แมลงดา

(เปลี่ยนทางจาก แมลงดานา)
แมลงดา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Hemiptera
ไม่ได้จัดลำดับ: Heteroptera
วงศ์: Belostomatidae
สกุล: Lethocerus
สปีชีส์: L.  indicus
ชื่อทวินาม
Lethocerus indicus
(Lepeletier & Serville, 1825)
ชื่อพ้อง
  • Belostoma indicum

แมลงดา,[1] แมลงดานา[1] หรือที่นิยมเรียกว่า แมงดานา จัดเป็นแมลงจำพวกมวนน้ำชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lethocerus indicus จัดอยู่ในวงศ์ Belostomatidae พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในภูมิประเทศลักษณะเป็นท้องทุ่งหรือท้องนาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมถึงเอเชียตะวันออก เช่น ตอนใต้ของจีน, เกาหลี, หมู่เกาะริวกิว และนิวแคลิโดเนีย[2]

แมลงดามีลักษณะเด่น คือ ตานูนแข็งขนาดใหญ่ 1 คู่ มีลำตัวแบนเป็นรูปไข่ มีขาคู่แรกเป็นอวัยวะจับอาหาร ส่วนขาคู่ที่ 2 และ 3 เป็นขาว่ายน้ำ ขอบปีกมีลายสีเหลืองทองยาวไม่ถึงหาง โดยเฉพาะขาคู่หลังสุดจะมีลักษณะคล้ายใบพาย ทั้งนี้เนื่องจากแมลงดาเป็นแมลงสะเทินน้ำสะเทินบก อวัยวะส่วนนี้จึงมีความจำเป็นมากในการดำรงชีพ เพราะเป็นแมลงที่หากินในน้ำเป็นหลัก โดยใช้ขาคู่หน้าที่เป็นเสมือนคีมจับอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าดูดกิน เช่น ลูกปลา, ลูกกุ้ง, ลูกอ๊อด หรือแม้แต่แมลงน้ำชนิดอื่นหรือกบที่มีขนาดเล็กกว่า โดยที่มีส่วนปากแบบเจาะดูด ลักษณะเป็นท่อยาวออกมาจากด้านหน้าของส่วนหัว และเก็บซ่อนไว้ด้านล่างของหัว ปลายปากมีลักษณะคล้ายหนามแหลมเรียวใช้แทงเข้าไปในร่างกายเหยื่อแล้วดูดกินน้ำเหลว ๆ ในตัวเหยื่อ

ลักษณะ แก้

ลักษณะสำคัญของแมลงดาจะอยู่ที่หางยาวแหลมคล้ายเดือย ลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว 2 เส้นคู่กัน ประกอบด้วยขนที่ละเอียดและไม่เปียกน้ำ ทำหน้าที่ในการหายใจโดยใช้รยางค์ที่โผล่ขึ้นมาจากผิวน้ำเพื่อดูดออกซิเจนสำหรับหายใจ แล้วนำไปเก็บในลำตัวทางปลายท่อ อวัยวะส่วนนี้จะมีต่อมกลิ่นหอมฉุนซึ่งจะมีเฉพาะในตัวผู้เท่านั้น ต่อมกลิ่นที่มีกลิ่นหอมนี้เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของแมลงดาที่ดึงดูดให้ผู้คนบริโภค ตามธรรมชาติแล้ว ตัวผู้จะเป็นฝ่ายปล่อยกลิ่นนี้เพื่อดึงดูดตัวเมียและป้องกันตัว[3] ขนาดลำตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ลักษณะลำตัวยาวรีเหมือนใบไม้ ออกสีน้ำตาล ยาวประมาณ 2–4 นิ้ว แต่มีความแตกต่างกันคือ ตัวผู้มีลำตัวกลมป้อม และเล็กกว่าตัวเมียนิดหน่อย ส่วนตัวเมียมีลำตัวออกแบน ๆ ส่วนท้องใหญ่

พฤติกรรม แก้

แมลงดามีพฤติกรรมออกหาอาหารในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนเมื่ออากาศเย็นลง ในน้ำมีออกซิเจนอยู่น้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ แมลงดาจะบินออกจากแหล่งน้ำ บินวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ ที่อาศัยอยู่ มีพฤติกรรมเล่นกับแสงสว่างเหมือนแมลงทั่วไป จึงสามารถจับได้ด้วยวิธีนี้ โดยคืนหนึ่ง แมลงดาอาจจะบินไปเล่นไฟได้ไกลถึงหลายกิโลเมตร และในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เมื่อถึงฤดูหนาว แมลงดาจะหลบซ่อนตัวเองใต้กองใบไม้ในป่าเพื่อความอบอุ่น[4]

การแพร่พันธุ์ แก้

แมลงดาแพร่กระจายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยที่ตัวผู้เป็นฝ่ายดูแลไข่ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 100–200 ฟอง ตามพืชน้ำหรือพืชที่ขึ้นตามริมน้ำ ไข่ใช้เวลา 6–7 วันจึงจะฟักเป็นตัว ฤดูการผสมพันธุ์และวางไข่อยู่ในฤดูฝน เมื่อไข่ฟักเป็นตัว ลูกแมลงดาจะหล่นลงน้ำ ตัวจะยังมีสีเหลืองอ่อน เห็นลูกตาสีดำชัดเจน แล้วจึงจะค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นสีเข้มขึ้น โดยแมลงดาตัวผู้จะยังดูแลลูกแมลงดาต่อไปอีกราว 2–3 วัน เนื่องจากยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองให้รอดจากศัตรูตามธรรมชาติได้ แมลงดาจะใช้การลอกคราบประมาณ 4 ครั้ง ก่อนจะโตเป็นตัวเต็มวัยภายในเวลาประมาณ 1 เดือน

การนำมาประกอบอาหาร แก้

แมลงดาเป็นแมลงที่นิยมบริโภคกันในหลายวัฒนธรรมของชนชาติในแถบเอเชียอาคเนย์ ในอาหารไทยสามารถนำไปย่างและปรุงเป็นน้ำพริกได้ (โดยเฉพาะตัวผู้ที่มีกลิ่นหอม) เรียก "น้ำพริกแมลงดา" หรือ "น้ำพริกแมงดา" ปัจจุบันเป็นแมลงที่มีการส่งเสริมให้เลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ[5]

 
แมลงดาขายในตลาดสดที่จังหวัดลพบุรี
 
แมลงดาทอดบนถาด
 
น้ำพริกแมลงดา

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 429.
  2. P. J. Perez-Goodwyn (2006). Taxonomic revision of the subfamily Lethocerinae Lauck & Menke (Heteroptera: Belostomatidae)". Stuttgarter Beiträge zur Naturkunde. A (Biologie) 695: 1–71.
  3. เพื่อนเกษตร, เช้า-ข่าว 7 สี ทางช่อง 7: ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555
  4. แมงดาจอมพิฆาต, ความลับแห่งพงไพร ทางนาว 26: พฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560
  5. "วิธีการเลี้ยงแมงดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-25. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lethocerus indicus ที่วิกิสปีชีส์