แมงมุมทารันทูล่า

ทารันทูล่า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Neogene–present
แมงมุมกินนกโกไลแอธ (Theraphosa blondi) จัดเป็นทารันทูล่า และแมงมุมชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Arachnida
อันดับ: Araneae
อันดับย่อย: Opisthothelae
อันดับฐาน: Mygalomorphae
วงศ์ใหญ่: Theraphosoidea
วงศ์: Theraphosidae
Thorell, 1869[1]
สกุลและชนิด
มากกว่า 900 ชนิด
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของทารันทูล่า หรือบึ้ง

ทารันทูล่า (อังกฤษ: Tarantula) หรือในไทยเรียกรวม ๆ ว่า บึ้ง[2] เป็นสัตว์ขาปล้องจำพวกแมงมุมกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ Theraphosidae เป็นแมงมุมที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคโบราณกว่า 350 ล้านปีมาแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายน้อยมาก มีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับแมงมุมท้องปล้อง แต่ทารันทูล่าจะไม่เหลือปล้องบริเวณท้องอีกแล้ว[3] ทารันทูล่าทั่วไปเป็นแมงมุมขนาดใหญ่ มีขายาว และมีลักษณะเด่นคือ มีเส้นขนจำนวนมากขึ้นอยู่ตามตัวและขา เห็นได้ชัดเจน ส่วนมากมีสีสันหรือลวดลายที่สดใส พบได้ทั่วไปทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ทะเลทราย, ทุ่งหญ้า หรือในถ้ำที่มืดมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบร้อนชื้น หรืออุณหภูมิแบบป่าดิบชื้น ยกเว้นขั้วโลกเท่านั้น

ลักษณะ แก้

ทารันทูล่ามีขนาดแตกต่างหลากหลายออกไป ตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตร จนถึง 33 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 160 กรัม (แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 6 นิ้ว หรือ 15 เซนติเมตร) จัดเป็นแมงมุมที่มีอายุขัยยาวนานกว่าแมงมุมจำพวกอื่น โดยมีอายุยาวนานถึง 15-20 ปี

โดยทั่วไปแล้ว ทารันทูล่า มีประสาทสายตาที่ไม่ค่อยจะดี จึงใช้ขนตามตัวเป็นตัวจับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งสามารถทำให้ทารันทูล่ารับรู้ได้แม้กระทั่งทิศทาง หรือระยะห่างของวัตถุ

การแบ่งประเภท แก้

ทารันทูล่า แบ่งออกได้เป็น 2 จำพวกใหญ่ ๆ ตามประเภทของการอยู่อาศัย คือ อาศัยอยู่บนต้นไม้ กับขุดรูอาศัยอยู่ในดิน ประเภทที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้จะสร้างใยอย่างหนาแน่น หรืออาศัยอยู่ตามโพรงหรือซอกหลืบของต้นไม้ หรือแม้กระทั่งสร้างใยไว้ระหว่างกิ่งไม้ รูปร่างลักษณะของทารันทูล่าประเภทนี้จะแตกต่างจากทารันทูล่าที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน คือ มีลำตัวไม่ใหญ่หรืออ้วนเทอะทะมากนัก แต่จะมีรูปร่างเพรียวยาว มีขาที่ยาว และปลายขาจะมีแบนใหญ่กว่า เพราะต้องการพื้นผิวสัมผัสที่มากกว่าเพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว ซึ่งทารันทูล่าที่อาศัยบนต้นไม้จะมีการเคลื่อนที่ที่ว่องไวปราดเปรียวกว่า

ที่อยู่อาศัย แก้

ส่วนประเภทที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน จะขุดดินเป็นรูลึกประมาณ 30-45 เซนติเมตร หรือเสาะแสวงหาโพรง ภายในรูมีใยฉาบอยู่โดยรอบ เพื่อป้องกันดินรอบ ๆ พังทลายลงมา ซึ่งใยรอบ ๆ ปากรูนี้จะไม่มีความเหนียวหรือเหมาะแก่การจับเหยื่อเลย แต่มีไว้เพื่อป้องกันการพังทลายของรูมากกว่า และช่วยป้องกันมิให้มีสัตว์หรือสิ่งใด ๆ มารบกวน ภายนอกของรูก็มักมีใยอยู่บริเวณรอบ ๆ ด้วย บางชนิดจะสร้างใยจนล้นออกมานอกบริเวณปากรู และปากรูมักจะสะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ หากใยขาดก็จะซ่อมแซมใหม่ทันที โดยปกติแล้ว ทารันทูล่าเป็นแมงมุมที่รักความสะอาด หากมีเศษชิ้นส่วนต่าง ๆ ตกลงไปในรู หรือเศษอาหารที่กินเหลือ ก็จะคาบมาทิ้งไว้ข้างนอกทันที

ชนิด แก้

ปัจจุบัน มีการค้นพบทารันทูล่าแล้วกว่า 900 ชนิด และก็ยังมีชนิดที่ค้นพบใหม่อยู่เรื่อย ๆ สำหรับในประเทศไทยก็มีทารันทูล่าอาศัยอยู่ประมาณ 4 ชนิด คือ

  • บึ้งดำ (Haplopelma minax) จัดเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว
  • บึ้งสีน้ำเงิน (H. lividum) มีขนาดย่อมลงมา มีสีน้ำเงินเข้มตลอดทั้งตัว มีสีสันสวยงาม มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเช่นเดียวกัน
  • บึ้งลาย หรือ บึ้งม้าลาย (H. albostriatum) เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด มีลวดลายตามขาอันเป็นที่มาของชื่อ มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว แต่น้อยกว่า 2 ชนิดแรก
  • บึ้งสีน้ำตาล (Chilobrachys huahini) มีสีน้ำตาลอมแดง มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าว เช่นเดียวกัน และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่ได้มีการค้นพบหรือระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์[4]

ในประเทศไทย แก้

ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ภาคกลาง หรือภาคอีสาน รวมถึงในประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา จะนิยมจับทารันทูล่ามารับประทานกัน หรือนำมาแกล้มสุรา โดยถือเป็นอาหารพื้นบ้าน โดยมักจะนำมาปิ้งหรือย่าง ด้วยการขุดรู มีรสชาติคล้ายกับกุ้งหรือปู มีความหอมมัน แต่ทว่าไม่มีเปลือกแข็ง และทารันทูล่าในอีกหลายชนิดก็นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ

วัฒนธรรม แก้

ในวรรณกรรม หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย มีทารันทูล่า หรือบึ้ง อ้างอิงถึงเป็นจำนวนมาก อาทิ Wild Wild West ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดแนวไซไฟแฟนตาซี ในปี ค.ศ. 1999, The Lord of the Rings ตอน The Return Of The King หรือในวรรณกรรมเรื่อง ลูกอีสาน ที่กล่าวถึงความแร้นแค้นของคนในชนบทอีสาน ที่ต้องขุดบึ้งกิน เอามาทำลาบ โดยเชื่อว่าหากบึ้งตัวไหนมีไม่ถึง 10 ขา จะเรียกว่า "บึ้งบ้า" ไม่สามารถนำมากินได้ เพราะจะทำให้เป็นบ้า เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วยังมีความเชื่อของไทยอีก เช่น ถ้าบึ้งขึ้นบ้านจะถือว่าโชคร้าย คนในบ้านจะเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือเชื่อว่า หากพบเห็นรูบึ้งหันไปทางทิศตะวันออก จะนำมาซึ่งโชคลาภ เป็นต้น[5]

อ้างอิง แก้

  1. "Theraphosidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. บึ้ง ๑ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. ปฐมบทแห่งแมงมุม (ตอนจบ), คอลัมน์ Exotic Pets โดย Spider Planet หน้า 150-155. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 35: พฤษภาคม 2013
  4. มารู้จัก ทารันทูล่า กันเถอะ
  5. ภาคที่ 2 มหากาพย์แห่งทารันทูล่า ตอน แมงมุมยักษ์แห่งพื้นพิภพ, คอลัมน์ Exotic Pets โดย Spider Planet หน้า 140-147. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 36: มิถุนายน 2013

แหล่งข้อมูลอื่น แก้