-05.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ส่วนตัว เก็บถาวร 2016-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- สถิติการชก boxrec.com (อังกฤษ)