แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ต

แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ต (Handbill for Film Market หรือ Film Market Handbills) บางครั้งก็จะเรียกว่า มูวี่ ฟลายเออร์ (Movie Flyers) หรือ sales flyers ด้วย คือ แฮนด์บิลภาพยนตร์ ที่มีไว้แจกให้ลูกค้าต่างประเทศที่มาเจรจาซื้อขายหนัง ไม่ได้มีการแจกทั่วไป ไม่สามารถหาได้ จากโรงภาพยนตร์ ทั่วไปในต่างประเทศ แฮนด์บิลเหล่านี้จัดทำขึ้นเพื่อแจกกันเฉพาะในตลาดซื้อขายหนังเท่านั้น และเพราะคนไทยถนัดที่จะเรียกใบปลิวที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ว่า แฮนด์บิลอยู่แล้วจึงควรเรียกว่า แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ต (แฮนด์บิลตลาดซื้อขายหนัง) หรือ ฟิล์มมาร์เก็ต แฮนด์บิล

ทีนี้ก็มาดูจุดประสงค์ที่บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์แต่ละประเทศทั่วโลก จัดพิมพ์ แฮนด์บิลเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางในการพิมพ์แฮนด์บิลเหล่านี้ แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ต นั้นเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลการสร้าง งบประมาณ เรื่องย่อ รายนามดารา นักแสดง ผู้กำกับ ปีที่สร้าง หากหนังยังไม่ได้สร้าง ก็จะแจ้งสถานะไว้ว่าอยู่ในขั้นตอนเขียนบท หรือพัฒนางานสร้าง จะเริ่มถ่ายทำเมื่อใด และข้อมูลปลีกย่อย อื่นๆ รวมถึง บุคคลซึ่งสามารถติดต่อได้ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมลล์ ของบริษัทผู้ขายภาพยนตร์ เพื่อใช้ในการติดต่อซื้อขายภาพยนตร์ และงานที่ ผู้ซื้อ และผู้ขาย จะมาพบกันได้มากที่สุดก็คือ ตลาดซื้อขายหนัง(Film Market)ซึ่งมักจะจัดคู่กับเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศนั้นๆ หลายประเทศทั่วโลกต่างก็พิมพ์แฮนด์บิลล์เหล่านี้เพื่อฟิล์มมาร์เก็ต ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะ ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ฮ่องกง ไทย อังกฤษฝรั่งเศส อิตาลี จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ เขาก็จะเอาไปแจกในตลาดซื้อขายภาพยนตร์ต่างๆที่จัดขึ้นทั่วโลก ตามเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก เช่น งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (ฝรั่งเศส) ,งานMIFED ที่ มิลาน อิตาลี,งาน AFI ที่ สหรัฐอเมริกา,งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตเกียว,งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (เกาหลี) ,งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตรอนโต (แคนาดา) ,งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เบอร์ลิน (เยอรมัน) เป็นต้น

และเนื่องจากในงานตลาดซื้อขายภาพยนตร์แต่ละครั้ง จะมีทั้งบริษัทผู้ซื้อ ซึ่งเรียกว่า Buyer และผู้ขายภาพยนตร์ มากมายจากทั่วโลก สื่อแฮนด์บิล หรือ ฟลายเออร์ เหล่านี้ จึงมีความสำคัญในการดึงดูดความสนใจของลูกค้าอย่างมาก ยิ่งมีข้อมูลและภาพที่น่าสนใจ ยิ่งเรียก ลูกค้าให้สนใจเข้ามาดู เข้ามาเจรจาซื้อขายด้วย จึงเห็นได้ว่ามีการลงทุนพิมพ์ออกมาด้วยกระดาษอาร์ต กระดาษปอนด์อย่างดี โดยส่วนใหญ่ แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ตจะพิมพ์ออกมาในขนาด A4 แต่จะมีบางประเทศ บางบริษัท ในญี่ปุ่น จะพิมพ์ออกมาในขนาด A3 บางครั้ง จะมีบางบริษัท ผลิตรูปแบบลักษณะแปลกๆ ออกมา เช่น ทำเป็นรูปแบบแฟ้ม เมื่อเปิดออกมา จะมีเสียงเหมือนการ์ดเพลง บางชิ้นก็จะเป็นรูปแบบป็อปอัพ เป็นต้น และที่สำคัญ หนังจำนวนมากมายมหาศาล ที่มีการทำแฮนด์บิลชนิดนี้ขึ้นมา ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสร้างหนังเรื่องนั้นด้วยซ้ำ หนังหลายเรื่องเป็นเพียงแค่โปรเจกต์ที่จะสร้าง ฉะนั้น เขาไม่มีตัวอย่างหนัง หรืออะไรที่เกี่ยวกับหนังมาโชว์เลยสักนิด นอกจาก กระดาษแผ่นเดียวที่เรียกว่าแฮนด์บิลนี้ล่ะครับ เป็นสิ่งเดียวที่จะนำเสนอลูกค้าที่เดินผ่านไปผ่านมาใน Film market หยิบไปอ่านเพื่อเรียกร้องความสนใจว่า โปรเจกต์หนังเรื่องนี้มีดีอะไรที่ต้องรีบซื้อทั้งที่มันยังไม่ได้สร้าง หากในแฮนด์บิล ระบุว่ามีดาราระดับแม่เหล็ก นำแสดง มีงบสร้างมหาศาล และอะไรต่างๆที่จะเขียนโน้มน้าวใจในแฮนด์บิลแล้วน่าสนใน คนก็จะเริ่มสนใจ และจะเริ่มมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น เรียกว่า เป็นการขายฝันครับ เรียกได้ว่า แฮนด์บิลเหล่านี้เกิดมาเพื่อ ตลาดซื้อขายหนังโดยแท้

คุณเคยแปลกใจใหมว่า ทำไมหนังหลายเรื่อง ไม่เห็นจะได้เรื่องเลย หนังแย่มาก ทำไม บริษัทหนังถึงซื้อมาฉายในเมืองไทย ทำไมไม่เอาแต่หนังดีๆมาฉาย เหตุผล ก็คือ การแข่งขัน แย่งชิง ซื้อขายหนัง ตั้งแต่หนังยังไม่สร้างนี่ล่ะครับ ตั้งแต่มันเป็นแค่โปรเจกต์ ในแผ่นแฮนด์บิลนี้ล่ะครับ บางเรื่อง เป็นแค่รูปกราฟิก ที่ดูไม่รู้เรื่อง และมีชื่อหนังอยู่ตรงกลางก็มีครับ ฉะนั้นคุณไม่มีโอกาสรู้เลยว่าหนังเรื่องนั้น จะยอดเยี่ยมจริงตามที่บริษัทที่เสนอขายหนังคุยอวดอ้างไว้ เพียงแค่ว่า ในแฮนด์บิลบอกว่า มีดาราดัง แสดง...ยกตัวอย่าง จวนจีฮุน และบอกว่างบสร้าง 80ล้านดอลลาร์สหรัฐ แค่นี้ ก็แย่งกันซื้อแล้วครับ โดยที่ไม่สนว่าหนังจะออกมาดีจริงหรือไม่ เพราะถ้าคุณไม่รีบตัดสินใจ บริษัทอื่นก็จะซื้อตัดหน้าคุณไป มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ในตลาดซื้อขายหนังครับ

ที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าใครๆก็สามารถเข้าร่วมงาน ตลาดซื้อขายภาพยนตร์ได้ ไม่ง่ายอย่างนั้น ตลาดซื้อขายภาพยนตร์เปิดให้เข้าเฉพาะ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์เท่านั้น และ ยังไม่พอ ส่วนใหญ่แล้วผู้เข้าร่วมงาน ต้องเสียค่าบัตรเข้าร่วมงานด้วย บางงาน ค่าบัตรเป็นหมื่นบาท บางงานค่าบัตรเข้างานเป็นแสนบาท หลายคนยังตีค่าแฮนด์บิลฟิล์มมาร์เก็ต พอๆกับ แฮนด์บิลจากโรงภาพยนตร์ในเกาหลี ด้วยความไม่เข้าใจที่มาที่ไป ของ แฮนด์บิล ฟิล์มมาร์เก็ต (Film Market Handbills)